โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ลบ-สร้าง-เล่า : ชาติที่ถูกสร้าง ผ่านพิพิธภัณฑ์บนเกาะไต้หวัน

The101.world

เผยแพร่ 09 ก.ค. 2563 เวลา 09.09 น. • The 101 World
ลบ-สร้าง-เล่า : ชาติที่ถูกสร้าง ผ่านพิพิธภัณฑ์บนเกาะไต้หวัน

นิติธร สุรบัณฑิตย์ เรื่อง

ณัฐพล อุปฮาด ภาพประกอบ

 

หินรูปทรงพิลึกพิลั่น ลำตัวแลคล้ายสิงห์ ทว่าใบหน้าต่างออกไป ดวงตาอันดุดาล สอดรับกันดีกับเขาแหลม มันถูกประดับต้อนรับผู้มาเยือนด้านหน้าของอาคารพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน หรือคุกจิ๋งเหม่ย อดีตสถานกักกันนักโทษการเมืองยุคเกาะไต้หวันถูกปกครองโดยจีนคณะชาติ ที่มีนายพลเจียงไคเชก เป็นผู้นำเบ็ดเสร็จ

ผมทักทายกับ 'เซี้ยจื้อ' (獬豸) นับครั้งไม่ถ้วน เมื่อต้องมาที่นี่ครับ ถ้าไม่คิดไปเองก็ต้องยอมรับว่าเวลามองรู้สึกยำเกรง หวาดหวั่น เนื่องจากเซี้ยจื้อ เป็นสัตว์ในเทพปกรณัมของจีน เชื่อกันว่า มันสามารถแยกแยะความดีความชั่วของมนุษย์ได้ และพร้อมจะใช้เขาแหลมพุ่งแทงฝ่ายที่ผิด ความเชื่อนี้ฝังในคติเอเชียตะวันออก ตกทอดถึงปัจจุบัน เห็นได้จากเครื่องแบบยศสารวัตรตำรวจของไต้หวัน ค้อนตุลาการในจีนแผ่นดินใหญ่ หรือสัญลักษณ์ผู้พิทักษ์กรุงโซลในเกาหลีใต้

ว่ากันว่า 'หลินซือ' นักโทษการเมืองคุกจิ๋งเหม่ย ปั้นเจ้าเซี้ยจื้อตัวนี้เพื่อเสียดสีความอยุติธรรมที่ระบอบเจียงไคเชก มอบให้พวกเขา ผมสังเกตเห็นว่า อาจจะจริงตามคำร่ำลือ เพราะเซี้ยจื้อตัวนี้ยืนหันหลังให้สถานกักกันที่นักโทษถูกจองจำ ทว่ามุ่งหน้าไปยังทิศตรงข้าม ที่เป็นประตูทางออกเก่า อันหมายถึงผู้มีอำนาจภายนอกหรือรัฐบาลจีนคณะชาติ (กั๊วะมินตั๋ง) ศัตรูของนักโทษการเมืองเหล่านี้

เซี้ยจื้อเป็นไฮไลต์ที่มัคคุเทศก์ อาสาสมัครประจำพิพิธภัณฑ์ รวมถึงผมเอง มักเสิร์ฟเป็น ‘ออเดิร์ฟ’ กับผู้ชม ก่อนก้าวสู่การจัดแสดงเรื่องราวของนักโทษการเมือง กลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งถูกทำให้กลายเป็น ‘คนอื่น’ ถูกเหยียดหยาม ปรามาส ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่เชิดชูความเป็นไต้หวันก็ ‘ต้องห้าม’ สู่กลุ่มคนที่กลายเป็นทรัพยากรสำคัญของการสร้างไต้หวันใหม่ โดยเฉพาะการสานต่อแนวคิดนิยมเอกราชไต้หวัน รวมถึงพลพรรคพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรครัฐบาลปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน หรือ คุกจิ๋งเหม่ย จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากสังคมไต้หวันไม่ได้รับการผลัดใบจากระบอบอำนาจนิยมสู่กระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตย โดยเฉพาะหลังการอสัญกรรมของเจียงไคเชกในปี 1975 และการยกเลิกกฎอัยการศึกที่ยาวนานที่สุดในโลกในปี 1987 เรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งคำถามอย่างรุนแรงต่อเจียงไคเชก ผู้ที่ถูกทำให้เป็นเสมือนรัฐบุรุษของจีนสาธารณรัฐ (‘ถูกทำให้’ รองจาก ซุนซงซาน หรือ ซุนยัตเซ็น) และระบอบของเขา ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ และเป็นไปไม่ได้หากเจียงไคเชกยังมีอำนาจและได้รับความศรัทธาสูงอยู่  ที่จริงกว่าพิพิธภัณฑ์นี้จะเปิดดำเนินการก็ล่วงเข้าปี 2018 ตรงกับยุคที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ DPP พรรคการเมืองชาวเกาะไต้หวันท้องถิ่น และศัตรูตลอดกาลของพรรคกั๊วะมินตั๋ง เข้าครองอำนาจการเมืองด้วยซ้ำ พวกเขามีแนวคิดมุ่งหมายสร้างชาติ ‘ไต้หวันโดยไต้หวัน’ แทน ‘สาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน’ การพุ่งเป้าลบร่องรอยความศักดิ์สิทธิ์ของเจียงไคเชกจึงเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ หนึ่งในนั้นคือเครื่องมือทางวัฒนธรรมอย่างพิพิธภัณฑ์

