โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตำนาน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ทูตไทย ไม่ยอมส่งคำประกาศสงครามต่ออเมริกา คือเรื่องจริงหรือ?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 18 ก.ย 2566 เวลา 02.49 น. • เผยแพร่ 17 ก.ย 2566 เวลา 06.09 น.
ภาพปก - เสนีย์ ปราโมช

ตำนาน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไม่ยอมส่งคำประกาศสงครามต่อ สหรัฐอเมริกา คือเรื่องจริงหรือ?

หลังจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481-87) มี“พระบรมราชโองการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา” ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 แล้ว อังกฤษและสหรัฐอเมริกามีปฏิกิริยาต่อการประกาศสงครามของไทยต่างกัน อังกฤษรับรองในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ว่ามีสถานะสงครามกับไทยและถือว่าไทยเป็นประเทศศัตรู [1]

ส่วน สหรัฐ ไม่ประกาศสงครามตอบไทย และถือว่าไทยเป็นประเทศที่ถูกศัตรูยึดครอง นักวิชาการได้พยายามหาคำอธิบายว่าทำไมสหรัฐจึงดำเนินนโยบายเช่นนั้น หนึ่งในคำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับจนกลายเป็นตำนานก็คือม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. [2] ไม่ประกาศสงครามกับสหรัฐ ด้วยการไม่ยื่นคำประกาศสงครามให้สหรัฐ ตามที่รัฐบาลไทยสั่งการ สหรัฐจึงไม่ประกาศสงครามตอบไทย

ตำนานเรื่องนี้เริ่มขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 เมื่อวอลเทอร์ ฟิทซ์มอริซ (Walter Fitzmaurice) ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานของนิตยสารนิวสวิก (Newsweek) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้เขียนบทความลงในนิตยสารดังกล่าวฉบับวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2488 เล่าว่า ม.ร.ว. เสนีย์ไม่ได้ยื่นคำประกาศสงครามให้สหรัฐ เมื่อเข้าพบ คอร์เดลล์ ฮัลล์ (Cordell Hull) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (กต.สหรัฐ) ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485

ทั้งที่ ม.ร.ว. เสนีย์มีคำประกาศสงครามอยู่ในกระเป๋า อีกทั้งได้บอกฮัลล์ว่าจะไม่ประกาศสงครามต่อสหรัฐ “ผมเก็บคำประกาศสงครามไว้ในกระเป๋า เพราะผมเชื่อว่ามันไม่ใช่เจตนารมณ์ของคนไทย ผมจะพิสูจน์ให้เห็นด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐ” [3]

ต่อมา ม.ร.ว. เสนีย์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อแสดงปาฐกถาเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2” ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้

…เช่นตอนรัฐบาลทางบ้านประกาศสงคราม ได้มีคำสั่งไปด้วยว่าให้นำความไปแจ้งที่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ข้าพเจ้านำสำเนาโทรเลขไปให้เขา แต่บอกกับเขาว่า ข้าพเจ้าไม่ยอมเป็นตัวแทนประกาศสงครามกับอเมริกา เพราะไม่มีเรื่องบาดหมาง (Causa Belli) อะไรกันพอที่จะถือเป็นเหตุประกาศสงครามกันได้… ทางกระทรวงการต่างประเทศของเขาก็ใช้วิธีนอกตำรับอย่างเดียวกับเรา บอกว่าเมื่อทูตผู้แทนไม่ยอมประกาศสงครามเป็นทางการ เขาก็จะไม่รับรู้และไม่ประกาศสงครามกับไทยเป็นทางการ เรื่องจึงลงเอยง่าย ๆ ดังนี้ โดยมิได้นึกฝันว่าจะง่ายถึงเพียงนี้... [4]

นอกจากนั้น ม.ร.ว. เสนีย์ยังเล่าเรื่องดังกล่าวให้คนในครอบครัวทราบ เช่น ม.ล. อัศนี ปราโมช บุตรชาย ภายหลัง ม.ล. อัศนีให้สัมภาษณ์วิทยุ บีบีซี ภาคภาษาไทยว่า “คุณพ่อบอกว่ารู้สึกว่าการประกาศสงครามกับอเมริกาไม่ใช่ประสงค์อันแท้จริงของไทย คอร์เดลล์ ฮัลล์ ก็บอกว่าไม่ต้องส่งให้ผมก็แล้วกัน ท่านก็ไม่ส่ง สภาพศัตรูก็ไม่เกิดขึ้นกับอเมริกา” [5]

