โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คนไทยจะได้ไปนอกโลกจริงไหม? คุยเรื่องเทคโนโลยีอวกาศกับ วรายุทธ เย็นบำรุง จาก mu Space

The MATTER

เผยแพร่ 13 ก.ค. 2563 เวลา 09.16 น. • Science & Tech

คิดว่าคนไทย จะได้ไปอวกาศกันปีไหน?

ภารกิจสร้างอาณานิคมใหม่บนดาวอื่น ให้มนุษย์ย้ายไปตั้งรกรากถิ่นฐาน เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงหลายปีมานี้ ทั้งยังเป็นเป้าหมายสำคัญของโครงการอวกาศต่างๆ รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศที่เริ่มเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงๆ หลังมากนี้ด้วยเช่นกัน

แต่สำหรับคนไทยแล้ว การไปอวกาศอยู่ใกล้แค่เอื้อมจริงไหม?

The MATTER ไปพูดคุยกับ วรายุทธ เย็นบำรุง CEO และผู้ก่อตั้ง mu Space สตาร์ทอัพไทยด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อพูดคุยแวดวงอวกาศในประเทศไทย และภารกิจต่างๆ ที่จะช่วยให้เรา เข้าใกล้อวกาศมากขึ้นไปอีกขั้นนึง

ที่มาที่ไปของบริษัท mu Space

mu Space เริ่มมาจะครบ 3 ปีแล้ว ตอนเริ่มมาเป้าหมายแรกๆ ของเราคือ ต้องการที่จะสร้างตัวอาณานิคมในดวงจันทร์ ในปี ค.ศ. 2028 ซึ่งเราเคยประกาศเรื่องแผนระยะยาวไปแล้ว ตอนนั้นวางแผนอยู่ที่ระยะ 10 ปี ตอนนี้เหลือประมาณ 7-8 ปี ถือเป็นเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ แล้วก็เริ่มดำเนินการมาเรื่อยๆ ตอนนั้นมีทีมงานที่ตามมาจากทีมเดิมด้วย เริ่มจากกลุ่มคนเล็กๆ ตอนแรกก็มี 6 คน แล้วค่อยๆ เติบโตมาเรื่อยๆ

ทำไมถึงสนใจมาทำงานในด้านนี้

ตั้งแต่เด็กๆ ครอบครัวสนใจเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว เริ่มจากสนใจด้านการบินก่อน แล้วก็ด้านอวกาศ คุณพ่อก็มีส่วนเสริมเยอะ แล้วเราก็ชอบไปด้วย ก็เหมือนทุกคนครับ ตอนเด็กๆ อยากเป็นนักบิน ขับเครื่องบินรบ ทหารอากาศ แล้วพอได้ไปเรียนที่ประเทศนิวซีแลนด์ก่อนก็เริ่มได้ลงลึกกับเรื่องวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์มากขึ้น

จากนั้น ผมก็ไปอยู่ที่สหรัฐฯ ซึ่งอุตสาหกรรมอวกาศที่นั่นค่อนข้างใหญ่หน่อย ตอนนั้น SpaceX เพิ่งเริ่มก่อตั้ง เลยได้ทำงานในโครงการทูตอวกาศ อยู่บริษัท Northrop Grumman ซึ่งถือว่ามีความถนัดเฉพาะในด้านนี้มาก่อนที่จะกลับมาเริ่มตั้งบริษัทในไทย

พอกลับมาตั้งบริษัทในไทย เจอความยากง่ายยังไงบ้าง

ถ้าในไทย ช่วงแรกๆ ก็ลองหลายอย่างเหมือนกัน เป็นที่ปรึกษาของบริษัทด้วย แล้วเคยทำงานในองค์กร team project มาก่อน แต่จริงๆ แพสชั่นก็อยากทำเรื่องอะไรที่เรื่องเกี่ยวข้องกับอวกาศ หรือเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง เราก็ต้องเริ่มจากการรวมทีมต่างๆ ช่วงแรกทีมจะยากมาก แล้ว mu Space เราก็วางโครงสร้างตั้งแต่วันแรกเลยว่ามันเป็นโครงสร้างของระดับโลก มีมิชชั่นว่าถ้าเราอยากไปดวงจันทร์เราต้องวางแผน แล้วก็ต้องเริ่มทำจริง แล้วก็ลองผิดลองถูกกันไป

เห็นว่าจะส่งวัตถุขึ้นไปกับ Blue origin บริษัทด้านอวกาศในสหรัฐฯ ด้วย ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง?

