โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ลองปลูกผัก ผลไม้ไทยในแอฟริกาใต้ จากแปลงเล็กๆ สู่การทำสวน 60 ไร่

ไทยรัฐออนไลน์ - Social

อัพเดต 13 ก.ค. 2563 เวลา 01.32 น. • เผยแพร่ 13 ก.ค. 2563 เวลา 01.32 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

คนไทยทดลองปลูกพืช ผักสวนครัว และผลไม้ไทยในแอฟริกาใต้ จากแปลงเล็กๆ ข้างบ้าน สู่การทำสวน 60 ไร่

น้ำฝน เพียร์ อายุ 50 ปี เปิดเผยกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ว่า ตนเกิดที่จังหวัดเชียงราย มีบุตร 2 คนซึ่งตอนนี้ทั้งคู่ทำร้านอาหารอยู่ที่เมืองไทย แต่เดิมคุณพ่อ และคุณแม่เป็นเกษตรกรก็เลยนำความรู้เรื่องการทำไร่นาสวนผสมมาด้วย

ทั้งนี้ ตนได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ประเทศแอฟริกาใต้ประมาณ 10 ปีแล้ว ซึ่งพบรักครั้งแรกกับชายแอฟริกาใต้ผิวขาวชาวเมืองเดอเบิน (Durban) แต่ปัจจุบันแต่งงานกับชาวแอฟริกาใต้คนผิวขาว ชื่อ อลัน เพียร์ อายุ 61 ปี เป็นชาวเมือง รัสเตนเบิร์ก (Rustenburg) เป็นผู้จัดการด้านความปลอดภัยที่เหมืองแพลทตินัม หรือทองคำขาว

น้ำฝน กล่าวต่อว่า ด้วยพื้นฐานที่เติบโตจากครอบครัวชาวไร่ชาวสวนก็ได้ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินบ้างขายบ้างแต่เนื่องจากบ้านที่อยู่เป็นคอมเพล็กซ์ มีเนื้อที่ไม่มากนัก เริ่มต้นปลูกมะละกอได้ 10 กว่าต้น ปลูกผักสวนครัวเล็กน้อย พอถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กก็มีเพื่อนๆ คนไทยมาขอซื้อ พอเริ่มมีรายได้ จึงอยากสานต่อเอาความรู้ที่พ่อแม่เคยสอนมาใช้ดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ โดยไม่เกิดประโยชน์

"เลยเป็นที่มาของการทำเกษตรแบบไทยๆ ที่แอฟริกาใต้ พี่ปรึกษากับสามีว่าอยากทำฟาร์ม สามีเลยซื้อหาที่เพื่อมาทำการเกษตรประมาณเกือบ 60 ไร่ใกล้เมืองรัสเตนเบิร์ก จากนั้นก็ย้ายกันมาสร้างอาณาจักรใหม่ที่เมืองบริทส์ และวางแผนกันว่าถ้าสามีเกษียณแล้วจะมาเป็นชาวสวนอย่างจริงๆ จังๆ กัน"

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความท้าทายเรื่องสภาพภูมิอากาศอยู่ไม่น้อย เพราะที่นี่เย็นกว่าไทยมาก แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรค เพราะตั้งแต่ทำสวนมา 2 ปี ก็ผ่านมาได้ด้วยดี แม้จะยังไม่ได้เห็นเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำ เพราะเราต้องลงทุนตั้งแต่ที่ดินที่ว่างเปล่า พรวนดิน จัดแปลง ใส่ปุ๋ย ปลูกบ้านคนงาน กว่าจะสำเร็จได้ก็โดนพายุถล่มในระหว่างสร้างบ้านพักคนงานก็ประสบมาแล้ว แต่ในที่สุดก็สำเร็จ

สำหรับปีนี้ ถือเป็นปีที่สองของการลงทุน ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นมาก็หนาวแบบติดลบ 1 องศาในคืนเดียว พอคืนที่สองต้นไม้ ต้นมะละกอ หนาวจนดำไหม้ เราก็ต้องรีบวางแผนทำผ้าคลุม ส่วนที่เหลือประคบประหงมดูแลกันอย่างดี ปัจจุบันมีคนงานมาช่วยกัน 4 คน เราก็สอนคนงานฝึกทักษะให้เขา จากที่ไม่เป็นอะไรเลยจนเดี๋ยวนี้ปล่อยได้แล้ว

น้ำฝน กล่าวอีกว่า รายได้ที่เป็นกอบเป็นกำนั้นยังไม่มาถึง เพราะยังต้องจ่ายเงินค่าลูกน้อง ลงทุนเรื่องปุ๋ย เรื่องการเพาะปลูกอยู่ แต่ก็มีออเดอร์การสั่งซื้อจากเพื่อนๆ คนไทยด้วยกัน เช่น มะเขือ หัวหอมแดง ถั่วฝักยาว ผักชี ผักชีลาว ต้นกระเทียม ตะไคร้ แต่ช่วงโควิด-19 ของบางอย่างเราเอาไปส่งให้ลูกค้าไม่ได้ เพราะติดล็อกดาวน์ ห้ามการเดินทางผ่านเขต ก็เลยต้องปล่อยให้มันแก่กับต้นไปอย่างนั้น ทำอะไรไม่ได้เลย

"หากมองไปในอนาคตข้างหน้า การทำเกษตรในแอฟริกาใต้นับว่าน่าสนใจไม่น้อยเลย เพราะอากาศดีกว่าเมืองไทยมาก เย็น แดดดี ส่งผลให้พืชผลคุณภาพดี เรามีประสบการณ์หนาวนี้แล้ว หนาวหน้าก็จะรู้แล้วว่าต้องเตรียมป้องกันอะไรไว้บ้างแต่ตอนนี้อยากให้โควิดหมดไวๆ เพราะหมดหนาวนี้จะได้ทำมาหากินกันสะดวก"

(ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Namfon Peers)

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0