โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก, แจ็ค หม่า และริชาร์ด หลิว เตรียมเยือนไทย ระเบิดศึกชิงพื้นที่อีคอมเมิร์ซ

THE STANDARD

อัพเดต 17 ต.ค. 2560 เวลา 12.05 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2560 เวลา 12.05 น. • thestandard.co
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก, แจ็ค หม่า และริชาร์ด หลิว เตรียมเยือนไทย ระเบิดศึกชิงพื้นที่อีคอมเมิร์ซ
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก, แจ็ค หม่า และริชาร์ด หลิว เตรียมเยือนไทย ระเบิดศึกชิงพื้นที่อีคอมเมิร์ซ

     ทันทีที่รองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศว่าเจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ จะมาเยือนประเทศไทยและเข้าพบพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีวันที่ 30 ตุลาคมนี้ ทุกสำนักข่าวก็ฮือฮากับเรื่องนี้

     เพราะเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ ริชาร์ด หลิว ผู้บริหารเบอร์ 1 ของอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง JD.com จะมาประเทศไทยในต้นเดือนพฤศจิกายนเพื่อกำหนดทิศทางการลงทุนในอาเซียนโดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ แจ็ค หม่า แห่ง Alibaba ก็จะมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเพื่อหารือเรื่องแนวทางการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซี

     จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยกำลังเนื้อหอมในเวทีโลก และเป็นจุดวัดกำลังสำคัญของมหาอำนาจดิจิทัลที่ฟาดฟันกันดุเดือด

 

Photo: Emesto Benavides/AFP

 

ทำไมมหาอำนาจโลกดิจิทัลอย่างเฟซบุ๊กต้องมาเยือนไทย?

     หลังจากช่วง ‘พระราชพิธีสำคัญ’ ในเดือนนี้ ถือว่าเป็นเวลาที่น่าจับตาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นด้านธุรกิจและการลงทุน ประเทศไทยมีศักยภาพกับตลาดดิจิทัลอย่างมาก

     จากสถิติเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจำนวน 38 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด และใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือถึงวันละ 3.9 ชั่วโมง ติดอันดับ 4 ของโลก

     ขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากที่สุดถึง 24 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 1.3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ทั้งหมด ขณะที่ผู้ใช้งานทั่วประเทศมีถึง 47 ล้านบัญชี เฟซบุ๊กทำรายได้ในประเทศไทยในปีที่ผ่านมาเป็นเงินถึง 3 พันล้านบาท และกวาดเงินจากทั้งเอเชียได้ถึง 145,200 ล้านบาท จึงไม่แปลกที่ ‘มาร์ก’ จะเห็นว่าไทยคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนที่จะมองข้ามไม่ได้

     อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมามีประเด็นระหว่างรัฐบาลไทยและเฟซบุ๊กอยู่บ่อยครั้ง โดย คสช. เปิดเผยว่าจะต้องจัดระเบียบเนื้อหาที่ ‘ไม่เหมาะสม’ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงและความรู้สึกของคนทั้งชาติ และจะเข้มงวดมากขึ้นในการพิจารณาเรื่องโครงสร้างรายได้และการเสียภาษีให้กับประเทศไทย

     ซึ่งเรื่องนี้เจ้าพ่อเฟซบุ๊กพยายามชี้แจงตลอดว่าให้ความสำคัญกับการจัดการเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังทั่วโลก แต่ดูเหมือนจะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนนัก หลายฝ่ายเล็งว่าเรื่องนี้จะต้องเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน รวมทั้งการใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการขยายธุรกิจในอาเซียน ซึ่งเชื่อว่าจะจบลงด้วยภาพที่ชื่นมื่นของผู้นำไทยกับมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยืนจับมือและสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นตามระเบียบ แต่จะได้ข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป

 

Photo: FABRICE COFFRINI/AFP

 

