โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไมพบจิตแพทย์ แต่แย่ลงกว่าเดิม? : ว่าด้วยปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างผู้ป่วยและผู้บำบัด

The MATTER

เผยแพร่ 02 ส.ค. 2563 เวลา 07.21 น. • Philosophy

เมื่อเข้ารับการรักษาทางจิตเวช ผู้ป่วยหลายคนคาดหวังจะได้รับการสนับสนุนทางจิตใจจากผู้บำบัดอย่างเต็มที่ เช่น คำพูด สีหน้า หรือท่าทีของผู้ให้การรักษา แต่ในบางกรณี ผู้ป่วยกลับรู้สึกอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากได้พบกับผู้บำบัดที่ไม่ตรงจิตตรงใจกัน

จึงเกิดเป็นความรู้สึก ‘ไม่กล้าไปพบหมอ เพราะกลัวจะได้หมอไม่ดี' หรือเป็นความคิดของใครหลายๆ คนที่กลัว กังวลใจ และไม่กล้าเข้ารับการรักษาทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นการพบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด เนื่องจากได้ยินประสบการณ์จากผู้ป่วยคนอื่นๆ ว่าเจอหมอไม่ดีบ้าง พูดจากระทบกระทั่งจิตใจบ้าง ไม่เข้าใจสถานการณ์ที่ผู้ป่วยกำลังเจอบ้าง จากที่ควรจะอาการดีขึ้น ก็กลับถูกกระตุ้นให้รู้สึกแย่ลงกว่าเดิม

ด้วยความเป็นปัจเจกในตัวผู้ปรึกษาและผู้ให้คำปรึกษา ทำให้มุมมองที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาเกิดช่องว่างบางอย่างให้การตีความคลาดเคลื่อนออกไป เช่น บางทีจิตแพทย์พูดบางอย่าง แต่ผู้ป่วยตีความไปอีกอย่าง หรือผู้ป่วยอธิบายความรู้สึกบางอย่าง แต่จิตแพทย์ตีความไปอีกอย่าง จึงทำให้บางครั้งผู้ป่วยไม่พึงพอใจในการรักษา จนออกมาแสดงความเห็นหรือถึงขั้นฟ้องร้องในอนาคต

Psychotherapy session, woman talking to his psychologist in the studio
Psychotherapy session, woman talking to his psychologist in the studio

อธิชาติ โรจนะหัสดิน อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยามีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นเดิมพัน จึงไม่ใช่ส่วนใหญ่ที่อยากพูดหรือทำไม่ดีใส่ผู้ป่วย และส่วนหนึ่งก็อาจเกิดจาก ‘ความคาดหวัง’ หรือ ‘การตีความ’ ที่คลาดเคลื่อนของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ซึ่งก็มีหลายเคสที่ผู้ป่วยฟ้องจิตแพทย์กลับ เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนทางจิตใจตามที่ตนหวังไว้

“การบำบัดมีหลายวิธี หนึ่งในนั้นก็คือ thought challenge หรือการเปลี่ยนวิธีคิด ก็จะมีการตั้งคำถาม เช่น ผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาต้องทำตามคำสั่งของพ่อแม่ ไม่งั้นจะเป็นคนอกตัญญู ซึ่งความคิดนั้นทำให้เขาซึมเศร้า เพราะทำตามที่พ่อแม่หวังไว้ไม่ได้ เราก็จะถามเขาว่า คุณลองคิดดูดีๆ นะว่าการที่คุณไม่เชื่อฟังพ่อแม่ แปลว่าคุณอกตัญญูจริงๆ หรอ แต่ผู้ป่วยอาจจะแปลเจตนาของเราเป็นอย่างอื่น เช่น ทำไมหมอพูดแบบนี้ เป็นการไปท้าให้เขาอกตัญญูหรือเปล่า”

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีผู้ป่วยบางรายออกมาแสดงความคิดเห็นถึงน้ำเสียง คำพูด หรือท่าทีของจิตแพทย์ที่ไม่เหมาะสมระหว่างการรักษา ซึ่งธิติภัทรรวมทรัพย์ เจ้าของเพจ He, Art, Psychotherapy ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาศิลปะบำบัด ที่ Goldsmiths, University of London อยู่ในขณะนี้ กล่าวว่า สิ่งที่นักจิตบำบัดควรระมัดระวังที่สุด คือการใช้ภาษา น้ำเสียง และสีหน้า โดยก่อนที่จะเริ่มทำจิตบำบัด นักจิตบำบัดควรจะทำความเข้าใจในตัวผู้ป่วย ผ่านการสร้างความสัมพันธ์หรือทำความรู้จักกับผู้ป่วย เพื่อจะได้รู้ว่าควรเลือกใช้ภาษาแบบไหนให้เหมาะกับแต่ละคน ซึ่งในช่วงแรกของการบำบัด บางเคสอาจจะต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความสัมพันธ์อย่างเดียวก่อน