 

อาคารเหรินอ้าย อดีตเคยเป็นสถานกักกันนักโทษทางการเมืองยุคจีนคณะชาติปกครองเกาะไต้หวัน เพื่อรอการพิจารณาคดี โดยจะเห็น 'เซี้ยจื้อ' ยืนโดดเด่นอยู่ด้านหน้า / ที่มาภาพ สำนักข่าว CAN 

 

คุกจิ๋งเหม่ย

ไต้หวันที่ถูกสร้าง จีนสาธารณรัฐที่ถูกลบ

 

อาคารเหรินอ้าย เป็นอดีตสถานกักกันนักโทษทางความคิด ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารจัดแสดงหลักของพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน ในอดีตใช้กักขังกลุ่มคนที่เป็นสายลับคอมมิวนิสต์ (หรือรัฐทึกทักเอาเองว่าเป็น) กลุ่มคนที่ต่อต้านระบอบจีนคณะชาติซึ่งรวมถึงผู้นิยมเอกราชไต้หวันที่พยายามผลักดันความเป็นไต้หวันหักล้างจีนสาธารณรัฐ ตลอดจนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่กับระบบยุติธรรมที่ล้มเหลวภายใต้บรรยากาศของสงคราม และศาลทหาร นักโทษจะอยู่ที่นี่เพื่อรอการพิจารณาคดี ใครโทษหนักก็ถูกส่งลงเรือไปกักกันเพื่อปรับทัศนคติที่เกาะเขียว หรือเกาะคุกทางตะวันออกเฉียงใต้ของไต้หวัน พิพิธภัณฑ์ที่นี่บอกเล่าสภาพความเป็นอยู่ที่ทรมานของนักโทษจากสถานที่จริง โศกนาฏกรรมของเหยื่อและญาติ ถูกถ่ายทอดผ่านระบบเสียงและวิดีทัศน์ ตลอดจนการจำลองให้ผู้เขาชมสวมใส่โซ่ตรวนนักโทษ

ผมคิดว่าพิพิธภัณฑ์นี้ นัยหนึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการทางประชาธิปไตยของไต้หวัน ที่หยิบเอาเรื่องใต้พรมของ ‘ต้องห้าม‘ ในอดีต ขึ้นมา ทำให้เด่นชัด และตอกย้ำภาพอันน่าหดหู่ น่าสนใจว่าเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์ร้อยเรียงเรื่องราวความโหดร้ายของระบอบเจียงไคเชก ในขณะที่จำเลยของเรื่องเล่ายังมีคนไปคารวะ เยี่ยมชมรูปหล่อเสมือนจริงขนาดมโหฬารกลางนครไทเปอยู่ทุกวี่วัน เป็นเสรีภาพของบทสนทนาทางการเมือง และการเมืองเชิงวัฒนธรรม นั่นคือคุณูปการของพิพิธภัณฑ์นี้ที่สอดรับกับภูมิทัศน์ทางการเมืองของไต้หวัน

ทว่าประเด็นของผมอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นี้ถูกทำให้เป็น ‘การเมือง‘ โดยตัวพิพิธภัณฑ์เอง ผ่านสงคราม ‘เรื่องเล่า และความจริง‘ ที่ใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรมเป็นแนวรบ และขับเคี่ยวกันตลอดความขัดแย้งของคนในมณฑล (ชาวเกาะไต้หวันเดิม) ที่มีตัวแทนคือกลุ่มนิยมไต้หวัน และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และคนนอกมณฑลเกาะไต้หวัน (โดยเฉพาะชาวจีนสาธารณรัฐที่อพยพมาทีหลัง 1949) ที่มีตัวแทนคือ จีนคณะชาติ หรือพรรคชาตินิยมจีน (ก๊วะมินตั๋ง -- ณ ขณะนั้นการนิยมจีนในแง่นี้มิได้หมายถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน หากหมายถึงเชื้อชาติจีน และความเป็นจีนสาธารณรัฐ) แง่นี้ พิพิธภัณฑ์นี้จึงเป็นองค์ประกอบการสร้างชาติของกลุ่มนิยมไต้หวัน หักล้างความศักดิ์สิทธิ์ และพื้นที่ทางการเมืองของเจียงไคเชก อันส่งผลต่อพรรคกั๊วะมินตั๋งปัจจุบัน และเสริมแต้มต่อให้กับกลุ่มนิยมไต้หวัน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า สานต่อการสร้างชาติไต้หวันให้ไกลไปจากจีนแผ่นดินใหญ่ และไกลไปจากระบอบเจียงไคเชกผู้ยึดมั่นในจีนสาธารณรัฐ

 

เจียงไคเชก หรือ เจี่ยงจงเจิ้ง อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน ที่มีคนเทิดทูนในฐานะผู้ปกป้องชาติจีนจากภัยคอมมิวนิสต์ สร้างไต้หวันให้แข็งแกร่ง และมีคนเกลียดชังในฐานะผู้เข่นฆ่าเพื่อนร่วมชาติ / ที่มาภาพ The Economist 

 

