โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พระพุทธเจ้าหลวง “บันทึก” เรื่องความหิวกลางทะเล กับ “แอปเปิ้ลถวายตัว”

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 06 พ.ย. 2566 เวลา 02.38 น. • เผยแพร่ 03 พ.ย. 2566 เวลา 16.20 น.
ภาพปก-รัชกาลที่5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรง ประกอบ อาหาร

พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 “บันทึก” เรื่องความหิวที่เกิดขึ้นกลางทะเล เมื่อผีสางกุ้งปลามาหลอนยามดึก หากแก้ระงับได้ด้วย “แอบเปิ้ลถวายตัว”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชนิพนธ์ “บันทึกความหิว” ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกลางคืนวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม เรือพม่าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (กำหนดเปลี่ยนเที่ยงคืน) ร.ศ. 126 เนื้อหาที่บันทึกไว้มีดังนี้

(จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้น โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

“ในการที่จะเขียนลงไปนี้ จำจะต้องป้องกันไม่ให้เข้าใจผิดไปว่า อาหารในเรือลำนี้ไม่ดีจึงต้องหิว ถ้าจะว่าตามความจริงเป็นเวลาที่อาหารดีคราวหนึ่ง ซึ่งมีเหมือนเช่นนี้ แต่น้อยแห่ง อาหารนั้นดังนี้

เวลาเช้าไข่ จะชอบอย่างไรสั่งได้ แต่พ่อกินไข่ไม่ได้ตั้งแต่ฮอมเบิค…ในเรือนี้ปลาดีเสมอ แต่ผีฤาปีศาจปลาเยอรมันมาหลอกร่ำไปจนเลยกลัว กินปลาไม่ใคร่จะได้

เพราะฉะนั้นเวลาเช้าจึงเลิกปลาเสียอีกอย่างหนึ่ง เหลือแต่เนื้อ เป็นแกะฤาโควันละ 2 ชิ้นจานหนึ่ง เนื้อเย็นต่างๆ (ซึ่งไม่มีแห่งใดทำดีกว่าในเรือนี้) จานหนึ่งรวมกัน ขนมมี แต่เป็นโรคเก่า ที่พ่อกินไม่เป็น เหลือแต่ลูกไม้กับน้ำชา น้ำชามีน้ำตาลแลนม เขากินเป็นน้ำ แต่เราต้องแถมน้ำเย็น ซึ่งฝรั่งกินไม่เป็น

เวลากลางวันมีเนื้อเย็นต่างๆ ตั้งกว่า 16 อย่าง จัดจานใหญ่ทั้งก้อน หั่นเป็นชิ้นๆ วางไว้บนก้อนเนื้อให้น่ากิน วางด้วยความคิดให้เห็นเป็นหั่นไวๆ ไม่ใช่เรียงฤาประดับไว้ ที่สุดจนถ้ามีเครวีจะรดก็รดให้เข้าที่ คือไม่ให้เห็นเป็นเปรอะเปื้อน ที่ไหนเครวีกองกองอยู่ไม่มีรอยแตก ที่ไหนจานเปล่าก็ขาวสะอาด

เนื้อเย็นเหล่านี้คืออกห่าน หมูแฮมต้มจืด ลิ้นเค็ม ไก่ เนื้ออัดต่างๆ ไส้กรอก ปลาเค็ม เป็นต้น ยังมีปลาสดโรยผงขนมปังทอด แลเนื้อสดอีก 4-5 ที่ ตั้งด้วย เครื่องแกล้ม แตงร้านแช่ผักดอง ขวดน้ำส้ม น้ำซอส เครื่องหิ้ว ตั้งขัดจังหวะจาน ดูโต๊ะเหมือนในตำราทำกับข้าว จานที่จัดเหมือนเครื่องตุ๊กตาที่เคยเล่นมาแต่เด็กๆ รวมความว่าน่ากิน รสอร่อย กินเค็มเป็นไม่เลี่ยน ไม่เคยเห็นบริบูรณ์กว่านี้

แต่ในเวลาเราไปนั่งแล้วใช่ว่าจะต้องกินของเหล่านั้นเปล่า มีกับข้าวร้อนๆ เข้าไปเดินอย่างธรรมดาสาม คราว คือ ไข่เจียว ปลา เนื้อ ซึ่งพ่อกินอย่างเดียวเหมือนกัน ต่อเสร็จสามอย่างจึงถึงของที่วางอยู่บนโต๊ะ

