โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

ถอดรหัสความสำเร็จ ลิเวอร์พูล 1 ทศวรรษในยุค จอห์น เฮนรี่

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 02 ก.ค. 2563 เวลา 14.01 น. • เผยแพร่ 02 ก.ค. 2563 เวลา 14.00 น.
FBL-ENG-PR-EVERTON-LIVERPOOL
Photo by PAUL ELLIS / AFP

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

สำหรับใครบางคน การรอคอยอาจเป็นเรื่องทรมาน ทุกคนอยากได้สิ่งที่ต้องการในเวลาอันสั้นที่สุด น่าเสียดายที่สรรพสิ่งในโลกไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น หลายครั้งที่เราต้องรอคอย เมื่อสิ่งที่รอคอยมาถึง ช่วงเวลานั้นเองก็อาจทำให้รับรู้ว่า การรอคอยมันมีความหมายมากเพียงใด แฟนบอลลิเวอร์พูลทราบดียิ่งเมื่อวันที่พวกเขารอคอยมาถึง วันที่ได้ชูแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษครั้งแรกในรอบ 30 ปี

ในความเป็นจริงแล้ว มีสโมสรอีกมากมายที่รอคอยแชมป์นานกว่า 3 ทศวรรษ แต่สำหรับลิเวอร์พูลที่เคยประสบความสำเร็จมากมายในประวัติศาสตร์กว่า 120 ปีของสโมสร เหล่าเดอะค็อปหลายล้านคนทั่วโลกย่อมตั้งความหวังให้ทีมกลับมาสัมผัสแชมป์โดยไว เมื่อระยะเวลายืดยาวออกไปถึง 30 ปี ความอัดอั้นนี้ย่อมแตกต่างกับทีมอื่น เมื่อความคาดหวังนั้นบรรลุผล บรรยากาศในเวลานี้ก็หอมหวนอบอวลไปด้วยความยินดี

ความสำเร็จในครั้งนี้มีผู้วิเคราะห์เบื้องหลังที่มาที่ไปของปัจจัยซึ่งช่วยยุติการรอคอยอันยาวนานกันหลากหลาย แต่หากเอ่ยถึงภาพกว้างสุดและนับจากด้านบนสุดลงมานับในรอบทศวรรษหลังสุด คงต้องเริ่มจากการเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรของจอห์น เฮนรี่ นักธุรกิจอเมริกันซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการลงทุนในทีมกีฬา

จอห์น เฮนรี่ คือเจ้าของกลุ่มบริษัทที่เรียกว่า เฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป (Fenway Sports Group) ซึ่งก็คือกลุ่มที่มาเทกโอเวอร์สโมสรลิเวอร์พูลเมื่อปี 2010 ในเวลานั้นยังเป็นชื่อนิว อิงแลนด์ สปอร์ตส เวนเจอร์ส (New England Sports Ventures) ในรอบทศวรรษหลังจากจอห์น เฮนรี่ เข้ามาบริหาร แฟนบอลเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจนกระทั่งความสำเร็จเริ่มไต่ระดับขึ้นมาช่วง 5-6 ปีหลัง และสุดท้ายก็บรรลุเป้าหมายสูงสุดซึ่งทุกคนคาดหวังไว้ นั่นคือ แชมป์ลีกสูงสุด

ฤดูกาล 2009-10 ลิเวอร์พูลจบอันดับ 7 ในตาราง แถมสถานะทางธุรกิจก็ยังต้องทยอยชำระคืนดอกเบี้ยเงินกู้กว่า 3 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์อีกต่างหาก หากเอ่ยตามความเป็นจริง สภาพสถานการณ์เรียกได้ว่า สโมสรยังห่างไกลจากเส้นทางลุ้นแชมป์หลายช่วงตัว แต่สิ่งที่สโมสรยังคงมีคือ “แบรนด์” อันมีฐานแฟนบอลติดตามมหาศาล

หากเปิดหน้าสถิติความสำเร็จในรอบ 10 ปีมานี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการเลือก เจอร์เก้น คล็อปป์ มาทำหน้าที่เป็นกุนซือคือบุคคลที่เหมาะสมและเป็นความสำเร็จในแง่การตัดสินใจเชิงบริหารมากที่สุดอีกประการ ประกอบกับระบบการบริหารงานโดยบุคลากรเบื้องหลังจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ พวกเขาบริหารงานเชิงการกีฬาด้วยสิ่งที่เรียกว่า data หรือใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจต่าง ๆ