เครื่องมือนี้จึงเป็นหนึ่งในอาวุธที่ห้ำหั่นกันมายาวนาน ผสมโรงกับแนวรบทางวัฒนธรรมก่อนหน้า เช่น การเปลี่ยนชื่อสนามบินเจียงไคเชกเป็นสนามบินเถาหยวน ในยุคเฉินสุ่ยเปี่ยนแห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าครองอำนาจ หรือแม้กระทั่งห้องสมุดกลางมหาวิทยาลัยการเมืองแห่งชาติไต้หวัน สำนักคิดของกั๋วะมินตั๋งเองแท้ๆ ยังย้ายอนุสาวรีย์เจียงไคเชกออกไป ขณะที่ร่องรอยของระบอบเจียงที่ยากจะลบและยังคงอยู่ก็ยังมีให้เห็นอย่างดาษเดื่อ อาทิ พิพิธภัณฑ์วังหลวงแห่งชาติหรือกู้กงที่เป็นตัวแทนระบอบเจียงไคเชกและจีนศิวิไลซ์ เพราะปัจจุบันเจียงยังได้รับการสนับสนุนจากใครหลายคนให้เป็นรัฐบุรุษเช่นกัน ในฐานะผู้พิทักษ์จีนให้ไกลจากลัทธิคอมมิวนิสต์และผู้สร้างไต้หวันให้แข็งแกร่ง นี่ยังไม่รวมถึงพิพิธภัณฑ์จำนวนไม่น้อยของพวกญี่ปุ่น อดีตผู้ปกครองเกาะไต้หวันร่วม 50 ปี และพิพิธภัณฑ์ของชนพื้นเมือง พิพิธภัณฑ์จึงบ่งบอกรอยต่อของสถานการณ์การเมือง เรื่องการสร้างชาติที่เปลี่ยนแปลงไป

 

**การสร้างชาติผ่านพิพิธภัณฑ์ และพิพิธภัณฑ์กับการสร้างชาติ

จากญี่ปุ่น จีนสาธารณรัฐ และไต้หวันใหม่**

 

ศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน นักวิชาการผู้กระเทาะความจริงเรื่อง ‘ชาติ’ จุดไฟให้เราเห็นเบื้องหลังอันมืดครึ้มของสถาบันทางวัฒนธรรมอย่างพิพิธภัณฑ์ กับการสร้างชาติอย่างน่าสนใจ ผ่านผลงานฉบับอมตะอย่าง ชุมชนจินตกรรม : บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม

กลไกพิพิธภัณฑ์ (causal mechanisms) ที่อาจารย์เบนเสนอ ทำให้ผมไม่สามารถละเลยที่จะนำมาประยุกต์กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าเมื่อใช้ชีวิตในนครไทเป และชื่นชอบการท่องพิพิธภัณฑ์อยู่เป็นนิจ  หากลองจับและยึดข้อเสนอของอาจารย์เบนไว้ เราจะเห็นว่ากลไกพิพิธภัณฑ์ได้เสกสรรการสร้างชาติไว้ผ่านการเปิดพื้นที่ของการประกอบสร้างจินตนาการความเป็นชาติ (การจัดแสดงต่างๆ โดยเน้นช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ (antiquity) เพื่อออกแบบ และสร้าง ‘ตำนาน’ ที่ยืดขยายได้ของ ‘ชาติ’) ปราบดาสถานะของผู้มีอำนาจเป็น ‘ผู้พิทักษ์บรรทัดฐานทางสังคม’ (รัฐไล่ล่า จัดแสดงมรดกต่างๆ และทำให้รู้ว่าสิ่งใดควรให้ค่าหรือเคารพบูชา) และผลิตซ้ำสัญลักษณ์ความเป็นชาติ (national brand) ซึ่งส่งผลให้เห็นว่าอะไรไม่ใช่สัญลักษณ์ชาติโดยปริยาย แนวคิดเหล่านี้ยังสอดคล้องกับงานของโทนี่ เบนเนต นักพิพิธภัณฑ์วิทยาชาวอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง พิพิธภัณฑ์ : ทฤษฎี ประวัติศาสตร์ และการเมือง เช่นกัน

 

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวัน (國立臺灣博物館) อดีตพิพิธภัณฑ์ข้าหลวงญี่ปุ่น ถูกสร้างเพื่อฉลองการเปิดดำเนินการรถไฟสายเหนือ-ใต้ ขณะไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น / ที่มาภาพ National Taiwan Museum

 

เห็นจะจริงดังว่าครับ พิพิธภัณฑ์กับการสร้างชาติในไต้หวัน (อาจเป็นชาติญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน ตามแต่ผู้ปกครอง สัมพันธ์โดยตรงกับระบอบอำนาจนำ ณ เวลานั้น) ผมจึงขอไล่เรียงประวัติศาสตร์การสร้างชาติผ่านพิพิธภัณฑ์ จาก 3 กลุ่มผู้ปกครองด้วยกัน ประกอบด้วย ญี่ปุ่น จีนสาธารณรัฐ และไต้หวันหลังการปฏิรูปการเมือง โดยกลุ่มแรกที่เริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นล่ำเป็นสันในไต้หวันก็คือชาวญี่ปุ่น อดีตเจ้าอาณานิคมบนเกาะไต้หวัน หลังจีนหรืออาณาจักรต้าชิงพ่ายแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นในปี 1895 จนเสียเกาะไต้หวันให้กับญี่ปุ่นเป็นเวลา 50 ปี (สนธิสัญญาชิโมโนเซกิข้อ 2) และได้รับคืนหลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจีนและไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของจีนคณะชาติ

กระบวนการ 'ทำให้เป็นญี่ปุ่น' ต่อชาวฮั่น ชาวเกาะไต้หวัน และชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในเกาะไต้หวันเกิดขึ้นอย่างเอิกเกริก ตั้งแต่ผู้คนถูกบังคับให้ใช้ภาษาญี่ปุ่น ไปจนถึงการห้ามสลักใบหน้าของชนพื้นเมืองบางเผ่า รวมถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์ด้วย ญี่ปุ่นสร้างพิพิธภัณฑ์ในเกาะไต้หวันถึง 23 แห่ง มีทั้งพิพิธภัณฑ์จัดแสดง ศูนย์การเรียนรู้ สวนสัตว์ และสวนพฤกษศาสตร์ หนึ่งในนั้นคือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวัน (國立臺灣博物館) ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากทำเนียบประนาธิบดีไต้หวันในปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวันที่ถูกสร้างโดยญี่ปุ่นในปี 1908 กับสถาปัตยกรรมแบบกรีก-โดริก เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งข้าหลวงญี่ปุ่น และเฉลิมฉลองความสำเร็จของการเปิดใช้ทางรถไฟสายเหนือ-ใต้ นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดของไต้หวัน เริ่มกันที่รูปลักษณ์ภายนอก เฉพาะแค่สถาปัตยกรรมที่โอ่อ่า ทันสมัย และแปลกตาจากสายตาชาวไต้หวันและฮั่น ก็สร้างขอบเขตของความศักดิ์สิทธิ์ และความชอบธรรมของเจ้าอาณานิคมให้กลายเป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็น ‘ผู้นำการพัฒนา’ ที่ศิวิไลซ์กว่า และพร้อมจะมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับชาวอาณานิคม เนื่องจากเวลานั้นกลุ่มคนที่จะสร้างอะไรแบบนี้ในเกาะไต้หวันได้ ก็มีแต่จักรวรรดิญี่ปุ่นเท่านั้น

ขณะที่การจัดแสดงประวัติของไต้หวันเองก็ถูกเล่าโดยมุมมองของญี่ปุ่น ข้าวของญี่ปุ่นก็ถูกนำมาจัดนิทรรศการดาษเดื่อ ที่สำคัญยังเคยถูกใช้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการฉลอง 4 ทศวรรษการเข้ามาของญี่ปุ่นบนเกาะไต้หวัน สิ่งนี้ตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของผู้ปกครอง ที่ผู้ใต้ปกครองควรยำเกรง มันคือการกำหนดบรรทัดฐานทางการเมืองของชาวเกาะไต้หวัน เร่งเร้าจินตนาการของชาวอาณานิคมต่อเจ้าอาณานิคม นอกจากนี้ยังถูกใช้เพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเพื่อญี่ปุ่น ดังที่จางหยู้เถิง ผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ และภัณฑารักษ์ผู้มากประสบการณ์ชาวไต้หวันพูดไว้ว่า "มันก็คือแบบฉบับพิพิธภัณฑ์อาณานิคมนั่นเอง"

แม้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าชาวเกาะไต้หวันหรือชาวจีนไต้หวัน ณ ขณะนั้น ซาบซึ้งกับ ‘ชาติอาทิตย์อุทัย’ ที่ญี่ปุ่นสร้างมากน้อยเพียงใด หรือที่จริงจะออกดอกผลเป็นการต่อต้านเสียมากกว่า ทว่าสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ผลลัพธ์ของกระบวนการทำให้เป็นญี่ปุ่นนี้ ได้ออกดอกผลเป็นรากฐานการสร้างชาติของไต้หวันในยุคต่อมา โดยเฉพาะการเล่าเรื่องชาติผ่านพิพิธภัณฑ์ กล่าวคือเมื่อชาวอาณานิคมได้รับการปลดแอก (ทั้งจีนสาธารณรัฐ และชาวเกาะไต้หวัน) และจำเป็นต้องสร้างชาติใหม่ พวกเขาก็เลือกพิพิธภัณฑ์เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ญี่ปุ่นเคยใช้กับพวกเขานั่นเอง

 

กู้กงไทเป : ฐานกำลังวัฒนธรรม ‘จีนสาธารณรัฐ’ ที่เกาะไต้หวัน

ต่อต้านคอมมิวนิสต์ กำราบความเป็นไต้หวัน

 

อาคารขนาดมหึมาทรงจีนราชสำนัก ขนาบด้วยปีกกลุ่มอาคารอีกสองข้างถูกฉาบด้วยสีเหลืองนวล ตัดกับหลังคาเซรามิกสีเขียวสูง ถูกก่อสร้างประชิดกับหุบเขาตอนเหนือของนครไทเปบนเกาะไต้หวัน  หวงเปาหยู่ว สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมจีนโบราณ และเป็นคนโปรดของเจียงไคเชกเสกสรรขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้นำ ที่มุ่งหมายจะสร้าง ‘ความศิวิไลซ์ของชาติจีน’ รั้งความชอบธรรมของจีนสาธารณรัฐให้เป็นตัวแทนของจีนเดียวแม้ต้องรอนแรมมาเกาะไต้หวัน อีกเหตุผลก็เพื่อต่อต้านการปฏิวัติทางวัฒนธรรมบนแผ่นดินใหญ่

