โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มองเมืองไทย ๑๐๐ ปีก่อน จากภาพเก่าในนิทรรศการ "ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา"

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 01 ก.พ. 2566 เวลา 14.01 น. • เผยแพร่ 10 ก.ค. 2563 เวลา 13.42 น.
IMG_0414
ภาพถ่าย เป็นวัตถุอย่างหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราว บันทึกสภาพสังคม และวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี และดีที่สุดก่อนที่เราจะมีสื่อที่พัฒนาขึ้นมาอย่าง ภาพเคลื่อนไหว ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่าสภาพสังคม-บ้านเมืองในยุคไหนเป็นอย่างไร ให้ดูที่ภาพถ่ายที่ถ่ายในยุคนั้น ๆ

เทคโนโลยีการถ่ายภาพเข้ามาในเมืองไทย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนจะเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่เจ้านาย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งฟิล์มภาพถ่ายจำนวนมากที่ท่านเหล่านั้นได้ถ่ายไว้ ส่วนหนึ่งยังคงได้รับการรักษาไว้อย่างดี เป็นมรดกของแผ่นดินให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นข้อมูลในการศึกษา และได้เห็นสภาพบ้านเมืองในแต่ละยุคสมัยเรื่อยมา ก่อนจะถึงยุคปัจจุบัน

ช่วงนี้มีโอกาสดีสำหรับใครที่อยากเห็นสภาพความเป็นอยู่ของเมืองไทยเมื่อราว 100 ปีก่อน สามารถไปดูภาพถ่ายที่บันทึกในยุคนั้นได้ในนิทรรศการ “ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา” ที่จัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม-20 กันยายนนี้

ภาพถ่ายในนิทรรศการ “ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา” เป็นส่วนหนึ่งในต้นฉบับภาพถ่ายฟิล์มกระจกชุด “หอพระสมุดวชิรญาณ” ที่องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก” เมื่อปี พ.ศ. 2560 ซึ่งภาพถ่ายชุดนี้บอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยในอดีต รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7

หลังจากที่ต้นฉบับภาพถ่ายฟิล์มกระจกชุด “หอพระสมุดวชิรญาณ” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก” กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสนั้น นับแต่นั้นมา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้กำหนดแผนการดำเนินงานทุกปี ด้วยการนำภาพถ่ายฟิล์มกระจกตามลำดับกล่องถัดไป มาจัดทำคำบรรยายภาพและเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบหนังสือ หรือนิทรรศการ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัยของประชาชน

IMG_0414

ถนนเจริญกรุงตัดกับถนนมหาไชย เชิงสะพานดำรงสถิตย์ ตึกแถวหัวมุมที่สี่แยกเป็นห้าง บี.กริมแอนด์โก สาขาประตูสามยอด ภาพถ่ายนี้ถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ก่อนที่จะออกมาเป็นนิทรรศการ “ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา” นี้ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิพร้อมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาพถ่ายโบราณ ร่วมจัดทำคำบรรยายและคัดเลือกภาพถ่ายจำนวน 205 ภาพ นำมาจัดพิมพ์หนังสือในชื่อ “ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์” เล่ม 2 ต่อมา ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ได้นำภาพถ่ายจากหนังสือร่วมกับภาพถ่ายชุดอื่นไปออกแบบเนื้อหาและนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการ ภายใต้ชื่อ “ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา” รวมทั้งหมด 102 ภาพ ซึ่ง “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้คัดเลือกภาพส่วนหนึ่ง พร้อมคำบรรยายมานำเสนอให้ชมในที่นี้แล้ว

ข้อมูลในนิทรรศการบอกว่า นิทรรศการนี้เน้นให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเมื่อสยามค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการประสมประสานทางวัฒนธรรม “ตะวันออกบรรจบตะวันตก” อันเป็นเอกลักษณ์เพื่อนำผู้คนในปัจจุบันเดินทางย้อนเวลาไปในอดีต เป็นการเดินทางที่นำไปสัมผัสกับเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7

