โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จริงหรือไม่ การโดนจับหน้าอกบ่อยๆ หรือกระทบแรงๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม?

THE STANDARD

อัพเดต 12 ก.ค. 2563 เวลา 12.03 น. • เผยแพร่ 12 ก.ค. 2563 เวลา 12.03 น. • thestandard.co
จริงหรือไม่ การโดนจับหน้าอกบ่อยๆ หรือกระทบแรงๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม?
จริงหรือไม่ การโดนจับหน้าอกบ่อยๆ หรือกระทบแรงๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม?

ปัจจุบันนี้มีการรายงานข้อมูลจากกระทรวงสาธารณะสุข ว่ามะเร็งเต้านมกลายเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง ฉะนั้นการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำคือทุก 3 ปี (เมื่อมีอายุ 20 ปีขึ้นไป) เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรละเลย หรือหากให้แพทย์แนะนำ ยังมีวิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองที่คุณสามารถทำได้บ่อยถึงเดือนละครั้งอีกด้วย 

 

เช่นเดียวกับสาเหตุการเกิดของโรคมะเร็งอื่นๆ โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดที่แน่ชัดได้ แต่เราสามารถบอกปัจจัยเสี่ยงได้ อย่างน้อยที่สุดเพื่อให้เราได้สังเกตพฤติกรรม และระมัดระวังลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งลงได้ 

 

สาเหตุหนึ่งที่เป็นเหมือนความเชื่อติดตัวสาวๆ หลายๆ คนคือความเชื่อที่ว่า ‘การโดนจับหน้าอกบ่อยๆ หรือหน้าอกถูกกระทบแรงๆ’ นั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ ซึ่งไม่ว่าที่มาของมันจะมาจากคำผู้ใหญ่สอนเวลาที่สาวๆ มัธยมฯ วัยหน้าอกกำลังเจริญเติบโต หยอกล้อจับหน้าอกกัน เพื่อบอกให้เธอเหล่านั้นหยุด หรือมาจากไหนก็ตาม ดูเหมือนว่าความเชื่อที่ดูคล้ายเป็นคำเตือนให้ระวังตัวนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในวงแคบ ที่แน่ๆ มันฝังหัวอยู่นานจนน่ายกขึ้นมาอธิบายหาความจริงกันเสียที  

 

คำถามฉบับนี้เราจึงอยากชวนคุยกันด้วยประเด็นที่ว่า ‘จริงหรือมั่วนิ่ม ที่ว่าหากโดนจับหน้าอกบ่อยๆ หรือแรงๆ จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม’

 

ก่อนจะเฉลยคำตอบ ขอเล่าที่มาที่ไปก่อนค่ะ

 

มีการสังเกตมานานแล้วว่าผู้หญิงที่ถูกกระทบกระแทกเต้านมแรงๆ บ่อยๆ โดยเฉพาะคนที่มีเต้านมขนาดใหญ่ จะเกิดการตายของไขมัน (Fat necrosis) ทำให้เกิดก้อนแข็งในเต้านม การตรวจเต้านมโดยเอกซเรย์พิเศษแมมโมแกรมอาจวินิจฉัยผิดว่าเป็นมะเร็งเต้านม ภายหลังพิสูจน์แล้วว่าก้อนไขมันตายเหล่านี้ไม่เป็นมะเร็ง และไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านมในภายหลัง

 

คำตอบจึงขอตอบว่า…ไม่จริงค่ะ การโดนจับหน้าอกบ่อยๆ หรือแรงๆ ไม่เกี่ยวกับการเกิดมะเร็งเต้านมค่ะ

 

มะเร็งเต้านมปัจจุบันมาแรงแซงโค้งมะเร็งปากมดลูก กลายเป็นเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบรายใหม่ประมาณ 35 คนต่อวัน และ เสียชีวิต 7 คนต่อวัน ส่วนสาเหตุของมะเร็งเต้านมก็เหมือนอีกหลายมะเร็ง คือไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ดังนี้: 

 

