โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จิตบำบัดไม่ใช่เรื่องแย่ แถมใกล้ตัวกว่าที่คิด ชวนคุยกับ โดม เพจ He, Art, Psychotherapy

The MATTER

เผยแพร่ 04 ก.ค. 2563 เวลา 10.55 น. • Social

ถ้าพูดถึงการทำจิตบำบัด (psychotherapy) หลายคนอาจจะติดภาพจากในหนังที่มีผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียง เล่าเรื่องราวที่ประสบพบเจอมา โดยมีนักจิตบำบัดนั่งจดอะไรสักอย่างอยู่ข้างๆ คอยพูดคุย ชักจูง โน้มน้าว ราวกับพวกเขามีพลังวิเศษบางอย่างในการอ่านใจเราได้

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ลึกลับกับกระบวนการบำบัดจิต ด้วยเหตุนี้ ใครหลายคนจึงไม่กล้าเข้าใช้บริการ บวกกับค่านิยมของคนในสังคม ที่ยังมองว่าการทำจิตบำบัดเป็นทางออกของคนบ้าเท่านั้น คนปกติที่ไหนจะเข้ารับการบำบัดกัน ซึ่งในความเป็นจริง การทำจิตบำบัดไม่มีอะไรน่ากลัว แถมยังเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

The MATTER จึงได้พูดคุยกับเจ้าของเพจ He, Art, Psychotherapy หรือ โดม—ธิติภัทร รวมทรัพย์ ซึ่งที่ผ่านมา เราอาจจะคุ้นชื่อเขาในฐานะศิลปินหรือนักดนตรี แต่ยังไม่คุ้นในฐานะของนักจิตบำบัดมากนัก เพราะนอกเหนือจากการเป็นมือกลองแห่งวง Summer Stop แล้ว โดมได้ต่อยอดความรู้ด้านจิตวิทยาของเขา ด้วยการไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ Goldsmiths, University of London สาขา Art Psychotherapy และตอนนี้ เขาก็ได้เปิดเพจของตัวเอง เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ ให้คนทั่วไปเปลี่ยนภาพจำเกี่ยวกับการทำจิตบำบัด และกล้าที่จะไปใช้บริการกันมากขึ้น

ทำไมถึงสนใจเรียนด้านจิตวิทยา

ตอนสอบเข้ามหาลัยผมไม่รู้จักจิตวิทยาหรอก เลือกเพราะไม่รู้จะเลือกอะไรดี แล้วก็โชคดีที่เรียนแล้วชอบ ซึ่งเราได้เรียนสาขาจิตวิทยาคลินิก เป็นการเรียนเกี่ยวกับการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา การทำจิตบำบัด เรียนเกี่ยวกับอาการต่างๆ ของผู้ป่วย พอเรียนแล้วก็เกิดความสนใจ เลยคลุกคลีกับมันมาเรื่อยๆ

แล้วเส้นทางดนตรีล่ะ

ดนตรีเป็นความฝันในวัยเด็ก ก็คือเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก แล้วมาเริ่มทำวงตอนมัธยม ทำกับเพื่อนมาเรื่อยๆ จนเข้ามหาลัย ก็ได้เซ็นสัญญากับค่าย Smallroom ความฝันก็อยากเป็นศิลปินแหละ จากนั้นก็มีช่วงคาบเกี่ยวที่ทำให้เรารู้ว่าเราชอบทางจิตบำบัด หรือทางจิตวิทยา แต่ความฝันแรกของเราคือศิลปิน ก็เลยทำวงดนตรีก่อน เรียนจบก็ทำวงดนตรีมาเรื่อยๆ ให้เป็นเป้าหมายแรกที่จะลองทำ แล้วพอถึงช่วงอายุนึง ค่อยกลับมาสายจิตบำบัด