คำบอกเล่าของ ม.ร.ว. เสนีย์ข้างต้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ในขณะที่ ม.ร.ว. เสนีย์เองก็ยืนยันจนสิ้นชีวิตว่าได้พบกับฮัลล์ในเรื่องดังกล่าวจริง ดังที่เขียนเล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของตนว่า

…ปู่ [ม.ร.ว. เสนีย์]เรียนท่าน [ฮัลล์]ว่า รัฐบาลไทยสั่งให้ปู่ประกาศสงครามกับสหรัฐฯ (โทรเลขอยู่ในกระเป๋า นำไปเผื่อเขาขอดู) แต่ปู่เห็นว่าสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกามีต่อกันมาช้านานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1833 เป็นเวลา 100 กว่าปี อเมริกามีแต่ความเมตตาอารีให้ความช่วยเหลือไทยตลอดมา… แต่ญี่ปุ่นยกทัพบุกเข้าเมืองไทย เราต้องแพ้สงครามญี่ปุ่นซึ่งเป็นศัตรูกับอเมริกา จู่ๆ รัฐบาลไทยก็สั่งให้ปู่ประกาศสงครามกับอเมริกา ปู่จึงทำไม่ได้ และไม่ยอมประกาศสงคราม ขณะนั้นปู่ห้ามน้ำตาไว้ไม่อยู่ มันออกมาคลอตา ไม่ถึงกับไหล ตั้งแต่เป็นผู้ใหญ่ ไม่เคยเสียน้ำตาอย่างนี้ [6]

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว. เสนีย์ไม่เคยระบุถึงวันที่ที่เข้าพบสนทนากับฮัลล์ใน พ.ศ. 2522 นายปรีดี พนมยงค์ [7] เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับตำนานของ ม.ร.ว. เสนีย์ ในทำนองไม่เชื่อถือ โดยให้เหตุผลไว้ 3 ประการ ได้แก่

ประการแรก รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งคำประกาศสงครามผ่านสถานกงสุลสวิสประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐตามธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูตและกฎหมายระหว่างประเทศไปแล้ว จึงไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องส่งไปให้ทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อีก กรณีอังกฤษก็ไม่มีการส่งผ่านทางสถานทูตเช่นกัน [8]

ทั้งนี้นายปรีดียกจดหมายของ หลวงภัทรวาท อดีตเลขานุการสถานทูตไทยที่กรุงลอนดอนในเวลานั้นมายืนยันว่า สถานทูตไทยหรืออัครราชทูตไทยไม่ได้รับคำประกาศสงครามจากไทย และทราบข่าวการประกาศสงครามของไทยจากวิทยุ บีบีซี

ประการที่ 2 ในระหว่างสงคราม ไม่มีการติดต่อทางไปรษณีย์ระหว่างไทย ยุโรป และสหรัฐ ไม่ว่าทางอากาศหรือทางทะเล จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการส่งคำประกาศสงครามไปยังทวีปเหล่านั้น

ประการสุดท้าย คนไทยในเวลานั้นได้ยินอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ (ม.ร.ว. เสนีย์) ประกาศผ่านทางวิทยุอยู่เสมอตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ว่า จะไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจอมพล ป. จะต้องส่งคำประกาศสงครามไปให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ทั้งที่รู้ดีว่าทูตไทยไม่ภักดีต่อรัฐบาลแล้ว [9]

นอกจากข้อสังเกตของนายปรีดีแล้ว มีนักวิชาการชาวตะวันตก 2 คน ได้แก่ จูดิท สโตว์ (Judith A. Stowe) และ อี. บรูซ เรย์โนลด์ (E. Bruce Reynolds) ตรวจสอบความถูกต้องของตำนานดังกล่าวจากเอกสารของ กต.สหรัฐ สโตว์ นักวิชาการชาวอังกฤษสรุปว่า ถ้าพูดอย่างเคร่งครัด เรื่องที่ ม.ร.ว. เสนีย์อ้างว่าเก็บคำประกาศสงครามไว้ในลิ้นชัก ไม่ได้ยื่นคำประกาศสงครามให้สหรัฐไม่เป็นความจริง [10]

ส่วนเรย์โนลด์ นักวิชาการชาวอเมริกัน ยืนยันว่า ม.ร.ว. เสนีย์ยื่นคำประกาศสงครามให้ กต.สหรัฐ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 แต่ไม่ได้ยื่นให้ฮัลล์ เพราะเวลานั้นฮัลล์ไม่ได้อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่ไปพักฟื้นจากอาการป่วยที่มลรัฐฟลอริดาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นเวลานาน 3 เดือน [11]