  • เป็นเพศหญิง โรคมะเร็งเต้านมเกิดในชายเพียงร้อยละ 1

 

  • อายุมาก หญิงทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย 1ใน 8 คนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม พบมากในอายุมากกว่า 40 ปี

 

  • เกี่ยวข้องกับการได้รับฮอร์โมนเพศหญิงระดับสูงเป็นเวลานาน จากการกินฮอร์โมน หรือจากความอ้วนด้วยไขมันในช่องท้อง สามารถสร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้

 

  • เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ชาติพันธุ์ มีแม่ พี่ ป้า น้า อา น้องสาว เป็นมะเร็งเต้านม

 

  • รูปร่างสูง หญิงที่สูงมากกว่า 175 เซนติเมตร มีโอกาสเป็น 1.2 เท่าของส่วนสูงต่ำกว่า 160 เซนติเมตร

 

  • มีประจำเดือนก่อนอายุ 13 ปี หมดประจำเดือนช้ากว่า 55 ปี ไม่มีลูก มีลูกยาก หรือมีลูกช้ากว่า 35 ปี ซึ่งทำให้เต้านมได้รับฮอร์โมนเพศหญิงโดยไม่หยุดมาเป็นเวลานาน

 

  • วิถีชีวิต ทำงานกลางคืน (พยาบาลเวรดึกมีโอกาสเป็นสูงกว่าคนทั่วไป 1.8 เท่า)

 

  • กินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี

 

  • เคยเป็นมะเร็งเต้านม หรือเคยรับรังสีรักษาโรคมะเร็งบริเวณทรวงอก 

 

สำหรับวิธีการหลีกเลี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมมีดังนี้ค่ะ

 

  • อยู่ในที่ที่ไม่มีมลพิษ ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้อ้วน

 

  • ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหารผักผลไม้หลากสี น้ำมันมะกอก (อาหารเมดิเตอร์เรเนียน) ลดอาหารไขมันสูง ไม่กินฮอร์โมนจากพืชผักสมุนไพรหรือยา นอกจากแพทย์สั่ง สำหรับน้ำเต้าหู้ถั่วเหลืองควรกินปานกลาง เชื่อว่าป้องกันมะเร็งเต้านมในคนเอเซีย ไม่ป้องกันในคนตะวันตก

 

  • แต่งงานมีลูกก่อนอายุ 35 ปี ให้นมลูกเกิน 6 เดือน

 

  • ตรวจเต้านมตนเองเดือนละครั้ง ในกรณีที่คลำพบก้อนให้พบแพทย์ทันที หากมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม ควรตรวจแมมโมแกรมก่อนอายุที่ญาติเป็น 5 ปี ตรวจติดตามตามคำแนะนำของแพทย์ หากเป็นมะเร็งเต้านม อย่าวิตก

 

  • ควรรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัด ใช้ยา และรังสีรักษามะเร็งเต้านมมีความก้าวหน้ามาก มีโอกาสหายขาดสูง

 

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • Feigelson HS, Jonas CR, Teras LR, et al. Weight gain, body mass index, hormone replacement therapy, and postmenopausal breast cancer in a large prospective study. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev 2004; 13:220.

  • Kelsey JL, Gammon MD, John EM. Reproductive factors and breast cancer. Epidemiol Rev 1993; 15:36.

  • Breast cancer and hormone replacement therapy: collaborative reanalysis of data from 51 epidemiological studies of 52,705 women with breast cancer and 108,411 women without breast cancer. Collaborative Group on Hormonal Factors in Breast Cancer. Lancet 1997; 350:1047.

  • Travis RC, Balkwill A, Fensom GK, et al. Night Shift Work and Breast Cancer Incidence: Three Prospective Studies and Meta-analysis of Published Studies. J Natl Cancer Inst 2016; 108.

  • John EM, Kelsey JL. Radiation and other environmental exposures and breast cancer. Epidemiol Rev 1993; 15:157.

  • Brennan SF, Cantwell MM, Cardwell CR, et al. Dietary patterns and breast cancer risk: a systematic review and meta-analysis. Am J Clin Nutr 2010; 91:1294.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0