โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ช่วงผลัดแผ่นดิน เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ถูก "ข่มขู่" ถึงกับ "พระบังคนไหลออกมาเปียกสบงเป็นครึ่งผืน"

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 03 ธ.ค. 2565 เวลา 17.58 น. • เผยแพร่ 03 ธ.ค. 2565 เวลา 17.54 น.
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

การผลัดแผ่นดินหลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคตนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าพระราชโอรสพระองค์ใหญ่คือกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ครองราชย์สืบต่อมา อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิแห่งราชบัลลังก์อีกพระองค์หนึ่งคือเจ้าฟ้ามงกุฎฯ โดยในช่วงการผลัดแผ่นดินนั้นเกิดเหตุการณ์ “ขมขู่” พระองค์ในเรื่องราชสมบัตินี้ ซึ่งที่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานจากหลายแห่ง

ในบทความเรื่อง “ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 2 จริงหรือลือ?” ของปรามินทร์ เครือทอง ฉบับพฤศจิกายน 2555 ได้กล่าวถึง “แผนกำจัดเจ้าฟ้ามงกุฎฯ” ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า ช่วงเวลานั้นเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ขณะบวชเป็นภิกษุอยู่นั้นถูก“ข่มขู่” จนถึงขั้น “พระบังคนไหลออกมาเปียกสบงเป็นครึ่งผืน” เลยทีเดียว ดังข้อความที่คัดมาบางส่วน ดังนี้

จอห์น ครอว์ฟอร์ด ทูตของรัฐบาลอังกฤษที่เดินทางเข้ามาเจรจาการค้ากับสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เข้าใจและยืนยันสิทธิอันชอบธรรมของเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ไว้ในจดหมายฉบับหนึ่งลงวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1824 หลังจากทราบข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตไปแล้วราว 4 เดือน

“เมื่อได้สอบถามเรื่องทางกรุงสยามได้ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศนั้นได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็มีสิทธิที่จะได้รับการยกหนี้ที่ติดค้างให้ กับได้รับการยืนยันว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระราชโอรสตามกฎหมาย ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มของพระองค์ให้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งเป็นการขัดกันกับสิทธิของเจ้าฟ้า ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงสยามที่ประสูติกับพระมเหสี และเป็นผู้ที่พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงฝึกปรนหวังจะให้เป็นผู้สืบราชสมบัติ” [1]

เมื่อเป็นเช่นนี้แผนการ “สร้างทางลัด” จึงบังเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี มีความเข้าใจผิดกันพอสมควรว่า “หลัง” จากเกิดเหตุการณ์สวรรคตขึ้นจึงมีการบีบบังคับให้เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ออกผนวช แม้แต่ ส.ธรรมยศ ก็เข้าใจผิดเช่นกัน “เจ้าจอมมารดาเรียมคือผู้วางแผนการเปลี่ยนพระมหากษัตริย์ครั้งกระนั้น ตลอดจนจัดการให้เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงอุปสมบทโดยทันทีทันใด” อันที่จริงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตนั้น เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชอยู่ก่อนแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ตรงนี้ แต่อยู่ที่ทรงตัดสินใจ “ไม่สึก” ต่างหาก

ซึ่งการ “ไม่สึก” และ “ยอมถอย” นั้น คือการรักษาตัวรอดจากสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยงต่อพระชนมชีพแน่นอน เพราะเป็นที่ทราบดีว่ากําลัง อํานาจ และบารมีของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เวลานั้นมีอยู่ล้นพ้นแผ่นดิน

ส่วนการตัดสินพระทัยที่จะถอยนั้น อ้างกัน 2 กระแส คือ มีทั้งทรงตัดสินพระทัยที่จะถอยเอง หรือได้รับคําแนะนําจาก “ผู้ใหญ่” ให้ถอย กับกระแสที่ว่าทรงถูก “ข่มขู่” ให้ถอย ซึ่งน่าจะเป็นจริงทั้งคู่ เพราะมีหลักฐานยืนยันเหตุผลทั้งสองนี้อย่างค่อนข้างชัดเจน