กับ Blue origin เราทำเรื่องประมาณ 3 ครั้ง เราก็ส่งไปแล้ว 3 ครั้ง จากตอนแรกก็เป็นง่ายๆ เลย เป็นงานทางด้านแบบพวกการตลาดไปก่อน แล้วก็เริ่มใส่อะไรที่มันเกี่ยวข้องกับทางวิทยาศาสตร์ และด้านวิศวกรรม ส่วนอันล่าสุดก็เป็นเรื่องของ environmental censors ซึ่งก็คือตัวอุปกรณ์วัดค่าต่างๆ

แต่การจะส่งอะไรไปในอวกาศมี requirement ที่แตกต่างจากการแพ็คของทั่วไป นอกจากนี้ ก็จะมีมาอีกครั้งนึง ซึ่งจะเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุด เป็นของหนักประมาณ 10 กว่ากิโลกรัมได้

ตัววัตถุเหล่านั้น เอาไปทำอะไรได้บ้าง?

รอบนี้จะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสำคัญกับการใช้ในเรื่องสื่อสารในอวกาศ แล้วก็ช่วยในเรื่องการสร้างยานอวกาศขึ้นมาในอนาคต คือการที่เราใส่ของที่มีน้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม เป้าหมายคือการพัฒนาส่วนประกอบของอุปกรณ์ ส่วนที่เหลือเราก็เปิดโอกาสให้กับนักศึกษา คนทั่วๆ ไป และเหล่าศิลปินให้มาเข้าร่วมส่งของไปอวกาศกับเราได้

การที่บริษัทไทยได้ไปร่วมงานกับบริษัทใหญ่อย่างนี้ มีความท้าทายอะไรไหม กว่าจะไปถึงตรงนั้นได้

มีความท้าทายมาตั้งแต่ตอนแรกเลย อย่างถ้าเราพูดถึงการทำงานของ Blue Origin บริษัทใหญ่ เป็นของ เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) จะมีความท้าทายของเรื่องทรัพยากรในช่วงแรกๆ ด้วย คือเราจะรู้สึกว่าทรัพยากรเรามีอยู่จำกัดเสมอ แม้ว่าบริษัทจะโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม

พอบริษัทใหญ่ๆ เข้ามาทำงานกับเรา ก็จะมีความท้าทายในเรื่องของทรัพยากรที่จำกัดในช่วงแรก แต่เพราะแต่ละคนมีแพสชั่น เลยรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดี ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ทำมาด้วยกันหลายครั้ง พบว่า ข้อดีคือ พอทีมเล็กก็มีความยืดหยุ่นในการตอบโต้อะไรก็ตามได้สูงมาก ผมคิดว่าถ้าอนาคต mu Space มีวิศวกรเป็นพันคน หมื่นคน ผมก็ยังอยากให้บริษัทยังคงเป็นเหมือนบริษัทเล็กๆ เพื่อให้มันไม่มีอะไรที่เสียประโยชน์โดยใช่เหตุ ซึ่งนี่ถือเป็นความท้าทายของบริษัทใหญ่ด้วย

โปรเจ็คที่ NASA กับ SpaceX ร่วมกันปล่อยขึ้นไป คิดว่ามันเป็นแรงกระตุ้นในแวดวงอวกาศบ้างมั้ย

