โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ประวัติศาสตร์ผีบอก" ของรายการดัง เป็นอันตรายอย่างไร?

PostToday

อัพเดต 08 ก.ค. 2563 เวลา 16.30 น. • เผยแพร่ 08 ก.ค. 2563 เวลา 14.25 น. • webmaster@posttoday.com
“ประวัติศาสตร์ผีบอก” ของรายการดัง เป็นอันตรายอย่างไร?
“ประวัติศาสตร์ผีบอก” ของรายการดัง เป็นอันตรายอย่างไร?

มูลเหตุมาจากพลังวิเศษของ "อาจารย์เรนนี่" ที่อ้างว่าสามารถติดต่อกับสิ่งลี้ลับ หลายตอนของรายการที่ทีมงานเดินทางไปยังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และมีการอ้างว่าได้พบกับผีของคนสำคัญและไม่สำคัญในประวัติศาสตร์มากมาย

แต่แทนที่จะบรรยายข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ รายการนี้กลับ "แต่ง" ประวัติศาสตร์เสียใหม่อย่างไม่เกี่ยวอะไรกับข้อเท็จจริงเลย ผู้ชมที่ไม่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์อย่างจริงจังอาจรู้สึกตื่นเต้นกับข้อมูลใหม่ (ทำไมโรงเรียนไม่สอนแบบนี้เลย!) แต่นักประวัติศาสตร์รู้สึกเพลีย

ตัวอย่างการแต่งประวัติศาสตร์ใหม่ของอาจารย์เรนนี่ก็เช่น กรณีอ้างว่าผู้สร้าง วัดกุฎีดาว จ.พระนครศรีอยุธยาคือพระเจ้าเอกทัศและเจดีย์ประธานหักพังลงมาเพราะถูกปืนใหญ่ของพม่า (ความจริงก็คือวัดกุฎีดาวอาจจะสร้างมาแต่ครั้งยุคอโยธยาและคาดว่าซ่อมสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และไม่ได้ใกล้กับจุดยิงปืนใหญ่ด้วยซ้ำ)

กรณีที่อ้างว่าพระเจ้าตากสินมหาราชทรงช้างไม่เป็น กรณีที่บอกว่าสุนทรภู่เสียชีวิตที่เมืองแกลง และอีกมากมายหลายกรณีที่เรนนี่เล่าประวัติศาสตร์แบบนั่งทางในหรือใช้ตาทิพย์ แม้ว่าไม่ขัดกับประวัติศาสตร์ (เพราะไม่มีบันทึกไว้) แต่มันขัดแย้งกับบริบทแวดล้อมในประวัติศาสตร์

ล่าสุด การปลอมประวัติศาสตร์ของเรนนี่เจอเข้ากับกระแสต่อต้านในที่สุด เพราะดันไปบอกว่าสามารถสื่อสารกับย่าโมและย่าบุญเหลือซึ่งเป็นบุคคลที่ชาวโคราชให้ความเคารพนับถือ  แต่ก็อย่างที่เคย ครั้งนี้เรนนี่ไม่ได้แค่ทักทายวิญญาณเฉยๆ แต่ยังบอกว่า ย่าบุญเหลือไม่ใช่บุตรบุญธรรมของย่าโม โดยอ้างว่าได้พูดคุยกับดวงวิญญาณของปลัดทองคำที่บอกเองว่า "แม่บุญเหลือเป็นเมียของท่านอีกคนหนึ่ง ส่วนย่าโมเป็นเมียหลัก แม่บุญเหลือเป็นเมียสอง ไม่ใช่ลูกสาวบุญธรรม"

ปรากฎว่าชาวโคราชโกรธเคืองกันยกใหญ่ จนล่าสุดรายการถูกถอดออกจากช่อง 8 ด้วยเวลาอันรวดเร็ว ผิดกับกรณีอื้อฉาวอื่นๆ ที่รายการนี้ไปป่วนวงการประวัติศาสตร์และคนจังหวัดอื่นๆ แต่ยังทนออกอากาศมาได้

พูดกันแบบสำนวนจิ๊กโก๋ก็คือ "เล่นกับใครไม่เล่น มาเล่นกับย่าโมของคนโคราช!"

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2538 - 2539 คนโคราชเคยก่อหวอดมาแล้วเพราะไม่พอใจหนังสือ"การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี" ของสายพิน แก้วงามประเสริฐที่ตั้งคำถามว่าย่าโมมีตัวตนจริงหรือไม่?

หนังสือเล่มนี้พยายามอธิบายว่าทำไมย่าโมจึงไม่มีตัวตนอย่างเป็นวิชาการ (แต่ค่อนข้างมีการตั้งธงเอาไว้แล้ว) และอธิบายเรื่องการเล่าตำนานย่าโมว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ชาวโคราชไม่พอใจอย่างมากถึงขนาดที่สายพิน แก้วงามประเสริฐต้องย้ายออกจากพื้นที่และถูกขู่ไม่ให้เข้ามาในจังหวัดนครราชสีมา

ขนาด "พยายาม" คุยกันอย่างวิชาการแล้วยังไม่รอด กับรายการที่ใช้พลังวิเศษในเพื่อให้ได้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์มายิ่งรอดยาก

