โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

น่าวิตกแค่ไหน? เปลี่ยนขุนพลศก.

ทันหุ้น

อัพเดต 13 ก.ค. 2563 เวลา 00.10 น. • เผยแพร่ 13 ก.ค. 2563 เวลา 00.10 น.

ทันหุ้น-สู้โควิด- เจาะทางเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องตัดสินใจ จะรั้งหรือจะเปลี่ยนขุนพลเศรษฐกิจคู่ใจ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ 4 กุมาร หลังสัปดาห์ที่ผ่านมาเดินทางมาถึงจุดแตกหัก ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร?

การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อการปรับคณะรัฐมนตรี หลัง "4กุมารทีมเศรษฐกิจ" ก้นกุฏิสำนัก "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี ลาออกจาก "พรรคพลังประชารัฐ"จะเป็นการเดิมพันชี้ชะตาเศรษฐกิจไทย

ท่ามกลางความเป็นห่วงว่าการเปลี่ยนม้ากลางศึกโควิด-19สมควรหรือไม่ และหน้าตาของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เป็นอย่างไร?

ที่สำคัญ “ดร.สมคิด”นับเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดการตัดสินใจด้านเศรษฐกิจให้กับนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2557 ในฐานะที่ปรึกษา และสามารถเบียด “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” มาเป็นรองนายกฯ เต็มตัวในปี 2558 จวบจนถึงตอนนี้เป็นเวลากว่า 5 ปี

@การเมืองคืออำนาจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า 4 กุมาร ประกอบด้วย ดร.อุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน , นายสุวิทย์ เมษินทรีย์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯ คือ ผู้ที่ยอมเป็นด่านหน้าตั้งพรรคพลังประชารัฐ เมื่อครั้งที่ รัฐบาล คสช. กำลังจะลงชิงชัยในสนามเลือกตั้ง ก่อนที่จะรวบรวมผู้มีอิทธิพล ส.ส. ในมือให้เข้ามารวมกลุ่ม

กระทั่งพลังประชารัฐประสบความสำเร็จ บิ๊กตู่ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง และด้วยฝีไม้ลายมือด้านเศรษฐกิจที่ “ดร.สมคิด” การันตี และ การทำงานที่เข้าขา จึงทำให้ 4 กุมาร เข้าทำงานบริหารประเทศ ในฐานะเจ้ากระทรวงหลัก ระยะเวลา 1 ปี ผ่านไป ก่อนที่จะโดนกดดันจากนักการเมืองที่มี ส.ส. หนุนหลัง และต้องการอำนาจรัฐ จนต้องประกาศทิ้งพรรค แต่คงตำแหน่งผู้บริหารประเทศ

“รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การเมือง ระบุว่า นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแนวคิดของกลุ่มการเมืองในโลกนี้ คือ การแสวงหาอำนาจรัฐ และตำแหน่งมีจำกัด ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองก็ต้อง แข่งขัน ช่วงชิง ผลประโยชน์ หรือจัดสรรตำแหน่งให้ลงตัว ซึ่ง 4 รัฐมนตรีก็เข้าใจดี การลาออกจากพรรค เป็นการลดการกดดัน ทำให้พรรคมีเอกภาพ และก็อยู่มานานพอ พร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง

@วิตกหัวเรือเศรษฐกิจ?

รศ.ดร.ณรงค์ระบุว่า การออกจากทีมเศรษฐกิจของ 4 ราย จะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจโดยตรง เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ในทางทฤษฎี คือ Business Market Economy คือ เศรษฐกิจที่อิงภาคธุรกิจ และพรรคพลังประชารัฐ ก็เกิดขึ้นมาได้จากกลุ่มทหารและนักธุรกิจร่วมมือกัน ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาสานต่อก็จะต้องดำเนินการในทางเดียวกันนี้

“โครงสร้างไทยเราคือ ธุรกิจ เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ สังคม (Social Market Economy) เป็นตัวตั้ง อย่าง ประเทศโซนยุโรป มักจะเอาสังคมคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง จะเห็นได้ว่าเกิดโควิด สั่งห้ามปลดลูกจ้างรัฐเอาเงินช่วยลูกจ้าง เพราะเขาคิดว่าลูกจ้างสำคัญต่อเศรษฐกิจ ส่วนไทยจะกลับกัน เราจะเห็นธุรกิจก่อน เรามองว่าถ้าธุรกิจอยู่รอด สังคมจะอยู่รอด งบจึงเข้าช่วยธุรกิจมากกว่า”

แม้ว่า “ตลาดหุ้น” ที่นิยมชมชอบกับทีมเศรษฐกิจของ “ดร.สมคิด” อาจจะ “ผิดหวัง” !

แต่ “อ.ณรงค์” ระบุว่า การปรับ ครม. ตามหลักการแล้ว คือความหวังแม้จะยังไม่เห็นว่า ทีมใหม่ที่จะเข้ามาจะเป็นอย่างไร ทว่าด้วยเศรษฐกิจที่ตกต่ำขณะนี้ ทำให้ทีมใหม่จะเป็นความหวัง เปรียบได้กับ รองเท้าคู่เดิมที่ถูกกัด แม้เราไม่รู้ว่ารองเท้าคู่ใหม่ที่จะกัดเหมือนเดิมหรือไม่ แต่ระหว่างนี้ก็จะมีความหวัง

@ 3ทางเลือกนายกฯ

ด้าน “นายมงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) ได้วาง 3 แนวทางที่เป็นไปได้สำหรับ นายกรัฐมนตรี แบ่งเป็น แนวทางที่ 1 ไม่ปรับครม. แนวทางที่ 2ปรับครม.นำผู้เชี่ยวชาญเข้ามา แนวทางที่ 3 ปรับ ครม. และสายการเมืองเข้ามา

โดยแนวทางที่ 1 ไม่ปรับ ครม. จะส่งผลให้ตลาดไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ แต่เชื่อว่าโอกาสของแนวทางนี้น้อย สังเกตจากการที่นายกรัฐมนตรีเลื่อนประชุม ครม. เศรษฐกิจ

แนวทางที่ 2 ปรับครม. นำผู้เชี่ยวชาญเข้ามา ตลาดจะตอบรับในทางบวกมากที่สุด เนื่องจากมีความหวังในการเดินหน้าแก้ไขเศรษฐกิจ

แนวทางที่ 3 ปรับครม. แต่เป็นกลุ่มการเมืองเข้ามากุมอำนาจเศรษฐกิจ เชื่อว่า นักลงทุนจะตอบรับในทางลบมากที่สุด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0