ผมกำลังพูดถึงพิพิธภัณฑ์ ‘จงซาน’ (จงซาน มาจาก ‘ซุนจงซาน’ ชื่อภาษาจีนกลางของซุนยัตเซน นักปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง และบิดาแห่งสาธารณรัฐจีน) หรือปัจจุบันรู้จักในชื่อ 'พิพิธภัณฑ์วังหลวงแห่งชาติ' หรือกู้กง  ร่องรอยวัตถุจัดแสดงตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง หยวน หมิง และชิง จนถึงจีนสมัยใหม่ได้รับการจัดแสดงอย่างดาษเดื่อ จิตรกรรม ภาพพิมพ์ วัตถุแกะสลักตระการตา หนังสือหายาก ถูกขนมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ช่วงสงครามการเมือง ก่อนมาเก็บรักษาไว้ที่โรงงานน้ำตาล นครไถจง ทางตอนกลางของไต้หวัน (ของมีค่าจะถูกซ่อนไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งที่หมู่บ้านเป่ยกั๊วะ) สุดท้ายจะถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์กู้กง หลังสร้างเสร็จในปี 1965 คอยอวดโฉมความเป็นจีน บนเกาะไต้หวัน ทดแทนแผ่นดินใหญ่

ตัวพิพิธภัณฑ์ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมจีน ถอดแบบมาจากพระราชวังต้องห้ามของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ถูกทำให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ หลังจักรพรรดิปูยีถูกขับไล่ราวปี 1924-1925 แรกเริ่มเดิมที แบบการก่อสร้างของพิพิธภัณฑ์เป็นของ หวางต้าหง สถาปนิกชาวเกาะไต้หวัน ผู้ใส่ความเป็นสมัยใหม่ทดแทนสถาปัตยกรรมจีน เขาปฏิเสธไม่ยอมแก้ไขแบบให้เป็นสไตล์จีนโบราณตามรัฐบาลร้องขอ ส่งผลให้ หวงเปาหยู่ว รับงานนี้แทนเพื่อสร้างความเป็นจีนสาธารณรัฐให้แข็งแกร่ง แม้ว่าจะสูญเสียอำนาจทางการเมืองและการทหารเหนือแผ่นดินใหญ่แล้วก็ตาม

 

พิพิธภัณฑ์วังหลวงแห่งชาติ  (國立故宮博物院) กับสถาปัตยกรรมจีนของ หวง เปา หยู่ว (黃寶瑜) เพื่อตอกย้ำ ‘Chinese Cultural Renaissance Movement’ หรือ 'ขบวนการฟื้นฟูวัฒนธรรมจีน' ในทางการเมืองจึงทำให้เจียงไคเชกเป็นผู้พิทักษ์จีนจากการปฏิวัติวัฒนธรรมของปักกิ่ง / ที่มาภาพสำนักการท่องเที่ยวไต้หวัน

 

เป็นที่รับรู้กันดี และมีงานเขียนหลายชิ้นของภัณฑารักษ์ชาวไต้หวัน เช่น จางหยู้เถิง และหลินเจียฮุ้ย ฯลฯ ยืนยันว่า ความมุ่งหมายหลักของพิพิธภัณฑ์นี้ และพิพิธภัณฑ์อื่นที่ถูกสร้างในยุคนี้เป็นไปเพื่อความรุ่งโรจน์ของวัฒนธรรมจีน พยุงความชอบธรรมของจีนสาธารณรัฐ และเจียงไคเชกให้ปรากฏต่อประชาคมโลก เราอาจเรียกขบวนการนี้ว่าเป็น ‘Chinese Cultural Renaissance Movement’ นอกจากนี้มูลเหตุสำคัญของหลักคิดนี้เป็นไปเพื่อต่อต้านนโยบายการปฏิวัติวัฒนธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่กำลังดุเดือดในจีนแผ่นดินใหญ่ เจียงไคเชก จึงกลายเป็น ‘ผู้พิทักษ์’ และ ‘ผู้สืบสานตำนานชาติจีน’ ผ่านเครื่องมือทางวัฒนธรรมโดยปริยาย นี่คือพิพิธภัณฑ์กับความมุ่งหมายทางการเมืองอย่างชัดเจน

หลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญอีกประการ คือวัตถุมหาศาลที่ถูกขนออกมานั้น ได้รับการจัดแสดงที่สหรัฐอเมริกาในปี 1961 ก่อนการจัดแสดงต่อสาธารณะในเกาะไต้หวันด้วยซ้ำไป โดยนิทรรศการนั้นเปิดให้เข้าชมมากกว่า 1 ปี ซึ่งเวลาดังกล่าวพิพิธภัณฑ์กู้กงเกาะไต้หวันยังสร้างไม่เสร็จด้วยซ้ำไปครับ ช่วงเวลาดังกล่าว ที่ทางของจีนคณะชาติในเวทีโลกจึงสำคัญพอๆ กับความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์ในแผ่นดินใหญ่ เผื่อแผ่มายังอาวุธด้านวัฒนธรรมอย่างพิพิธภัณฑ์ และนิทรรศการโดยตรง