แสดงว่าก่อนเรียนจิตบำบัด ความเข้าใจของเราต่อสาขานี้คือแทบไม่มีเลย

ตอนเลือกคณะ เลือกแบบไม่มีข้อมูลเลย เลือกแค่จากชื่อคณะ ไม่ได้ดูหลักสูตรด้วย ดูแค่ว่าคณะนี้น่าจะไม่มีวิชาวิทย์หรือคณิต ก็เลือก แต่พอเข้ามาแล้วเจอหมดเลยนะ (หัวเราะ)

นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัด มีความแตกต่างกับจิตแพทย์ยังไง

เราเรียนจิตวิทยาคลินิก จบมาเป็นนักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด สามารถทำแบบทดสอบได้ ทำจิตบำบัดได้ ส่วนจิตแพทย์ต้องเป็นแพทย์แล้วไปต่อเฉพาะทางจิตเวช ซึ่งการทำงานของแพทย์ก็จะต่างกัน แพทย์จะเน้นใช้ยารักษาและวินิจฉัยโรค แต่แพทย์บางคนก็สามารถทำจิตบำบัดได้ ส่วนนักจิตบำบัดจะทำจิตบำบัดอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นจิตบำบัดเฉพาะทาง ก็แล้วแต่คน

พวกเขาจะทำงานร่วมกัน สมมติเรามีอาการ หรือความสงสัยบางอย่างเกี่ยวกับตัวเอง แล้วไปโรงพยาบาล ด่านแรกที่เจอคือแพทย์ แล้วแพทย์จะเป็นคนบอกว่าเราป่วยหรือไม่ป่วย แล้วถ้าป่วยจะมีวิธีการรักษายังไง ใช้ยาอย่างเดียว การบำบัดอย่างเดียว รวมถึงการใช้ยาควบคู่กับการบำบัด หรือถ้าไม่ป่วยจะต้องทำยังไงต่อ อาจจะทำการบำบัดอย่างเดียวก็ได้

ทำไมถึงเลือกไปทางสายจิตวิทยาคลินิก

ตอนผมเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มันจะมี 2 สายหลักๆ คือ จิตวิทยาคลินิกและจิตวิทยาอุตสาหกรรม จิตวิทยาอุตสาหกรรมคือ เรียนแล้วเอาไปใช้ในองค์กร ซึ่งเราเรียนแล้วไม่อิน พอมาเรียนเกี่ยวกับการบำบัด การให้คำปรึกษา เรารู้สึกว่ามันเปิดโลก เป็นอะไรที่สามารถใช้ทำความเข้าใจคนได้ แล้วพอเราเข้าใจ มันก็เปลี่ยนวิธีคิดเราไปเลย

แล้วหลังจากนั้นทำงานอะไรในสายจิตบำบัดบ้าง

จบมาผมทำวงดนตรีอยู่ Smallroom อย่างเดียวเลย แล้วก็ไปเป็นครูสอนกลองเด็ก จากนั้นก็ไปเป็นนักบำบัดเด็กพิเศษ เด็กออทิสติก แล้วก็ออกมาเป็นฟรีแลนซ์ รับเคสเอง มีรับพาร์ทไทม์ให้คำปรึกษากลุ่มนักศึกษา วัยรุ่น และกลุ่มที่เพิ่งเรียนจบใหม่ เพราะตอนนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพิ่งเปิดศูนย์ให้คำปรึกษา แล้วผมยังไม่มีประสบการณ์การทำงานกับวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ ก็เลยติดต่อกับอาจารย์ที่สอน บอกว่าผมอยากเก็บชั่วโมงบิน อยากจะฝึกในสายนี้ เพราะอยากจะเปลี่ยนกลุ่มมาเป็นคนที่อายุมากขึ้น อาจารย์ก็แนะนำว่าเดี๋ยวเป็นที่ปรึกษาให้ ผมก็เลยได้ไปเป็นนักให้คำปรึกษาที่ศูนย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วก็ทำตรงนั้นระหว่างรอไปเรียนต่อ