เป็นแรงกระตุ้นอย่างมากเลย เราทราบว่าเขาจะส่งนักบินอวกาศขึ้นไป แล้วพอเกิดขึ้น มันเป็นแรงกระตุ้นให้รู้สึกว่า เราจะได้ทำอะไรที่คล้ายๆ กันแบบนี้หรอ ซึ่งถ้าในระยะยาว ต้องมีเรื่องของมนุษย์ มีเรื่อง health monitoring ซึ่งเป็นเรื่องของการตรวจจับสภาพของมนุษย์ ตอนเดินทางไปยังอวกาศด้วย เรียกว่า เป็นแรงกระตุ้นอย่างมากเลย

หลังจากนั้น มีคนถามอยู่ตลอดว่าเป็นยังไงบ้าง คิดว่าคงจะตื่นเต้นกันสักพักหนึ่ง แล้วเดี๋ยวก็จะมีเรื่องใหม่ๆ เข้ามา กระแสอาจจะดร็อปลงไป เราเลยอยากให้ช่วยกันสร้างโมเมนตัม เพราะว่าพอทำเข้าไปทำงานจริงๆ แล้ว มันจะยากมาก มันจะเจอข้อจำกัดเรื่องของเงินทุน เรื่องของระยะเวลา และทรัพยากรต่างๆ ส่วนใหญ่พอเราเจอเรื่องปัญหา เราคิดว่า นี่เป็นจุดที่ต้องช่วยกระตุ้นเพิ่มกันอีก

มันเป็นเหมือนกระแสที่เกิดขึ้น ในช่วงที่แข่งกันขึ้นไปบนดวงจันทร์ในอดีตไหม?

ก็เป็นอย่างนั้นนะ แต่ก่อนมันเป็นการแข่ง space race ระหว่างรัสเซีย ซึ่งตอนนั้นยังเป็นโซเวียตยูเนี่ยนอยู่ กับสหรัฐอเมริกา หรือพูดง่ายๆ คือ NASA กับ USSR โครงการอวกาศของโซเวียตนั่นแหละ ตอนนี้ NASA เปิดเป็นคอมเมอร์เชียล ก็เป็นการแข่งกันระหว่าง SpaceX ที่แข่งกับ Blue Origin ขณะที่ ของไทยเราก็เหมือนมีคู่แข่งด้านนู้นด้านนี้เพิ่มขึ้น ผมว่าการมีคู่แข่งเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะมันทำให้เราได้ฝึกฝนศักยภาพเพิ่มด้วย

แต่ก่อนการพูดถึงไปอวกาศ ดูเป็นเรื่องสำหรับภาครัฐ แต่ตอนนี้บริษัทเอกชนก็เริ่มมาทำกันเองมากขึ้น คิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้บ้าง?

แต่ก่อนรัฐเขาใช้เงินจากภาษี ซึ่งจะเป็นที่ถกเถียงกันเสมอ อย่างตอนที่ NASA หยุดส่งนักบินอวกาศขึ้นไปสถานีอวกาศ เพราะว่าเขาดูราคาต่อหนึ่งคนที่ทำมิชชัน แล้วพบว่า ราคาแพงมาก แต่ก็ต้องมีครั้งแรกให้ได้ โดยรัฐสนับสนุนในการส่งขึ้นไปครั้งแรก เลยทำสำเร็จ มาตอนนี้ เป้าหมายของ NASA คือการส่งต่อองค์ความรู้เปิดให้เอกชนเข้ามาทำให้ได้ในราคาที่ลดลงมาอย่างมหาศาล น่าจะเกินสิบเท่าตัวเลยก็ได้ ถือเป็นเรื่องดีมากที่เอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการนี้

แล้วพอการเดินทางไปอวกาศมันเริ่มจับต้องได้มากขึ้นสำหรับคนทั่วไป มองเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านไหนอีกไหม?