ในขณะที่สโตว์อ้างหลักฐานเป็นบันทึก (Memorandum) ของสถานทูตไทยประจำสหรัฐที่มีถึง กต.สหรัฐ ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ แต่เรย์โนลด์ไม่ได้ใช้หลักฐานดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าหาไม่พบ แต่อ้างบันทึกที่สถานทูตไทยประจำสหรัฐมีถึง กต.สหรัฐ ลงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ในบันทึกที่เรย์โนลด์อ้างเป็นหลักฐานนั้น ม.ร.ว. เสนีย์เล่าย้อนหลังเหตุการณ์เมื่อได้รับคำประกาศสงครามใน พ.ศ. 2485 ว่า

…ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าปฏิเสธระบอบปกครองของพิบูลไปแล้ว พิบูลยังบังอาจสั่งให้ข้าพเจ้าส่งคำประกาศสงครามให้รัฐบาลสหรัฐ ข้าพเจ้าระบุไว้ในบันทึกลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 ซึ่งยื่นต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่า ข้าพเจ้าจะไม่รับรู้คำประกาศสงครามนั้น… [12]

ผู้เขียนได้พบบันทึกลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ณ สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (The National Archives and Records Administration หรือ Archives II) ณ มลรัฐแมริแลนด์ จึงขอนำหลักฐานดังกล่าวมายืนยันว่าสถานทูตไทยประจำสหรัฐโดย ม.ร.ว. เสนีย์ ได้ส่งคำประกาศสงครามของไทยให้ กต.สหรัฐจริง แต่ก็แสดงเจตนาว่าไม่ใช่เป็นการประกาศสงครามกับสหรัฐ

ทั้งนี้ ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นต่อไปด้วยว่า กระนั้นก็ตาม การไม่ประกาศสงครามกับ สหรัฐ ของ ม.ร.ว. เสนีย์ไม่ได้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของ สหรัฐ ที่จะไม่ประกาศสงครามตอบไทยแต่อย่างใด

บันทึกดังกล่าวเป็นหนังสือราชการที่สถานทูตไทยมีไปถึง กต.สหรัฐ ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 ในบันทึกระบุว่า สถานทูตไทยขอส่งโทรเลขที่ได้รับในวันเดียวกันนั้นให้ทางการสหรัฐ เป็นโทรเลขซึ่งส่งมาจากสถานทูตไทยที่กรุงลิสบอน โปรตุเกส เนื้อหาของโทรเลขเป็นคำประกาศสงครามของไทย พร้อมคำสั่งของ กต.ไทยให้สถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แจ้งเรื่องดังกล่าวให้รัฐบาลสหรัฐทราบอย่างเป็นทางการ

โดยให้แจ้งด้วยว่า รัฐบาลไทยได้ส่งคำประกาศสงครามให้สหรัฐผ่านทางรัฐบาลสวิส ซึ่งดูแลผลประโยชน์ของสหรัฐในประเทศไทยด้วยแล้ว ในบันทึก นอกจากจะกล่าวว่าการแจ้งเรื่องโทรเลขเป็นการปฏิบัติงานตามปกติแล้ว (as a matter of mere routine) ในตอนท้ายยังกล่าวปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งในโทรเลขว่า “ไม่ต้องกล่าวก็ได้ว่า สถานทูตไทยไม่ใส่ใจกับโทรเลขดังกล่าวเลย” (It goes without saying that the above communication will be entirely disregarded by the Thai Legation.) [13]

มูลเหตุที่ ม.ร.ว. เสนีย์แจ้งเรื่องคำประกาศสงครามให้ กต. สหรัฐ ทราบนั้น ม.ร.ว. เสนีย์กล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐเข้าใจผิด แล้วไม่สนับสนุนขบวนการเสรีไทย

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เขียนอีกว่า

ปัญหามีว่า คำสั่งจากเมืองไทยให้ประกาศสงครามนั้น ปู่ [ม.ร.ว. เสนีย์] จะดำเนินการอย่างไร ทางออกง่ายๆ คือเฉยเสียไม่นำพา โดยถือว่าเราได้ประกาศเสรีไทยตัดขาดจากรัฐบาลแล้ว แต่มักง่ายเท่าไร ก็เสียง่ายเท่านั้น ประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต้องเผยแพร่ไปทั่วโลก และที่มีโทรเลขไม่เข้ารหัสสั่งให้ทูตไทยประกาศสงครามกับอเมริกา อย่างน้อยรัฐบาลอเมริกันก็ต้องรู้ หากไม่มีปฏิกิริยาอะไรจากปู่ รัฐบาลอเมริกันอาจสงสัย ไม่สนับสนุนขบวนการเสรีไทย ปู่จึงตัดสินใจไปแจ้งให้เขาทราบ [14]