นี่ก็คือที่มาของการตั้งเพจ He, Art, Psychotherapy ด้วยใช่มั้ย

จริงๆ มีความคิดที่จะทำเพจมานานแล้ว เพราะคิดว่าในภายภาคหน้าถ้าเราจะมาสายนี้ การมีเพจน่าจะช่วยให้เข้าถึงคนได้ แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มทำซักที ก็เลยมีความคิดว่าเดี๋ยวตอนไปเรียนต่อ เราค่อยทำเพจ เพื่อจะได้แชร์ความรู้ที่เราได้เรียน แชร์ประสบการณ์ต่างๆ จากการฝึกงาน หรือเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่เราพบเจอ อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับจิตวิทยา เป็นอารมณ์แบบ blogger นิดนึง เผื่อไม่มีอะไรจะเขียน

แต่พอไปถึงที่ลอนดอน ก็มีเรื่องของการปรับตัว จนเรียนจบไปเทอมนึงก็ยังไม่ได้ทำซักที ก็มานั่งคิดว่ามันจะเริ่มได้หรือยัง เพราะถ้าเอาเนื้อหาที่เราเจอเมื่อเทอมที่แล้วมาเขียน หรือประสบการณ์ที่เราได้เจอมาเขียน มันจะเก่าไปมั้ย ควรจะเริ่มได้แล้วเพื่อไม่ให้สิ่งที่เราได้เจอมามันเก่าไป

จุดประสงค์หลักของเพจนี้คืออะไร

คิดไว้ว่าเพื่อเป็นช่องทางใช้ทำงานด้วย และมีความคิดที่อยากจะทำให้เรื่องจิตบำบัด หรือจิตวิทยามันเข้าถึงง่าย ให้เป็นเรื่องทั่วไปในชีวิต เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะมันจะมีค่านิยมของคนไทยเกี่ยวกับการทำจิตบำบัดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น การไปรับบริการทางจิตวิทยา การพบจิตแพทย์ หรือการทำจิตบำบัด แปลว่าต้องเป็นบ้า ซึ่งความเป็นจริงเราอาจจะมีเรื่องที่จัดการไม่ได้ ไม่ต้องรอให้เป็นเรื่องที่หนักแล้วต้องไป หรือเรื่องที่เกี่ยวกับอารมณ์ การตัดสินใจ ก็สามารถไปได้ ดูอย่างในหนังของต่างประเทศ แค่เลิกกับแฟนก็ไปหาหมอแล้ว การทำจิตบำบัดเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก แล้วมองกลับมาที่ไทย 

แต่มองกลับมาที่ไทย พอมันมีค่านิยมแบบนี้ 

มันเลยเป็นการกีดกันให้คนเข้าถึงยาก 

บางคนที่ต้องการจะใช้บริการจริงๆ

เขาก็จะกลัว กังวล ไม่กล้าไปหาหมอ

เขาจะคิดว่า ถ้าฉันไปจะถูกตีตราหรือถูกมองว่าเป็นคนบ้า ไร้ศักยภาพหรือเปล่า รวมถึงตัวเองด้วย เราเคยมองคนอื่นไว้ ถ้าวันนึงเรามีบางอย่างที่จัดการไม่ได้ แล้วต้องการที่จะใช้บริการ เราก็จะรู้สึกว่า อ่าว เราเคยบอกคนอื่นไว้ แล้วคนอื่นจะคิดเหมือนเรามั้ย

ผมเลยอยากเปิดเพจนี้เพื่อช่วยทำให้เรื่องจิตวิทยา หรือจิตบำบัดเป็นเรื่องที่ธรรมดามากขึ้น แล้วก็อยากจะเผยแพร่ความรู้รวมถึงข้อมูลต่างๆ เผื่อบางคนอ่านแล้วจะนำไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองได้ คือการทำจิตบำบัดมันไม่ใช่เรื่องแย่ แค่ต้องเปิดใจแค่นั้นเอง