เวลาค่ำเป็นดินเนอร์ตามธรรมเนียม คือ ซุป ปลา เนื้อ นก ผัก ขนม ผลไม้ ของกินเล่น แต่กาแฟกินบนดาดฟ้าเมื่อมาในตอนนี้ เพราะเย็นสบายกว่าในห้องสูบบุหรี่

ทั้งการกินดีมีบริบูรณ์เช่นว่ามานี้พ่อก็กินไม่ได้มาก ไม่ใช่เพราะเจ็บไข้อันใด แต่เป็นด้วยลำคอ ฤากระเพาะอาหารไม่บานรับอาหารที่แห้งแข็ง แลรสเดียวเช่นนี้ กลืนลงไปก็แคบเสียเฉยๆ ต้องการหวายสักเส้นหนึ่งกระทุ้ง เหมือนกรอกปรอทศพ

แต่ถ้าข้าวต้มฤาข้าวสวยถูกลำคอเข้า ดูมันแย้มโล่ง ลงไปตลอดกระเพาะอาหาร เมื่อเล่าความเป็นอยู่เช่นนี้แล้ว จะเล่าถึงเหตุที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 ตอนดึก ซึ่งเป็นวันที่ 19 แล้วนั้นต่อไป

พ่อนอนหลับ 3 ทุ่ม ไปตื่นขึ้นด้วยความหิว ได้ความว่า 10 ทุ่มครึ่ง นึกว่าจะแก้ได้ตามเคยคือดื่มน้ำลงไปเสียสัก 3 อึก จึงได้ดื่ม แล้วนอนสมาธิต่อไปใหม่ ให้เสียวๆ ในคอ แลเห็นปลากุเราทอดใส่จานมาอยู่ที่นัยน์ตา ขับไล่กันพอจะจางไป ไข่เค็มเป็นมันย่องโผล่ขึ้นมาแทน แล้วคราวนี้เจ้าพวกแห้งๆ ปลากระบอก หอยหลอด น้ำพริก มาเป็นแถว เรียกน้ำชามากินเสียครึ่งถ้วย

เปิดไฟฟ้าขึ้นอ่านหนังสือจะให้ลืมพวกผีปลาผีหอยมาหลอก หนังสือ อิลิซาเบทก็หมด เมื่อแรกนอน เหลือแต่หนังสือตอบของยายแม่มีไปถึงลูก ที่ลงมือไว้เมื่อกลางวัน เพราะไม่มีอะไรทำ เผอิญถูกที่ยายนั่นไปเมืองลูเซิน แกพูดถึงไปกินข้าวที่โฮเตลนะชะนาล เมื่อหัวค่ำต้องการหวายกระทุ้ง ทำไมมาอ่านหนังสือนี้กลับเห็นไปว่าดูพอใช้ได้ ให้กินเวลาหิวนี้ก็เอา แต่พอนึกขึ้น อ้ายกับข้าวฝรั่งโผล่หน้าสลอนขึ้นมา แล้วดูๆ ไปมันก็เลี่ยนทั้งนั้น

แต่ถ้าเวลานี้ดูก็เห็นจะใช้ได้บ้าง กลับรู้สึกตัวฉุนขึ้นมา อียายนี่ตะกลามนักคบไม่ได้ มาพรรณนาแต่ถึงกับข้าว ชวนให้อยากมาก โยนหนังสือผลุง เอาน้ำชามาริน เอาน้ำตาลเติมลงไปซด แรกกินก็ดูดี รู้สึกว่าอ้ายรสชาติหิวเช่นนี้เคยมาเสียหนัก แต่ครั้งเป็นเณรแล้วเป็นพระเล่า มันก็หายกันด้วยน้ำตาลเท่านี้เอง