ศึกแห่งศักดิ์ศรีชิงพื้นที่ประเทศไทยที่ต้องจับตามอง

     นอกจากนี้ ศึกใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนที่ต้องจับตาคือ การประลองกำลังกันของผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซแดนมังกร อย่าง Alibaba และ JD.com ซึ่ง ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้สัมภาษณ์กลางวงนักข่าวในช่วงที่พานักลงทุนญี่ปุ่นมาดูพื้นที่อีอีซีว่า แจ็ค หม่า จะมาเมืองไทยในเดือนพฤศจิกายน เพื่อพูดคุยกับรัฐบาลและหารือแนวทางการลงทุนในพื้นที่อีอีซีซึ่งเป็น ‘กล่องดวงใจ’ ของรัฐบาลในตอนนี้

     หลังจากมีข่าวที่ทำให้ทีมเศรษฐกิจใจหายใจคว่ำเมื่อต้นปีว่าAlibaba จะเปลี่ยนแผนการสร้างศูนย์กระจายสินค้า (e-commerce hub) จากไทยไปที่มาเลเซีย พร้อมกับภาพของแจ็ค หม่า กับ นาจิบ ราซัค ผู้นำมาเลเซียเปิดเขตการค้าเสรีดิจิทัลมูลค่ากว่า 55,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ก็เพิ่งตั้ง แจ็ค หม่า เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจดิจิทัลไปเมื่อปลายปี 2559

     แม้ภายหลังจะออกมาชี้แจงว่ายังคงจะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าสำหรับประเทศซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยจะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ระยะยาว ส่วนมาเลเซียจะเป็นการเชื่อมโยงอีคอมเมิร์ซระหว่างจีนและมาเลเซีย จะโฟกัสที่ตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน แยกกันชัดเจน แต่ก็ถือว่าหมุดตัวแรกของ Alibaba ที่ปักในอาเซียนเป็นมาเลเซีย ไม่ใช่ประเทศไทย เพราะความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานตลอดจน ‘ความชัดเจน’ ของนโยบายทางด้านเศรษฐกิจด้วย การมาเยือนของแจ็ค หม่า รอบนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญของทีมเศรษฐกิจของ ดร. สมคิด ที่จะพลาดไม่ได้

 

Photo: REUTERS

 

     ขณะที่นักธุรกิจที่เติบโตจนหายใจรดต้นคอ Alibaba อย่าง ริชาร์ด หลิว แห่ง JD.com ก็ให้สัมภาษณ์ว่า จะใช้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางของอีคอมเมิร์ซเช่นเดียวกัน โดยมองไทยเป็นฐานสำหรับการทำตลาดอาเซียนฝั่งตะวันออก พร้อมประกาศจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ด้วย ทั้งระบบโดรน บิ๊กดาต้า และคลาวด์คอมพิวติ้งขนาดใหญ่

     ดูเหมือนริชาร์ดจะเร่งเครื่องออกตัวได้เร็วกว่าแจ็ค หม่า เสียอีก ด้วยการจับมือกับเครือเซ็นทรัลทำธุรกิจด้วยดีลกว่า 15,000 ล้านบาทสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซและฟินเทค ซึ่งเป็นการประกาศชัดเจนว่าเขา ‘เอาจริง’ กับการสร้างฐานที่มั่นในไทย และงัดข้อกับ Alibaba เต็มตัว

     ทั้งนี้ริชาร์ด หลิว มีกำหนดการมาเยือนไทยเพื่อหารือยุทธศาสตร์การลงทุนในไทยและภูมิภาคอาเซียนต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

     ภายในไม่กี่สัปดาห์นับจากนี้ เราคงเห็นนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ สมคิด ต้อนรับแขกคนสำคัญกันคึกคัก

     ไม่ว่าใครจะมาก็ตามที ล้วนเป็นผลดีกับประเทศไทย เพราะแสดงว่าทุนระดับโลกยังมองเห็นศักยภาพของที่ตั้งประเทศ และโอกาสทางธุรกิจสำหรับการรุกฆาตตลาดอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดดเด่นที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก และรัฐบาลก็หวังเหลือเกินกับการ ‘ประเดิม’ การลงทุนจากยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในพื้นที่อีอีซีที่ชูจุดขายเรื่องของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและนวัตกรรมมาโดยตลอด และจะถือเป็น ‘ผลงาน’ ของรัฐบาล คสช. ที่จะลดแรงกดดันจากกระแสวิจารณ์เรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจได้พอสมควร

 

อ้างอิง:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0