โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กะท่างน้ำ ดอยภูคา สัตว์ชนิดใหม่ของโลกค้นพบโดยนักวิจัยไทยในจังหวัดน่าน

SpringNews

อัพเดต 10 ก.ค. 2563 เวลา 06.06 น. • เผยแพร่ 10 ก.ค. 2563 เวลา 06.06 น. • SpringNews
กะท่างน้ำ ดอยภูคา สัตว์ชนิดใหม่ของโลกค้นพบโดยนักวิจัยไทยในจังหวัดน่าน

กะท่างน้ำ ดอยภูคา ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Tylototriton​ phukhaensis เป็นกะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลกและเป็นชนิดที่ 5 ที่มีการค้นพบในประเทศไทย ถูกค้นพบโดยนักวิจัยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน บนแนวเทือกเขาหลวงพระบาง ถือเป็นตัวชี้วัดสุขภาพป่าที่สมบูรณ์และไร้สารเคมีปนเปื้อน

ดร. ปรวีร์ พรหมโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะทำงาน และได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทั้งจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ผู้สนับสนุนจากประเทศฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัยพะเยา ระบุว่าได้พบเห็นกะท่างน้ำในนิตยสารบางฉบับมามากกว่า 20 ปีแล้ว คณะนักวิจัยจึงสนใจที่ค้นคว้าเพิ่มเติม ว่ากะท่างที่พบนั้นยังมีอยู่หรือไม่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการลงพื้นที่ จนกระทั่งค้นพบในที่สุด

ลักษณะทางกายภาพของกะท่างน้ำดอยภูคา

กะท่างน้ำดอยภูคา มีสีน้ำตาลแถบส้ม การตรวจแถบรหัสพันธุกรรม (DNA banding) ทำให้คณะนักวิจัยทราบได้ว่า สัตว์ตัวนี้ถือเป็นกะท่างน้ำสายพันธุ์ใหม่ของโลก และการค้นพบครั้งนี้ทำให้ได้รับรู้ถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าบริเวณนี้อีกด้วย เพราะกะท่างน้ำดอยภูคา เป็นสัตว์ที่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดสุขภาพสิ่งแวดล้อมของผืนป่าได้เป็นอย่างดี จากธรรมชาติของ ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของกะท่าง ซึ่งจะอยู่อาศัยได้ในบริเวณผืนป่าสมบูรณ์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่ถูกทำลาย รวมถึงพื้นที่นั้นๆ ต้องไม่มีสารเคมีปนเปื้อน 100 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

กะท่างน้ำดอยภูคาจัดเป็น สัตว์มีกระดูกสันหลัง กลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ในวงศ์กระท่างน้ำ หรือซาลาแมนเดอร์ (Family Salamandrida) โดยสัตว์ในวงศ์นี้เป็นสัตว์เทินน้ำสะเทินบกที่มีลักษณะที่สำคัญคือมีสีน้ำตาลแถบส้ม มีขาสี่ข้าง มีหางยาว มีความแตกต่างจากกลุ่มสัตว์ที่เราคุ้นเคยอย่างกบ เขียด คางคก ซึ่งเป็นญาติที่มีความใกล้ชิดกันกับกระท่างน้ำ สัตว์ในกลุ่มนี้มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เมื่อวัดจากปลายจมูกถึงปลายหางจะมีขนาดประมาณ 10 เซนติเมตร โดยมีรูปร่าง 2 แบบ

  • แบบที่ 1 นิวท์ (newt) มีลักษณะของผิวหนังไม่เรียบ มีต่อมน้ำพิษปรากฏอยู่บนผิวหนังด้านหลัง บริเวณลำตัวและหัวมีสันที่ปรากฏอย่างชัดเจน มีสีสันบนลำตัวไม่มากนัก ที่พบเด่นชัดคือ สีส้ม ที่ปรากฏตามสันของร่างกาย ปลายขา และปลายหาง
  • แบบที่ 2 ซาลาแมนเดอร์ (salamander) มีลักษณะของผิวหนังเรียบลื่น อาจจะมีของต่อมน้ำพิษปรากฏอยู่หลังลูกตา ลำตัวมีร่องอยู่ด้านข้างระหว่างขาหน้าและขาหลัง ซึ่งจะไม่ปรากฏในกลุ่มนิ้วท์ พวกซาลาแมนเดอร์ไม่พบในประเทศไทย
กะท่างน้ำดอยภูคา
กะท่างน้ำดอยภูคา