ในภาษาอังกฤษมีคำหนึ่ง Cryptohistory(ประวัติศาสตร์ลี้ลับ) คือการใช้วิธีการเหนือธรรมชาติที่ไม่สนใจหลักฐานทางประวัติศาสตร์เลยแล้วผลิตข้อมูลที่หวือหวาน่าเหลือเชื่อขึ้นมา

คนที่คิดคำนี้คือ Nicholas Goodrick-Clarke นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษและผู้เชี่ยวชาญด้านรหัสนัยวิทยาของโลกตะวันตก (งานวิชาการที่ศึกษาลัทธิลี้ลับในโลกตะวันตก) โดยเขานิยามประวัติศาสตร์ประเภทนี้ว่าคือการไม่สนใจหลักฐานในยุคสมัยนั้นและย้ำคิดย้ำทำความมั่วและอ้างเรื่องที่เหลือเชื่ออยู่ตลอด

ฟังแล้วไม่ผิดอะไรกับประวัติศาสตร์จากการคุยกับผีของอาจารย์เรนนี่ (จะเรียกว่าเป็น "ประวัติศาสตร์ผีบอก" ก็ย่อมได้)

อีกประเภทที่คล้ายๆ กันเรียกว่า Psychic archaeology(โบราณคดีพลังจิต) ซึ่งคนจำนวนหนึ่งใช้พลังพิเศาเหนือธรรมชาติมาไขปริศนาทางโบราณคดี โดยอ้างว่าพลังจิตช่วยเติมเต็มหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป

เรื่องนี้อาจฟังดูฟุ้งๆ แต่เผอิญว่ามีคนใช้พลังจิตค้นหาแหล่งโบราณคดีสำเร็จมาแล้ว เช่นความสำเร็จของ Augustus Le Plongeon นักสำรวจชาวอเมริกันเมื่อปี 1877 ที่ใช้วิธีประเมินด้วยเหตุผลผสมกับการนั่งสมาธิจนค้นพบศิลปวัตถุของอารยธรรมายา เป็นต้น

โบราณคดีพลังจิต (หรือจะเรียกโบราณคดีผีบอกก็ได้อีก) อย่างน้อยมีผลสัมฤทธิ์เป็นหลักฐานการค้นพบอะไรใหม่ๆ อาจจะไม่ทุกครั้งแต่อย่างน้อยก็มีไม่ใช้คำอ้างเลื่อนลอยของพวกประวัติศาสตร์ผีบอก

ความอันตรายของประวัติศาสตร์ผีบอก คือมันทำให้คนเชื่อในเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้

เรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ไม่มีอันตรายถ้ามันเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เช่น ความเชื่อเรื่องวิญญาณหรือพระเจ้าที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร

แต่ประวัติศาสตร์ผีบอกเล่นกับเรื่องสาธารณะ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ความเชื่อส่วนบุคคล แต่เป็นความทรงจำร่วมกันของคนในชาติที่พิสูจน์ได้ด้วยหลักฐาน จะแย้งอะไรก็ต้องแย้งด้วยหลักฐานแล้วผลิตข้อสรุปใหม่ด้วยเหตุและผล

การอ้างว่าผีมากระซิบข้อมูลใหม่อาจไม่เป็นอันตรายหากจำกัดวงคุยเล่นกันไม่กี่คน แต่เรื่องนี้จะเป็นภัยคุกคามต่อสติปัญญาคนในชาติทันทีถ้ารายการนั้นมีเรตติ้งสูงมาก

แม้จะมีคนไม่เชื่อแต่ยังน้อยกว่าผู้ชมที่เป็นแฟนรายการ ยิ่ง "แม่หมอตาทิพย์" พูดย้ำๆ ว่าตนมีพลังพิเศษคุยกับคนในประวัติศาสตร์ได้มันยิ่งส่งผลต่อจิตวิทยาผู้ชม

ในภาษาอังกฤษยังมีคำอยู่คำหนึ่งคือ Big lie (โกหกคำโต) เป็นคำที่แปลมาจากภาษาเยอรมันที่ฮิตเลอร์และสมุนของเขาเคยใช้ ความหมายของมันคือ คนๆ หนึ่งกล้าที่จะโกหกในเรื่องเห็นชัดๆ ว่าไม่จริงโดยไม่แคร์อะไร ไม่ใช่เพราะเขาโกหกไม่เก่ง แต่เขาเชื่อว่ายิ่งพูดเรื่องที่ "โม้ชัดๆ" แบบนี้ คนจะคิดว่ามันจริง เพราะคนไม่เชื่อหรอกว่าจะมีใครบ้าพอที่จะทำเรื่องให้คนจับผิดง่ายๆ แบบนี้ได้

โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels) นักจิตวิทยามวลชนและแกนนำคนสำคัญฝ่ายพลเรือนของพรรคนาซีเคยบอกเอาไว้ว่า "หากคุณพูดคำโกหกมันคำโตพอและพูดซ้ำไปเรื่อยๆ ในที่สุดคนก็จะเชื่อ" และเขาอ้างว่ารัฐบาลโกหกซ้ำๆ ให้ประชนเชื่อได้แต่ต้องคอยกำจัดคนที่พยายาเมปิดเผยความจริงด้วยเพราะ

"ความจริง คือศัตรูตัวฉกาจของเรื่องโกหก"

ภาพจาก The Real Ghosts ช่อง-ส่อง-ผี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0