หากเรา ‘อ่าน’ พิพิธภัณฑ์กู้กง และพิพิธภัณฑ์ในยุคนี้ เราคงมั่นใจได้อีกว่า จีนสาธารณรัฐ คือ ชาติที่ ‘เจียง’ และจีนคณะชาติ ต้องรักษา ค้ำยันและสร้าง หาใช่ ‘ไต้หวัน’ หรือ ‘ความเป็นไต้หวัน’ ครับ อย่าว่าแต่สิทธิร่วมเล่าเรื่องไต้หวันผ่านพิพิธภัณฑ์ที่หวางต้าหงพยายามจะสอดแทรกผ่าน ‘พิพิธภัณฑ์’ แล้วต้องกระเด็นกระดอนออกไป แต่ ‘โลกภายนอก’ พิพิธภัณฑ์ ก็สอดรับต้องกันอย่างไม่น่าสงสัย เมื่อนักโทษการเมืองยุคเจียงไคเชก ไม่ใช่แค่สายลับคอมมิวนิสต์ แต่รวมถึงผู้นิยมไต้หวัน หรือเอกราชไต้หวันด้วยครับ นอกจากนี้วิธีการนี้ยังช่วยลบบาดแผลที่คอมมิวนิสต์มักกล่าวหาจีนคณะชาติ ว่ามีท่าทีที่อ่อนโยนกับศัตรูอย่างญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์ยุคนี้จึงลดความเป็นญี่ปุ่น หรือ de-Nipponize ไปในตัวด้วยครับ

อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญที่ผู้สนับสนุนเจียงและจีนคณะชาติ หรือกั๊วะมินตั๋ง ยังคงศรัทธาตัวเขา หรือแนวทางของเขาในปัจจุบัน และทำให้พิพิธภัณฑ์ในยุคเขาได้รับความนิยมอย่างเอิกเกริก มิใช่เพียงสำนึกและรากเหง้าของเชื้อชาติจีนที่ติดตัวมา แต่ยังรวมถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจ ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเกาะไต้หวัน จากสังคมเกษตรกรรม สู่อุตสาหกรรม ในทศวรรษที่ 70 สาธารณรัฐจีนยังคงความนิยม ท่ามกลางประชาคมโลกที่ทยอยทอดทิ้ง พิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีถูกสร้างเพื่อรองรับผลงานของจีนคณะชาติอย่างเป็นระบบ เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ชีววิทยาทางน้ำและสัตว์น้ำ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเลและเทคโนโลยี เป็นต้น

ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยีการผลิตค้ำจุนความชอบธรรมทางการเมืองของจีนสาธารณรัฐ ในขณะที่การปราบปรามผู้เห็นต่างยังเกิดขึ้นรายวัน สิ่งเหล่านี้แสดงศักยภาพของจีนสาธารณรัฐและจีนคณะชาติให้ชาวโลกได้เห็น ขณะที่จีนคอมมิวนิสต์ยังประสบปัญหาความแร้นแค้น เหนือกว่านั้นยังส่งผลต่อการจัดการอำนาจภายในของเกาะไต้หวันด้วย

การอสัญกรรมของเจียงไคเชกในปี 1975 ส่งผลให้สถานการณ์บีบตันทางการเมืองในเกาะไต้หวันเปลี่ยนแปลงไป แม้กฎอัยการศึกจะถูกยกเลิกหลังจากนั้นอีก 12 ปี ทว่าความหวังที่จีนคณะชาติจะเป็น ‘จีนเดียวอันชอบธรรม’ ทยอยหมดสิ้น (สาธารณรัฐจีนสูญเสียที่นั่งในสหประชาชาติในปี 1971 สหรัฐฯ รองรับสาธารณรัฐประชาชนจีนทดแทนในปี 1979) เกาะไต้หวัน จึงกลายเป็นเสมือน ‘บ้านใหม่’ ที่พวกเขามีอยู่และเป็นไปได้มากที่สุด ประชาคมโลกได้สอดส่องการใช้อำนาจของรัฐบาลจีนคณะชาติมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เหตุและผลของอำนาจเบ็ดเสร็จ เปราะบางมากขึ้น เสียงของคนเกาะไต้หวันจึงดังกังวานมากขึ้นเช่นกัน

ก่อนผลัดใบ รัฐบาลสาธารณรัฐจีนจัดการเครื่องมือทางวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบมากที่สุด คือการจัดตั้งสภากิจการวัฒนธรรม หรือ Council of Cultural Affairs ปลายปี 1981 เวลานี้มีพิพิธภัณฑ์สร้างกว่า 21 เมืองในเกาะไต้หวัน การขยายความเจริญสู่หัวเมืองทำให้ชาวเกาะไต้หวันเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นกับการจัดการของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘กำลังคน’ เมื่อนำคนเข้า ความคิดก็เข้ามาด้วย ท้ายที่สุดสภานี้ได้ขยายความเป็นการเมืองผ่านพิพิธภัณฑ์ไปสู่ความเป็นไต้หวันท้องถิ่น นอกเหนือไปจากวัฒนธรรมจีนกระแสหลัก ก่อให้เกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมากมาย เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมไทเป พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมเกาสง ในช่วงปลายยุคนี้ เราจะพบความเป็นการเมืองของพิพิธภัณฑ์ที่เปิดกว้างขึ้น และมีความหวังมากขึ้นกับสังคมแห่งความหลากหลาย และการจัดการพิพิธภัณฑ์ที่หลินเจียฮุ้ยเรียกว่า ‘ล่างสู่บน’