หลังการเทกโอเวอร์สโมสร 5 ปีแรก ลิเวอร์พูลยังอยู่ในสภาวะขึ้น-ลง ผลงานไม่สม่ำเสมอ ได้สัมผัสความสำเร็จระดับแชมป์บอลถ้วยในประเทศบ้าง ยังไม่สามารถหาบุคคลที่ประคองทีมให้ไต่กราฟขึ้นในระยะยาวได้จนกระทั่งจังหวะเหมาะกับที่ เจอร์เก้น คล็อปป์ กุนซือดาวรุ่งชาวเยอรมันซึ่งเดินออกจากทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในปี 2015 พอดี และมาเริ่มงานกับลิเวอร์พูลในปีเดียวกัน

ลิเวอร์พูลในยุคของคล็อปป์ เปลี่ยนแปลงทั้งแง่สไตล์การเล่น และระบบการบริหารงานเบื้องหลัง ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือการทำงานของไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส ผู้อำนวยการฝ่ายการกีฬาของสโมสรซึ่งเข้ามาทำงานในปี 2011 การซื้อ-ขายนักเตะของแผนกใช้ข้อมูลเป็นฐานอ้างอิง ทีมกีฬายุคใหม่ส่วนใหญ่ก็ใช้ระบบแบบนี้กันอยู่แล้ว แต่เมื่อมาบวกกับส่วนผสมและสไตล์การทำงานแบบคล็อปป์ ดูเหมือนว่าระบบเข้ากันได้อย่างมีนัยสำคัญ

ตั้งแต่แรกเริ่มที่ผู้บริหารของกลุ่มทุนเลือกกุนซือมาแทนเบรนแดน ร็อดเจอร์ส พวกเขาสนใจคล็อปป์ ไม่ใช่แค่จากชื่อเสียงและผลงาน แต่ยังดูเรื่องนอกสนามด้วย การทำงาน บุคลิก และแนวคิดของคล็อปป์ ช่วยดึงศักยภาพของสโมสรโดยรวมขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ผลงานในสนามควบคู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ อาทิ การปฏิสัมพันธ์กับแฟนบอล ลายเซ็นของคล็อปป์ ในแง่การวางระบบทีมอย่างเรื่องสไตล์การเล่นด้วยสปีดที่รวดเร็ว ไปจนถึงการบีบกดดันคู่ต่อสู้ซึ่งต้องอาศัยพลังงานอย่างมาก แม้จะเป็นเพดานที่สูงมากสำหรับการเรียกร้องระบบนี้ แต่ด้วยระบบงานเบื้องหลังดังที่กล่าวข้างต้นช่วยสนับสนุนทำให้คล็อปป์บรรลุเป้าหมาย สร้างทีมที่เล่นได้อย่างเร้าใจและได้ผลการแข่งขันตามที่ต้องการจนครองแชมป์ยุโรป และได้แชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลล่าสุด

ขณะเดียวกัน การทำงานของกลุ่มเฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป ก็พัฒนาเรื่องการเงินของสโมสรหนุนหลังการกีฬา ตัวเลขรายได้ของสโมสรจากปี 2010 เมื่อเทียบกับปี 2019 รายได้หลายด้านเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการขายสินค้า การถ่ายทอดสด และจากเกมการแข่งล้วนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า ไปจนถึงการขยับขยายความจุของแอนฟีลด์ ก็มีส่วนยกระดับการเงินเมื่อสโมสรมีสปอนเซอร์มากขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา

หากมองในภาพรวม ความสำเร็จของลิเวอร์พูลไม่ได้เกิดขึ้นจากองค์ประกอบเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจาก “ระบบ” ที่เชื่อมโยงกัน เกื้อหนุนกันอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้พื้นฐานของข้อมูลและการตัดสินใจทางธุรกิจที่หวังผลได้และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เมื่อมองแบบลงลึกไปกว่านั้น ศักยภาพในเชิงการกีฬาของสโมสรยังมีช่องว่างให้ถูกยกระดับมากขึ้นอีกด้วยซ้ำ แน่นอนว่า แฟนบอลยินดีกับความสำเร็จครั้งนี้ และหวังให้ทีมพัฒนาขึ้นควบคู่กับการวางรากฐานของระบบทีมซึ่งสอดคล้องกับตัวตนของสโมสรในระยะยาว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0