นักวิจัยระบุว่า ปัจจุบันมีรายงานการค้นพบกระท่างน้ำเพียงแห่งเดียวเท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจในบริเวณอื่นของเทือกเขาหลวงพระบาง ทางฟากล้านนาตะวันออก ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับถิ่นที่อยู่อาศัยของกะท่างน้ำในประเทศไทยนั้น มีขอบเขตการกระจายค่อนข้างจำกัด คือ จะพบในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางมากกว่า 1,000 เมตร และอยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็น แอ่งน้ำสะอาด และป่าปกคลุมที่ยังคงเป็นธรรมชาติ ดังนั้นกะท่างน้ำ สามารถใช้เป็นตัวขี้วัดทางชีวภาพที่สามารถบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมได้

ดร. ปรวีร์ กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้คณะผู้วิจัยได้แสดงความขอบคุณต่อ ฉัตรชัย โยธาวุธ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ที่อนุญาตให้เข้าสำรวจ รวมถึง พศิน อิ่นวุธ และเจ้าหน้าของอุทยานฯ ที่ได้นำทางคณะวิจัยไปบริเวณที่ค้นพบ ซึ่ง กะท่างน้ำดอยภูคา พบปีนอยู่ตามกอหญ้า ขอนไม้และก้อนหินกลางแอ่งน้ำ มากกว่า 50 ตัว ส่วนใหญ่เป็นตัวผู้ เมื่อสำรวจทั้งแอ่งน้ำและริมตลิ่ง นอกจากนั้นยังพบว่า กะท่างน้ำดอยภูคากำลังมุ่งหน้าเข้าผืนป่า คาดเดาว่าเป็นช่วงปลายของฤดูผสมพันธุ์ โดยธรรมชาติของกะท่างน้ำเมื่อผสมพันธุ์กันแล้ว ตัวเมียจะวางไข่ และทิ้งไข่ปล่อยให้ปรับตัวไปตามธรรมชาติ ส่วนตัวพ่อและแม่นั้นจะมุ่งหน้ากลับผืนป่า เพราะโดยธรรมชาติของ กะท่างจะใช้ชีวิตอยู่บนบกยกเว้นช่วงเวลาผสมพันธุ์เท่านั้น ทั้งนี้การค้นพบดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์เป็นที่เรียบร้อย

กะท่างน้ำดอยภูคา
กะท่างน้ำดอยภูคา
กะท่างน้ำดอยภูคา
กะท่างน้ำดอยภูคา

ข้อมูลจาก Department of Biology, Faculty of Science, Chulalongkorn University. A new species of Crocodile newt. Tylototriton phukhaensis from Nan Province, Thailand และ A new species of Trigastrotheca Cameron (Hymenoptera: Braconidae: Braconinae) from Thailand

ทีมผู้วิจัย Dr. Porrawee Pomchote, Dr.Wichase Khonsue, Dr.Panupong Thammachoti, Axel Hernandez, Miss.Parada Peerachidacho, Dr. Chatmongkon Suwannapoom, Miss.Yasuho Onishi, Dr.Kanto Nishikawa and others
ภาพ : วรรณนภา ชาวเฮี้ย

หมายเหตุ วารสาร Tropical Natural History เป็นวารสารทางการของพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านธรรมชาติวิทยามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยเริ่มใช้ชื่อ The Natural History Journal of Chulalongkorn University สำหรับ volume 1-9 (พ.ศ.2544-2552) และปรับเปลี่ยนเป็น Tropical Natural History ตั้งแต่ volume 10 (พ.ศ.2553) จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ วารสาร Tropical Natural History ยังถูกจัดลำดับโดย Scimago Journal Rank ปี 2019 (ปีล่าสุด) อยู่ใน Q2 ของสาขา Agricultural and Biological Sciences (miscellaneous) ผลงานเผยแพร่ในวารสารได้รับการยอมรับและอ้างอิงในระดับนานาชาติ จนถูกบรรจุในฐานข้อมูลวารสารวิชาการทั้งระดับชาติ (Thai Citation Index, Tier 1) และระดับนานาชาติ เช่น ASEAN Citation Index, Zoological Record และ SCOPUS

กะท่างน้ำดอยภูคา
กะท่างน้ำดอยภูคา
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0