โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ฟังเสียงผู้ใช้แอป “ไทยชนะ” เมื่อต้องสแกน “เข้า-ออก” วันละหลายรอบเป็นปัญหาหรือไม่

Brandbuffet

อัพเดต 05 มิ.ย. 2563 เวลา 16.26 น. • เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2563 เวลา 10.36 น. • Insight

สถานการณ์ Covid-19 ในประเทศไทย ดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ที่กลับจากต่างประเทศ แต่ในประเทศเป็น 0 รายมาหลายวัน แต่การดูแลป้องกันยังต้องทำต่อไป  มาตรการคลาย Lockdown มาถึงระยะ 3 ยังต้องเฝ้าระวังการใช้บริการในสถานที่ต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” (Thaichana) ขอความร่วมมือ สแกน “เข้า-ออก” ทุกสถานที่ เพื่อสะดวกในการติดตาม หากพบเหตุการณ์การแพร่เชื้อภายหลัง

จากการเก็บข้อมูลของ โดย ZOCIAL EYE  ของ Wisesight  ระหว่างวันที่ 17-30 พฤษภาคม 2563 เพื่อดูว่า คนพูดถึงไทยชนะ อย่างไรบ้าง  จากจำนวนข้อความทั้งหมดที่เกิดขึ้น 91,807 ข้อความ  แบ่งสัดส่วนจากโซเชียลมีเดีย Facebook 64%  Twitter 33% YouTube 1%  โดยมี 5 หัวข้อดังนี้  การออกจากบ้าน  60%  ระบบของไทยชนะ 28%  ข้อความขยะ 6%  ความสามารถของระบบ 4%  อื่นๆ 2%

“ไทยชนะ” ไม่ใช่ปัญหา  94% อยากออกจากบ้าน  

หลังปลดล็อกดาวน์ธุรกิจ การออกจากบ้านไปสถานที่ต่างๆของประชาชนต้องขอความร่วมมือให้ สแกน “เข้า-ออก” แอปไทยชนะ พบว่าสัดส่วน 94% บอกอยากออกจากบ้าน มีเพียง 6% เท่านั้นที่ไม่อยากออกจากบ้าน

การกลับมาเปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ หลังมีมาตรการผ่อนปรน ทำให้ชาวโซเชียลหลายๆคน คิดถึงการไปเดินช้อปปิ้ง ซึ่งบรรดาร้านค้าต่างๆ ก็ได้จัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นให้คนกลับมา จึงทำให้หลายคนอยากจะไปห้าง ถึงแม้ว่าจะต้องอยู่ในการควบคุมความปลอดภัย มีการสแกน บันทึกการเข้า-ออก ด้วยแอป ”ไทยชนะ” เกือบทั้งหมดบอกไม่เป็นอุปสรรค เพื่ออยากออกจากบ้านแล้ว หลังต้องกักตัวมานานกว่า 2 เดือน

แต่ก็มีความคิดเห็นอีกฝั่งที่เห็นว่า การไปสแกน หรือไปบันทึกให้ข้อมูลส่วนตัวกับแอปไทยชนะ สร้างความไม่ปลอดภัยกับข้อมูลส่วนบุคคล และสร้างความยุ่งยากในการเข้าไปใช้งาน เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น แค่เข้าไปซื้อของแป๊บเดียวแต่ต้องมาสแกนแอป หรือ จดบันทึก ให้ยุ่งยาก ดังนั้นจึงเลือกที่จะไม่ไป และอยู่บ้านดีกว่า

ดังนั้นแม้ว่าชาวโซเชียลส่วนใหญ่มองว่าการสแกนแอปไทยชนะเป็นเรื่องยุ่งยากน่ารำคาญ แต่ก็ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจไปห้างของคนส่วนใหญ่มากนัก

ห่วงความปลอดภัยข้อมูล   

มาที่มุมมองเรื่อง “ระบบของไทยชนะ” ชาวโซเชียล 92% มีการใช้งาน แต่  8% ห่วงความปลอดภัย แต่การใช้งานแอปไทยชนะ มีการคอมเมนต์เกี่ยวกับการใช้งานของระบบที่ค่อนข้างยุ่งยาก จะไปไหน เข้าร้านไหน ก็จะต้องสแกน วันนึงสแกนไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ซึ่งสร้างความไม่สะดวกอย่างมาก โดยเฉพาะ เวลาจะเข้าร้านสะดวกซื้อ ก็ต้องมาสแกน คนก็ยืนรอกันหน้าร้าน ตอนออกถือของเยอะก็ต้องสแกนอีก

ด้านผู้ประกอบการคิดว่า ไทยชนะมีช่องทางในการกลั่นแกล้งธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแกล้งส่งประเมินใส่ร้ายธุรกิจให้เสียหาย เช่น ประเมินร้านไม่ใส่หน้ากากอนามัย เช็คอินไว้แต่ไม่ยอมเช็คเอ้าท์ทำให้ร้านเต็มตลอดเวลา ลูกค้าเลยไปร้านอื่นแทน จึงเกิดคำถามถึงแนวทางป้องกันการกระทำเหล่านี้

