โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

การจัดการความโกรธ แบบฉุกเฉิน

Rabbit Today

อัพเดต 14 ก.พ. 2562 เวลา 11.06 น. • เผยแพร่ 14 ก.พ. 2562 เวลา 11.06 น. • หมอเอิ้น พิยะดา
how-to-control-anger-health-and-sport-Rabbit-Today-banner

ความโกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่มีเท่ากัน แต่ระดับของการรับรู้ได้เร็วต่างกัน และแสดงออกต่างกัน

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทักษะในการบริหารจัดการอารมณ์ของเรานั้นแตกต่างกัน บางคนรู้สึกถึงความโกรธได้ง่ายและแสดงออกรุนแรง (คนอื่นมักเดือดร้อน) บางคนรู้สึกได้ยากกว่า และเก็บความโกรธไว้เป็นระเบิดภายในตัวเอง (พฤติกรรมอาจออกมาเป็นร้องไห้ฟูมฟาย ทำร้ายตัวเอง ตัวเองเดือดร้อน)

บ่อเกิดของความโกรธมักเกิดมาจากความรู้สึกขัดแย้ง ผิดหวัง หรือน้อยใจ หรือเสียใจในระดับสูงจนกระตุ้นให้ร่างกายและจิตใจเกิดความเปลี่ยนแปลง

ด้านร่างกาย ระบบประสาทอัตโนมัติจะทำงานมากขึ้น เช่น มือสั่น ใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว

ด้านจิตใจจะรู้สึกถึงพลังของความต้องการทำลายล้าง หุนหันพลันแล่น ความเร็ว ไม่มีพื้นที่ของเหตุผล

ในการจัดการความโกรธ เราควรรับมือดังนี้ (สำหรับการจัดการความโกรธในระยะสั้น)

1. ถามตัวเองว่า ‘เอาทันมั้ย’ ความโกรธที่มีมากก็เหมือนปรมาณูที่มีอานุภาพร้ายแรง ถ้าคำตอบคือ ‘กูไม่ไหวแล้วเว้ย!!!’ แสดงว่าโกรธระดับสูงสุด ให้พาตัวเองออกมาจากคนหรือสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เราโกรธทันที เพราะสถานการณ์แบบนี้ ระเบิดไปปัญหาจะใหญ่กว่าเดิม หากออกมาแล้วพลังยังไม่ลด ให้กลับมารับรู้ถึงความรู้สึกของร่างกาย

เช่น มือที่สั่น ให้ใจที่เต้นแรง กำปั้นที่กำแน่น ให้เรารับรู้และอยู่กับความรู้สึกนั้นสักพัก ถ้าโชคดีเราจะพบว่าปฏิกิริยาทางร่างกายจะค่อยๆ เบาบางลงไปพร้อมกับพลังความโกรธ หากอาการไม่ดีขึ้นให้มองหาวัตถุหรือสิ่งของรอบข้างที่เมื่อเราปล่อยแรงลงไปแล้วไม่อันตรายต่อเราเองและผู้อื่น และไม่เสียหายมากทางด้านมูลค่า เช่น หมอนสักใบ ผ้าห่มสักผืน แล้วปล่อยพลังได้เลยค่ะ คนที่มาปรึกษาบางราย เอิ้นจะแนะนำให้ต่อยมวย หรือเตะต้นกล้วยข้างบ้าน เพราะ ความโกรธที่รุนแรงมีพลังมหาศาลมาก ต้องรีบเอาพลังนั้นออกในทางที่สร้างสรรค์

2. โกรธระดับกลาง ‘ไหวอยู่ แต่มากกว่านี้ก็อาจจะตบได้’ ให้เราสูดลมหายใจเข้า-ออกลึกๆ ยาวๆ รับรู้ความรู้สึกของลมหายใจ อาจเอามือมาวางที่หน้าอกเพื่อสัมผัสการเต้นของหัวใจ แล้วค่อยๆ ดูการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนั้น จนเริ่มรู้สึกสงบ ค่อยพิจารณาด้วยเหตุผลว่าสมควรจะสนทนากับคู่กรณีต่อหรือไม่ ถ้าคู่กรณีดูไม่สงบ หรือยิ่งกระตุ้นมากขึ้น ให้ขอพักเรื่องนั้นไว้ก่อน แล้วแจ้งว่าเราจะมาคุยอีกครั้งเมื่อพร้อม แล้วพาตัวเองออกมาทำกิจกรรมหรืออยู่ในสถานที่ที่สบายใจ เช่น ห้องน้ำ ระเบียง เป็นต้น เพื่อให้สภาพแวดล้อมช่วยให้เราผ่อนคลาย

3. โกรธเล็กน้อย ‘มันรู้สึกขุ่นเคืองใจ’ ให้เห็นความรู้สึกขุ่นเคืองและยอมรับความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ไม่ใส่ใจหรือต่อยอดความคิด กลับมาใช้พลังความโกรธเพื่อจดจ่อทำสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบันให้สำเร็จลุล่วง

ความโกรธก็เหมือนกับเชื้อไฟที่ชีวิตเราต้องใช้ แต่จะใช้อย่างไรให้เป็นประโยชน์โดยไม่ทำลายล้างตัวเองและคนอื่น

Page FB ดีต่อใจ โดย หมอเอิ้น พิยะดา : ดีต่อใจ โดย หมอเอิ้น พิยะดา

Youtube : หมอเอิ้น พิยะดา Unlocking Happiness

IG : earnpiyada

Website :www.earnpiyada.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0