โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กฎหมายนิรโทษกรรม จากฉบับสุดซอย ถึง รวมไทยสร้างชาติ วัดใจ ‘บิ๊กตู่’ รับลูกหรือไม่

TODAY

อัพเดต 15 ก.ค. 2563 เวลา 09.15 น. • เผยแพร่ 15 ก.ค. 2563 เวลา 09.15 น. • workpointTODAY
กฎหมายนิรโทษกรรม จากฉบับสุดซอย ถึง รวมไทยสร้างชาติ วัดใจ ‘บิ๊กตู่’ รับลูกหรือไม่

ประเด็นเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง เมื่อ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายเรื่องนี้ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ในวาระรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติปี 2562 และรายงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

ส.ว.คำนูณ เสนอว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องเร่งตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้สังคมไทยแบ่งแยกออกเป็นอย่างน้อย 2 ขั้วแล้วก็แบ่งแยกย่อยกันไปอีกมากขึ้นทุกที สังคมไทยร้าวลึกแม้กระทั่งในระดับครอบครัว มีผู้คนในขณะนี้ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วอยู่ในคดีนับร้อยคนบางคนตายไปแล้ว "บางคน…เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมานี้…ผมไปเยี่ยมเขา…เฝ้าดูลมหายใจสุดท้ายของเขา" ซึ่งคาดว่าจะหมายถึง ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ที่เสียชีวิตในวันดังกล่าว โดยก่อนหน้านั้นมีคดีในฐานะแกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 ส.ว.คำนูณ ระบุว่า ถ้านายกรัฐมนตรีจะผลักดันเรื่อง "รวมไทยสร้างชาติ" แต่ยังมีคนต้องขึ้นศาล ได้รับผลกระทบ ถูกยึดทรัพย์ จะไม่สำเร็จ แต่ถ้าทำได้ "จะเป็นการสร้างบารมีให้กับท่านนายกรัฐมนตรีเอง ในการที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ"

ข้อเสนอเบื้องต้นของเขาคือ 1.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองโดยตรง 2. นิรโทษกรรมในเบื้องต้นเฉพาะผู้ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว 3. ผู้ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือหนีคดี ถ้ากลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาซึ่งจะต้องออกแบบตั้งขึ้นมา ก็สามารถจะได้สิทธิ์นี้ 4. ต้องตีความกำหนดนิยามว่า “เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการชุมนุมทางการเมือง…” ให้ชัดเจน ถ้าเป็นไปตามข้อเสนอนี้ แกนนำผู้ชุมนุมทั้ง พันธมิตรฯ, นปช., กปปส. ในส่วนคดีการเมืองก็จะได้รับการนิโทษกรรมทั้งหมด แต่จะไม่รวม นายทักษิณ ชินวัตร, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นคดีทุจริต รวมทั้งคาดว่าจะไม่รวมผู้มีคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 112

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปที่ความพยายามในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม (ซึ่งไม่ใช่กรณีการล้างผิดหลังรัฐประหาร) รอบล่าสุด ได้กลายชนวนเหตุทางการเมืองครั้งสำคัญ คือ ความพยายามของพรรคเพื่อไทย ในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับที่ถูกเรียกว่า "สุดซอย" เดิมร่างนี้เสนอโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ (ซึ่งตอนนี้ถูกจำคุกในคดี ล้มประชุมอาเซียนที่พัทยา) เพื่อนิรโทษกรรมให้เฉพาะ ผู้ชุมนุม ผู้แสดงออกทางการเมือง หรือประท้วง โดยไม่รวมแกนนำและผู้สั่งการ ตั้งแต่หลัง 19 ก.ย. 2549 - 10 พ.ค. 2554 หากอยู่ระหว่างถูกสอบสวนก็ให้ระงับ อยู่ระหว่างถูกฟ้องต่อศาลก็ให้ถอนฟ้อง ถ้าติดคุกอยู่ก็ให้ปล่อยตัว

อย่างไรก็ตามเมื่อร่างกฎหมายนี้เข้าสู่ขั้นตอนของคณะกรรมาธิการ ได้มีการแก้ไขเนื้อหาสำคัญโดย นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ ส.ส.เพื่อไทย เจ้าของฉายา "หัวเขียง" ให้ย้อนกลับไปมีผลตั้งแต่ปี 2547 และมีผลถึง 8 ส.ค. 2556 และนอกจากผู้ที่ชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองแล้ว ยังให้นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยยกเว้นไม่รวมคดี 112 การขยายความในเรื่องนี้ทำหมายรวมไปถึงคดีความของนายทักษิณ ชินวัตรด้วย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ถูกเรียกว่า ฉบับสุดซอย (เนื่องจากมีการระบุว่า นายทักษิณ เคยพูดว่า ร่างฉบับของนายวรชัย ครึ่งๆ กลางๆ ไม่สุดซอย) ถูกต่อต้านจากหลายกลุ่มแม้แต่ในปีกกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วน เพราะจะมีผลนิรโทษกรรมให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ขณะนั้นยังมีคดีความเรื่องสลายการชุมนุมในปี 2553 ด้วย และทั้งคู่ก็ประกาศขอสู้คดีโดยไม่ใช้วิธีนี้ หลังพรรคเพื่อไทยใช้เสียงข้างมากผ่านในชั้นกรรมาธิการ การพิจารณาในสภาวาระที่ 2-3 ถูกประท้วงอย่างหนัก แต่ก็ผ่านสภาไปได้ในช่วง 04.30 น. ของวันที่ 1 พ.ย. 2556 จนถูกให้ฉายาอีกชื่อว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับลักหลับ

ความพยายามเดินหน้า นำไปสู่การก่อตัวชุมนุมประท้วงตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.2556 นำโดยกลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และขยายตัวจนกลายเป็นการประท้วงใหญ่ ก่อกำเนิดกลุ่ม กปปส. ในเวลาต่อมา ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะถูกตีตกในขั้นตอนวุฒิสภา ด้วยแรงกดดันอย่างหนัก และเมื่อส่งกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลได้ประกาศจะไม่นำกฎหมายนิรโทษกรรมมาพิจารณาอีก แต่การชุมนุมประท้วงก็ไม่ยุติ จนนำไปสู่การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา สถานการณ์ในปี 2556 ที่ความขัดแย้งทางการเมืองพุ่งสูงมาก ประกอบกับการแก้ไขเนื้อหาที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า "มากเกินไป" จนทำให้การนิรโทษกรรม ที่หวังจะช่วยผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่แกนนำล้มเหลวไปด้วยและยังค้างคามาจนถึงปัจจุบัน การจุดประเด็นขึ้นใหม่ใน พ.ศ.นี้ ของนายคำนูณ น่าสนใจว่า ปลายทางจะเป็นอย่างไร และ พล.อ.ประยุทธ์ จะรับลูกไปเดินหน้าต่อหรือไม่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0