โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ย้อนไทม์ไลน์สำคัญกว่าจะมาถึง Bastille Day และ วันชาติฝรั่งเศส

Sarakadee Lite

อัพเดต 14 ก.ค. 2563 เวลา 14.27 น. • เผยแพร่ 13 ก.ค. 2563 เวลา 18.07 น.

วันชาติฝรั่งเศส ตรงกับ 14 กรกฎาคม แต่หากย้อนไปเมื่อ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 วันนี้เป็นวันที่เกิดเหตุ ทลายคุกบาสติล (Storming of the Bastille) เมื่อประชาชนฝรั่งเศส ทั้งปัญญาชน พ่อค้า และพลเมือง ลุกฮือกันเดินขบวนประท้วงและตรงเข้าไปบุกทลายคุกบาสติลที่คุมขังนักโทษการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของ การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ถือเป็นวันประกาศอิสรภาพของประชาชนฝรั่งเศสที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของระบอบเก่า เหตุการณ์นั้นตรงกับรัชสมัย พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งราชวงศ์บูร์บอง (Bourbon)

การทลายคุกบาสติลสืบเนื่องจากการสะสมความเหลื่อมล้ำในชีวิตความเป็นอยู่ ช่องว่างระหว่างความมั่งคั่งฟุ้งเฟ้อของชนชั้นสูงและความอดอยากยากแค้นของประชาชนทั่วไป เหตุการณ์นี้ถือเป็นสัญลักษณ์การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากระบอบการปกครองแบบเก่าที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบใหม่คือประชาธิปไตยในแบบสาธารณรัฐ แต่ไม่ใช่แค่วันที่ 14 กรกฎาคมแค่วันเดียวทุกอย่างจะเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านการเสียเลือดและแย่งชิงอำนาจอีกหลายครั้ง จนถึงปี ค.ศ. 1848 ฝรั่งเศสจึงสามารถล้มล้างอำนาจเก่าลงไปได้อย่างสิ้นเชิง

สำหรับการเฉลิมฉลอง วันชาติฝรั่งเศส ที่กำหนดเอาวันที่ 14 กรกฎาคม นั้นเริ่มต้นใน ค.ศ. 1880 ซึ่งทางรัฐบาลได้จัดให้มีการจัดงาน วันชาติฝรั่งเศส ขึ้นพร้อมพาเหรดเฉลิมฉลองในกรุงปารีส ต่อมาในปี ค.ศ. 1918 จนถึงยุคปัจจุบันได้มี งานพาเหรดเฉลิมฉลองวันชาติ หรือเรียกอีกชื่อว่า พาเหรดวันบาสติล (Bastille Parade) จัดขึ้นบนถนนฌองเอลิเซ่ โดยมีกองทหารเดินสวนสนาม และการแสดงการบินจากกองทัพอากาศ จากประตูชัยฝรั่งเศส (Arc de Triomphe) ไปถึง จัตุรัสคองคอร์ด (Place de la Concorde) พร้อมการจุดพลุไฟสวยงามอลังการในยามค่ำคืนที่หอไอเฟล

รูปวาดคุกบาสติลจาก Gallica Digital Library
รูปวาดคุกบาสติลจาก Gallica Digital Library

ย้อนรอยความเหลื่อมล้ำที่นำมาสู่ปฎิวัติฝรั่งเศส

การปฎิวัติฝรั่งเศส หมายถึง การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ของฝรั่งเศส จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ครองอำนาจและรุ่งเรืองมายาวนานสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยหลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชวงศ์บูร์บองได้สร้างพระราชวังแวร์ซายอย่างหรูหราอลังการ แต่ภายใต้ความอลังการงานสร้างและวิถีชีวิตที่หรูหราฟุ้งเฟ้อของชนชั้นสูงโดยเฉพาะเหล่าราชวงศ์นั้นได้ทิ้งให้ประชาชนส่วนอื่นอยู่อย่างลำบากยากแค้น

ต่อมาในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระราชินี มารี อังตัวเน็ตต์ ความไม่พอใจของประชาชนก็เพิ่มถึงขีดสุดอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำ การขูดรีดภาษี และเศรษฐกิจที่ตกต่ำ สถาบันกษัตริย์เริ่มเสื่อมบารมี ฝ่ายปัญญาชน พ่อค้า แรงงาน และชาวนาคนชนบทเริ่มเห็นดีเห็นงามกับการปกครองระบอบใหม่และต้องการล้มโครงสร้างเก่าที่ให้เอกสิทธิ์กับชนชั้นสูง อภิสิทธิ์ชน และระบบเจ้าขุนมูลนาย ประชาชนต้องการเปลี่ยนมาเป็นการปกครองแบบใหม่ที่ให้สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพของพลเมืองทุกคน

แต่กว่าจะมาเป็น สาธารณรัฐฝรั่งเศส อย่างในปัจจุบัน มีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง แต่เหตุการณ์การทลายคุกบาสติลในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ถือว่าเป็นวันประกาศอิสรภาพปลดแอกฝรั่งเศสจากระบอบเก่า โดยหลังเหตุการณ์นั้นสถาบันกษัตริย์ได้ถูกรื้อฟื้นกลับมาถึง 2 รอบ ก่อนจะเปลี่ยนสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่อย่างแท้จริงในปี ค.ศ. 1848