“ต้องรู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ของตัวเองครับ บางครั้งมันมาไวมาก และห้ามไม่ได้ การมีความรู้สึกต่ออะไรก็ตามที่มากระทบอันนี้เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่เราต้องรู้เท่าทันและจัดการให้ได้ ก่อนที่จะสื่อสารออกไป”

จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า คุณสมบัติที่จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักจิตบำบัดพึงมี เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยจิตเวชผ่านไปอย่างราบรื่นนั้นมีอะไรบ้าง แล้วมีหลักสูตรไหน ที่สอนเกี่ยวกับการสื่อสารกับผู้ป่วยจิตเวชโดยเฉพาะหรือเปล่า ธิติภัทรก็ได้ให้ตอบกลับมาว่า ไม่มีเป็นวิชาสอนโดยตรง แต่เป็นวิธีที่แฝงอยู่ในหลายๆ วิชา เช่น เรียนทฤษฎีการบำบัด ซึ่งจะมีการคุยกันว่าเคสนี้ควรทำยังไงหรือพูดยังไง หรือตอนช่วงฝึกงาน ก็เอาแต่ละเคสมาถกกันว่า พูดแบบนี้ได้มั้ย ดีหรือไม่ดี หรือมีอะไรที่พูดได้อีกมั้ยในสถานการณ์เดียวกัน

นอกเหนือจากการระมัดระวังท่าทีของตัวจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักจิตบำบัด ธิติภัทรอธิบายเสริมว่า ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น หรือ ‘empathy’ ก็เป็นอีกรากฐานสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นที่นักจิตบำบัดจะต้องมี

โดย empathy จะแตกต่างจาก sympathy ที่เป็นความเห็นอกเห็นใจหรือความสงสาร ตรงที่หากเราฟังใครสักคนด้วย empathy เราจะพยายาม ‘เข้าใจ’ ว่าสิ่งที่อีกฝ่ายเผชิญนั้นเป็นอย่างไร หรือสามารถจินตนาการตัวเองให้เข้าในสถานการณ์นั้น เพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ แต่ sympathy คือการที่เราเอาตัวเองเข้าไป ‘อิน’ กับเรื่องที่อีกฝ่ายเล่า จนเกิดเป็นความ ‘รู้สึกร่วม’ หรือ ‘รู้สึกแทน’ เช่น โกรธ เสียใจ หรือหวาดกลัวไปกับอีกฝ่าย

Girlfriends on home counseling sessions. Pregnant, female counselor
Girlfriends on home counseling sessions. Pregnant, female counselor

ทางด้านอาจารย์อธิชาติกล่าวว่า empathy คือการรับรู้ความรู้สึกของผู้ป่วยที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการรักษา เนื่องจากตัวผู้บำบัดจะได้พยายามเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของผู้ป่วย แล้วสะท้อนออกมาให้ผู้ป่วยได้รู้ว่าสิ่งที่พวกเขารู้สึกอยู่จริงๆ นั้นเป็นอย่างไร เพื่อจะได้หาทางออกร่วมกันได้ในที่สุด

“empathy คือการที่ผู้ป่วยเดินเข้ามาบอกว่าช่วงนี้นอนไม่หลับเลย แล้วเราพยายามทำความเข้าใจความกังวลหรือการนอนไม่หลับของเขา ซึ่งไม่มีอารมณ์ของผู้บำบัดเข้าไปอยู่ในนั้น แต่เราเห็นและรับรู้ได้ว่าเขารู้สึกยังไง  ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยเดินเข้ามาบอกว่าช่วงนี้ชีวิตน่าสงสารมากเลย แล้วเราร้องไห้ตามหรือรู้สึกสงสารเขา อันนั้นเรียกว่า sympathy ก็คือการรู้สึกร่วมไปด้วย

เช่น ถ้าผู้ป่วยบอกว่าเกิดมาพ่อแม่รักน้องมากกว่า เขาเกิดมาไม่มีใครเลย แล้วเราเข้าใจในความเครียดของเขา รับรู้ความรู้สึกของเขา แบบนั้นแสดงว่าเรารับฟังอย่างมี empathy ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อผู้ป่วยด้วย เพราะเขารู้สึกว่าเราตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาพูดจริงๆ จึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อการรักษา”

นอกจากความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ หรือความสงสาร อาจารย์อธิชาติอธิบายต่อว่า อารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ป่วยกับผู้บำบัดมีมากกว่านั้น นั่นก็คือ ‘ความรู้สึกที่ผู้ป่วยมีต่อหมอ’ (transference) เช่น การที่ผู้รู้สึกว่าหมอคนนี้เข้าใจเขามาก หรือให้คำปรึกษาเขาได้ดีมาก เขาก็จะรู้สึกประทับใจจนอยากรู้จักในชีวิตจริง หรืออยากเป็นพี่น้อง เป็นเพื่อนกับหมอ และ ‘ความรู้สึกที่หมอมีต่อผู้ป่วย’ (countertransference) ซึ่งเกิดจากความเห็นใจ สงสาร หรือการที่หมอรู้สึกว่าผู้ป่วยบางคนเหมือนกับคนรู้จักในชีวิตจริง จนอยากช่วยเหลือมากเป็นพิเศษ และอาจไม่ได้มองว่าเขาเป็นผู้ป่วยอีกต่อไป ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้อาจกระทบต่อความสัมพันธ์และการรักษาในอนาคตได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้บำบัดมักจะได้รับการอบรมให้มีทักษะการฟังอย่างเข้าใจและใส่ใจมากกว่า หรือที่เรียกว่า empathetic listening เพื่อจะได้ไม่นำอารมณ์หรือความรู้สึกของตัวเองเข้ามาร่วมในการรักษา ส่วน sympathy นั้น ถ้ามีมากเกินไปอาจทำให้ผู้บำบัดใช้ความรู้สึกที่ตัวเองได้ร่วมรู้สึกไปเป็นที่ตั้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การชี้ สั่งสอน หรือพูดจากมุมของตัวเองเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่รู้ตัว

และที่ขาดไปไม่ได้ ผู้ที่ประกอบอาชีพด้านจิตเวชจะต้องได้รับการ ‘ตรวจสอบ’ อยู่เสมอ โดยอาจารย์อธิชาติบอกว่า ‘ที่ปรึกษา’ หรือ supervisor คือบุคคลสำคัญที่สำคัญควรจะต้องมี เพื่อคอยตรวจสอบว่าการทำงานของจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัดแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์เอง ก็ต้องใช้กระบวนการพวกนี้เช่นกัน เพราะถ้าหากไม่ได้รับการตรวจสอบอยู่เรื่อยๆ อาจทำให้พวกเขาใช้มุมมองของตัวเองรักษาผู้ป่วยเป็นหลัก

เป็นไปได้ที่หมออาจจะใช้ 'สัญชาตญาณ' (common sense)

ในการให้คำปรึกษาผู้ป่วย

ซึ่งจริงๆ ทุกประโยคเราต้องตอบได้ว่า

เราพูดแบบนี้กับผู้ป่วยเพราะอะไร

"บางที เราอาจจะเผลอตอบเอามันหรือบางทีถามเพราะอยากรู้เฉยๆ เช่น ผู้ป่วยบอกว่าตนท้อง แล้วเราไปถามว่าใครเป็นพ่อเด็ก ถามว่ามันมีประโยชน์อะไรต่อกระบวนการมั้ย ไม่มีเลย อันนี้เป็นความอยากรู้ล้วนๆ" อาจารย์อธิชาติกล่าว ซึ่งนั่นอาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยไม่พึงพอใจ เศร้า หรือเครียดมากกว่าเดิม

ฉะนั้น เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกับจรรยาบรรณของจิตแพทย์ที่ว่า “จิตแพทย์พึงเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น สามารถควบคุมอารมณ์และแสดงพฤติกรรมอันเหมาะสม แก่ภาพลักษณ์และเอกลักษณ์แห่งวิชาชีพ” และ “จิตแพทย์พึงมีความรับผิดชอบต่อผู้ป่วย ด้วยการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ปล่อยให้อคติ ความรู้สึกนึกคิด และความเชื่อส่วนตนมามีส่วนในการรักษา” พวกเขาจึงจะต้องมีที่ปรึกษาคอยสะท้อนการทำงานของตัวเองอยู่เรื่อยๆ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายคนรู้ แต่บางคนอาจไม่รู้ นั่นก็คือเราสามารถขอเปลี่ยนจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัดได้ทุกเมื่อ หากรู้สึกว่าคนที่กำลังเจอหรือวิธีการรักษาที่ได้รับอยู่ไม่สามารถเยียวยาจิตใจเราได้เท่าที่หวัง เพราะปัญหาสุขภาพจิตนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงไม่เสียหายถ้าเราจะต้องการคนที่พร้อมจะรับฟังและเข้าใจปัญหาของเราจริงๆ

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0