โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

การทดลองในสัตว์ ไม่ทำได้ไหม? อะไรคือทางออก?

The101.world

เผยแพร่ 08 ก.ค. 2563 เวลา 16.54 น. • The 101 World
การทดลองในสัตว์ ไม่ทำได้ไหม? อะไรคือทางออก?

ลลิตตา สุริยาอรุณโรจน์[1] เรื่อง

ธนภรณ์ สร้อยภู่ระย้า ภาพประกอบ

 

ในสถานการณ์ที่มนุษย์ทั้งโลกหลายพันล้านคนลงเรือลำเดียวกัน ฝ่าฟันวิกฤตไวรัสโคโรนา นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อดูแลผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม นักวิจัยในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วโลกก็ร่วมกันศึกษาค้นคว้ากันอย่างคร่ำเคร่งแข่งกับเวลาเพื่อหาวัคซีนและยารักษา เพื่อยุติหรืออย่างน้อยก็เพื่อบรรเทาโรคระบาดครั้งนี้

ไม่บ่อยครั้งนักที่บรรยากาศการทำงานและแลกเปลี่ยนทางวิชาการอย่างเข้มข้นจะเกิดขึ้นเช่นนี้ การทดลองในสัตว์ก็เป็นอีกหนึ่งในประเด็นที่เป็นข่าวและได้รับการถกเถียงจากหลากมุมมองในช่วงเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงอยากถือโอกาสนี้แลกเปลี่ยนและนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โดยย่อของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ จริยธรรมเกี่ยวกับการวิจัยในสัตว์ ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงต่อเนื่องยาวนานกว่าสองศตวรรษ จนนำมาสู่มาตรฐานจริยธรรมการใช้สัตว์ทดลองในปัจจุบัน

 

ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกับวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่

 

ตลอดระยะเวลากว่าสองร้อยปีที่ผ่านมา วิทยาการทางการแพทย์ในโลกตะวันตกได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด จากในอดีตที่การผ่าตัดดูเป็นเรื่องผิดจารีต จนในปัจจุบัน การผ่าตัดกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่วงการแพทย์ใช้เป็นหัตถการที่เกิดขึ้นรายวันและสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายล้านคนต่อปี ในขณะที่โรคภัยไข้เจ็บในวันวานที่ทำให้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เช่น โรคพิษสุนัขบ้า บาดทะยัก หรือโปลิโอ มนุษย์ก็เอาชนะได้แทบจะเด็ดขาดด้วยการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรค ไม่ต้องพูดถึงว่า การการปลูกถ่ายอวัยวะ การเปลี่ยนถ่ายเลือด หรือการปลูกถ่ายอวัยวะเทียมที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินจะจินตนาการได้

ความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์แผนใหม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในเวลา 200 ปี นับได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ในระหว่างปี 1543 - 2015

 

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ สัตว์ทดลอง และข้อถกเถียงเชิงจริยธรรม

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว คือ การทดลองทั้งในคนและในสัตว์ แม้จะมีคุณูปการมากขนาดไหน หัวข้อเรื่องจริยธรรมในการทดลองก็เป็นที่ถกเถียงมาตลอดประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าขององค์ความรู้

ในสมัยกรีกโบราณ การผ่าศพมนุษย์หรือสัตว์เพื่อการศึกษาเชิงกายวิภาคเป็นประเด็นที่ถกเถียงอย่างมากจากสังคม ในด้านหนึ่งนักวิทยาศาสตร์กรีกได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ผู้ต้องการให้อเล็กซานเดรียเป็นเมืองหลวงแห่งแพทยศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นจึงสามารถทำการศึกษาที่ขัดกับกับความเชื่อทางศาสนาในยุคสมัยนั้นได้ ถึงกระนั้น ก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการผ่าซากศพมนุษย์ และหันมาศึกษาการผ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ (vivisection) ด้วยเหตุที่เชื่อว่าการผ่ามนุษย์ไม่เพียงแต่เป็นการกระทำที่ขัดต่อจารีตแล้ว การผ่าซากศพยังไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนเมื่อเทียบกับระบบร่างกายที่ยังทำงานขณะมีชีวิตอยู่

