โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เตือน 17-19 ต.ค. ฝนถล่มหนัก เน้น ‘ภาคกลาง’ กทม.

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

เผยแพร่ 16 ต.ค. 2560 เวลา 22.20 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

เน้น ‘ภาคกลาง’ กทม.เตรียมรับ อาจ-จมบาดาล

นายกฯกำชับกรมชลประทานบริหารน้ำให้ดี และเตือนประชาชนให้เข้าใจ คนกรุงยังมีฝนตกหนักอีกระลอก ลพบุรีน้ำท่วมขังหลายวันเริ่มเน่าเหม็น ชาว ต.โผงเผง จ.อ่างทอง เดินลุยน้ำนานจนเท้าเปื่อย ส่วนอยุธยาตั้งแนวป้องกันพื้นที่ชั้นใน ที่ อ.สามโคก ยังอ่วมน้ำท่วมกว่า 1 เมตร กรมอุตุฯแจ้งเตือน 17-19 ต.ค. จะมีฝนตกหนัก

มวลน้ำจากภาคเหนือไหลลงสู่ภาคกลางอย่าง ต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยา เขตเทศบาลนครนครสวรรค์ 5 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนบางปรอง ชุมชนวัดตะแบก ชุมชนสถานีรถไฟปากน้ำโพ ชุมชนตลาดใหม่ และชุมชนเกาะยม ชาวบ้านได้รับผลกระทบรวม 676 ครัวเรือน แต่ละชุมชนมีน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 30-80 ซม. ส่วนชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 4 ต.แควใหญ่ อ.เมืองนครสวรรค์ เร่งขนที่นอน ข้าวของเครื่องใช้ รถยนต์ และสัตว์เลี้ยง หนีน้ำท่วมขึ้นมาพักอยู่บนสะพานแควใหญ่พัฒนา หลังแม่น้ำน่านล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องบางจุดสูงกว่า 1 เมตร

ขณะที่นายธนาคม จงจิระ ผวจ.นครสวรรค์ พร้อมด้วย นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครสวรรค์ ลงพื้นที่มอบข้าวสาร อาหารแห้ง และยารักษาโรค เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยในเบื้องต้นแล้ว พร้อมแจ้งเตือนให้ชาวบ้านเฝ้าในพื้นที่ติดตามข่าวสารจากท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่าระดับน้ำเจ้าพระยายังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง

ที่เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ระดับน้ำเหนือเขื่อนยังคงตรึงไว้ที่ 16.87 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนปริมาณการระบายที่จุด C2 นครสวรรค์ อยู่ที่ 2,854 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้เขื่อนเจ้าพระยาต้องเร่งระบายมวลน้ำจากทางภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง ด้านนางปวีณ์นุช พุ่มพฤกษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า พื้นที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำ 2,616 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำที่ล้นตลิ่งสูงขึ้น ประชาชนได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ 34 ตำบล 65 หมู่บ้าน 2,596 ครัวเรือน ขณะนี้เจ้าหน้าที่จัดเต็นท์ที่พักชั่วคราวริมถนนไว้ให้บริการกับชาวบ้านที่ประสบภัย จัดหาอาหารและน้ำดื่มพร้อมดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

พ.อ. (พิเศษ) ปิยะทัต บุปผาอินทร์ รอง ผอ. กอ.รมน. จังหวัดชัยนาท พร้อมกำลัง นำน้ำดื่มมาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมที่หมู่ 5 ต.โพนางดำออก อ.สรรพยา พร้อมพูดคุยให้กำลังใจ และสอบถามความเป็นอยู่ ส่วนทหารจากกองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ นำถุงดำมาแจกจ่ายไว้สำหรับใช้สุขาเคลื่อนที่ให้กับเด็กและคนชรา