ภาพ Liberty Leading People เล่าถึง July Revolution
ภาพ Liberty Leading People เล่าถึง July Revolution

สำหรับไทม์ไลน์สำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส ก่อนจะมาเป็น วันชาติฝรั่งเศส มีดังนี้

  • พฤษภาคม ค.ศ. 1789 มีการประชุมสภาฐานันดร  ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประกาศให้มีการเลือกตั้งสภาฐานันดร ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ฐานันดร หรือ 3 สภา ได้แก่ ฐานันดรขุนนาง ฐานันดรพระ และฐานันดรที่สาม
  • มิถุนายน ค.ศ. 1789 สมาชิกฐานันดรที่สามประกาศคำปฏิญาณสนามเทนนิส
  • 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ประชาชนเดินขบวนประท้วงการปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งปล่อยให้ประชาชนทุกข์ยาก ด้วยการบุกไปทลายคุกบาสติล ที่คุมขังนักโทษทางการเมือง
  • 4 สิงหาคม ค.ศ.1789 มีคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง  ตามแนวคิดของนักปรัชญาการเมือง ฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau)เปลี่ยนการปกครองตามแนวคิดในระบอบเก่ามาเป็นระบอบใหม่ ที่ยึดหลักการ “เสมอภาค  เสรีภาพ และภราดรภาพ”  และวันนี้ถือเป็นวันสิ้นสุดของระบอบศักดินาในฝรั่งเศส
  • ตุลาคม ค.ศ. 1789 ฝ่ายปฏิวัติเดินขบวนสู่พระราชวังแวร์ซาย และบีบบังคับให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และสมาชิกราชวงศ์ย้ายออกจากวังไปอยู่ในเขตตัวเมืองปารีส
  • ช่วงปี ค.ศ. 1790-1792 มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา
  • กันยายน ค.ศ. 1792 มีการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐ  แต่สาธารณรัฐฝรั่งเศสยังถูกปกครองด้วยกลุ่มอำนาจที่เป็นเผด็จการ
  • 21 มกราคม ค.ศ. 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน ต่อหน้าสาธารณชน หลังจากถูกสภาปฎิวัติทำการไต่สวนและพิพากษาข้อหาโกงชาติ 
  • ค.ศ. 1793 นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต  ทำการปฏิวัติรัฐประหาร และสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์ นโปเลียน โบนาปาร์ต เป็นทหารนักรบ ที่ได้สร้างวีรกรรมในสนามรบจนพาตัวเองสู่ตำแหน่งนายพลและเป็นวีรบุรุษผู้นำทัพฝรั่งเศสชนะสงครามในคาบสมุทรอิตาลีและดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำไรน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายร้อยปี
  • ค.ศ. 1805  มีพิธีสวมมงกุฎสถาปนาให้ นโปเลียน โบนาปาร์ต เป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส  ในโบสถ์นอเตรอะดาม
  • กรกฎาคม ค.ศ. 1830 ประชาชนลุกฮืออีกครั้ง เพราะปัญหาความยากจนและไม่เท่าเทียม ใน “การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม” (July Revolution) โดยมีการยึดอำนาจจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 ทายาทองค์สุดท้ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และราชวงศ์บูร์บอง อำนาจตกทอดไปยังญาติห่างๆ ของชาร์ลส์ ที่ 10  นั่นคือ ดยุคแห่งออร์ลีออง ผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลขุนนางออร์ลีออง ซึ่งขึ้นครองอำนาจด้วยพระนาม พระเจ้าหลุยส์-ฟิลลิปส์ ที่ 1
  • ค.ศ.1830-1848 พระเจ้าหลุยส์-ฟิลลิปส์ ที่ 1 เป็นผู้ปกครองสูงสุดถือเป็นยุคที่สถาบันกษัตริย์ได้อำนาจมาจากการปฏิวัติเดือนกรฎาคม ค.ศ. 1830
  • ค.ศ. 1848 เกิด “การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ” (February Revolution) โค่นล้มพระเจ้าหลุยส์-ฟิลลิปส์ที่ 1  โดยการปฏิวัติช่วงปี ค.ศ.1848 นี้ ไม่ใช่เฉพาะในฝรั่งเศสเท่านั้นแต่  อำนาจการปกครองของสถาบันกษัตริย์ถูกล้มล้างไปทั้งทวีปยุโรป เริ่มต้นที่ซิชีลี (ปัจจุบันรวมกับอิตาลี) ฝรั่งเศส เยอรมนี  อิตาลี และจักรวรรดิออสเตรีย  เหตุการณ์การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ นี้นับว่าเป็นการปฏิวัติครั้งที่ 3 ของประชาชนฝรั่งเศส (ครั้งที่หนึ่งเมื่อ ค.ศ. 1789 และครั้งที่สอง เมื่อ ค.ศ. 1830 ) และเป็นครั้งที่อำนาจของสถาบันกษัตริย์ถูกล้มล้างไปอย่างสิ้นเชิง

อ้างอิง

The post ย้อนไทม์ไลน์สำคัญกว่าจะมาถึง Bastille Day และ วันชาติฝรั่งเศส appeared first on SARAKADEE LITE.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0