โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พระราชนิยม “ชายหนุ่มสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง” ในรัชกาลที่ 6

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 05 ก.ค. 2565 เวลา 02.13 น. • เผยแพร่ 25 ก.ค. 2564 เวลา 17.14 น.
ทีมเสือป่าพรานหลวง
ภาพประกอบ - ทีมฟุตบอลเสือป่าพรานหลวง กับถ้วยรางวัลของพระยาประสิทธิ์ศุภการ (เจ้าพระยาราฆพ) หลังชนะทีมทหารรักษาวัง ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2460

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 รัฐบาลสยามเริ่มให้ความใส่ใจต่อประชาชนมากขึ้น ในฐานะที่ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศและสร้างรายได้ให้แก่รัฐบาล รัชกาลที่6 ทรงเชื่อว่าประเทศจะดำเนินไปได้ถ้าประชาชนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จึงร่างพระราชบัญญัติการสาธารณสุข เพื่อควบคุมการบำบัดโรค และออกกฎหมายด้านสาธารณสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การก่อตั้งกรมสาธารณสุขแห่งประเทศสยามขึ้น เพื่อควบคุมและดูแลรักษาความสะอาดร่างกายของประชาชน และหาความรู้เกี่ยวกับคนที่เกิด แก่ เจ็บป่วย และเสียชีวิตรวมถึงการป้องกันระงับและทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ

โดยกลุ่มประชาชนที่ต้องได้รับการดูแลสุขภาพร่างกายอย่างจริงจังคือกลุ่ม ชายหนุ่ม ซึ่งรัชกาลที่6 ทรงเปรียบเทียบว่าเหมือนทหาร ที่จะต้องแข็งแรงไม่อ่อนปวกเปียกขี้โรค เพราะว่าคนที่ไม่แข็งแรงก็ไม่มีประโยชน์ในการสงครามนับว่าอยู่เปลืองข้าวสุกเปล่า และจะถูกเรียกว่าไม่ใช่ทหาร ซึ่ง“…เท่ากับว่าไม่ใช่ผู้ชาย…” (มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.“บทที่2 ความมุ่งหมายในการที่ตั้งกองเสือป่า.หน้า12-27)

เมื่อสุขภาพของผู้ชายเปรียบเสมือนความมั่นคงของชาติ รัชกาลที่6 จึงพระราชนิพนธ์กันป่วย ในฐานะหนังสือช่วยตัวเอง(Self-help)” สำหรับผู้ชายในการดูแลร่างกาย เช่น อย่าดื่มเหล้า, อย่าสูบยา, อย่าหาโรคใส่ตัว และอย่าคบผู้หญิงไม่ดีโดยเฉพาะผู้หญิงประเภทโสเภณีโดยโสเภณีถูกจัดประเภทให้อยู่สถานะเดียวกับเหล้าและฝิ่น เพราะเป็นพาหะของกามโรค ที่บั่นทอนสุขภาพผู้ชาย

ในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่6 ทรงอธิบายว่ากามโรคคือความเจ็บป่วย และการร่วมเพศกับโสเภณีร้ายแรงยิ่งกว่าโรคภัยอื่น ๆ เพราจะทำให้ผู้ป่วยอ่อนแรงคล้ายคนพิการ ตามืด จมูกโหว่ และมีแผลลึก เป็นอันตรายแก่ข้อเข่าและถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ทรงเห็นว่ากามโรคคือความเจ็บป่วยทางสังคมมากกว่า ทรงแนะนำให้ปฏิบัติต่อผู้ป่วยกามโรคอย่างเข้มงวด โดยไม่ให้ผู้ป่วยใช้เครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า และภาชนะที่ดื่มกินร่วมกับผู้อื่น และห้ามนั่งหรือนอนใกล้กัน หากจำเป็นต้องสัมผัสร่างกายต้องรีบทำความสะอาดทันที และระมัดระวังไม่ให้ผู้ป่วยสัมผัสร่างกายของเราให้น้อยที่สุด

รัชกาลที่6 ทรงคอยตักเตือนนักเรียนมหาดเล็กหลวงและนายในอยู่เสมอว่าให้คอยดูแลสุขภาพร่างกาย ไม่ดื่มเหล้า ไม่เที่ยวกลางคืน และคบกับหญิงโสเภณี เพราะจะนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ถึงกับออกกฎมณเฑียรบาลห้ามไม่ให้นายในแต่งงานกับหญิงโสเภณีเลยทีเดียว

นอกจากการดูแลรักษาสุขภาพแล้ว รัชกาลที่6 ทรงส่งเสริมให้ผู้ชายเล่นกีฬา เพราะจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง กำยำ เพิ่มความอดทน มีระเบียบวินัย รู้จักรักษาความสะอาด มีความสามัคคี สร้างมิตรภาพระหว่างผู้ชาย และช่วยให้ผู้ชายไม่เสียเวลาอย่างเปล่าประโยชน์กับเหล้า ยาสูบ และผู้หญิง

โดยเฉพาะกีฬาเล่นเป็นทีมอย่าง“ฟุตบอลที่รัชกาลที่6 โปรดเป็นพิเศษ เนื่องจากการเสด็จประพาสปักษ์ใต้ พ.ศ. 2458 ทรงพบว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่คนปักษ์ใต้สนใจจำนวนมาก(ได้รับอิทธิพลจากรัฐมลายูที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ) หลังจากการเสด็จประพาสปักษ์ใต้ นายในที่ตามเสด็จก็เริ่มตั้งทีมฟุตบอลมาแข่งขันกับทีมนครศรีธรรมราช สร้างความพอพระราชหฤทัยอย่างมากจนรัชกาลที่6 ทรงพระราชอรรถาธิบายถึงฟุตบอลว่า

“…เปนสิ่งได้ให้ผลดีกว่าอย่างอื่นในการเพาะความรู้สึกเปนมิตร์และชักนำให้บุคคลต่างหมู่ต่างเหลาได้มามีโอกาสพบปะกระทำความสามัคคีสนิมสนมซึ่งกันและกันเวลาใดที่คนหนุ่มมาประชุมรวมกันอยู่ในที่แห่งเดียวกันเป็นจำนวนมากจะเป็นทหารหรือพลเรือนก็ตามความคะนองอันเป็นธรรมดาแหง่วิสัยหนุ่มจำเป็นต้องมีทางระบายออกโดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง…”(หจช., ร.6 บ. 8/1, นิสิตออกซ์ฟอร์ต(นามแฝง), เรื่องความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย.ลงวันที่22 กรกฎาคม พ.ศ. 2458.)

รัชกาลที่6 จึงโปรดให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งกรุงสยาม ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่25 เมษายน พ.ศ. 2459 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ชายหันมาเล่นกีฬามากขึ้น และตั้งทีมชาติฟุตบอลคณะฟุตบอลสำหรับชาติสยาม เมื่อวันที่23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 เพื่อส่งเสริมความเป็นชาตินิยมให้กับนักกีฬา เพราะเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ารัชกาลที่6 ทรงใส่ใจในสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ชายที่เปรียบเสมือนความมั่นคงของประเทศ จึงมีพระราชนิพนธ์“กันป่วย” และส่งเสริมให้ผู้ชายเล่นกีฬา เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี และมีร่างกายแข็งแรงกำยำสมกับเป็นชายชาติทหารของสยาม

อ้างอิง :

ชานันท์ ยอดหงส์. นายใน” สมัยรัชกาลที่6. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. กันป่วย. ขอนแก่น: รุ่งเกียรติ, 2515

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0