ตั้งแต่รับทำจิตบำบัดมา เห็นจุดร่วมของคนในยุคนี้มั้ยว่าพวกเขากังวลกับเรื่องอะไรมากที่สุด

บอกยากครับ เพราะมันหลากหลายมากๆ มีตั้งแต่เรื่องที่ทำงาน ครอบครัว ความรัก การเงิน

แม้แต่เรื่องเล็กน้อยมากๆ ก็ยังมี

ผมเคยทำเพจนึงกับเพื่อนตอนสมัยเรียนมหาลัย เป็นเพจให้คำปรึกษาออนไลน์ ตอนนั้นผมไม่ได้ดูคอนเทนต์เลย แค่ให้คำปรึกษาเฉยๆ แล้วก็มีคนเข้ามาปรึกษาเรื่องช็อกโกแลตหาย เอาช็อกโกแลตเก็บไว้ที่หอนักศึกษา ซึ่งเป็นหอรวม แล้วเวลาเอาช็อกโกแลตไปแช่ตู้เย็นรวมทีไร หายทุกที นี่ก็เป็นปัญหาที่ไม่คิดว่าจะมีคนปรึกษา

แล้วเคสนี้ เราเอาวิชาหรือความรู้ที่เรียนมาไปช่วยเหลือเขาได้ยังไง

เราฟังแล้วเราก็สะท้อน จริงๆ ถ้าเราค่อยๆ ฟัง เราจะรู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน เราไม่ใช่คนที่จะไปบอกเขาว่า ถ้าเอาไปแช่แล้วหาย ก็ไม่ต้องแช่สิ จะได้ไม่ถูกเอาไป ผมว่าจริงๆ เขาก็รู้ เขาก็คิดได้ ผมก็แค่ถามว่ามันหายเพราะอะไร แล้วคิดว่าทำอะไรได้บ้าง เราไม่ได้เป็นคนบอกให้เขาทำอะไร แต่เราจะค่อยๆ ถามให้เขาได้คิดสำหรับตัวเขาเอง

แสดงว่าหน้าที่หลักๆ ของนักจิตบำบัดคือการรับฟัง เพื่อให้คนๆ นั้นสะท้อนความคิดออกมา

เรารับฟังแล้วก็คอยดูว่าเขาคิดอะไรยังไงอยู่ เขารู้สึกอะไรอยู่ เพราะบางทีเขามาด้วยปัญหานึง แต่พอคุยไปคุยมา ต้นตอของปัญหามันคืออีกเรื่อง เขาก็จะเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ ของเขาคืออะไร มันก็จะเกิดมุมมองใหม่ๆ เพราะเขาไม่เคยคิดว่าสิ่งๆ นั้นมันส่งผลต่อตัวเขา เขาก็จะได้วิธีแก้ของเขาเอง

เหมือนมาร่วมช่วยกันหาต้นตอของปัญหา

เรียกว่าทำงานร่วมกันครับ แล้วเรื่องของการแนะนำ เราไม่ได้แนะนำเพราะเราคิดว่าคนแต่ละคนจะรู้ว่าอะไรที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง เราอาจจะมีวิธีที่ดีสำหรับเรา แต่เราไม่รู้ว่ามันดีสำหรับเขาหรือเปล่า สมมติถ้าเราบอกไป แล้วเขาเอาไปทำ ผลที่ตามมาคือใครรับผิดชอบ เราก็เลยไม่ได้บอกว่าทำแบบนั้นดี ทำแบบนี้แย่ สิ่งที่ทำได้คือแนะนำความรู้ อะไรที่เป็นข้อเท็จจริง หรือมีผลวิจัยรองรับ อย่างเช่น คุยกับผู้ปกครองที่มาปรึกษาว่าทำยังไงดี ตีลูกดีมั้ย เราก็จะบอกไปว่ามีงานวิจัยว่าการตีลูกมันไม่ดี จะส่งผลต่อลูกยังไงบ้าง ให้เขาเก็บไปคิดอีกที