ที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำท่วมเอ่อล้นบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านใน อ.สองพี่น้อง มี 2 เทศบาล 13 ตำบล รวม 140 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำท่าจีน ที่ตลาดสดบางลี่เทศบาลเมืองสองพี่น้อง ระดับน้ำในคลองสองพี่น้องสูงกว่าพื้นตลาดประมาณ 1.5 เมตร เจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 เครื่อง เพื่อระบายน้ำออกจากตลาดแล้ว ขณะที่กรมชลประทานเร่งระบายน้ำเหนือทำให้พื้นที่ อ.สองพี่น้องน้ำล้นตลิ่งทั้ง 2 ฝั่งคลอง เจ้าหน้าที่เปิดประตูน้ำโพธิ์พระยาเร่งระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. ประมาณน้ำ 192.09 ลบ.ม.ต่อวินาที จนถึงวันที่ 16 ต.ค.ปริมาณน้ำอยู่ที่ 224.35 ลบ.ม.ต่อวินาที

ชาวบ้าน ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ยังประสบภัยน้ำท่วม 493 ครัวเรือน ชาวบ้านเดือดร้อน 1,473 คน หลายครอบครัวต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านที่น้ำท่วมขังสูงกว่า 30 ซม.นานกว่า 1 เดือน นางสำรวย ทองชุม อายุ 53 ปี ชาวบ้าน ต. โผงเผง เปิดเผยว่า น้ำจากคลองโผงเผง สาขาแม่น้ำเจ้าพระยา เอ่อล้นเข้ามาท่วมบริเวณบ้านนานกว่า 1 เดือน ต้องเดินลุยน้ำทุกวันจนเท้าเริ่มเปื่อยแล้ว เข้าห้องส้วมก็แสนลำบาก ต้องพายเรือไปอาศัยบ้านญาติที่น้ำไม่ท่วมถ่ายทุกข์ เริ่มเครียดเนื่องจากข้าวของที่แช่น้ำนานๆ เกิดการเสียหาย รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานมีพิษหนีมาตามน้ำเข้าไปซุกอยู่ตามตู้เสื้อผ้า และที่นอนหวั่นเกิดอันตราย ขณะที่บริเวณสถานีวัดระดับน้ำ C7A หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง มีระดับอยู่ที่ 8.79 เมตร จากระดับตลิ่ง 9.32 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,590 ลบ.ม.ต่อวินาที และยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จ.ลพบุรี ระดับน้ำในแม่น้ำลพบุรีเริ่มเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ 2 ฝั่ง เป็นพื้นที่ต่ำเข้าท่วมในเขต ต.หนองเมือง ต.พุคา ต.บ้านกล้วย ต.หนองน้ำทิพย์ อ.บ้านหมี่ ระดับน้ำเริ่มทรงตัว แต่การระบายน้ำไม่สามารถเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะระดับน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก มีระดับสูงกว่า ต้องใช้เครื่องสูบน้ำระบายออกไปทำให้ล่าช้า น้ำเริ่มเน่าส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยเฉพาะในเขตบ้านมะขามเฒ่า ต.หนองทรายขาว อ.บ้านหมี่ และนอกจากนี้ชาวบ้านยังขาดแคลนน้ำดื่มอีกด้วย

ที่ศาลาอเนกประสงค์ เทศบาลตำบลทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทยพระราชทาน พร้อมน้ำดื่ม 3,000 ชุด ไปมอบให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ต.อินทร์บุรี และ ต.ทับยา จำนวน 1,347 ชุด มีนายศิริชัย ศรีเหนี่ยง รอง ผวจ.สิงห์บุรี รายงานสถานการณ์อุทกภัย จากนั้นในช่วงบ่ายเดินทางไปที่ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี มอบชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทยพระราชทาน พร้อมน้ำดื่ม 1,653 ชุด ให้กับราษฎรที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ ต.ชีน้ำร้าย และ ต.ท่างาม สร้างความปลาบปลื้มใจ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ที่ อ.พระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมพื้นที่รอบนอกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา นายกฤษณ์ เถียนมิตรภาพ เลขานุการนายกเทศมนตรี เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ระดมกำลังเจ้าหน้าที่และจิตอาสา นำกระสอบทรายมากั้นที่ประตูน้ำที่ปากคลองมหาชัยที่น้ำจากแม่น้ำลพบุรีจะไหลเข้าทางตลาดหัวรอ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายน้ำในคลองมะขามเรียงออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

