โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิกฤตหนี้รายย่อย : New Road ปรับโครงสร้างหนี้

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 04 ก.ค. 2563 เวลา 11.52 น. • เผยแพร่ 04 ก.ค. 2563 เวลา 10.30 น.
แบงก์ชาติ

ช่วยกันคิด วิมลรัตน์ ปิยสถาพรพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.

ท่านเคยเป็นแบบนี้หรือไม่ ในขณะที่กำลังเดิน ๆ อยู่ดี ๆ ก็รู้สึกเหมือนตกเหว

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยหมุนเร็วเกิดชะงักงันทันที ภาคธุรกิจและครัวเรือนเผชิญกับ income shock ที่รายได้หดตัวลงอย่างฉับพลัน ขณะที่ภาระหนี้สินมิได้ลดลงไปด้วย ทำให้ลูกหนี้ประสบปัญหาความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ลดวูบชนิดตั้งตัวไม่ทัน เสมือนหนึ่งว่า “ตกเหว”

หนึ่งในคำถามสำคัญของผู้ที่เกี่ยวข้องคือ เราจะช่วยลูกหนี้โดยเฉพาะลูกหนี้บุคคล และ SMEs ได้อย่างไรในยุคตกเหว ที่ผ่านมาอาจจะพูดได้ว่าโชคดีที่ทางการสามารถเตรียมมาตรการรองรับการตกเหวได้ทันเวลามาตรการเลื่อนการชำระหนี้ซึ่งให้โอกาสลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบยังไม่ต้องผ่อนชำระทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยโดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ เป็นเหมือนเบาะนุ่ม ๆ ที่ช่วยรองรับลูกหนี้ที่ตกเหวไม่ให้บาดเจ็บจนกลายเป็น NPL และไม่เสียประวัติในฐานข้อมูลเครดิตบูโร อย่างไรก็ดี มาตรการนี้เป็นเพียงการประคับประคองลูกหนี้และเจ้าหนี้ในช่วงแรกเท่านั้น

สิ่งสำคัญลำดับต่อมาคือ ทำอย่างไรจะช่วยให้ลูกหนี้พอจะมีกำลังปีนไต่จากก้นเหวกลับขึ้นไปบนถนนสายใหม่และเดินต่อได้ ซึ่งแน่นอนว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่คงจะยังไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะปีนขึ้นมาพรวดเดียวได้ เจ้าหนี้มืออาชีพย่อมเข้าใจสถานการณ์และอาการบาดเจ็บของลูกหนี้ในครั้งนี้เป็นอย่างดี จึงควรเตรียมการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง เปรียบเสมือนการทำทางสายใหม่ (new road) ที่ไม่เปล่าเปลี่ยว เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ได้เดินต่อไปจนกระทั่งถึงวันที่ลูกหนี้พร้อมวิ่งได้

ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้พึงกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระให้ยาวเพียงพอโดยคำนึงถึงความสามารถของลูกหนี้ (affordaibility) เป็นอันดับแรก ซึ่งปัจจุบันหลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่ารายได้ที่หดหายไปจะไม่กลับมาเท่าเดิมได้ในเร็ววัน ดังนั้น การที่จะก้าวไปสู่ new road ดั่งฝันได้ ในระยะแรกเจ้าหนี้ต้องออกแรงมากหน่อย และลดกำไรที่เคยตั้งเป้าไว้ลงมาเพื่อความยั่งยืนของกิจการเจ้าหนี้เอง (sustainable banking) แนวทางดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่

1.ทำทางลาดหรือการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องจ่ายค่อย ๆ ทยอยเพิ่มขึ้น หลังจากการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง เช่น เริ่มจาก 25% ของค่างวดเดิม และทยอยเพิ่มเป็น 50%, 75%  และ 100% เพื่อให้ลูกหนี้สามารถไต่ขึ้นไปสู่ถนนเส้นใหม่ได้อย่างปลอดภัย และมั่นใจว่าจะไม่พลาดพลั้งตกสู่ก้นเหวอีก

ทั้งนี้ หากลูกหนี้จ่ายชำระได้มากกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรการช่วยเหลือพื้นฐานขั้นต่ำ เจ้าหนี้ควรลดดอกเบี้ยให้เพิ่มเติม เพื่อนำไปตัดต้นเงินได้มากขึ้น ซึ่งด้านหนึ่งช่วยให้เจ้าหนี้ได้รับกระแสเงินสดเข้ามา นำไปหาผลตอบแทนรูปแบบอื่นได้ ในขณะที่ลูกหนี้ก็มีแรงจูงใจจะจ่ายหนี้คืน เพราะยิ่งจ่ายมากภาระจะยิ่งลดลง