มันจะง่ายมากขึ้น พอคนขึ้นไปในอวกาศเรื่อยๆ ตอนนี้เรามีนักบินอวกาศน่าจะประมาณห้าร้อยกว่าคน ถ้าสมมติว่ามีคนเริ่มเดินทางไปเรื่อยๆ คนสักพันคน หมื่นคน ล้านคน กระแสมันก็จะจับต้องได้มากขึ้น มันเหมือนการเดินทางในเครื่องบิน ตอนเด็กผมก็ไม่ค่อยได้บิน ผมบินครั้งแรกประมาณอายุ 11-12 ปี ก็ยังรู้สึกใหม่ รู้สึกแปลกตามาก ก็แบบเดียวกัน แต่ตอนนี้ ผมโทรบอกให้ออฟฟิศจองตั๋ว เที่ยงบินเลย ก็ทำได้ มันเหมือนกับว่า เริ่มจับต้องได้มากขึ้น

ต่อจากนี้ จะมีจำนวนคนที่เคยขึ้นอวกาศไปเยอะขึ้น แล้วก็เหมือนมาบอกเล่าให้ฟังว่ามันเป็นยังไง ซึ่งก็คิดว่า ในอีก 10 ปี มันคงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงตอนนั้น อาจจะมีคนที่เคยขึ้นไปเป็นแสนเป็นล้านคนก็ได้ อาจจะไม่ได้ไปดวงจันทร์ แต่อย่างน้อยได้ออกไปนอกโลกแล้วเนี่ยแหละ เดาๆ ว่าน่าจะประมาณแสนถึงหนึ่งล้านคนโดยประมาณ

ถ้าขึ้นยานอวกาศของ เจฟฟ์ เบโซส์ ผมคิดว่าเกินล้านคน อย่างโครงการ Dragon ของ SpaceX มี 7 ครั้ง ครั้งต่อไปก็มีเรื่องของ project alchemist ที่ NASA จะส่งนักบินอวกาศ โดยคราวนี้เขาใช้คำว่า 'first woman' ผู้หญิงคนแรกไปด้วย ซึ่งในปี ค.ศ.2024 หรือก็คือเร็วๆ นี้ เราจะได้เห็นภาพตอนที่ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) ลงดวงจันทร์อีกครั้งหนึ่ง ถือเป็นอะไรที่น่าสนใจ และน่าตื่นเต้นมากๆ

ตอนนี้ การขับเคลื่อนเรื่องอวกาศในไทยเป็นยังไงบ้าง?

ผมคุยกับ Blue Origin มาเหมือนกันว่า จริงๆ อยากส่งคอมเมอเชียลพวกเราขึ้นไปตรวจสอบเอง ซึ่งก็คงต้องเกิดขึ้น ในของฝั่ง mu Space เอง มีภารกิจที่ทำชุดสำหรับอวกาศขึ้นมา ซึ่งตอนนี้มันอาจจะยังไม่ซีเรียสมาก เพราะทรัพยากรที่เราต้องใช้ มันก็มีจำกัด ตอนนี้เรามาโฟกัสเรื่องของยานอวกาศ กับการพัฒนาพวกดาวเทียม และระบบพวก AI กับ Machine learning ก็ต้องใช้ทรัพยากรตรงนั้นก่อน ขณะเดียวกัน ตัวเรื่องชุดสูทอวกาศก็ยังพัฒนาไปเรื่อยๆ

ผมว่าเราก็คงช่วยสองอย่าง ช่วยภาครัฐ ถ้าทำมิชชั่นภาครัฐได้ ก็คือช่วยในการทำมิชชั่นในกับนักบินอวกาศไทยคนแรก อันนี้ผมพูดถึง 'real astronaut' คนแรก หรือที่เป็น 'private commercial' นะ ซึ่งเราคิดไว้ว่าอีกประมาณ 2 ปี น่าจะออกไปนอกโลกได้ อีกไม่ไกล เราต้องคอยเช็คและถามเรื่อยๆ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ยานของเราเอง แต่ก็ถือว่าได้ขึ้นไป และคงได้ไปทำการทดลองต่างๆ ด้วย แต่ถ้าเป็นยานเราเอง ผมว่าน่าจะอีกประมาณสัก 6-7 ปี

เป็นการทดลองที่จะช่วยในเรื่องของการเดินทางไปในอวกาศให้ง่ายขึ้น?

