โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จัดระเบียบใหม่ทรงผม 'น.ร.' ลดแรงต้านละเมิดสิทธิ

MATICHON ONLINE

อัพเดต 13 ก.ค. 2563 เวลา 08.09 น. • เผยแพร่ 13 ก.ค. 2563 เวลา 08.06 น.
ประกอบผมนร
จัดระเบียบใหม่ทรงผม ‘น.ร.’ ลดแรงต้านละเมิดสิทธิ

ส่อเค้าจะบานปลาย หลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศใช้ระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563  กระทั่งเกิดการตั้งคำถาม ว่าระเบียบใหม่นี้  ให้อิสระการไว้ทรงผมนักเรียนมากน้อยแค่ไหน ?

เพราะระเบียบใหม่ยังมีความคลุมเครือ สุดท้ายให้เป็นอำนาจของผู้บริหารในการตัดสินใจ แม้จะระบุให้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา แต่ก็ดูเหมือนไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้จากทางโรงเรียน

หลังเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม เกิดข้อร้องเรียน กรณีนักเรียนถูกลงโทษบังคับตัดผมหลายราย จน “ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว” แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มีการ “ตัดผม” ตนเอง ในแคมเปญเลิกบังคับหรือจับตัด พร้อมทั้ง ยื่นหนังสือถึง นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดศธ. เพื่อขอความชัดเจนในการบังคับใช้ระเบียบทรงผม

 เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในศธ. รับรู้เรื่องนักเรียนจำนวนมากถูกโรงเรียนบังคับตัดผม โดยไม่เป็นไปตามระเบียบใหม่ !!

กระทั่ง นายประเสริฐ ต้องส่งหนังสือซักซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ไปยังหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดศธ.เพื่อให้ปฏิบัติ และแจ้งไปยังสถานศึกษาให้ยกเลิกการบังคับใช้ระเบียบสถานศึกษาเดิม เกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2518 โดยให้ยึดหลักความเหมาะสม โดยการมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น พร้อมต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ก่อนประกาศใช้ …

ย้ำด้วยว่า กรณีการลงโทษนักเรียนตามระเบียบมีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน คือ  ตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนน และให้ทำกิจกรรมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ดังนั้นการที่โรงเรียนลงโทษนักเรียนโดยการตัดผม ถือว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แต่ถ้าการลงโทษในลักษณะนี้ เป็นข้อตกลงร่วมกันของประชาคมในโรงเรียน ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง…

แต่ก็เป็นเรื่องอีกจนได้ ล่าสุดเกิดการปะทะอารมณ์ทางโซเชียล กรณีครูรายหนึ่ง ในโรงเรียนใน จ.พิจิตร ทวิตตอบข้อความเกี่ยวกับเรื่องทรงผมนักเรียนว่า“ใครรับไม่ได้ ก็ฆ่าตัวตายไป” ทำให้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือด

อาทิ ครูในอุดมคติ : ให้เหตุผลที่ทำให้นักเรียนเข้าใจถึงสิ่งที่ทำ ครูในโลกความเป็นจริง : ไล่ไปตาย, ครูไล่นักเรียนไปตายได้ด้วยเหรอครับ, นี่ครู? หรือขยะสังคมหรอออออ?, งั้นถ้าครูรับไม่ได้ที่เด็กอยากไว้ผมยาว ครูก็ไปตายเองสิคะ เป็นต้น

มีการขุดโพสต์ย้อนหลัง ซึ่งคิดว่าเป็นของครูรายเดิม มารีทวิต ‘เปิดเทอม…ต้องเจอเด็กเห่อxxxx’  พร้อมทั้งระบุว่า ไม่แปลกใจทำไมถึงโพสต์ข้อความแบบนี้ อีกทั้ง ได้นำรูปภาพของครูคนดังกล่าวมาโพสต์ด้วย เผื่อให้คนที่ไม่รู้ว่าเป็นครูคนไหน แต่ภายหลังตรวจสอบพบว่า ทั้งทวิตทั้งสองข้อความมาจากครูคนละคนกัน

แน่นอนว่า ต้นสังกัดอย่าง*สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน* (สพฐ.) ออกโรงจี้ โรงเรียนให้ตักเตือนครูรายดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการใช้อารมณ์ส่วนตัวอย่างไม่เหมาะสม ขณะที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ต้นสังกัดสั่งตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริงแล้ว หากพบว่า มีความผิดจริง โทษถึงขั้นไล่ออก

โดยนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ย้ำว่า กรณีนี้ถือว่า ครูทำไม่เหมาะสม โรงเรียนต้นสังกัดต้องเรียกมาตักเตือน สพฐ.ย้ำมาตลอดเรื่องระเบียบทรงผม ให้เปิดกว้าง โดยรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษา ออกเป็นมติร่วมกัน

“ผมขอกำชับครูทุกคน ให้ระมัดระวังในการใช้โซเชียลอย่างมีสติ เพราะคนเป็นครู ถูกกำกับด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ จะทำ หรือจะโพสต์ข้อความอะไร ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะหากเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมแล้ว จะเกิดผลกระทบในวงกว้าง” นายอำนาจ กล่าว

ขณะที่ น.ส. ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตยเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการศธ.และปลัดศธ. ขอให้ศธ.ดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับครูที่ละเมิดสิทธิ ทำร้าย ล่วงละเมิดทางเพศ กล้อนผมเด็ก และเสนอให้ยกเลิกระเบียบทรงผมดังกล่าว

