โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

การปรับปรุงดินลูกรังให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช

รักบ้านเกิด

อัพเดต 14 ก.ค. 2563 เวลา 07.37 น. • เผยแพร่ 14 ก.ค. 2563 เวลา 07.37 น. • รักบ้านเกิด.คอม

ดินลูกรังหรือดินปนกรวด หมายถึง ดินที่พบชั้นลูกรัง ชั้นกรวด ชั้นเศษหิน หรือชั้นหินพื้นในระดับตื้นกว่า 50 ซม. จากผิวดิน ดินลูกรังเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

Plant/648_1_648_1.jpg
Plant/648_1_648_1.jpg

วิธีการสังเกตพื้นที่ดินลูกรังหรือดินปนกรวด :
1.โดยการขุดเจาะดินในความลึก 50 ซม. พบเศษหินกรวด หินมนเล็กมากกว่า 35 % ของเนื้อดินโดยปริมาณ
2.เนื้อดินบนเป็นดินทรายปนดินร่วนถึงดินร่วนปนทราย อาจพบกรวด หินมนเล็ก หรือเศษหินปะปน
พื้นที่ที่จะพบดินลูกรัง :
มีอยู่เกือบทุกภาคของประเทศยกเว้นในเขตฝนตกชุกทางภาคใต้มีพื้นที่ประมาณ 6.6 ล้านไร่ ชุดดินที่พบได้แก่ ชุดดินท่ายาง ชุดดินแม่ริม ชุดดินพะเยา ชุดดินน้ำชุน ชุดดินนาเฉลียง และดินคล้ายชุดดินดังกล่าว
ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร :
ปัญหาที่สำคัญ คือเป็นดินตื้นที่มีกรวด หินมนเล็กหรือเศษหินปะปนกันอยู่มาก ทำให้ดินมีปริมาณเนื้อดินน้อยลงมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ นอกจากนี้ลักษณะของดินเป็นอุปสรรคต่อการไถพรวน หน้าดินถูกชะล้างพังทลายได้ง่าย ดินมีความสมบูรณ์ต่ำ และการจัดระบบชลประทานมีความเป็นไปได้น้อยเนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่อำนวย
แนวทางการแก้ไขและใช้ประโยชน์ที่ดินลูกรัง :
1.ใช้ปลูกพืชไร่
ดินลูกรังสามารถปลูกพืชไร่ได้หลายชนิด เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวไร่ ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วพุ่ม และพืชรากตื้นอื่นๆ โดยที่ดินต้องมีหน้าดินหนาประมาณ 20ซม.ขึ้นไป และเป็นดินที่มีการระบายน้ำดีหรือดีปานกลาง คือไม่อยู่ในสภาพน้ำขังแช่นานในช่วงฤดูฝน การบำรุงรักษาควรเน้นด้านความอุดมสมบูรณ์และการรักษาความชื้นในดิน
1.1. การปลูกถั่วเขียว ข้าวไร่ ในระหว่างแถวอของแคฝรั่ง ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วยืนต้น เจริญเติบโตได้เร็วและขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ยกเว้นที่มีน้ำขัง ให้น้ำหนักพืชสดสูงหลังจากหว่านถั่วเขียวและข้าวโดยไม่มีการไถพรวน ทำการตัดต้นแคฝรั่งคลุมดินในอัตรา 4-6 ตัน/ไร่ เพียงครั้งเดียว ถั่วเขียวและข้าวสามารถงอกเจริญเติบโตให้ผลผลิตได้โดยไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชวิธีดังกล่าวสามารถจัดเข้าในระบบการทำฟาร์ม
1.2. การปลูกพันธุ์ไม้พุ่มตระกูลถั่วบำรุงดิน เป็นแถบขวางความลาดเทของพื้นที่ ได้มีการทดลองปลูกพืช 7 ชนิด คือ กระถินยักษ์ ถั่วมะแฮะ แคบ้าน ขี้เหล็กบ้าน กระถินณรงค์ ขี้เหล็กอเมริกัน ระยะระหว่างแถว 50 ซม.ระหว่างต้น 50 ซม. เมื่อต้นสูง 1 เมตร ตัดแต่งกิ่งให้เหลือความสูง 50 ซม.กิ่งที่ตัดแต่งใช้คลุมดินระหว่างแถวในช่วงฤดูแล้วไม่มีการตัดแต่งกิ่งจนกว่าถึงฤดูฝน พบว่าขี้เหล็กอเมริกันและแคฝรั่งมีแนวโน้มที่จะใช้ได้ผลดี เนื่องจากมีการเจริญเติบโตเร็ว ทรงพุ่มเตี้ยทำให้ไม่รบกวนพืชหลัก มีใบและกิ่งก้านมากจึงคลุมดินได้ดี นอกจากนั้นปริมาณซากที่ตัดได้เพื่อใช้คลุมดินบำรุงดินสูงสามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี การปลูกไม้พุ่มนี้ใช้ต้นกล้าปลูก ดังนั้นในระยะแรกควรปลูกร่วมกับถั่วมะแฮะ เนื่องจากถั่วมะแฮะที่หว่านด้วยเมล็ดจะเจริญเติบโตเร็วในระยะแรก หลักจากถั่วมะแฮะตายไปในระยะประมาณ 3 ปี ไม้พุ่มเหล่านี้จะเจริญเติบโตเต็มที่ มีต้นติดกันเมื่อปลูกข้าวไร่ สามารถเก็บผลผลิตของข้าวไร่ได้