คือเมื่อเกิด “กรณีสวรรคต” ขึ้น ก็มีกระแสขึ้นในทันทีว่า พระบรมวงศานุวงศ์ส่วนหนึ่งกับขุนนางอํามาตย์ชั้นผู้ใหญ่คิดจะถวายราชสมบัติให้กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทางด้านทูลกระหม่อมพระ “วชิรญาณภิกขุ” จึงนําความเข้ากราบทูลปรึกษา “ผู้ใหญ่” ได้ความมาดังนี้

“ตรัสปรึกษาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งเป็นพระเจ้าน้าพระองค์น้อย ทูลแนะนําว่าควรจะคิดเอาราชสมบัติตามที่มีสิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย ไปทูลปรึกษากรมหมื่นนุชิตชิโนรสพระปิตุลา ซึ่งทรงผนวชอยู่ กับทั้งกรมหมื่นเดชอดิศรพระเชษฐา ซึ่งทรงนับถือมาก ทั้งสองพระองค์นั้น ตรัสว่าไม่ใช่เวลาควรจะปรารถนา อย่าหวงราชสมบัติดีกว่า” [2]

แต่ ส.ธรรมยศ สงสัยว่าการ “ไม่สึก” นั้น น่าจะเป็นเพราะทรงถูก “ข่มขู่” จนต้องบวชหนีราชภัยตามธรรมเนียมโบราณ

“ข้อน่าสงสัยประการแรกคือการทรงอุปสมบทต่อของเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ที่ได้กระทํากันอย่างรีบด่วนคล้ายกับมีการขู่เข็ญอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีคําเตือนให้เอาพระชนม์รอดด้วยความหวังดี” [3]

นอกจากนี้ยังมีบันทึกเหตุการณ์เรื่องการ “ข่มขู่” อีกชิ้นหนึ่ง กล่าวว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ “กรณีสวรรคต” ขึ้น เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงถูกลวงว่ามีพระบรมราชโองการให้เข้าเฝ้า แต่พอเสด็จมาถึงพระราชวังหลวงก็ถูกกักตัวไว้ในพระอุโบสถก่อน

จึ่งบทะจรสู่เวิ้ง วังหลวง

อมาตย์เท็จเชีญเสด็จลวง ลอบอ้าง

โองการท่านเรียกดวง ปิยะดนุช ะซีเอย

ด่วนใฝ่เฝ้าเจ้าช้าง ชนกมื้อดูรามัย ฯ

เขาเชีญไปวัดแก้ว มรกฎ อกอา

พักณพระอุโบสถ ก่อนเฝ้า

หับทวารส่งทหารปด เป็นรัก ขารา

ฉุกละหุกกลับรุกเร้า รวบรังขังคุม พระเอย ฯ [4]

ครั้นเมื่อทรงได้รับอนุญาตให้เข้าถวายบังคมพระบรมศพได้ ก็ทรงถูก “ข่มขู่” อีกจนขวัญเสียเลยทีเดียว

“พระจอมเกล้าฯ เสด็จเข้าไปพอเห็นสวรรคตแล้วก็ทรงพระกรรแสงโฮขึ้น หม่อมไกรสรก็เข้าไปกอดไว้แล้วคลําดู ดูที่จีวรกลัวจะซ่อนพระแสงเข้าไป พระจอมเกล้าฯ ก็ตกพระทัยรับสั่งว่าขอชีวิตไว้อย่าฆ่าเสียเลย พระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่าท่านอย่ากลัว ไม่มีใครทําอะไรหรอกอย่าตกพระทัย พี่น้องกันทั้งนั้น ทําอย่างไรได้เวลานั้นโดยท่านตกพระทัย พระบังคลไหลออกมาเปียกสบงเป็นครึ่งผืน”** [5]

ปฏิบัติการข่มขู่นี้นําไปสู่การผนวชต่อยาวนานถึง 27 ปี หรือตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เชิงอรรถ :

[1] ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ (แปล). เอกสารของครอว์ฟอร์ด. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2515), น. 196.

[2] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ความทรงจำ. น. 63.

[3] ส. ธรรมยศ. REX SIAMEN SIUM หรือพระเจ้ากรุงสยาม. น. 101

[4] กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. มหามงกุฎราชคุณานุสรณ์. (พระนคร : ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี, 2495), น. 48.

[5] พระยาสาปกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล). “บันทึกความทรงจำ,” ใน 331 ปี สกุลอมาตย์ และ 73 ปี แห่งการพระราชทานนามสกุลอมาตยกุล. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2529), น. 13.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0