โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ครม.เศรษฐกิจ ให้พรรคร่วมรัฐบาลนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่กระทบจากโควิด-19

Businesstoday

เผยแพร่ 07 ก.ค. 2563 เวลา 09.04 น. • Businesstoday
ครม.เศรษฐกิจ ให้พรรคร่วมรัฐบาลนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่กระทบจากโควิด-19

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) กล่าวว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ที่จะมาถึงในวันที่ 10 ก.ค. ที่จะถึงนี้มีความสำคัญมาก เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเราเห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปิดเมืองและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤษภาคม การส่งออกติดลบถึง 22% และถ้าไม่รวมทองคำจะติดลบถึง 29%

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมติด ลบ 20% การผลิตและการลงทุนติดลบ 10% ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่รุนแรงในรอบหลายๆ ปี

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ไขนั้นมีความจำเป็นจะต้องหารือกับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม  มีการประสานงานเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ  ซึ่งในส่วนที่พรรคพลังประชารัฐดูแลด้านเศรษฐกิจมีเพียง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง พลังงานอุตสาหกรรม และอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม แต่ประเด็นเศรษฐกิจมีกระทรวงของพรรคร่วมรัฐบาลที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ คมนาคม แรงงาน การท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงเหล่านี้เป็นองค์ประกอบใน ครม. เศรษฐกิจอยู่แล้ว หากทุกกระทรวงมาร่วมกันคิดและหาทางแก้ไข จะช่วยผลักดันดันให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง เช่น ประเด็นเรื่องโลจิสติกส์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ถ้าหากสามารถแยกได้จะช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจและการขนส่งของไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นสำคัญที่จะหารือในวันที่ 10 ก.ค. นี้ คือประเด็นเรื่องของเอสเอ็มอี ซึ่งในขณะนี้ยังมีปัญหาคือ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากมาตรการเอสเอ็มอี ที่ออกมาก่อนหน้านี้ได้ โดยในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมจะหาแนวทางว่าทำอย่างไรที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีรายเล็กซึ่งมีอยู่ประมาณ 3,000,000 รายมีเงินทุนพอเพียงที่จะเดินหน้ากิจการของตนเองต่อไป รักษาระดับการจ้างงานต่อไป

นอกจากนี้จะมีการหารือถึงประเด็นการปรับหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อผ่อนปรน (ซอฟท์โลน) ทั้งนี้มีบางกิจการที่ต้องการซอฟท์โลนมากกว่า 500 ล้านบาท  และมีการหารือประเด็นเรื่องการตั้งกองทุนเอสเอ็มอี เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีขนาดเล็กมากๆ โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อมีการปล่อยกู้แล้วจะให้เอสเอ็มอีเหล่านี้รักษาการจ้างงานต่อไป

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ล่าสุดได้หารือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งได้นำเสนอแนวทางในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีมาแล้วและจะนำมารายงานให้ที่ประชุมรับทราบ เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้จะมีการเปิดให้รัฐมนตรีที่เป็นกรรมการนำเสนอความเห็น และแนวทางในการช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะต่อไป

“ครม.เศรษฐกิจมีนายกฯซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เป็นประธานอยู่แล้ว ซึ่งการนัดประชุมครั้งนี้เพื่อให้ทุกคนมาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้าและแก้ปัญหาที่ต้องการความร่วมมือจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง”

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการประชุมในนัดถัดไปในวันที่ 24 ก.ค. จะมีการหารือถึงประเด็นการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศหายไป 40,000,000 คน จะต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือให้การท่องเที่ยวในประเทศได้รับความสะดวกและสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้  และต้องมาวางแผนร่วมกันในการที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติบางประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0