ลงมือชักม่านดับไฟพยายามจะหลับ ทำไมมันจึงนึกต่อไปไม่รู้ว่า เขาว่ากันว่า หิวแล้วกินหวานๆ ยิ่งหิวมาก เขากินขนมเสียก่อนจึงกินข้าวก็มี ในกำลังนึกอยู่นั้นเอง ข้าวกับแกงเผ็ดโผล่ขึ้นมาในนัยน์ตาที่หลับๆ ประเดี๋ยวไข่เจียว จิ้มน้ำพริก ประเดี๋ยวทอดมันกุ้ง ปลาแห้งผัดอะไรพากันมาล้อหลอกเสียใหญ่ หลับตาไม่ได้ต้องลืม ลืมก็แลเห็น แกงเทโพหลอกได้ทั้งกำลังตื่นๆ เช่นนั้น จนชั้นยำแตงกวาก็พลอยกำเริบ ดีแต่ปลาร้าขนมจีนน้ำยาฤาน้ำพริกสงสาร ไม่ยักมาหลอก มีแต่เจ้ากะปิคั่วมาเมียงอยู่ไกลๆ

เห็นจะไม่ได้การ สู้มันไม่ไหวเรียกอ้ายฟ้อน ไปคลำๆ ดูมันมีลูกไม้อะไรอยู่ที่ไหนไม่ว่า ให้เอามาให้กูลูกหนึ่ง อ้ายฟ้อนไปสักครู่หนึ่งกลับมาบอกว่า “มีแต่แอ๊บเป้อด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม”

ตอบว่า “แอปเปิ้ลไม่ใช่ลูกไม้ฤา เอามาเถอะ” พอได้มาต้องลุกขึ้นนั่ง หันเคี้ยวเข้าไปสักครึ่งลูก นึกว่าถ้ากินมากเข้าไปเวลาดึกเห็นจะไม่ดี จึงหยุดกิน แต่เท่านั้น

สั่งให้ไปบอกพระราชวรินทร์เวลาเช้า ให้ไปบอกให้กุ๊กในเรือหุงข้าว สำหรับกินเวลาเช้า เพราะนึกว่าถ้าหุงเองคงจะทนช้าไม่ได้ กุ๊กเรือนี้นับว่าหุงเป็น เคยไม่ดิบสองคราวมาแล้ว พอสั่งเสร็จล้มตัวลงนอน รู้ว่าผลลูกแอปเปิ้ลตกถึง กระเพาะเท่านั้น ผีสางพวกกุ้งปลาเลยไม่หลอก หลับสนิทดี

ครั้นเช้าตื่นขึ้นถามอ้ายฟ้อนว่า อย่างไรเรื่องข้าวสำเร็จฤาไม่ อ้ายฟ้อนบอก ว่าพระราชวรินทร์ไปกำกับให้กุ๊กหุงเอง เปียกบ้างไหม้บ้าง สองหม้อแล้วไม่สำเร็จ พ่อรู้สึกความผิดของตัวทันที ว่าไปใช้พระราชวรินทร์ไปสั่ง แกไม่สั่งเปล่า ไปขี่หลังมาติกา จนอ้ายกุ๊กทำอะไรไม่รอดตามเคย จะว่ากระไรก็ไม่ได้ ร้องได้แต่ว่า “ฮือถ้าเช่นนั้นเราต้องหุงเอง”

อ้ายฟ้อนว่า “เจ้าคุณบุรุษหุงแล้ว” พอล้างหน้าแล้วก็ได้กิน พระยาบุรุษเข็ดดิบคราวก่อน เลยหุงเปียกไปนิด อ้ายเสบียงก็ “เป็นตริดติดที่ ตาศรีคงยศ จะขึ้นไปเวียง เสบียงก็หมด ตาศรีคงยศ อดแทบตายเอย”

เหลือกะปิน้ำตาลติดก้นขวด เอามาปนกับมะนาวบีบ พริกป่น โรยลงไปหน่อย คลุกเข้ากินกับหมูแฮมแลกับฝรั่ง เพลินอิ่มสบายดี คอเหมือน เปิดปากถุง ใส่ลงไปหายพร่อง ไม่ได้มาตันอยู่หน้าอกเช่นขนมปังกับเนื้อเลย เวลาลงไปกินข้าวกลางวันพบพระราชวรินทร์บอกว่ากินข้าวอร่อยจริงๆ

พระราชวรินทร์คำนับแล้วอมยิ้ม”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจาก เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 20 สิงหาคม 2558, ในการพิมพ์พระราชนิพนธ์ “บันทึกความหิว” นี้ ทางผู้จัดทำได้แก้ไขอักขรวิธีให้เป็นไปตามสมัยปัจจุบัน ทั้งได้ยกย่อหน้าใหม่ในบางแห่ง ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจของท่านผู้อ่านเป็นสำคัญ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0