แต่มูลเหตุอีกประการหนึ่งน่าจะมาจากการที่ ม.ร.ว. เสนีย์เคยแถลงความตั้งใจของตนให้ฮัลล์ทราบในการเข้าพบเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ว่า หากได้รับคำสั่งใดๆ จากรัฐบาลไทยจะแจ้งให้ กต.สหรัฐทราบ [15] กล่าวสั้นๆ เจตนาของสถานทูตไทยในการส่งบันทึกดังกล่าวก็เพื่อแจ้งคำประกาศสงครามให้ กต.สหรัฐทราบไว้เป็นหลักฐาน ไม่ใช่เพื่อประกาศสงครามหรือแจ้งการมีสถานะสงคราม

นอกจากนั้นการส่งบันทึกให้ กต.สหรัฐ ซึ่งน่าจะมีขึ้นหลังจากทำบันทึกเสร็จไปแล้ว 2 วัน เพราะพบว่า วันที่ที่กรมตะวันออกไกลลงทะเบียนรับหนังสือซึ่งปรากฏบนบันทึกดังกล่าว คือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ผู้เขียนเข้าใจว่า สถานทูตไทยให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยไปส่งหนังสือตามการปฏิบัติราชการปกติ เนื่องจากไม่พบว่า มีลายมือของเจ้าหน้าที่ กต.สหรัฐระบุว่า ม.ร.ว. เสนีย์ หรือ หลวงดิษฐการภักดี (จรูญ บุณยรัตน์พันธุ์) เลขานุการโทของสถานทูตเป็นผู้ไปยื่นหนังสือเอง โดยทั่วไปพบว่า หากทูตหรือเลขานุการถือหนังสือไปเอง เจ้าหน้าที่ กต.สหรัฐจะเขียนชื่อกำกับไว้ที่หนังสือด้วย

บันทึกลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 ข้างต้นมีความสำคัญในฐานะเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า กต.ไทยส่งคำประกาศสงครามให้สถานทูตไทยประจำสหรัฐจริง แต่กระทำผ่านสถานทูตไทยที่กรุงลิสบอน โปรตุเกส ไม่ได้ส่งคำประกาศสงครามให้สถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยตรง ส่วนสถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ได้รับคำประกาศสงครามจาก กต.ไทยจริงตามตำนานของ ม.ร.ว. เสนีย์ แต่เป็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่วันที่ 25 มกราคม เช่นที่ฟิทซ์มอริซอ้าง

นอกจากนั้นหากไม่เคร่งครัดกับคำกริยาที่ใช้เกินไป บันทึกนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ม.ร.ว. เสนีย์ “ยื่น” คำประกาศสงครามให้ กต.สหรัฐจริง แม้ในทางปฏิบัติจะเป็นการ “ส่ง” ก็ตาม ขัดกับตำนานที่ ม.ร.ว. เสนีย์ที่ว่าไม่ได้ยื่น แต่ในเวลาเดียวกันบันทึกฉบับนี้ก็ใช้เป็นหลักฐานสำคัญยืนยันได้ว่า การส่งคำประกาศสงครามดังกล่าวไม่ได้เพื่อประกาศสงครามหรือแจ้งการมีสถานะสงครามกับ สหรัฐ สอดคล้องตามตำนาน

กระนั้นก็ตาม บันทึกลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ข้างต้นไม่อาจใช้ยืนยันได้ว่า ม.ร.ว. เสนีย์ได้พบรัฐมนตรีว่าการ กต.สหรัฐ เรื่องไม่ประกาศสงคราม ตามที่ ม.ร.ว. เสนีย์ยืนยัน หรือไม่ได้พบตามที่เรย์โนลด์คัดค้าน ม.ร.ว. เสนีย์เคยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากได้รับคำประกาศสงคราม จึงไปพบฮัลล์ในวันรุ่งขึ้น [16]

เมื่อพิจารณาลำดับเหตุการณ์แล้ว จึงเป็นไปได้มากว่า ม.ร.ว. เสนีย์อาจพบฮัลล์จริงในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ วันนี้อยู่ระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่สถานทูตไทยได้รับคำประกาศสงคราม กับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งสถานทูตส่งคำประกาศสงครามให้ กต.สหรัฐ จึงเป็นไปได้ว่า หลังจากได้รับคำประกาศสงครามในวันที่ 11 แล้ว ม.ร.ว. เสนีย์ได้นัดหมายขอพบฮัลล์ และได้เข้าพบในวันที่ 12 แต่ไม่ได้ยื่นบันทึก วันรุ่งขึ้น (13 กุมภาพันธ์) จึงได้ส่งบันทึกให้ กต.สหรัฐ