มีข้อเสนอดังนี้1. ดำเนินการทางวินัยขั้นเด็ดขาดในกรณีนี้ และในอนาคตต่อครูที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิ ทำร้ายร่างกายและจิตใจของเด็กในทุกกรณี 2. ในกรณีที่มีความผิดตามกฎหมายอาญา ให้ศธ.สามารถเป็นที่พึ่ง ด้วยการจัดการให้มีผู้ช่วยแจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินคดีตามความประสงค์ของผู้ถูกละเมิด เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป 3.ประชาสัมพันธ์สายด่วน 1579เพื่อให้นักเรียนทุกคนทราบว่ามีช่องทางที่สะดวกปลอดภัยในการร้องเรียนการละเมิดต่อกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง และ 4.ปรับปรุงระเบียบของกระทรวงในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้มีบทลงโทษต่อครูและผู้บริหารโรงเรียนที่ดำเนินการผิดระเบียบ โดยเฉพาะการลงโทษนักเรียนด้วยวิธีละเมิด เพราะโรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน

ด้านกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เสนอให้ ยกเลิกระเบียบทรงผม ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของนักเรียน  เพราะการไว้ผมสั้นหรือผมยาวไม่ได้การันตีว่า เด็กจะเรียนเก่งขึ้น ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้รับเรื่องร้องเรียน จากเด็กที่ถูกกล้อนผมมาต่อเนื่อง ดังนั้นนอกจะขอให้ยกเลิกระเบียบทรงผมดังกล่าว ขอให้มีการอออกกฎลงโทษ ผู้ที่กระทำรุนแรงกับเด็กด้วย โดยมีผู้ร่วมลงชื่อ ยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวจำนวน 58 คน  หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ทางกลุ่มซึ่งถือเป็นผู้เสียหาย จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้

หากมาคลี่ระเบียบทรงผมใหม่ ปี2563 เทียบกับปี 2518 ถือว่า ไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก

ข้อกำหนดเรื่องการไว้ผมสั้นหรือยาว ระบุไว้ใน ข้อ 4  หลักการเดียวกับระเบียบปี 2518 คือ

“นักเรียนต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผม ดังนี้ นักเรียนชายจะไว้ผมสั้น หรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาว ด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสม และมีความเรียบร้อย นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้น หรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาว ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และรวบให้เรียบร้อย”

ที่เพิ่มเติมขึ้นมาให้สอคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือ ข้อ 5 “นักเรียนต้องห้าม ดัดผม ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม ไว้หนวด หรือเครา การกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผม เป็นรูปทรงสัญลักษณ์ หรือเป็นลวดลาย”

ข้อ 6 ความในข้อ 4 และข้อ 5 มิให้นำมาใช้บังคับแก่นักเรียนที่มีเหตุผลความจำเป็นในการปฏิบัติตามหลักศาสนาของตน หรือการดำเนินกิจกรรมของสถานศึกษาให้ “หัวหน้าสถานศึกษา” เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต

ข้อ 7 ภายใต้บังคับข้อ 4 ให้สถานศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน วางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับระเบียบนี้การดำเนินการ ให้ยึดถือหลักความเหมาะสมในการพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีของนักเรียน และการมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น

ข้อ6 และข้อ 7 คือปัญหา ตรงที่ข้อ 6 กำหนด เป็นอำนาจในการพิจารณาอนุญาต และข้อ7 กำหนดการมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา และชุมชน!!

ทำให้เกิดความกังวลว่า จะมีการใช้อำนาจแฝง บังคับเด็กอีก …

นายสมพงษ์  จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มองว่า  ถือเป็นเรื่องดีที่ ศธ. ออกระเบียบทรงผมใหม่ออกมา แม้จะมีปัญหาเรื่องการตีความแต่ล่าสุดปลัดศธ.และรัฐมนตรีว่าการศธ. ได้ย้ำไปแล้วให้โรงเรียนปฏิบัติตามระเบียบใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการตีความที่คลุมเครือ

ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นการปะทะกันทางชุดความคิด ซึ่งเชื่อว่าผู้ใหญ่กว่า 90% ยังติดกับกรอบความคิดเดิม ขณะที่เด็ก มีอีกชุดความคิดหนึ่ง ในฐานะผู้ถูกกระทำ มีการลงไม้ ลงมือ ตัดผมเด็ก ทั้งที่ตามกฎหมายปัจจุบันแล้วครูไม่สามารถกระทำรุนแรงต่อเด็กได้ ทางออกที่ดีที่สุด โรงเรียนที่มีปัญหา ต้องจัดประชุมนักเรียน ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษาที่มีความเป็นกลางกำหนดกฎระเบียบร่วมกัน ส่วนเรื่องการใช้อำนาจแฝงนั้น ถึงจะมีจริงแต่ทุกวันนี้เด็กมีเครื่องมือต่อสู้แล้ว ทั้งระเบียบใหม่ที่ออกมาและสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ เป็นต้น

สุดท้ายเรื่องนี้คงต้องพบกันคนละครึ่งทาง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ตึงหรือหย่อนเกิดไปล้วนก่อให้เกิดปัญหาทั้งสิ้น ดังนั้น การถกเถียงเพื่อหาแนวปฏิบัติที่เหมาะสม ออกเป็นมติร่วมกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ….

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0