 

Vesalius (1514-1564)

 

ในยุคโบราณสัตว์มีสถานะเป็นเพียงทรัพย์สินของมนุษย์ การนำสัตว์มาฆ่าหรือทรมานเพื่อความบันเทิงยังเป็นการกระทำที่ยอมรับได้ หากไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน (เช่น เจ้าของสัตว์ตัวนั้น) และอาจถือได้ว่าเป็นกิจกรรมอันแสดงถึงรสนิยมของชนชั้นสูงอีกด้วย แต่เมื่อศาสตร์ทางการแพทย์เฟื่องฟู ปรัชญาและความคิดเชิงจริยศาสตร์ก็วิวัฒน์ไปเช่นกัน ช่วงศตวรรษที่ 17 นับเป็นจุดเริ่มต้นของปรัชญาและความเชื่อที่ว่า สัตว์มีความรู้สึก (sentience) และได้รับความทรมานจากกิจกรรมต่างๆ ที่โหดร้าย ของมนุษย์ ซึ่งจุดประกายให้สังคมเริ่มมีการต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ อย่างไรก็ตาม ความคิดเชิงอรรถประโยชน์ (utilitarianism) ก็ยังเป็นความคิดที่คนส่วนใหญ่คล้อยตาม ด้วยเชื่อว่า ประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากการทดลองนั้นควรค่ามากพอที่จะแลกกับชีวิตของสัตว์

ในศตวรรษที่ 19 การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านการทรมานสัตว์เริ่มมีความเข้มแข็งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ข้อถกเถียงทั้งของฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายต่อต้านจึงทวีความแหลมคมและมีความสุดโต่งมากขึ้น ในด้านหนึ่ง ฝ่ายที่ต่อต้านการทรมานสัตว์ทุกรูปแบบก็เรียกร้องให้การวิจัยในสัตว์ทุกรูปแบบต้องยุติลง ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายที่เห็นด้วยก็สนับสนุนให้นักวิจัยทำวิจัยอย่างอิสระ และสามารถทำการทดลองอะไรกับสัตว์ก็ได้เพื่อความก้าวหน้าทางความรู้ การถกเถียงพัฒนาจนถูกยกระดับขึ้นถึงขนาดมีการร่างข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย โดยมีการกำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้สัตว์ในการทดลองขึ้นในปี ค.ศ. 1875 ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม ‘Playfair Bill’ จากฝ่ายนักวิจัย และ ‘Henniker Bill’ จากฝ่ายต่อต้านการทรมานสัตว์

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิของสัตว์สุดขั้วได้ก่อตัวขึ้นในหลายชาติฝั่งซีกโลกตะวันตก จนก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้วิจัยและบุคคลใกล้ชิด ทั้งกรณีบุกรุกเข้าห้องวิจัย ขู่ทำร้าย ขู่ฆ่านักวิจัย ครอบครัว หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในสัตว์ เกิดการลักพาตัว การระเบิดรถยนต์ การส่งระเบิดไปถึงบ้านหรือห้องวิจัย การลอบทำร้ายนักวิจัยและครอบครัว เป็นต้น การกระทำอย่างสุดขั้วดังกล่าวยังผลให้เกิดการทบทวนข้อกำหนดต่างๆ จากทั้งสองฝ่าย และมีผลทำให้การต่อสู้มีความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

