โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

จุดเปลี่ยนการเมืองสหรัฐ "ทรัมป์" VS "ไบเดน" ผลกระทบการค้าไทย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 16 ก.ค. 2563 เวลา 03.27 น. • เผยแพร่ 16 ก.ค. 2563 เวลา 01.30 น.
เลือกตั้งสหรัฐ

ทีมการบริหารประเทศของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน กำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงปลายปี 2563

ส่งผลให้ทั้ง 2 พรรคการเมืองต้องออกรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” กับ“โจ ไบเดน” ก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ หรือเหลือเวลาอีกประมาณ 4 เดือนเท่านั้น

การเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่สหรัฐเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นมูลค่า 20.49 ล้านล้านเหรียญ มีสัดส่วนประมาณ 22% มีขนาดเกือบ 1 ใน 4 ของโลก

แน่นอนว่าความสำคัญของตลาดสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของประเทศไทยโดยตรง เพราะสหรัฐถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกของไทย คิดเป็นสัดส่วน 13.9% ของมูลค่าการค้าไทยกับทั่วโลก หรือเป็นตลาดอันดับ 2 ของไทย รองจากตลาดอาเซียน ซึ่งมีสัดส่วน 25.2%

นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในไทยสูงสุดติดอันดับ 1 ในท็อป 10 ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองของสหรัฐย่อมส่งผลต่อทิศทางการค้าและการลงทุนของไทยด้วยเช่นกัน

การเมือง 2 ขั้ว

ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ ประจำไมอามี ได้ออกบทวิเคราะห์มีสาระสำคัญอยู่ที่ว่า การเมืองภายในสหรัฐจะขึ้นอยู่กับทิศทางการบริหารประเทศของผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเดโมแครต หรือรีพับลิกัน

แต่ทว่าอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งสองพรรคกลับต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นพรรคที่บริหารประเทศอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้การดำเนินงานของประธานาธิบดีทรัมป์มีความเป็นพรรคอนุรักษนิยมสูง มุ่งเน้นนโยบายที่สนับสนุนตลาดและระบบการค้าทุนนิยม เชื่อมั่นในการเก็บภาษีแบบเท่าเทียมกัน และมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกองทัพ โดยพรรคจะมีฐานเสียงเป็นกลุ่มประชาชนในตอนกลางของประเทศ ในมลรัฐโอกลาโฮมา แคนซัส และเทกซัส

ขณะที่พรรคเดโมแครตถือเป็นพรรคการเมืองเสรีนิยมหัวก้าวหน้าที่มีนโยบายสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเสรีและเปิดกว้าง เชื่อมั่นระบบการเก็บภาษีตามระดับรายได้แบบขั้นบันได และไม่สนับสนุนงบประมาณดำเนินการสำหรับกองทัพ โดยความแตกต่างด้านนโยบายดังกล่าวจะส่งผลต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยตรง

จุดเปราะบาง “ทรัมป์”

โอกาสการเปลี่ยนแปลงขั้วการเมืองสหรัฐหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน “มีความเป็นไปได้สูง” ซึ่งเป็นผลมาจาก“จุดอ่อนแอ” ในการบริหารงานของทรัมป์ที่ผ่านมา จัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรครีพับลิกันต้องระวังอย่างหนัก ทั้งจากการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่ย่ำแย่อย่างมาก จนทำให้สหรัฐเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก การประท้วงกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีที่ถูกตำรวจทำร้ายจนเสียชีวิต ประเด็นอ่อนไหวเหล่านี้ทำให้ “ความนิยม” ในตัวของโดนัลด์ ทรัมป์ ลดลงเหลือเพียง 39% จากภาวะผู้นำ รวมไปถึงการวางนโยบายต่าง ๆ ที่กระทบต่อเนื่องกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ

ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐ มีโอกาสที่จะ -8% จากเดิมที่คาดการณ์ในช่วงเดือนเมษายนจะ -5.9% จากภาวะเศรษฐกิจหดตัวรุนแรง ย่อมส่งผลเชื่อมโยงไปถึงอัตราการว่างงาน การเก็บภาษีภาคธุรกิจ และระดับราคาสินค้าในประเทศ และที่สำคัญจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกแน่นอน เพราะนโยบายการค้าระหว่างประเทศของทั้ง 2 พรรคแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

จากข้อเท็จจริงที่ว่า “รีพับลิกัน” มีนโยบายปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ด้วยการใช้มาตรการทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี และไม่สนับสนุนความร่วมมือทางการค้า ซึ่งจะเห็นได้จาก 4 ปีของทรัมป์ ที่ประกาศใช้นโยบาย American First ถอนตัวออกจากการเจรจาความตกลงการค้าที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) รวมถึงมีการใช้มาตรการทางการค้ากับประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง

แต่หากผลการเลือกตั้งออกมาพลิกผันกลายเป็น “เดโมแครต” กลับมารับตำแหน่งบริหารประเทศ นโยบายการค้าเสรี การสร้างความร่วมมือทางการค้ากับประเทศคู่ค้าย่อมจะกลับมา รวมถึงมีโอกาสที่สหรัฐจะกลับเข้ามาร่วมเจรจาความตกลงการค้าเสรีสำคัญ ๆ โดยเฉพาะ CPTPP อีกครั้ง ซึ่งนั่นย่อมจะมีผลต่อการค้าการลงทุนของไทยในอนาคตได้เช่นกัน

ผลกระทบถึงไทย

บทวิเคราะห์ข้างต้นสอดคล้องกับมุมมองของ “รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่า หากทรัมป์สามารถชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย เพราะจะยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพว่า “นโยบายที่ทรัมป์ดำเนินการมา 4 ปีนั้น เป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จ และต้องเดินหน้าต่อทั้งสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี การไม่ยอมรับต่อการเป็นสมาชิกในองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งองค์การการค้าโลก (WTO) องค์การอนามัยโลก (WHO) ปารีสคอนเวนชั่น”

แต่ในทางตรงกันข้าม หาก “ไบเดน” ชนะการเลือกตั้งก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก จากที่เจอผลกระทบ 2 ด้าน ทั้งจากการระบาดของโควิด-19 ซ้ำด้วยวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิดที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก ความแข็งกร้าวของนโยบายสหรัฐจะผ่อนคลายลง การลดดีกรีความร้อนแรงของการเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาสงครามการค้า และด้วยประสบการณ์ที่ไบเดน เคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัย“บารัก โอบามา” มาก่อน อาจจะทำให้มีโอกาสที่สหรัฐจะหวนกลับสู่การเจรจา “ความตกลงหุ้นส่วน CPTPP มีความเป็นไปได้อีกครั้ง โดยสหรัฐจะกลับเข้าสู่กติกาสากลทั้งหมด”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผลโพลในสหรัฐ คะแนนของ “ไบเดน” ยังนำทรัมป์อยู่ถึง 2 หลัก ซึ่งปัจจัยสำคัญเป็นจากผลของการดำเนินนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ล้มเหลว การสร้างสงครามการค้ากับจีน ทำให้สินค้าเกษตรที่ส่งออกไปยังตลาดจีนได้รับผลกระทบ ประเด็นความตึงเครียดจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึงเรื่องประท้วงกรณีจอร์จ ฟลอยด์

ดังนั้นต้องจับตามองว่า ในช่วงเวลาอีก 4 เดือนนับจากนี้ ทรัมป์จะใช้ “ไม้เด็ด” อะไรดึงคะแนนเสียงกลับคืนไป เพราะในช่วงที่ผ่านมา ทรัมป์ดำเนินนโยบายที่โดดเด่นเพียงเรื่องเดียว คือ การใช้นโยบายกระตุ้นการลงทุนในประเทศส่งผลให้อัตราการว่างงานลดต่ำลง แต่ทว่านโยบายดังกล่าวก็ไม่ได้กระจายทั่วถึงในทุกพื้นที่

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0