2. ใช้ปลูกไม้ยืนต้นและผลไม้บางชนิด โดยมีการจัดการที่เหมาะสม
การใช้ประโยชน์ในการปลูกไม้ยืนต้นประเภทไม้โตเร็ว โดยเฉพาะดินลูกรังที่มีชั้นลูกรังไม่จับกันแน่นนัก ไม้ยืนต้นที่ควรพิจารณา ได้แก่ ยูคาลิปตัส กระถินต่างๆ นุ่น สะเดา ขี้เหล็กบ้าน มะม่วงหิมพานต์ มะม่วง มะขาม น้อยหน่า มะขาวเทศ พุทรา และไผ่ สำหรับดินลูกรังที่พบในบริเวณที่มีฝนตกชุกตั้งแต่ประมาณ 1,400 มิลลิเมตร/ปี ขึ้นไป สามารถใช้ปลูกยางพาราได้โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านเหนือ และด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการปลูกไม้ยืนต้น คือ ขุดหลุมปลูกขนาด 75x75x75 ซม.ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยหน้าดินร่วมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 25-50 กก./หลุม มีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ตามความเหมาะสมของพื้นที่เช่น การสร้างคันดิน ทำขั้นบันไดดิน ทำฐานปลูกเฉพาะต้น ปลูกพืชคลุมดิน ทำแนวรั้วหรือทำฐานเฉพาะต้นหญ้าแฝกในช่วงเจริญเติบโตก่อนเก็บผลผลิตและภายหลังเก็บผลผลิต ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำตามชนิดพืชที่ปลูก พัฒนาแหล่งน้ำและจัดการระบบการให้น้ำในแปลงปลูก
3.ใช้ทำเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์
การปรับปรุงทุ่งหญ้าสามารถทำได้ ถ้ามีการนำพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงเข้ามาปลูกในพื้นที่เหล่านั้น โดยเฉพาะดินลูกรังที่มีหน้าดินหนาเกิน 15 ซม.ขึ้นไป และพบในที่ดอนนับว่าเป็นการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับศักยภาพของดินประเภทนี้ และนอกจากนี้ดินลูกรังมักมีชั้นดินเหนียวอยู่ตอนล่างสามารถเก็บกักน้ำได้ดี จึงเหมาะสมที่จะพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการปศุสัตว์ได้อีกด้วย
การศึกษาผลผลิตของถั่วเวอราโน สไตโล ที่ปลูกร่วมกับหญ้าโรดในอัตราส่วนต่างๆกัน ในเขตอาศัยน้ำฝนและดินลูกรัง พบว่า การทำทุ่งหญ้า ถั่วผสม โดยใช้อัตราส่วนถั่ว : หญ้า = 1:3 และให้ปุ๋ยไนโตรเจน 3 กก./ไร่ โดยมีปุ๋ยฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมเป็นปุ๋ยรองพื้นอย่างละ 15 กิโลกรัมต่อไร่ จะให้ผลดีที่สุดเมื่อพิจารณาถึงผลผลิตและส่วนประกอบทางเคมี
4.ใช้ในการทำนา
สำหรับดินลูกรังที่ใช้ประโยชน์ในการทำนา พบในพื้นที่ราบเรียบและที่ราบต่ำ มีหน้าดินหนาประมาณ 15 ซม.และเป็นดินที่มีการระบายน้ำเลว ดินลูกรังประเภทนี้ไม่เหมาะที่จะใช้ประโยชน์อย่างอื่น เพราะในช่วงฤดูฝนน้ำจะขังแฉะเป็นระยะเวลานาน ยากที่จะระบายน้ำออก กาใช้ปลูกข้าวนับว่าเหมาะสมที่สุด ถ้าได้มีการใช้ปุ๋ยช่วยปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว ข้าวที่ปลูกจะให้ผลผลิตคุ้มค่าต่อการลงทุน
ดินลูกรัง หรือดินตื้น มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำเป็นดินกรด มีชั้นดินกรวดลูกรัง เป็นอุปสรรคต่อรากพืช ดินไม่อุ้มน้ำ ทำให้ขาดความชุ่มชื้นการใช้ประโยชน์ดินลูกรังขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อมและระดับการจัดการเกษตรกรรมต้องลงทุนต่ำ เกษตรกรรมถาวรและเกษตรผสมผสานจะเป็นแนวทางของการจัดการ นอกจากนี้การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร จำเป็นต้องมีการใช้เทคโนโลยีหรือมีการจัดการดินและพืชทีเหมาะสมด้วยได้แก่ ชลประทาน การปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของดิน การักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน การใช้ปุ๋ยในรูปที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ในการพัฒนา ดินลูกรัง มาใช้ในการเพาะปลูก พืชหลายอย่าง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0