แม้เรย์โนลด์จะอ้างว่า ฮัลล์ไม่อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เพราะเดินทางไปพักผ่อนที่มลรัฐฟลอริดานาน 3 เดือน แต่ก็มีหลักฐานยืนยันว่า ฮัลล์ยังลงนามในหนังสือออกของ กต.สหรัฐ จนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ก่อนที่ ซัมเนอร์ เวลส์ (Sumner Welles) รองรัฐมนตรีว่าการ กต.สหรัฐ จะเข้ารักษาการแทนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ [17] ดังนั้นโอกาสที่ ม.ร.ว. เสนีย์จะได้พบฮัลล์ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ จึงยังมีความเป็นไปได้

อย่างไรก็ตามการพบกันระหว่าง ม.ร.ว. เสนีย์กับฮัลล์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจริงในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นั้นยังต้องการหลักฐานยืนยัน แม้จะไม่มีความหวังมากนัก เรย์โนลด์ยืนยันว่า ไม่พบหลักฐานจากแฟ้มส่วนตัวซึ่งฮัลล์มอบให้หอสมุดรัฐสภาอเมริกันเมื่อพ้นจากตำแหน่ง [18] และจากการค้นคว้าของผู้เขียนในแหล่งเดียวกันก็ไม่พบเช่นกัน [19]

โดยปกติแล้วจะมีการทำบันทึกการสนทนาระหว่างรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ กต.สหรัฐกับเจ้าหน้าที่สถานทูตหรือหน่วยงานต่างๆ หนังสือบันทึกความทรงจำของฮัลล์ที่พิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2491 ก็ไม่ได้กล่าวถึงการพบสนทนากับ ม.ร.ว. เสนีย์ในเรื่องดังกล่าว แม้จะกล่าวถึงเหตุผลที่สหรัฐไม่ประกาศสงครามตอบไทยก็ตาม [20]

กระนั้นก็ดี เนื่องจากผู้เขียนยังไม่ได้ค้นคว้าเพื่อหาหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นการเฉพาะซึ่งควรมีอยู่ที่สำนักหอจดหมายเหตุสหรัฐ อีกทั้งเห็นว่า สาเหตุที่หนังสือบันทึกความทรงจำของฮัลล์ไม่ได้กล่าวถึงการพบกับ ม.ร.ว. เสนีย์อาจเกิดจากการตัดทอนส่วนที่เห็นว่าไม่สำคัญออก ประกอบกับ ม.ร.ว. เสนีย์ยืนยันมาตลอดว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ผู้เขียนจึงยังไม่ขอฟันธงว่า การพบกันระหว่าง ม.ร.ว. เสนีย์และฮัลล์ในเรื่องคำประกาศสงครามไม่เกิดขึ้นจริง

กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้เขียนเชื่อว่า หลังจากสถานทูตไทยได้รับโทรเลขคำประกาศสงครามและทำบันทึกดังกล่าวเสร็จในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ในวันรุ่งขึ้น (12 กุมภาพันธ์) ม.ร.ว. เสนีย์อาจไปพบกับฮัลล์ พร้อมกับบันทึกดังกล่าว แต่ปฏิเสธที่จะประกาศสงครามกับสหรัฐ และไม่ได้ยื่นบันทึกที่นำไปด้วย ต่อมาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จึงส่งบันทึกดังกล่าวให้ กต.สหรัฐข้อเท็จจริงที่สำคัญซึ่งได้จากบันทึกลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ และอาจมีผลต่อการตีความและอธิบายความประวัติศาสตร์ไทยในประเด็นนี้ใหม่ มี 3 เรื่อง ได้แก่

ประการแรก กต.ไทยส่งคำประกาศสงครามให้ ม.ร.ว. เสนีย์จริง ล้มล้างข้อสังเกตของนายปรีดี

ประการที่ 2 สถานทูตไทยโดย ม.ร.ว. เสนีย์ส่งคำประกาศสงครามของไทยให้สหรัฐทราบ แม้เพื่อเป็นหลักฐานข้อนี้ล้มล้างตำนานของ ม.ร.ว. เสนีย์ที่ว่าไม่ได้ยื่นคำประกาศสงครามให้สหรัฐ

ประการที่ 3 สถานทูตไทย โดย ม.ร.ว. เสนีย์ปฏิเสธการประกาศสงครามกับสหรัฐจริง สอดคล้องกับตำนานของ ม.ร.ว. เสนีย์