มีวิธีบำบัดอื่นๆ อีกมั้ยนอกจากการพูดคุยเพื่อบำบัด

มีหลายเทคนิคครับ อย่างเช่น มีคนมาปรึกษาเรื่องกลัวการขับรถ จริงๆ เขาขับได้ แต่กลัว มันก็จะมีเทคนิคชื่อ Systematic Desensitization (การลดความกลัวหรือความวิตกกังวลตามลำดับ) สมมติเขาบอกว่ากลัวการขับรถ เราก็จะมาหาว่ากลัวอะไรของการขับรถ ลิสต์จากสิ่งที่กลัวที่สุดไปหาน้อยที่สุด เช่น เขาบอกว่าขับรถที่ถนนใหญ่ไม่ได้ แต่ขับในพื้นที่ส่วนตัวหรือซอยเล็กๆ ได้ แปลว่าความกลัวที่สุดคือถนนใหญ่ รองลงมาคือขับในซอย น้อยสุดก็พื้นที่หน้าบ้าน ถ้าจอดรถไว้เฉยๆ คือไม่กลัวเลย เราก็ให้เขาค่อยๆ เริ่มไปทีละนิด ค่อยๆ ปรับไป 

จริงๆ มันจะมีรายละเอียดที่เยอะกว่านี้ ยกตัวอย่างอีกอันคือ อยากหายกลัวหมา ก็มานั่งหาวิธีกัน ดูว่ากลัวหมาตัวใหญ่มั้ย กลัวหมาตัวเล็กมั้ย กลัวหมาพันธุ์อะไรเป็นพิเศษ หรือกลัวตุ๊กตาหมามั้ย ก็ลองปรับไปเรื่อยๆ แต่นี่ก็คือหนึ่งในหลายๆ วิธีที่จะใช้บำบัด

แล้วศิลปะนำมาใช้กับการทำจิตบำบัดได้ยังไง

มันจะเป็นอีกสายหนึ่ง โดยออริจินัลของการทำจิตบำบัดจะเป็นการพูดคุย แล้วก็จะมีการพัฒนามาเรื่อยๆ เป็นการทำจิตบำบัดสายต่างๆ ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า Expressive Art Therapy เป็นหมวดใหญ่ที่จะมีแขนงย่อยออกมา หนึ่งในนั้นก็คือ Art Therapy หรือศิลปะบำบัด มีดนตรี ละคร การเต้น และการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการบำบัดโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อหลัก 

โดยทฤษฎีนี้เขาเชื่อว่ามนุษย์สื่อสารผ่านระบบสัญลักษณ์ ภาษาที่เราใช้ก็คือ สัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นมา ในวัยเด็กเราสื่อสารกันรู้เรื่องตั้งแต่ยังไม่มีภาษาเลยด้วยซ้ำ ทำไมเราถึงสื่อสารรู้เรื่อง เพราะมันมีข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไว้เป็นสัญลักษณ์อยู่แล้ว เราอาจจะไม่รู้ตัว แต่มันอยู่ในจิตได้สำนึก ซึ่งศิลปะจะเข้ามาทำงานตรงนี้ โดยการสื่อสารออกมาเป็นระบบสัญลักษณ์

