โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ย้อนไทม์ไลน์ "วุฒิศักดิ์คลินิก" ทำไมขาดทุนอ่วมกว่าพันล้าน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 05 ส.ค. 2563 เวลา 09.49 น. • เผยแพร่ 15 ก.ค. 2563 เวลา 07.02 น.
ย้อนไทม์ไลน์

หลังจากมีกระแสข่าว การยื่นขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทวุฒิศักดิ์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารวุฒิศักดิ์ คลินิก ผู้สื่อข่าวได้ทำการตรวจสอบผลประกอบการของบริษัทพบว่ามีรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่ถดถอย จนถึงภาวะขาดทุน

  • ปี 2556 มีรายได้รวม 3,498 ล้านบาท กำไรสุธิ 414 ล้านบาท
  • ปี 2557 มีรายได้รวม 2,922 ล้านบาท กำไรสุทธิ 71 ล้านบาท
  • ปี 2558 มีรายได้รวม 2,584 ล้านบาท กำไรสุทธิ 149 ล้านบาท
  • ปี 2559 มีรายได้รวม 1,623 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 528 ล้านบาท
  • ปี 2560 มีรายได้รวม 481 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 664 ล้านบาท

ในส่วนของรายได้ปี 2561 – 2562 ไม่พบว่ามีการแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ย้อนกลับไปเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว วุฒิศักดิ์ คลินิก ถือเป็นคลินิกความงามอันดับต้น ๆ ที่มีสาขามากกว่า 100 แห่ง มีการทำตลาดผ่านพรีเซ็นเตอร์ชื่อดัง รวมถึงแคมเปญ โปรโมชั่น ที่สร้างความคึกคักอยู่ตลอด ภายใต้สโลแกนยอดฮิตติดหู “เพราะความสวยรอไม่ได้”

จากนั้นในปี 2556 วุฒิศักดิ์ฯ มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ หลังจากผู้บริหารสำคัญอย่าง “เอก-ณกรณ์ กรณ์หิรัญ” ซีอีโอบริษัทได้ลาออก และมี “พลภัทร จันทร์วิเมลือง” 1 ใน 3 ผู้ก่อตั้ง เข้ามาเป็นซีอีโอแทน

ในปีต่อมา 2557 วุฒิศักดิ์ฯ ก็ได้ผู้ถือหุ้นใหม่ โดย บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) (EFORL) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ ได้ทุ่มเงินกว่า 3.5 พันล้านซื้อหุ้น 60% ของวุฒิศักดิ์ฯ และปรับนโยบายการทำธุรกิจครั้งใหม่ เร่งนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ไทม์ไลน์ในช่วงต่อจากนี้มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารที่กุมบังเหียนของวุฒิศักดิ์อยู่หลายต่อหลายครั้ง ทั้งการดึง “เอก-ณกรณ์ กรณ์หิรัญ” กลับเข้ามาช่วยบริหาร ตลอดจนมีชื่อของ“ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” เข้ามานั่งในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ พร้อมกับการประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ สู่การเป็นคลินิกความงามครบวงจร “Wuttisak Wellness World” ในปี 2560 พร้อมกับการดึง “นพ.วุฒิศักดิ์ ลิ่มพานิช” หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์กลับเข้ามาบริหารอีกครั้ง

ในปีดังกล่าว วุฒิศักดิ์ฯ ยังมีนโยบายการลงทุนด้วยโมเดลการขายแฟรนไชส์ ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องในเวลาต่อมา เพราะว่าบริษัทแม่อย่าง EFORL มองว่าเป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากนำสาขาที่มียอดขายสูง ๆ ขายให้นักลงทุนที่มาซื้อแฟรนไชส์จนหมด ส่วนที่เหลือที่เป็นของบริษัท คือสาขาที่ทำรายได้รองลงมา หรือไม่ก็อยู่ในโลเกชั่นที่ไม่ดี

ต่อมาในปี 2561 บริษัท EFORL ก็เกิดการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งสำคัญ โดย “วิชัย ทองแตง” ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และดึง “เอก-ณกรณ์ กรณ์หิรัญ” กลับมาอีกครั้ง

จากนั้นปี 2562 ก็มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารใหม่ โดยดึงมือดีจากแวดวงค้าปลีกอย่าง “กวิน สัณฑกุล” อดีตผู้บริหาร เทสโก้ โลตัส และแม็คโคร เข้ามาช่วยรีแบรนด์วุฒิศักดิ์ฯ รอบใหม่ พร้อมกับนโยบายการลงทุนใหม่ ที่ต้องการไดเวอซิฟายธุรกิจบิวตี้ออกไปหลากหลายรูปแบบ เพื่อขยายฐานลูกค้าและรายได้ให้มากกว่าการเปิดคลินิกความงาม ที่มีกฏเกณฑ์ควบคุมจำนวนมาก และการแข่งขันสูง อาทิ บิวตี้เซ็นเตอร์ เครื่องสำอาง ฯลฯ

จนกระทั่งปี 2563 มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการชุดใหม่ของวุฒิศักดิ์อีกครั้ง และหลังจากประเมิณสถานภาพกิจการแล้ว คณะกรรมการจึงได้ยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ซึ่งศาลรับคำร้องแล้ว และกำหนดไต่สวนในวันที่ 31 สิงหาคมที่จะถึงนี้

EFORL ยังได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัยพ์ฯอีกด้วยว่า ผลการดำเนินงานของวุฒิศักดิ์ฯในปีนี้ ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จากการถูกปิดสาขาตามมาตรการของรัฐบาลเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงเดือนพฤษภาคม ทำให้วุฒิศักดิ์ขาดรายได้จากการให้บริการอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง ทำให้พนักงานลาออก ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงานบัญชี ซึ่งลาออกทั้งหมด โดยไม่มีการส่งมอบงาน

ผลกระทบจากวิกฤตโควิดครั้งนี้จึงเป็นเพียงตัวเร่ง ที่ทำให้บริษัทต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการเท่านั้น เพราะหากย้อนดูไทม์ไลน์จะเห็นว่า วุฒิศักดิ์ฯ ต้องเผชิญกับปัญหาภายใน เชิงโครงสร้างบริหาร ที่ทำให้นโยบายต่างๆ ไม่สามารถสานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นระยะเวลานานแล้ว บวกกับการตัดสินใจขายแฟรนไชส์ ที่ทำให้วุฒิศักดิ์ฯต้องขายสาขาที่ยอดขายดี ทำกำไรได้สูงๆ ให้กับนักลงทุนเกือบครึ่งหนึ่งของสาขาที่มีในขณะนั้น ส่วนสาขาที่เหลืออยู่ก็มีรายได้รองลงมา หรือโลเกชั่นไม่ดี จนต้องทะยอยปิดไป ทำให้ปัจจุบันมีสาขาเหลืออยู่เพียง 19 สาขา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0