ในที่สุด การระดมสมอง ถกเถียง และโต้แย้งอย่างเข้มข้น ก็นำไปสู่การประนีประนอมจากทั้งสองฝ่าย และก่อให้เกิด ‘มาตรฐานการใช้สัตว์ทดลอง’ ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นมรดกทางปัญญาชิ้นสำคัญของแนวคิดว่าด้วยมาตรฐานการใช้สัตว์ทดลองในปัจจุบัน โดยสาระหลักสำคัญของมาตรฐานการทดลองคือ ความโปร่งใสในการวิจัย ความจำเป็นในการใช้สัตว์ทดลอง และสัตว์ทดลองต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ได้รับการเคารพและได้รับความทรมานน้อยที่สุด

 

โฆษณาบนหนังสือพิมพ์ The Hour ฉบับลงวันที่ 13 พฤษภาคม 1991 จากฝ่ายที่ต่อสู้เพื่องานวิจัยทางการแพทย์

 

ในปัจจุบัน นักวิจัยนานาชาติมีมาตรฐานจริยธรรมในการใช้สัตว์ทดลองที่ต้องยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน ประเทศไทยมีการตราพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 โดยมีคณะกรรมการจรรยาบรรณการดำเนินการต่อสัตว์เพื่อวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่กำหนดนโยบายในการกำกับดูแลและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นไปตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงกำหนดจรรยาบรรณการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

ภายใต้มาตรฐานนี้ โครงการวิจัยใดที่ต้องใช้สัตว์ในการทดลองต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการฯ ตลอดจนผู้ใช้สัตว์ทดลองต้องยึดถือจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานระดับนานาชาติ อันได้แก่

1. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์ โดยต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าการใช้สัตว์เป็นประโยชน์ จำเป็นสูงสุด และไม่มีวิธีการอื่นที่เหมาะสมเท่าหรือเหมาะสมกว่าในสภาวการณ์ขณะนั้น

2. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงความแม่นยำของผลงานโดยใช้สัตว์จำนวนน้อยที่สุด

3. การใช้สัตว์ป่าต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและนโยบายการอนุรักษ์สัตว์ป่า

4. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ มีความรู้สึกเจ็บปวดและมีความรู้สึกตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับมนุษย์ จึงต้องปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความระมัดระวังทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การขนส่ง การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงสัตว์ การจัดการสภาพแวดล้อมของสถานที่เลี้ยง เทคนิคการเลี้ยง การปฏิบัติต่อสัตว์โดยไม่ให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวด ความเครียด หรือความทุกข์ทรมาน

5. ผู้ใช้สัตว์ต้องบันทึกข้อมูลการปฏิบัติต่อสัตว์ไว้เป็นหลักฐานอย่างครบถ้วน ตรงตามวิธีการที่เสนอไว้ในโครงการ และพร้อมที่จะเปิดเผยหรือชี้แจงได้ทุกโอกาส

 

ความไม่เท่าเทียมของสวัสดิภาพสัตว์

 

จำนวนสัตว์ที่ถูกนำมาบริโภคต่อปี (จากเว็บไซต์ ourworldindata.org)

 

นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน (และแน่นอนว่ารวมไปถึงอนาคตด้วย) มนุษย์ใช้ประโยชน์จากสัตว์ในการดำรงชีวิตด้านต่างๆ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคป็นอาหาร ทำเครื่องนุ่งห่ม ผลิตยารักษาโรค ใช้แรงงาน หรือแม้แต่ใช้เพื่อความบันเทิง จากสถิติปี ค.ศ. 2005 นักวิจัยทั่วโลกใช้สัตว์ทดลองจำนวน 115.2 ล้านตัว แม้จะดูเป็นตัวเลขที่สูง แต่เมื่อเทียบกับปริมาณสัตว์ที่มนุษย์ทั่วโลกบริโภคในปีเดียวกันซึ่งมีจำนวนกว่า 5 หมื่นล้านชีวิตแล้ว จำนวนสัตว์ที่ใช้ในการพัฒนาการศึกษาและการแพทย์คิดเป็นจำนวนเพียงแค่ 0.5% ของจำนวนสัตว์ที่มนุษย์นำมาบริโภคเป็นอาหารเท่านั้น