เล่าให้ฟังหน่อยว่าตอนเรียนได้ลองทำศิลปะบำบัดแบบไหนบ้าง

ตอนเรียนได้ฝึกงานกับเด็กประถม เป็นเด็กที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ ตอนนั้นก็ใช้ศิลปะนี่แหละครับ โดยเราเข้าไปพูดคุยคร่าวๆ สร้างความสัมพันธ์ให้เขาเชื่อใจ แล้วเราก็ปล่อยให้เขาทำไปเลย do whatever you want แล้วก็รอดูว่าเขาจะทำอะไร ซึ่งมันก็มีหลายวิธี ถ้ามีกรอบเวลามาบีบ เราก็อาจจะไกด์เขาหน่อยว่าให้วาดรูปอะไร ให้ธีมเขาไป เช่น วาดเกี่ยวกับครอบครัวให้ดูหน่อย วาดรูปที่เกี่ยวกับคำนี้ให้ดูหน่อย ให้คีย์เวิร์ดไป แต่ถ้าไม่มีเวลาหรืออะไรมาเป็นเงื่อนไข เราก็จะดูในสิ่งที่เขาอยากทำ แล้วสิ่งนั้นก็จะปรากฏออกมาเอง

แล้วเราต้องมาตีความอีกที

การทำงานมันจะมีทั้งตีความภาพวาด ทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ของเขากับภาพ ดูว่าเขาสร้างงานยังไง ใช้อุปกรณ์อะไร เขามีอารมณ์ หรือท่าทางยังไงระหว่างทำ แล้วก็มาทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างเขากับเรา ดูว่าเขาพูดคุยกับเรายังไงระหว่างที่ผลิตงานนั้น

ถ้าคนที่ไม่ได้ชื่นชอบในศิลปะ จะทำศิลปะบำบัดได้มั้ย

มันไม่ได้เหมือนศิลปะที่เรารู้จัก ที่ต้องเป๊ะ ต้องทำเป็น ต้องมีสกิลถึงจะทำได้ ผมจะบอกเขาว่าอยากทำอะไรก็ทำ หรืออาจจะมีการเอาผลงานของคนอื่นๆ ที่เขาอนุญาตให้เปิดเผยมาให้ดูเป็นตัวอย่าง ว่ามันไม่ต้องใช้สกิลอะไรมาก

ในการบำบัดเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ มีความแตกต่างกันยังไงบ้าง

หลักๆ เลย สิ่งที่สำคัญมากๆ ในการบำบัดคือ ความสัมพันธ์และความไว้ใจที่เราต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ แล้วการจะทำให้คนแต่ละวัยเกิดความไว้ใจ ก็ต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกัน ถ้าเขาเป็นเด็ก เราก็ต้องเล่นกับเขาก่อน ถ้าเขามาถึงแล้วเขาไม่นิ่ง ไม่โฟกัสกับอุปกรณ์ที่อยู่บนโต๊ะ ไปสนใจสิ่งรอบๆ เราก็ต้องไปเล่นกับเขา เพื่อให้เขาไว้ใจ เปิดรับ พร้อมที่จะทำงานกับเรา แต่อย่างผู้ใหญ่เราคงไม่ลงไปคลุกพื้นกับเขาอยู่แล้ว เราก็ต้องมาหาวิธีอื่น ก็จะแตกต่างในวิธีการและรายละเอียด

ตอนเป็นอาสาสมัครในมหาวิทยาลัย มีนักศึกษาเข้ามาใช้บริการเยอะมั้ย

ในศูนย์นั้นจะมีคนให้คำปรึกษาหลายคน แต่ก็คิวเต็มหมดนะ เราก็รู้สึกว่าแนวโน้มที่คนเปิดรับเรื่องนี้ก็ดีขึ้น เริ่มจะเข้าใจ เริ่มเห็นการบำบัดไม่ใช่เรื่องแย่ แต่ผมว่ายังดีกว่านี้ได้

ตอนนี้เห็นว่ามีการทำจิตบำบัดออนไลน์อยู่ มันเทียบเท่ากับการทำจิตบำบัดตัวต่อตัวได้มั้ย