ใช่ครับ คือทุกอย่างที่เราเรียนรู้ อย่างถ้าเราเดินทางไปในอวกาศ สำหรับมนุษย์แล้วเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องออกซิเจน นี่สำคัญที่สุดเลย เรื่องของอุณหภูมิ ความดันต่างๆ ถ้าไม่มีมีสิ่งเหล่านี้มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ อะไรก็ตามที่เราเรียนรู้ในการสร้างสภาพแวดล้อมให้มนุษย์อยู่ได้

นอกจากนี้ อาจจะมีโปรเจคกับ NASA เรื่องเกี่ยวข้องกับการตรวจจับพวกแบคทีเรียที่จะเกิดขึ้น เพราะตอนนี้มันทำให้คนป่วย คนไม่สบายบนอวกาศได้ และเรื่องของตัวอากาศด้วย ซึ่งเราเริ่มคิดถึงเรื่องของเสื้อผ้าที่ต้องใช้ในอวกาศกันแล้ว

คือทุกๆ อย่างมันพัฒนาเหมือนกันหมด ภารกิจมี 2 อย่าง คือ การเดินทางแบบมีคนเดินทางไปด้วย หรืออีกแบบคือไม่มีคนไปด้วย แบบมีคนก็จะต้องเพิ่มเรื่องของ life support system มาอย่างหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่ามนุษย์จะสามารถดำรงชีพในอวกาศได้

หลังจากภารกิจของ NASA กับ SpaceX ที่ผ่านมา แวดวงอวกาศในไทยเป็นยังไงบ้าง?

ตื่นตัวขึ้นเรื่อยๆ มีหน่วยงานในไทย มีภาครัฐที่เริ่มเข้ามาคุย เริ่มมีการวางมีมิชชั่นที่ไกลมากขึ้น เป็นสิ่งเดียวที่เราอยากให้ช่วยๆ กัน บางครั้ง มันอาจจะเชื่อมโยงกับการที่เราได้เห็นต่างชาติ หรือกระแสของสื่อด้วย เลยเห็นความสนใจมากขึ้น ยิ่งพอได้เห็น ‘มนุษย์’ เดินทางออกไปอวกาศ ก็จะเริ่มใกล้ชิดตัวเรามากขึ้น พอใกล้ชิดมากขึ้น ก็ดูมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นได้จริงๆ

นอกจากนี้ หน่วยงานที่ต้องดีลกับพวกอวกาศโดยตรง เขาตื่นตัวอยู่แล้ว แต่มีที่เราจับตาดูกันว่า ยังมีใครอีกบ้างที่มีแผนการ มีแพชชั่น หรือคนที่ได้ลงมือทำอะไรไปแล้ว เพราะทำจริงมันจะยากกว่าที่แบบคิดว่าจะทำ อยากให้มานั่งคุยกัน คิดว่าจะมีอยู่แต่ยังไม่ได้เปิดตัวมา เรื่องความยากของอวกาศตรงนี้แหละ ที่เป็นจุดที่ปิดกั้นไม่ให้มีตัวส่วนของใหม่ๆ บริษัทใหม่ๆ ที่ทำงานด้านนี้เกิดขึ้น

ตอนนี้มีการช่วยเหลืออะไรจากภาครัฐบ้างไหม?

การช่วยภาครัฐในไทยยังไม่เยอะ เพราะอาจจะมีภาคการเมืองมาเกี่ยวข้องด้วยว่า นักการเมืองเข้ามาอยู่ในระยะสั้นๆ ไม่ได้มีอะไรที่จับต้องได้ เพราะจริงๆ แล้ว การทำเรื่องอวกาศมันไปเชื่อมโยงกับเรื่องของความมั่นคงอยู่เหมือนกัน ก็มีการพูดคุยกันอยู่ เราได้ไปให้แนวคิดกับภาครัฐ ขอเข้าไปคุยกับรัฐสภา ทางทีมงานกับผมก็ไปพูดคุยอยู่ หวังว่าจะมีประโยชน์บ้าง ผมแนะนำไปว่าที่รัฐควรจะทำอะไรบ้าง เขาก็จะมองว่า งั้นต้องออกกฎหมาย ที่ทำให้เกิดการจ้างงาน แล้วพอมีการจ้างงาน ก็จะกลายเป็นวงจรในการพัฒนาเรื่อง productivity level ต่างๆ ก็แนะนำอย่างนั้น

