โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

กนอ.เร่งสมาร์ทปาร์ค ดึงเงินลงทุน5.3หมื่นล้าน

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 03 ก.ค. 2563 เวลา 13.54 น. • เผยแพร่ 05 ก.ค. 2563 เวลา 04.00 น.

เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ การดึงดูดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในอีอีซี เพื่อยกระดับการผลิตของประเทศไปสู่การผลิตสินค้ามูลค่าสูง รวมทั้งผลักดันให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง 

การที่จะดึงอุตสาหกรรมชั้นสูงให้เข้ามาลงทุนนั้น จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยเข้ามารองรับ ดังนั้น กนอ.จึงเร่งตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค เพื่อเป็นต้นแบบบนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค อ.เมือง จ.ระยอง มีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบการสื่อสาร ระบบการขนส่ง ระบบพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรม เชิงนิเวศ เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต หรือ New S-Curve

กนอ.ได้แบ่งเป็นลักษณะกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) ซึ่งจะมีระบบรักษาความปลอดภัย และแนวกันชนด้วยพื้นที่สีเขียวซึ่งมีไม้ยืนต้นปลูกเป็นแนวรอบแต่ละคลัสเตอร์ สร้างความร่มรื่นต่อพื้นที่ มีการนำระบบไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคลงใต้ดิน เพื่อความสวยงามทางด้านทัศนียภาพและความปลอดภัย มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเตรียมพื้นที่ประกอบกิจการเชิงพาณิชยกรรม เพื่อเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของภูมิภาค

นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค มีพื้นที่ 1,383.76 ไร่ แบ่งเป็น

พื้นที่อุตสาหกรรม 621.55 ไร่

พื้นที่พาณิชยกรรม 150.54 ไร่

พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 373.35 ไร่

พื้นที่สีเขียวและกันชน 238.32 ไร่

มีมูลค่าการลงทุนของโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คประมาณ 2,370.72 ล้านบาท เพื่อรองรับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 299.70 ไร่ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ 180.84 ไร่ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 74.17 ไร่ และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล 66.84 ไร่

159352147954
159352147954

นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คมีข้อได้เปรียบเหนือนิคมอุตสาหกรรมแห่งอื่น ในประเด็นแหล่งผลิตวัตถุดิบเม็ดพลาสติกขนาดใหญ่ในอีอีซี ซึ่งทำให้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุด มีสถานีระบบขนส่งมวลชนทางรางเชื่อมต่อหน้าโครงการ สะดวกด้วยระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ และอากาศ มีระบบโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ ที่ช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

“นิคมฯนี้อยู่ภายใต้การกำกัดดูแลของ กนอ.ที่จะเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานการขอใบอนุมัติอนุญาตต่างๆ กับหน่วยงานราชการ”

สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากโครงการนี้ จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม 53,000 ล้านบาท ส่วนผลที่เกิดจากการจ้างงานเพิ่มในช่วงของการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะเกิดการจ้างงาน 200 คน ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในชุมชน 23.7 ล้านบาทต่อปี

หากเปิดนิคมอุตสาหกรรมและมีการลงทุนตั้งโรงงานเต็มพื้นที่แล้ว จะเกิดการจ้างงาน 7,459 คน การจ้างงานจะส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ 1,342 ล้านบาทต่อปี (คิดอัตราฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ 15,000 บาท)

“แม้ว่านิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้มีพื้นที่ไม่มากแต่สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าสูงมาก เพื่อเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง" 

รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย และยกระดับผู้ผลิตซัพพลายเชนคนไทยให้ก้าวไปสู่การผลิตสินค้าที่ไฮเทค ที่มีความแม่นยำและมาตรฐานสูง จึงก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับประเทศชาติในระยะยาว เพราะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้จากการลงทุนในที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง

ส่วนความคืบหน้าของโครงการนี้ ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2562 เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) ต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการนี้ และการประชุมคณะกรรมการ กนอ.เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2563 อนุมัติการลงทุนโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ

นอกจากนี้ วันที่ 27 พ.ค.2563 คณะอนุกรรมการด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้เห็นชอบการลงทุนโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คของ กนอ.ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ทำให้แผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้มีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น

รวมทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างนำวาระเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายในเดือน ก.ค.2563 เพื่อให้ความเห็นต่อการลงทุนโครงการก่อนเสนอ ครม. และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือแล้วเสร็จภายในปี 2567

สำหรับภายในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค จะมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ได้มาตรฐาน ได้แก่ 

ถนนภายในนิคมอุตสาหกรรม สายประธานเขตทางกว้าง 50 เมตร 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง โดยมีเกาะกลางถนนกว้าง 4 เมตร ทางเท้าและทางจักรยานกว้าง 3.70 เมตร ความยาวประมาณ 4.34 กิโลเมตร ถนนสายรองเขตทางกว้าง 20 เมตร 2 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทาง ความยาวประมาณ 0.81 กิโลเมตร 

ถนนภายในคลัสเตอร์ ของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเขตทางกว้าง 12 เมตร 2 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 6.77 กิโลเมตร พร้อมระบบไฟฟ้าส่องสว่างถนน

ระบบระบายน้ำ ใช้ระบบท่อระบายน้ำร่วมกับรางระบายน้ำ ซึ่งจะวางอยู่ทั้ง 2 ฝั่งถนนชิดขอบถนน เพื่อรับน้ำจากพื้นที่ถนนและพื้นที่โครงการเพื่อรวบรวมลงบ่อหน่วงน้ำของโครงการ และยังมีอ่างเก็บน้ำสำรองขนาดความจุประมาณ 1.60 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบบน้ำประปาเป็นแบบ Surface Water Treatment ด้วยระบบ Ultra Filtration (UF) ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 1.2 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน 

ระบบบำบัดน้ำเสีย ใช้ระบบบำบัดด้วยกระบวนการทางชีวภาพแบบตะกอนเร่ง มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสียประมาณ 6 พันลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ด้านระบบการรักษาความปลอดภัย จะมีศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีระบบ CCTV กระจายตามจุดต่างๆของโครงการ และการควบคุมการเข้าออกพื้นที่ภายในแต่ละคลัสเตอร์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0