ต้องบอกตามตรงว่าคุณภาพอาจจะไม่เท่ากับการเจอกันตัวต่อตัว แต่มันได้ในเรื่องของความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว เข้าถึงง่าย อย่างที่เคยยกตัวอย่างไป สมมติกลัวการขับรถ หรือการกลัวหมา ถ้าเราอยากมานั่งทำจิตบำบัดด้วยกัน เอาตุ๊กตาหมามาวาง ก็คงทำได้ยากกว่า หรือเทคนิคอื่นๆ ที่อาศัยการขยับร่างกาย เช่น เราบอกให้เขาลองเกร็งกล้ามเนื้อดู ลองผ่อนคลายดู ลองขยับตรงนี้ดู เรื่องการสังเกตสีหน้า แววตา ท่าทางก็เหมือนกัน วิดีโอคอลก็จะเห็นแค่ครึ่งตัว แต่ถ้ามาเจอกันเราจะเห็นทั้งหมด เห็นว่าเขากำมือ แบมือมั้ย เวลาพูดเรื่องต่างๆ

สมมติคนรอบข้างมีปัญหาทางสุขภาพจิต แต่ยังไม่เปิดรับการพบแพทย์ หรือการทำจิตบำบัด เราจะมีวิธีการโน้มน้าวเขาได้ยังไงบ้าง

เป็นเรื่องที่ยากมาก แม้แต่นักจิตบำบัดเองก็มีปัญหาว่าจะพูดยังไงให้คนไป ถ้าถามผม ถ้าผมมีเพื่อน หรือคนในครอบครัวที่มีปัญหา ผมจะเริ่มจากการพูดคุยก่อน ทำความเข้าใจเขาว่าเพราะอะไรถึงไม่อยากไป เพราะกลัวคนมองไม่ดี หรือเขามองว่ามันไม่จำเป็น เขาไม่ได้เป็นเยอะขนาดนั้น ก็ต้องดูว่าเพราะอะไร แต่จะไม่บังคับ หรือกดดันให้เขาไป ไม่เลือกวิธีนั้น แค่ให้ตัวเลือกเขาไป แล้วก็อาจจะพยายามสอดแทรกนิดนึงว่าการทำแบบนี้อาจจะช่วยได้ หาตัวอย่างที่ใกล้เคียง หรือคนที่เขาเชื่อใจจริงๆ มาช่วยพูด เช่น คนที่เจอเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกับเขา แล้วเขาสามารถเชื่อมโยงได้ว่าน่าจะช่วยเขาได้

เห็นที่โดมลงรูปแต่งตัวสบายๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้นักจิตบำบัดเข้าถึงง่าย ภาพลักษณ์มีส่วนขนาดนั้นเลยใช่มั้ย

ภาพมันมีผลกับทุกสิ่งอยู่แล้ว เราเห็นอะไรมันส่งผลกับความคิดความรู้สึกเราอยู่แล้ว 

บางคนมองว่าการไปพบนักจิตบำบัดเป็นเรื่องลึกลับ

เวลาพูดถึงจิตบำบัด คนส่วนใหญ่จะสนใจ 

แต่สนใจในแง่ของความลี้ลับ แล้วก็ไม่กล้าแตะต้อง

แล้วคนก็จะมองบุคลากรทางจิตวิทยาสามารถทำอะไรบางอย่างกับเราได้ ผมคิดว่ามีกลุ่มคนที่เข้าใจอย่างงั้นอยู่ เลยพยายามจะทำให้เข้าใจว่าคนที่ทำงานตรงนี้ ก็คือคนปกติทั่วไป เขาเรียนทางด้านนี้มา มีทักษะที่จะทำงานนี้ได้ เช่น คนอย่างผม อยู่บ้าน กินข้าว ไปเที่ยว ดูหนัง แต่งตัวอยู่บ้านก็สบายๆ ไม่ได้ลึกลับหรือมีพลังวิเศษอะไรอย่างที่ทุกคนกลัว

แล้วในฐานะที่เป็นนักจิตบำบัด เวลาได้รับฟังเรื่องราวของคนเยอะๆ มีวิธีจัดการกับความรู้สึกของตัวเองยังไง