 

ไต้หวันใหม่ : ชาติที่ถูกประกอบสร้างผ่านพิพิธภัณฑ์

 

เรือแคนนูไม้ของชนพื้นเมืองไต้หวัน ถูกจัดแสดงไว้ที่โถงกลางอาคารพิพิธภัณฑ์ชนพื้นเมืองแห่งเกาะฟาโมซ่าชุ้นยี้ เรือแคนนูของชนเผ่า เทา หรือ ยามิ คลับคล้ายคลับคลากับกล้วยหอมเขียว มีความยาวประมาณ 2 เมตร รองรับผู้โดยสาร 10-12 คน ตัวเรือถูกสร้างโดยไม้ทั้งลำ ที่พิเศษคือเรือถูกแต่งแต้มด้วยสีแดง ขาว และดำ ใช้สำหรับจับสัตว์น้ำ และพิธีกรรมประจำเผ่า ความเชื่อนี้เป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างออกไปจากชาวจีนฮั่น

ผมค้นพบพิพิธภัณฑ์นี้ หลังจากตระเวนเข้าออกพิพิธภัณฑ์กู้กงอยู่หลายรอบ จนบังเอิญเห็นอาคารสูงทรงประหลาด เมื่อได้เข้าไปผจญภัย ก็ได้รับรู้ว่านี่เป็นอีกพิพิธภัณฑ์ที่ไม่เพียงเล่าเรื่องไต้หวันที่ต่างออกไป ทว่าด้วยความบังเอิญ มันยังตั้งเกือบจะประจัญหน้ากับพิพิธภัณฑ์กู้กงที่เป็นสัญลักษณ์ของความจีนบนเกาะไต้หวันด้วยเช่นกัน

 

เรือแคนนูไม้ ที่ชนเผ่าเทา หนึ่งในชนเผ่าพื้นเมืองของเกาะไต้หวันใช้ดำรงชีพ และประกอบพิธีกรรม เช่น พวกผู้ใช้ต้องหาไม้ในป่า มาผลิตเรือ และภาวนาก่อนฤดูจับปลาจะมาถึง / ที่มาภาพhttps://dapeng.welcometw.com/

 

กระบวนการทำให้เป็นไต้หวัน หรือ Taiwanization ที่มีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากหลี่เติงฮุ่ย อดีตประธานาธิบดีจากพรรคกั๊วะมินตั๋ง ผู้ซึ่งเกิดและเติบโตในไต้หวัน ทว่าเป็นหัวหอกสำคัญของการปฏิรูปการเมืองของพรรคและการเมืองไต้หวัน ‘จากชาตินิยมจีน’ สู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น กระบวนการทำให้เป็นไต้หวัน มีหลักสำคัญง่ายอยู่นิดเดียวครับ คือการลดทอนกระบวนการสร้างความเป็นจีน หรือ de-Sinicization กล่าวคือ ที่ทางของความเป็นไต้หวันจะมีมากขึ้นนั่นเอง สำหรับกระบวนการนี้มิเพียงให้ ‘อากาศ’ ต่อ ชาวเกาะไต้หวัน (ที่แม้มีเชื้อชาติไม่ไกลจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่ามีความพิเศษตามถิ่นที่อยู่) ยังต้อนรับกลุ่มชาวพื้นเมือง ชนเผ่าที่อาศัยตามป่าเขา และชายฝั่ง และเคยถูกทำให้เป็น ‘ความเป็นอื่น’ มาหลายยุคหลายสมัย ทั้งที่พวกเขาตั้งถิ่นฐานกว่า 4,000 ปี ก่อนการมาถึงของชาวฮั่นในศตวรรษที่ 17 และได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐจีนในปี 1994

 

ภาพชนพื้นเมืองบนเกาะไต้หวัน ถูกจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ชนพื้นเมืองแห่งเกาะฟาโมซ่าชุ้นยี้ หลักฐานทางมานุษวิทยาพบว่าว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มออสโตรนีเซียน กลุ่มชนเดียวกับที่แพร่กระจายในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกในปัจจุบัน / ที่มาภาพ นิติธร สุรบัณฑิตย์

 

จางหยู้เถิง ภัณฑารักษ์คนสำคัญของเกาะไต้หวัน เคยนับสถิติจำนวนพิพิธภัณฑ์ที่ถูกสร้างเพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองใหม่นี้ว่ามีถึง 600 แห่ง ผมคิดว่าตรงนี้อาจมีรากฐานจากคุณูปการนโยบายของสภากิจการวัฒนธรรม ที่สนับสนุนการขยายศูนย์กลางทางวัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์ไปตามหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะหัวเมืองทางใต้ที่เป็นถิ่นฐานและพื้นที่การเมืองสำคัญของชาวเกาะไต้หวันเดิม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นควบคู่กับความจริงที่ว่า ความเป็นจีนสาธารณรัฐในเกาะไต้หวันอ่อนแอลง (ด้วยความหวังอันริบรี่ของการครองความหมายผู้แทนจีนโดยชอบธรรม) สายสัมพันธ์ระหว่างชาวเกาะไต้หวันยุคหลังกับแผ่นดินใหญ่เลือนราง เด็กรุ่นใหม่เกิดและเติบโตบนเกาะไต้หวัน แผ่นดินใหญ่เริ่มกลายเป็นปฏิปักษ์มากกว่าถิ่นที่อยู่ของบรรพชน สภาพแวดล้อมนี้ขับเคลื่อนท้องถิ่นนิยมบนเกาะไต้หวันค่อนข้างชัดเจน