กระนั้นก็ตามเมื่อพิจารณาลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่า แม้มีหลักฐานยืนยันว่า ม.ร.ว. เสนีย์ไม่ได้ประกาศสงครามกับสหรัฐ แต่การกระทำของ ม.ร.ว. เสนีย์เช่นนั้นไม่ได้เป็นสาเหตุให้สหรัฐไม่ประกาศสงครามตอบไทย ดังที่ ม.ร.ว. เสนีย์เข้าใจ ทั้งนี้เพราะมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจไม่ประกาศสงครามตอบไทยไปแล้ว ก่อนหน้าที่ ม.ร.ว. เสนีย์จะพบฮัลล์ (ถ้าเกิดขึ้นจริงในวันที่ 12 กุมภาพันธ์) และก่อนที่ ม.ร.ว. เสนีย์จะส่งคำประกาศสงครามให้ กต.สหรัฐ ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์

ทั้งนี้เพราะ กต.สหรัฐได้ข่าวการประกาศสงครามของไทยจากสื่อวิทยุและหนังสือพิมพ์ไม่นานหลังจากไทยประกาศสงครามได้เพียง 1 วันเป็นอย่างช้าที่สุดคือวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2485 อีก 2 วันต่อมาแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐได้ตัดสินใจไม่ประกาศสงครามตอบไทย ตามที่ กต.สหรัฐเสนอ [21]หรือราว 2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่ ม.ร.ว. เสนีย์จะได้รับคำประกาศสงครามจาก กต.ไทยเสียอีก

การตัดสินใจของสหรัฐดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายเดิมของรูสเวลท์ที่มีมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 หลังจากประเทศเล็กๆ ในยุโรป ได้แก่ โรมาเนีย (12 ธันวาคม) ฮังการี (13 ธันวาคม) และบัลแกเรีย (13 ธันวาคม) ประกาศสงครามหรือมีสถานะสงครามกับสหรัฐ แต่สหรัฐไม่ประกาศสงครามตอบ เพราะถือว่าประเทศเหล่านั้นถูกเยอรมนียึดครองและประกาศสงครามเพราะถูกกดดัน และไม่จำเป็นต้องทำอะไร [22]

เมื่อไทยประกาศสงครามกับสหรัฐ สหรัฐจึงถือนโยบายเดียวกันว่า ไทยทำไปเพราะถูกกดดันจากการถูกญี่ปุ่นยึดครอง ต่อมาหลังจากสหรัฐได้รับคำประกาศสงครามของไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ (ฉบับที่ กต.ไทยแจ้งผ่านสถานกงสุลสวิสประจำประเทศไทย) สหรัฐก็ถือนโยบายเดิม ไม่ประกาศสงครามตอบไทย

แต่ก็มีเงื่อนไขว่า หากกำลังทหารไทยไปมีส่วนร่วมหรือร่วมมือกับญี่ปุ่นปฏิบัติการทางทหารต่อต้านสหรัฐและประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร และการปรากฏตัวของกำลังทหารไทยเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติการหรือคุกคามความมั่นคงของสหรัฐหรือประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร สหรัฐก็พร้อมจะปฏิบัติต่อกองทัพไทยในฐานะศัตรู นอกจากนั้น สหรัฐจะปฏิบัติต่อไทยในฐานะประเทศที่ถูกศัตรูยึดครองเพื่อทำสงครามเศรษฐกิจและวัตถุประสงค์อื่นๆ [23]

ดังนั้น ก่อนหน้าที่ ม.ร.ว. เสนีย์จะได้รับโทรเลขคำประกาศสงครามของไทยในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ สหรัฐตัดสินใจเด็ดขาดไปแล้วว่า ไม่ประกาศสงครามตอบไทยหรือรับว่ามีสถานะสงครามกับไทย ดังนั้น การที่ ม.ร.ว. เสนีย์จะได้พบหรือไม่พบรัฐมนตรีว่าการ กต.สหรัฐ เพื่อปฏิเสธการประกาศสงคราม ไม่ได้เป็นสาเหตุให้สหรัฐไม่ประกาศสงครามตอบไทย แต่การกระทำของ ม.ร.ว. เสนีย์เกิดผลดีในระยะยาวในแง่ที่ว่า ทำให้สหรัฐเห็นความตั้งใจจริงของ ม.ร.ว. เสนีย์ที่เคยประกาศว่าจะไม่ฟังคำสั่งของรัฐบาลจอมพล ป. และจะจัดตั้งขบวนการเสรีไทยในสหรัฐ