ผมฟังแล้วผมเข้าใจในมุมของคนที่มาปรึกษา แต่ไม่ได้เก็บมาเป็นเรื่องของตัวเอง เรื่องที่เขาเผชิญอยู่ก็คือเรื่องของเขา เราก็ทำหน้าที่ของเรา ช่วยเหลือเขาอย่างเต็มที่ ในส่วนที่เราทำได้ ก็แยกกันว่านั่นคือเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าแยกได้มันก็จะไม่มากระทบเรามาก

คนที่ทำงานด้านนี้ เขาจะต้องมีการรับฟังอย่างเข้าใจใช่มั้ย

เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานครับ การฟังต้องมาจากกระบวนการความคิดของเราก่อน พื้นฐานเลยก็คือ หนึ่ง การเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น นั่นก็คือความเห็นใจ หรือ empathy นั่นแหละ พยายามเข้าใจว่าการที่เขาอยู่ในจุดนี้ เขาต้องเจออะไร ต้องรู้สึกยังไงบ้าง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะไม่ได้เข้าใจเขาทั้งหมดหรอก เราอาจจะรู้ว่าเขาเศร้า แต่เราไม่เข้าใจหรอกว่าเขาเศร้าแค่ไหน 

เราไม่ต้องเข้าใจเขาแบบ 100% ก็ได้

สิ่งสำคัญคือการที่เขาสัมผัสได้ว่า

เราพยายามเต็มที่แล้ว ที่จะเข้าใจเขาอย่างจริงจัง

สอง เราต้องยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น สมมติเราเป็นคนอคติกับเกย์ แล้วมีเกย์มาปรึกษาเรื่องอยากเปิดตัว แล้วเราไม่ยอมรับเเขา เราจะให้คำปรึกษาเขาได้ยังไง หรือเรื่องทำแท้ง มีคนมาปรึกษาเรื่องอยากทำแท้ง แต่เราเป็นคนซีเรียสเรื่องทำแท้ง แล้วเราก็ไม่ยอมรับเขา แบบนี้เราจะให้คำปรึกษาเขาได้ยังไง สุดท้าย สื่อสารออกมาอย่างจริงใจ ทำให้เขารู้ว่าเราพยายามจะช่วย มองตา แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเราทำได้ เราก็จะฟังเขาได้แบบไม่ไปตัดสินเขา

ถ้าทุกคนเปิดใจกับการทำจิตบำบัด สุดท้ายมันจะทำไปสู่ผลดียังไงบ้าง

ทุกคนจะมีความสุขมากขึ้น ถ้ามีปัญหาที่แก้ไม่ได้ นักวิชาชีพตรงนี้ก็สามารถช่วยได้ อย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้ก้าวข้ามปัญหาได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งหน้าที่ของนักวิชาชีพนี้ก็จะไม่ได้ทำแค่การบำบัดเท่านั้น แต่ยังให้ความรู้อีกด้วย อย่างผมที่ทำเพจหรือออกไปเจอผู้คน ก็จะมีงานวิจัยหรือความรู้ที่ผมสามารถเผยแพร่ได้ ซึ่งก็จะเริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างการเลี้ยงลูกยังไง ทำยังไงให้ไม่ตีลูก อยากให้ลูกเรียนแพทย์ แต่ลูกอยากเป็นนักฟุตบอลต้องทำยังไง

ถ้าทุกครอบครัวเริ่มมาดี ผมว่าทุกคนจะมีความสุขมากขึ้น ปัญหาครอบครัวดูเหมือนจะเล็กนะ แต่ลองดูว่ามีกี่ครอบครัวที่กำลังเจอปัญหาแบบนี้ สมมติมีแสนครอบครัว ก็แปลว่ามีเด็กแสนคนแล้วที่กำลังมีปัญหา ถ้าในครอบครัวรู้วิธีจัดการปัญหาได้ ก็จะมีเด็กอีกแสนคนที่มีความสุขมากขึ้น แล้วพวกเขาก็จะเติบโตมาแบบมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดีมากขึ้นด้วยเหมือนกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0