ส่วนประเด็น ความปลอดภัย  ยังมีความกังวลว่า หากลงทะเบียนการใช้งานแอปไปแล้ว จะถูกเอาข้อมูลส่วนตัวไปใช้ทำอะไร รู้สึกไม่ปลอดภัย รวมถึง การจดบันทึกข้อมูลลงกระดาษที่ต้องให้ชื่อและเบอร์โทร ก็ทำให้หลายๆ คน ไม่อยากที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในที่สาธารณะ

ในมุมของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการใช้งานของแอป เห็นว่าต้องง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน รวมไปถึง ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาด้วย

ชาวโซเชียลเชื่อสาเหตุข้อความขยะ

จากเหตุการณ์ที่หลายคนใช้มือถือระบบ iOS ได้รับข้อความขยะเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ จากการใช้แอปไทยชนะ ทำให้ชาวโซเชียล 76% มองว่านี่เป็นสาเหตุของข้อความขยะ จนทำให้เกิดการแชร์เคสไปในโซเชียล อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่าเป็นช่องทางที่ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเบอร์โทรศัพท์ถึงหลุดออกไปได้ โดยมีทั้งฝั่งที่มองว่า มาจากการลงทะเบียนแอปไทยชนะ กับอีกฝั่งที่ไม่ใช่

สาเหตุของข้อความขยะ ฝั่งที่มองว่าเป็นเพราะแอปไทยชนะ หลังจากไปเข้าห้างเช็คอินลงทะเบียนแอปมาก็จะได้รับข้อความขยะเหล่านี้  ส่วนที่เห็นว่าไม่ใช่สาเหตุของข้อความขยะ เพราะถึงแม้จะไม่ได้ไปลงทะเบียนใช้แอปไทยชนะ แต่ก็ได้รับข้อความขยะนเหล่านี้เช่นกัน

ดังนั้นถึงแม้ว่าตอนหลังจะมีการสรุปออกมาว่าน่าจะเกิดจากตัวระบบ iMessage ของ apple แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของชาวโซเชียล ที่มีต่อแอปของรัฐบาล ว่าพวกเขาไม่ไว้วางใจการจัดการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของรัฐอย่างเห็นได้ชัด

79% มองไม่เป็นประโยชน์ป้องกันโควิด

วัตถุประสงค์ของแอปไทยชนะก็เพื่อติดตามและป้องกันการติดเชื้อโควิด-19  จากการไปใช้บริการในสถานที่ต่างๆจึงเกิดการแสดงความคิดเห็นของชาวโซเชียลเกี่ยวกับ ความสามารถของระบบไทยชนะ ว่าใช้งานและติดตามเพื่อควบคุมโรคได้จริงหรือไหม

พบว่า 79% เชื่อว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกัน คนส่วนใหญ่มองว่า ระบบนี้ไม่สามารถเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานได้จริง เนื่องจากการใช้ระบบนี้มีจุดโหว่หลายอย่าง เพราะคนหลายคนมองว่าไม่ไว้วางใจกับการจัดการข้อมูลของรัฐบาลจึงทำให้คนไม่ค่อยอยากสแกน หรือเป็นการสแกนหลอกๆ รวมไปถึงปกปิดข้อมูลตัวเอง ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ รวมไปถึงประเด็นความไม่ปลอดภัยการจดบันทึกลงกระดาษด้วยปากกาที่ก่อนหน้ามีคนจับไปแล้วไม่รู้ตั้งกี่คน และ การไปออกันหน้าร้านเพื่อรอลงทะเบียนก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คนมองว่า ไม่ได้ช่วยรักษา Social distance  อะไร

ส่วนอีก 21% ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการป้องกัน การทำแบบนี้เป็นสิ่งหนี่งที่ช่วยควบคุมโรคได้ เพื่อที่จะได้มีข้อมูลในการติดตามบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ เป็นการทำเพื่อส่วนรวม อาจจะยุ่งยากในช่วงแรก แต่ก็จะได้ทำให้โรคนี้หมดไปได้เร็วๆ  รวมไปถึงมีบางคอมเมนต์เปรียบเทียบกับระบบการติดตามของเกาหลีใต้ ที่ทำไมคนไทยไปชมระบบเขาแต่พอของไทย กลับมองว่าเป็นการคุกความสิทธิส่วนบุคคลเกินไป ซึ่งโดยแท้จริงแล้วคนชอบที่ไอเดีย เพียงแต่ไม่ไว้ใจกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลของรัฐบาล

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ว่า ส่วนใหญ่ชาวโซเชียลจะคอมเมนต์เกี่ยวกับการตั้งชื่อแอป “ไทยชนะ” ที่มักจะมีการล้อเลียนว่า ไทยชนะ ชนะอะไร ไปชนะใคร และเป็นการตั้งคำถาม การตำหนิการจัดการของรัฐบาล ซึ่งข้อความประเภทนี้ส่วนใหญ่มาจากช่องทาง Twitter

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0