นิทรรศการนี้แบ่งส่วนการจัดแสดงออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 : ปฐมบรรพ การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพการเสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ และการเสด็จประพาสต้น

ตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา วิถีชีวิตของชาวสยามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่เพียงแต่เฉพาะสามัญชน รวมถึงพระมหากษัตริย์และบรรดาเจ้านายพระราชวงศ์ด้วย ความสนใจที่มีต่อวัฒนธรรมตะวันตก รวมทั้งการติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ ทำให้แนวคิดและวิถีแห่งกษัตริย์เปลี่ยนแปลงไป มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ความเปลี่ยนแปลงยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น ด้วยพระองค์ได้เสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ พร้อมเจ้านายพระราชวงศ์ บ่อยครั้งเป็นการเสด็จประพาสต้น คือ เสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์โดยไม่ให้ใครรู้จัก เพื่อจะได้ทรงใกล้ชิดและทราบทุกข์สุขที่แท้จริงของชาวบ้าน

ส่วนที่ 2 : ทุติยบรรพ สยามอันสุขสงบในรอยต่อของกาลเวลา เป็นภาพวิถีชีวิตของผู้คนในกรุงเทพฯ ที่ดำเนินไปตามครรลองอย่างเนิบช้า ภาพเด็ก ๆ เล่นกันอย่างสนุกสนาน ภาพพระภิกษุในวัดวาอาราม ฯลฯ วิถีชีวิตอันธรรมดาสามัญเหล่านี้เปรียบเสมือนช่วงพักครึ่งเวลาระหว่างการแสดง ช่วงเวลาที่สงบนิ่ง รอเวลาที่ความเปลี่ยนแปลงจะเข้ามาแสดงบทบาทในสยามประเทศ

ส่วนที่ 3 : ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นบทบาทของชาวตะวันตกที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7

แม้ชาวตะวันตกจะเข้ามาในสยามตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 นี้เองที่เห็นได้ชัดเจนว่า ชาวตะวันตกมีบทบาทต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสยามมากขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวยุโรปที่มีความรู้ความสามารถหลายคนได้ทำงานร่วมกับช่างฝีมือชาวสยาม ลักษณะแห่ง “ตะวันออกบรรจบตะวันตก” นี้ได้ดำเนินเรื่อยมา และพัฒนาจนถึงจุดสูงสุดในรัชสมัยของพระองค์เอง และพระราชโอรสทั้งสอง ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)

ส่วนที่ 4 : จตุตถบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของชาติตะวันตกที่ทำให้สยามเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการสร้างและเชื่อมโยงระบบเส้นทางรถไฟ ซึ่งนำไปสู่การเติบโตทางการปกครอง เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

กิจการรถไฟแรกมีในสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์ โดยเชื่อมโยงระบบและเส้นทางทั้งหมดให้เป็นโครงข่ายเดียวกัน รถไฟนี่เองที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้สยามเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

การสร้างทางรถไฟสะท้อนอิทธิพลของตะวันตกทั้งในเชิงกายภาพและแนวคิดอุดมคติ เห็นได้ชัดเจนจากการนำเข้าวัสดุและวิทยาการจากตะวันตกเพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและลึกซึ้งกว่านั้น คือ การสร้างทางรถไฟเป็นประจักษ์พยานของสำนึกเรื่องรัฐชาติ อันเป็นแนวคิดจากตะวันตกซึ่งมีอิทธิพลต่อชนชั้นปกครองของเอเชียในสมัยนั้น ในอันที่จะเชื่อมหัวเมืองใหญ่น้อยเข้ากับเมืองหลวง เพื่อเสริมสร้างการปกครองแบบรวมศูนย์ ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและการบริหารบ้านเมือง สยามจึงเริ่มกลายเป็นรัฐที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ขยายออกจากพระนคร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0