การสร้างชาติไต้หวันผ่านพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เกาสง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน มีผู้เล่าและเนื้อหาที่เล่าต่างจากขนบเดิม การดิ้นรน ความสุข และความทุกข์ในชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อย และความเป็นพี่เป็นน้องในหมู่มวลชาวเกาะไต้หวันที่เกาสง ถูกนำเสนอให้เห็นภาพ ‘ความเป็นเกาสง’  หาใช่การเล่าเรื่องกระแสหลักของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน ที่มีเกาสงเป็นองค์ประกอบเล็กน้อยอย่างที่เคยทำมา

เกาสงเป็นเมืองสำคัญทางตอนใต้ของเกาะไต้หวันครับ มีกลุ่มชาวไต้หวันที่เกิดและเติบโตบนเกาะไต้หวันอาศัยอยู่จำนวนมาก พวกเขาใช้ภาษาจีนสำเนียงไต้หวัน และเกาสงยังเป็นฐานเคลื่อนไหวของชาวเกาะไต้หวัน เพื่อต่อต้านจีนคณะชาติในช่วงปลายสงครามการเมือง เหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชน 228 ก็มีมูลเหตุมาจากความไม่พอใจของประชาชนที่นี่ ก่อนจะลุกลามทั่วไปเกาะไต้หวัน

 

หอภาพยนตร์เกาสง อัตลักษณ์ใหม่ทางวัฒนธรรมของชาวไต้หวันใต้ / ที่มาภาพ หน่วยกิจการทางวัฒนธรรมเกาสง

 

เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์อีกที่ในเมืองนี้ครับ นั่นคือ หอภาพยนตร์เกาสง ที่หลินเจียฮุ้ย ผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ของไต้หวัน บอกว่ามันกลายเป็นระเบียงทางวัฒนธรรม  ที่แสดงอัตลักษณ์ของชาวไต้หวันใต้ ด้วยที่ตั้งของหอภาพยนตร์ที่อยู่ริมแม่น้ำ หลอมรวมผู้คน และชุมชนเก่า-ใหม่เข้าด้วยกัน ไม่แปลกแยกแตกต่างเฉกเช่นพิพิธภัณฑ์ หรืออนุสรณ์สถานที่ที่มีระยะห่างจากวิถีชีวิตผู้คนทั่วไป สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำอัตลักษณ์ร่วมของชาวเกาสง หรือชาวไต้หวันได้นั่นเองครับ กระแสนี้ทำให้เกิดขบวนการพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ ซึ่งทำให้การเล่าเรื่อง ‘ไต้หวัน’ เปลี่ยนไปมากขึ้น นั่นรวมถึง ‘เซี้ยจื้อ และพิพิธภัณฑ์คุกจิ๋งเหม่ย’ ที่ผมเท้าความไว้ด้านบนก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติไต้หวันใหม่ ด้วยการประกอบสร้างความจริงใหม่เช่นกัน ล่าสุดพิพิธภัณฑ์นี้ได้รับรางวัล Karl Wilhelm Fricke จากเยอรมนี ในฐานะหน่วยงานที่อุทิศการศึกษาประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ไต้หวันแบบใหม่จึงถูกตอกย้ำสู่สายตาโลกมากขึ้น

‘ชาติ’ ที่ถูกสร้างผ่านพิพิธภัณฑ์บนเกาะไต้หวัน จึงแปรเปลี่ยนไปตามวิถีประวัติศาสตร์ การขึ้นลงของ ‘อำนาจ’ และอุดมการณ์ทางการเมือง จากญี่ปุ่น จีนสาธารณรัฐ จนถึงไต้หวันใหม่ ที่ผลักตัวเองให้หลุดพ้นจากความเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ จีนสาธารณรัฐ หรือแม้กระทั่ง ‘เชื้อชาติ’ จีนด้วยซ้ำ สำหรับผมเดายากครับว่าในอนาคตจะเป็นไปทิศทางไปทางไหน ในเมื่อสังคมไต้หวัน ณ ขณะนี้ แม้วิจัยหลายฉบับจะยืนยันว่า ชาวไต้หวันส่วนใหญ่บอกตัวเองว่า ‘ฉันเป็นคนไต้หวัน’ และปฏิเสธ ‘จีนแผ่นดินใหญ่’ แต่ใช่ว่าจำนวนนี้จะปฏิเสธรากเหง้าแห่ง ‘เชื้อชาติจีน’ ไปด้วย พวกเขายังระลึก และแสดงออกผ่านพื้นที่ทางการเมือง จนกลายเป็นการเมืองขั้วตรงข้ามระหว่างคนสองวัย

อย่างไรก็คุณูปการสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทั้งในและนอกพิพิธภัณฑ์ ก็ดึง ‘คน’ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และมีอำนาจมากขึ้น นี่เป็นข้อดีที่ปฏิเสธไม่ได้เลย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0