ในปัจจุบัน กฎระเบียบในหลายประเทศเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากสัตว์ในกิจกรรมต่างๆ ในหลายประเทศถูกกำหนดแยกย่อยออกเป็นหลายกลุ่มตามลักษณะและประเภทของสัตว์ที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายที่แยกกัน หรือแม้กระทั่งในหมวดสัตว์ทดลองในบางประเทศยังมีการระบุสปีชีส์ที่ให้ความคุ้มครอง ลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมของสัตว์จากมุมมองของมนุษย์ หากมนุษย์มีความต้องการที่จะพัฒนามาตรฐานด้านจริยธรรมในการใช้สัตว์อย่างรอบด้านและเป็นธรรม

ผู้เขียนเห็นว่ามาตรฐานจริยธรรมที่มีต่อสัตว์ควรครอบคลุมถึงสัตว์ทุกกลุ่มที่มนุษย์ใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาทำเป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงในบ้าน สัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์ สัตว์ที่ใช้ในธุรกิจ สัตว์ใช้แรงงาน ฯลฯ โดยไม่จำกัดอยู่เพียงส่วนเล็กๆ เช่น สัตว์ทดลอง หรือไม่จำกัดอยู่เพียงบางสายพันธุ์ที่มนุษย์มีความผูกพันหรือมีความเชื่อมโยงเป็นพิเศษ เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากสัตว์โดยรวมเป็นไปอย่างโปร่งใส ลดการทรมาน และลดจำนวนสัตว์ที่ใช้ให้ได้มากที่สุดอย่างเท่าเทียม

ผู้เขียนเคยมีโอกาสเดินทางไปเยือนพิพิธภัณฑ์ของชนเผ่าเอสกิโมที่มลรัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา ผู้บรรยายเกี่ยวกับวัฒนธรรมชนเผ่าได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า พวกเขาอยู่ร่วมกับปลาวาฬอย่างเคารพ ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าพวกเขาห้ามแตะต้องปลาวาฬเหล่านั้นอย่างเด็ดขาด หากแต่พวกเขาใช้ประโยชน์จากปลาวาฬตัวนั้นอย่างสูงสุด โดยไม่มีส่วนไหนต้องเหลือทิ้ง จากนั้นผู้บรรยายนำเสนออุปกรณ์ของใช้ต่างๆ เช่น แผ่นหุ้มเรือ เครื่องนุ่งห่ม ตะกร้า และอุปกรณ์ในครัวเรือนอื่นที่ผลิตมาจากกระดูก ผิวหนัง บาลีน (กระดูกในปากของปลาวาฬ) ฯลฯ) ผู้เขียนจึงเห็นด้วยว่าหากเราจำเป็นต้อง ‘รบกวน’ สัตว์เพื่อให้ได้ประโยชน์ในทางใดก็ตาม เราอาจทำได้อย่าง ‘เคารพ’ คือ ใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ ใช้อย่างไม่ทิ้งขว้าง และลดความทรมานของสัตว์ให้ได้มากที่สุด

 

บทสรุป

 