ดังนั้น สหรัฐ จึงสนับสนุนขบวนการเสรีไทยในสหรัฐ และไม่ประกาศสงครามตอบไทยตลอดสงคราม

สรุป

หลังจากไทยประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 กต.ไทยแจ้งคำประกาศสงครามให้สหรัฐทราบอย่างเป็นทางการผ่านทางกงสุลสวิสประจำประเทศไทย แล้วยังส่งให้สถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วย โดยส่งผ่านสถานทูตไทยที่กรุงลิสบอน โปรตุเกส พร้อมมีคำสั่งให้สถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แจ้งการประกาศสงครามให้รัฐบาลสหรัฐทราบ

หลังจากได้รับคำประกาศสงครามในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ สถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ทำบันทึกถึงกต.สหรัฐ ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เพื่อแจ้งแก่ กต.สหรัฐตามที่เคยปฏิบัติว่า สถานทูตไทยได้รับโทรเลขดังกล่าว แต่ย้ำในตอนท้ายว่า สถานทูตไม่สนใจโทรเลขหรือคำสั่งดังกล่าวนั้น และอาจเป็นไปได้ว่า ในวันรุ่งขึ้น (12 กุมภาพันธ์) ม.ร.ว. เสนีย์ได้เข้าพบกับคอร์เดลล์ ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการ กต.สหรัฐ เพื่อปฏิเสธการประกาศสงครามกับสหรัฐ แต่ไม่ได้ยื่นบันทึกลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ให้ฮัลล์ ต่อมาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จึงได้ส่งบันทึกฉบับดังกล่าวให้ กต.สหรัฐเก็บไว้เป็นหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม การพบหรือไม่พบกันระหว่าง ม.ร.ว. เสนีย์กับฮัลล์ การแจ้งหรือไม่แจ้ง การยื่นหรือไม่ยื่นคำประกาศสงครามของสถานทูตไทยให้ กต.สหรัฐ ไม่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐ ที่จะไม่ประกาศสงครามตอบไทย ทั้งนี้เพราะรัฐบาลสหรัฐตัดสินใจอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม ว่าจะไม่ประกาศสงครามตอบไทย หลังจากทราบข่าวอย่างไม่ทางการว่าไทยประกาศสงคราม และยืนยันการตัดสินใจเดิมเมื่อได้รับทราบคำประกาศสงครามอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฉบับที่ส่งผ่านทางกงสุลสวิสประจำประเทศไทย

ดังนั้น การตัดสินของสหรัฐที่จะไม่ประกาศสงครามตอบไทยจึงมีขึ้นก่อนที่ ม.ร.ว. เสนีย์จะเข้าพบฮัลล์ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ (ถ้าเกิดขึ้นจริง) หรือได้รับคำประกาศสงครามที่สถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ส่งให้ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์

บันทึกลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 เป็นเอกสารที่เคยใช้ในงานราชการของ กต. สหรัฐ ปัจจุบันเก็บและให้บริการที่สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (The National Archives and Records Administration หรือ Archives II) มลรัฐแมริแลนด์ ในหมวด RG 59 หมายเลข 892.01/12-1142

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เชิงอรรถ :

[1] “British Notification of the Existence of a State of War between Great Britain and Siam, February 5, 1942,” in The London Gazette of 6 February 1942, British and Foreign State Papers, 1940-1942. (London : HMSO, 1952), 44 : 884. มักเข้าใจผิดว่า อังกฤษรับว่ามีสถานะสงครามกับไทยในวันที่ 6 หรือ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 ตามข้อเท็จจริงแล้ว อังกฤษรับว่ามีสถานะสงครามกับไทยในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ วันรุ่งขึ้นจึงมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาลอนดอน ส่วนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่อังกฤษมีหนังสือแจ้งให้ กต.สหรัฐทราบว่าอังกฤษรับว่ามีสถานะสงครามกับไทย ดูใน FRUS, General; the British Commonwealth; the Far East, 1942, Vol. 1, p. 916, http://digital.library.wisc.edu/1711.dl/FRUS.FRUS1942v01, 25 มกราคม 2550.

[2] ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ ระหว่าง พ.ศ. 2483-85 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐเปลี่ยนจากระดับอัครราชทูต (Minister) เป็นระดับเอกอัครราชทูต (Ambassador) ใน พ.ศ. 2490

[3] Walter Fitzmaurice. “Thailand, Ally in Secret, Snooped Under Japs’ Noses,” in Newsweek, (3 September 1945) : 26.

[4] ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. “ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2,” ใน รวบรวมบทความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริกา พ.ศ. 2376-พ.ศ. 2493. (กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2519), น. 194.