ถ้าจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ เราก็บอกรัฐบาลว่าอาจจะต้องช่วยธุรกิจสตาร์ทอัพด้วย ให้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาซัพพอร์ท ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐต้องให้ พร้อมๆ ไปกับการให้กฎหมายที่รีแลกซ์

ต้องเกี่ยวโยงไปกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วยไหม?

ผมว่าในเรื่องของนโยบาย มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เรื่องของคน เรื่องของแต่ละประเทศ เรื่องที่จะเชื่อมโยงกับใคร ถ้าเขาได้ผลประโยชน์ เขาก็อยากจะเข้าร่วมอยู่แล้ว อันนั้นเป็นกระบวนการที่อยู่ระหว่างทาง จุดสำคัญตอนนี้ เป็นเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ การเกิดการจ้างงาน เกิดนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็การใช้ทรัพยากรที่ถูกจุดอะไรต่างๆ นี่แหละ

คิดว่าเป้าหมายของการสำรวจอวกาศหลักๆ คืออะไร ทำไมถึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรา

ผมเชื่อว่าของทรัพยากรในโลกเริ่มลงลงเรื่อยๆ แล้ว ซึ่งตอนนี้การที่ทรัพยากรลดลงกับคน 6 พันล้านคน เติบโตได้แค่ในบนโลก เพราะว่าการไปใช้ชีวิตนอกโลกยังเป็นเรื่องยาก

พอถามว่าทำไมต้องออกไปสำรวจนอกโลก ต้องตอบว่า เพราะนอกโลกมันมีทรัพยากร มีแร่ธาตุอื่นๆ อยู่ อย่างดวงจันทร์ก็มีขนาดถึง 1 ใน 8 ของโลกเลย ก็จะมีพวกทรัพยากรต่างๆ ที่มนุษย์สามารถได้ประโยชน์จากดวงดาวเหล่านี้ได้ เลยเป็นที่มาว่า ในเมื่อไม่มีสถานที่ใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะเราอยู่บนโลก ซึ่งแผ่นดินต่างๆ เขาก็เจอกันหมดแล้ว ด้วยระบบจีพีเอส ภาพถ่ายทางอากาศ ดังนั้น การออกไปข้างนอก ก็มีความเป็นไปได้ และเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนรุ่นหลัง คนในเจนเนอเรชั่นต่อไป

ผมว่า การใช้ชีวิตของคนรุ่นหลังๆ จากนี้ไป น่าจะเป็นแบบ 'multi-planet' คืออย่างน้อยมีดวงจันทร์เป็นฐาน มีอาณานิคมบนดาวอังคาร แล้วมนุษย์จะสามารถขยายเผ่าพันธุ์ของเราไปอยู่ที่ดาวอังคารได้ แล้วอาจจะมีเด็กที่เกิดมาอยู่บนดวงจันทร์กับดาวอังคารคนแรก เหมือนที่เราเห็นกันในภาพยนตร์ ถ้าเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นแล้ว แสดงว่าเราได้เดินทางไปไกลแล้ว เหมือนกับตอนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) เจออเมริกา คนก็ย้ายจากยุโรปไปอยู่อเมริกา หรือตอนที่ เจมส์ คุก (James Cook) เจอทวีปออสเตรเลีย ก็ย้ายคนไปอยู่ที่นั่น เป็นแนวคิดแบบเดียวกัน

แต่หลายคนมองก็ว่า อวกาศเป็นเรื่องไกลตัว ทำยังไงให้ใกล้ตัวได้บ้าง?