2.สร้างทางสายใหม่ (new road ในยุค new normal) เมื่อรายได้ลูกหนี้ลดลง แต่ภาระหนี้ยังเท่าเดิมก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้มีการยืดระยะการจ่ายชำระหนี้ให้ยาวขึ้น เช่น สัญญาเดิมกำหนดให้จ่ายชำระคืนใน 5 ปี ก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้จ่ายชำระหนี้ยาวขึ้นเป็น 8-10 ปี ให้ลูกหนี้สามารถเดินบนถนนสายใหม่นี้ได้ไม่ต้องพะวักพะวนว่าจะต้องมาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่อีก

ในอดีตยุค old normal เจ้าหนี้มักกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ค่อนข้างสั้น เกิดเหตุการณ์ปรับแล้วปรับอีก ทั้งที่คาดการณ์ได้แต่ต้นว่ามีโอกาสสูงที่ลูกค้าจะไม่สามารถผ่อนชำระได้

การออกแบบแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่คำนึงถึงความสามารถลูกหนี้ น้อยกว่าตัวเลขกำไรระยะสั้นของเจ้าหนี้ ไม่ได้ยึดลูกหนี้เป็นที่ตั้ง สุดท้ายต้องกลับมาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่หลายหน ไม่เป็นผลดีต่อทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ลูกหนี้เองก็เสี่ยงต้องปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง ติดประวัติในบูโร เจ้าหนี้ก็อาจมีภาระสำรองเพิ่มขึ้น

“ทางสายใหม่” ที่ลูกหนี้มีระยะเวลาจ่ายชำระหนี้นานขึ้นสอดคล้องความสามารถที่ลดลง จะตอบโจทย์ลูกหนี้
รายย่อยยุคโควิด-19 แก้ปัญหาเดิม ๆ ได้ แต่การยืดอายุสัญญาเป็น 8-10 ปี จะทำให้ลูกหนี้ติดหนี้ยาวนานขึ้น เจ้าหนี้จึงควรลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม เนื่องจากขยายระยะเวลาชำระหนี้ทำให้ลูกหนี้ต้องผ่อนชำระมากขึ้น มิใช่ผ่อนจ่ายเท่าไหร่ ก็ตัดไม่ถึงต้น เช่นทางสายเก่าในอดีต เจ้าหนี้จะมีรายได้ดอกเบี้ยเข้าตลอดสาย กินน้อยลงแต่กินได้นาน เข้าตำรา ปรับโครงสร้างหนี้แนวใหม่ ได้ใจทั้ง 2 ฝ่าย

3.แต่งแต้มสีสันให้ new road โจทย์สำคัญอีกเรื่องคือ ทำอย่างไรทางสายใหม่จะเป็นถนนที่น่าวิ่ง การออกแบบแผนการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีกลไกสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามแผน มีกำลังใจชำระหนี้ให้หมดเร็วเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ผ่านมาอาจถูกละเลย

การสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้ต่อเนื่องและเร็วขึ้น ทำได้หลายวิธี อาทิ ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม เมื่อลูกหนี้ต้องการสภาพคล่องหล่อเลี้ยงและสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ ทยอยยกดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ของเก่าใช้วิธีคิดและดอกเบี้ยที่อาจไม่เป็นธรรม เช่น หากลูกหนี้ชำระหนี้ได้ 6-12 เดือน ยกดอกเบี้ยผิดนัดที่ค้างอยู่ให้ตามสัดส่วน ซึ่งงบกำไรขาดทุนของเจ้าหนี้ก็มิได้รับผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยผิดนัดนี้

การปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ให้ตัดส่วนเงินต้นก่อนบ้างบางเวลา หรือมีแคมเปญ cash back สำหรับลูกหนี้ที่ชำระสม่ำเสมอ แม้เม็ดเงินอาจไม่มากมายแต่ในมุมลูกหนี้จะสร้างกำลังใจมหาศาล จึงไม่ควรมองข้ามมิติเชิงจิตวิทยาเหล่านี้แล้วการปรับโครงสร้างหนี้ตามทางสายใหม่จะสัมฤทธิผลมากขึ้น

สุดท้ายอยากสรุปอีกครั้งว่า ลูกหนี้ (รวมถึงเจ้าหนี้ด้วย) จะขึ้นจากก้นเหวได้ด้วย (1) ปรับโครงสร้างหนี้ “สูตรทางลาด” ที่ทยอยปรับค่างวดขึ้นตามศักยภาพ (2) ปรับโครงสร้างหนี้ “สูตรทางสายใหม่” ในยุค new norm ขยายเวลาชำระหนี้ยาวขึ้น ลดดอกเบี้ยเพิ่มเพื่อแบ่งภาระดอกเบี้ยจ่ายของประชาชน (3) ปรับโครงสร้างหนี้จะต้องออกแบบกลไกสร้างแรงจูงใจให้ผ่อนชำระต่อเนื่อง

การสรรค์สร้างทางสายใหม่ที่มีเจ้าหนี้และลูกหนี้เป็นเพื่อนร่วมทางคอยประคับประคองกันไปตลอดคือ new norm ของการปรับโครงสร้างหนี้ที่น่าจะลองทำดู !

หมายเหตุ:บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับธปท.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0