ในฐานะนักวิจัยคนหนึ่งที่ทำงานกับสัตว์ทดลองมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ผู้เขียนไม่เคยมีประสบการณ์ทั้งส่วนตัวและจากเพื่อนนักวิจัยท่านอื่นที่สนุกกับการเห็นสัตว์ทรมานจากการทดลอง ในทางตรงกันข้าม กลับมีความผูกพันกับสัตว์ทดลองและมองสัตว์ทดลองเป็นเพื่อนร่วมวิจัยเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม มุมมองที่กล่าวหาว่านักวิจัยที่ใช้สัตว์ทดลองชอบทรมานสัตว์อย่างไร้มนุษยธรรมก็สามารถเข้าใจได้ โดยอาจมาจากเพียงภาพจำบางส่วนจากบรรยากาศการทดลองในอดีต ที่ยังไม่มีการคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์​ ยังไม่มีการค้นพบยาชาหรือยาสลบ หรืออาจเป็นภาพข่าวจากห้องวิจัยที่ไม่ได้มาตรฐาน อาทิ กรณีของห้องทดสอบในเยอรมนีที่ถูกปิดไปเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากมีการเผยแพร่ภาพถ่ายของลิงซึ่งเป็นสัตว์ที่ใช้ในการทดลองถูกจับบังคับให้ยืนเพื่อทำการทดลองต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีภาพลิงที่อยู่ในกรงเคลื่อนที่หมุนวนซ้ำอย่างรวดเร็ว (ทั้งไปข้างหน้า ถอยหลัง และตีลังกา) การแสดงพฤติกรรมดังกล่าวแสดงถึงความทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงของสัตว์ และยังมีภาพถ่ายของสุนัขอาศัยอยู่ในกรงที่เต็มไปด้วยอุจจาระและเลือดแห้งกรัง อันแสดงถึงความละเลยในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของห้องทดสอบและห้องปฏิบัติการที่สหรัฐอเมริกาได้ถูกสอบสวนและปรับจากความบกพร่องละเลยในการตรวจท่อน้ำดื่ม จนทำให้ลิงตกอยู่ในภาวะขาดน้ำและเสียชีวิตในที่สุด

ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและความผิดพลาดจากการทดลองเพื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้ การทดลองในสัตว์จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างน้อยในปัจจุบันที่เรายังไม่สามารถหาวิธีการอื่นมาทดแทนได้ ในมุมมองผู้เขียน การประนีประนอมอย่างเป็นธรรมที่สุดระหว่างความปรารถนาในการเสาะหาความรู้และจรรยาบรรณของมนุษย์ คือการทดลองในสัตว์ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด ใช้สัตว์เมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ลดการทรมานสัตว์ ลดจำนวนสัตว์ที่ใช้ ดูแลสัตว์ทดลองเป็นอย่างดี มีขั้นตอนในการทดลองที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวม และไม่ใช้อารมณ์นำทาง และหากจะกล่าวให้ถึงที่สุด หลักการนี้ไม่ควรจะใช้เฉพาะในสัตว์ทดลองเท่านั้น แต่ควรจะรวมไปถึงการใช้สัตว์ในด้านอื่นๆ ด้วย

ท้ายที่สุด ข้อถกเถียงที่ดำเนินมากว่าหลายร้อยปีนี้คงต้องดำเนินต่อไป การคิด ทบทวน ถกเถียง ตรวจสอบ ในประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องทำมากที่สุด ไม่ว่าเราจะสนับสนุนการใช้สัตว์ในการทดลองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม

 

 

[1] นักวิจัยทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์และพฤติกรรมลิง ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

อ้างอิง

- จรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่อทางวิทยาศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ

- Sanjib Kumar Ghosh. Human cadaveric dissection: a historical account from ancient Greece to the modern era. Anat Cell Biol. 2015 Sep;48(3):153-69. doi: 10.5115/acb.2015.48.3.153.

- Nuno Henrique Franco. Animal Experiments in Biomedical Research: A Historical Perspective. Animals (Basel). 2013 Mar; 3(1): 238-273. doi: 10.3390/ani3010238

- Life Expectancy

- Meat and Dairy Production

- An Estimate of the Number of Animals Used for Scientific Purposes Worldwide in 2015

- A Guide to Longevity Throughout History

- Alaska's Heritage: ESKIMOS

- We mightn’t like it, but there are ethical reasons to use animals in medical research

- 'Barbaric' tests on monkeys lead to calls for closure of German lab

- Monkey deaths prompt probe of Harvard primate facility

- Texas research facility fined for deaths of primates

- The Moral Status of Invasive Animal Research

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0