มนุษย์เราชอบเดินทางชอบค้นหา เราอยากไปสถานที่ใหม่ๆ อย่างตอนเราอยากไปไหน เช่น ไปเที่ยว อยากไปเกาะ ถ้าเราไม่เคยได้ไป เราจะรู้สึกว่า เรื่องนี้มันน่าตื่นเต้นมากๆ พอคนที่อยู่ข้างๆ ไปมา เราก็จะตื่นเต้นขึ้นมา แล้วถ้าเราได้ไปมาแล้ว ก็จะมาบอกเล่าเรื่องให้คนอื่นต่อไปได้อย่างดี

ถ้าสนใจ แล้วอยากให้มันใกล้ตัวมากขึ้น ต้องลองทำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ คือต้องหากิจกรรม หรือวิธีการอะไรที่มันจะเกี่ยวข้องกับอวกาศกับด้านการบิน ก็จะทำให้เราขยับไปใกล้อวกาศมากขึ้น หรือถ้าเกิดการไปอวกาศ ยังไกลตัวไป ก็ลองมาดูเรื่องที่รองลงมาจากอวกาศ อย่างเรื่องการบิน หรือถ้ารองลงมาจากเรื่องการบิน ก็จะเป็นพวกเครื่องยนตร์ เรื่องรถยนต์ ซึ่งเริ่มใกล้ตัวเข้ามาแล้ว ก็เป็นสเต็ปที่ลดลงมา แต่ใกล้เคียงกับเรื่องของอวกาศมากขึ้น

คิดว่าคนไทยจะมีโอกาสไปดาวดวงอื่นเร็วๆ นี้ไหม

น่าจะเป็น ปี ค.ศ.2028 ตอนนั้นอาจจะเป็นยานของบริษัทอื่น โดยที่มีอุปกรณ์ของ mu Space ช่วยพยุง ช่วยอะไรต่างๆ ไว้ แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น อาจจะเป็นยานของเราเอง ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้เหมือนกัน

คิดว่าจะได้ไปเร็วสุด ต้องเกิดผ่านเราเนี่ยแหละ ซักปี ค.ศ.2027-2028 หรืออาจจะเร่งเร็วขึ้นอีกได้ ถ้ารัฐบาลเข้ามาร่วมด้วย แต่ถ้าเกิดยังไม่ร่วมด้วย เราคงต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรต่อไป บางทีอาจจะเป็นความช่วยเหลือจากต่างประเทศไปเลยก็ได้ แต่ผมก็ไม่ได้แยกเป็นว่าประเทศไหน เป็นประเทศไหนนะ ถ้าเกิดว่า mu Space สามารถช่วยคนไทยได้ไปก่อน ผมยินดีเต็มที่เลย แล้วก็อยากทำให้เกิดขึ้นได้ ภายในปี ค.ศ.2028

คิดว่า สิ่งมีชีวิตนอกโลกมีอยู่จริงมั้ย ถ้ามีจริง จะเป็นแบบไหน?

ผมว่ามีนะ ถ้าเรื่องของสภาพแวดล้อมต้องมีแน่นอน อย่างที่เขาพยายามสืบหาดูว่ามีแบคทีเรีย มีน้ำไหม ถ้ามีน้ำ มีชั้นบรรยากาศ มีออกซิเจน มีแร่ธาตุที่ประทังชีวิตได้ มีวิตามินเข้าร่างกาย มันก็จะมี life-form เกิดขึ้น บางทีอาจจะไม่ได้มีหน้าตาเหมือนคน ผมว่า นี่เป็นสิ่งที่โครงการอวกาศต่างๆ พวก space deep exploration เขาพยายามตามหาอยู่ เราจะเห็นข่าวแนวนี้ตลอดเวลาว่า พบ sign planet ที่คล้ายๆ กับโลก เขาก็จะดูว่ามันมีชั้นบรรยากาศรึเปล่า

ผมว่ามีแหละ อาจจะไม่ได้อยู่ในระบบสุริยะ อยู่ในกาแล็กซีอื่น คิดว่ามีแน่นอน แต่อาจจะไม่ได้อยู่ใกล้กับเรามากนัก

Photo by Asadawut Boonlitsak

Cover by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0