[5] กิตติพงษ์ สุ่นประเสริฐ. “ขบวนการเสรีไทยสายอเมริกา,”บทวิทยุออกอากาศเมื่อ 9 สิงหาคม 2548, http://www.bbc.co.uk/thai/highlights/story/2005/08/050809_free_thai_american.shtml, 26 มกราคม 2550. มีเสียงให้สัมภาษณ์ของ ม.ล. อัศนีด้วย

[6] ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. ชีวลิขิต. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, ม.ป.ป.), น. 48-49.

[7] ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

[8] อนุสัญญากรุงเฮก ฉบับ 3 มาตรา 2 ระบุว่า การมีสถานะสงครามต้องแจ้งให้ประเทศเป็นกลางทราบอย่างเป็นทางการโดยไม่ชักช้า และจะไม่มีผลบังคับจนกว่าประเทศเป็นกลางจะได้รับคำประกาศสงครามแล้ว ดู “The Hague Convention III, 1907,” in The Avalon Projectat Yale Law School. http://www.yale.edu/lawweb/avalon/lawofwar/hague03.htm, 27 มกราคม 2550.

[9] Pridi Banomyong. Political and Military Tasks of the Free-Thai Movement to Regain National Sovereignty and Independence. (Bangkok : Amarin Press, 1979), pp. 5-6.

[10] Judith Stowe. Siam Becomes Thailand. (Honolulu : University of Hawaii Press, 1991), p. 260.

[11] E. Bruce Reynolds. Thailand’s Secret War : OSS, SOE, and the Free Thai Underground during World War II. (Cambridge : Cambridge University Press, 2005), pp.19-20. ft. 31.

[12] NARA, RG 59, 892.01/48, Memorandum, Thai Legation, 23 December 1943.

[13] NARA, RG 59, 892.01/12-1142, Memorandum, No. 158/2485, 11 February 1942.

[14] ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. ชีวลิขิต. น. 47.

[15] NARA, RG 59, 892.01/13-1/2, Memorandum of Conversation : Seni Pramoj and Adams, 9 December 1941.

[16] David van Praagh. Thailand’s Struggle for Democracy. The Live and Times of M.R. Seni Pramoj. (New York : Holmes & Neier, 1996), p. 53.

[17] เช่น 840.1115A/2404 : Telegram, the Secretary of State to the Charge Affairs; in Switzerland (Huddle), 19 February 1942; and 300.115/245b : Circular telegram, the Acting Secretary of State to Certain Diplomatic and Consular Officers, 20 February 1942 in United States Department of State, in FRUS, General; the British Commonwealth; the Far East, 1942, Vol. 1, pp. 269-272, http://digicoll.library.wisc. edu/cgi-bin/FRUS/FRUS, 5 September 2006.

[18] E. Bruce Reynolds. Thailand’s Secret War : OSS, SOE, and the Free Thai Underground during World War II. p. 19 ft. 29 and p. 20 ft. 31.

[19] ไมโครฟิล์มม้วนที่ 32 หมวด Papers of Cordell Hull, 1933-1944 ที่ฝ่ายเอกสารต้นฉบับ (Manuscript Division) รัฐสภาอเมริกัน

[20] Cordell Hull. Memoirs of Cordell Hull. (New York: McMillan Company, 1948), pp. 1587-1588.

[21] NARA, RG 59, 711.92/36, Memorandum, Division of Far Eastern Affairs, 27 January 1942; and 740.0011 European War 1939/19354, Memorandum by the Assistant Secretary of State (Berle) to the Secretary of State, 28 January 1942, in FRUS, General; the British Commonwealth; the Far East, 1942, Vol. 1, p. 914, http://digital.library.wisc.edu/1711.dl/FRUS.FRUS1942v01, 25 มกราคม 2550.

[22] NARA, RG 59, 740.0011, European War, 1939/19353, Memorandum to the Secretary of State, 12 December 1941; and FRUS, Europe 1942, Vol. 2, pp. 833-842, http://digital.library.wisc.edu/1711.dl/ FRUS.FRUS 1942v02

[23] 740.0011 Pacific War/1793 : Telegram, The Charge in Switzerland (Huddle) to the Secretary of State, 2 February 1942. [Received 2 February; 8 : 10 a.m.]; and 711.92/31 The Department of State to the British Embassy, 7 February 1942, in FRUS, General; the British Commonwealth; the Far East, 1942, Vol. 1, pp. 915-916, http://digital.library.wisc.edu/1711.dl/FRUS.FRUS1942v01, 25 มกราคม 2550.

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ‘ส่ง’ คำประกาศสงครามให้สหรัฐอเมริกา” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2550

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0