จ.ปทุมธานี บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ยังคงวิกฤติระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังคงสูง นางประเสริฐศรี หอมยก ชาวบ้านใน อ.สามโคก เปิดเผยว่า น้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ต้องยกข้าวของขึ้นที่สูงอยู่ในสภาพติดเกาะออกไปไหนไม่ได้ น้ำท่วมมา 1 สัปดาห์แล้ว นอกจากนี้ น้ำยังเอ่อท่วมลานวัดหลายแห่ง อาทิ วัดบางนา ต.บางโพธิ์เหนือ อ.สามโคก น้ำท่วมสูงกว่า 60 ซม.ทะลักเข้าโบสถ์ และวิหารของหลวงปู่เส็ง จันทรังสี พระและเณรออกบิณฑบาตด้วยความลำบาก

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำ และฝนตกหนักใน 1-2 สัปดาห์นี้ว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความห่วงใยต่อความเดือดร้อนของประชาชน สั่งการให้ทุกส่วนเร่งคลี่คลายสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำที่เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตร อย่างไรก็ตาม จากการเร่งพร่องน้ำออกจากลำน้ำ กระจายน้ำเข้าทุ่งแก้มลิง รวมถึงแผนฉุกเฉินที่รัฐบาลมอบให้แต่ละจังหวัดเร่งดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงที่ คาดว่าจะสามารถรองรับ และคลี่คลายสถานการณ์น้ำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน รวมทั้งการระบายน้ำเพิ่มของเขื่อนอุบลรัตน์และน้ำทะเลหนุน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ สถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่อยู่ในระดับเฝ้าระวังและระดับวิกฤติ โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำจากทางตอนบนไหลมาสมทบ หรือมีฝนตกในพื้นที่รับน้ำบริเวณลุ่มน้ำ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในลำน้ำพองและลำน้ำชีส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง น้ำไหลหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ ในช่วงวันที่ 15-30 ต.ค.นี้

นายชยพลกล่าวว่า ปภ.ประสาน 34 จังหวัดริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย แม่น้ำลาว ได้แก่ เชียงราย แม่น้ำยม ได้แก่ แพร่ พิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร แม่น้ำปิง ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ตาก และกำแพงเพชร แม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ แม่น้ำป่าสัก ได้แก่ เพชรบูรณ์ และลพบุรี แม่น้ำสะแกกรัง ได้แก่ อุทัยธานี แม่น้ำท่าจีน ได้แก่ สุพรรณบุรี และนครปฐม แม่น้ำชี ได้แก่ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และกาฬสินธุ์ และแม่น้ำมูล ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เตรียมพร้อมรับมือ ผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ควบคุมการเปิด-ปิดการระบายน้ำให้สอดคล้องกับระดับการขึ้น-ลงของน้ำทะเล พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ วิเคราะห์แนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงจากปริมาณน้ำท่าและปริมาณน้ำฝน รวมถึงปริมาณน้ำไหลผ่าน

ขณะที่นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกกรมชลประทานเข้าไปสอบถามถึงสถานการณ์น้ำ ฝน และการบริหารจัดการน้ำ อาทิ แม่น้ำชี มูล เจ้าพระยา รวมถึงภาคใต้ จะมีน้ำท่วมตรงจุดไหนอย่างไร กำชับเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้ดี เนื่องจากกังวลว่าสถานการณ์น้ำในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค. ที่กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า จะเกิดร่องความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวไปทางภาคใต้ ทำให้เกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ กรมชลประทานมีการเตรียมการรับมืออย่างไรบ้าง และชี้แจงให้ประชาชนรับทราบหรือยัง นายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงและเตือนประชาชนให้เข้าใจในสถานการณ์

ทั้งนี้ กรมชลประทาน นำเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำ ลงไปในพื้นที่ภาคใต้เพื่อเตรียมรับมือปริมาณฝนที่จะตกแล้ว ส่วนภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ คาดว่าในวันที่ 17-19 ต.ค. จะมีปริมาณฝนประมาณ 50-60 มิลลิเมตร (มม.) ต่อวัน มีโอกาสทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำขังในพื้นที่ลุ่มต่ำใน กทม. เพราะประสิทธิภาพการระบายน้ำในบางจุดของ กทม.มีจำกัด โดยเฉพาะถนนสายหลักต่างๆ ได้แก่ วิภาวดีรังสิต ลาดพร้าว และสุขุมวิท ประชาชนในพื้นที่ควรเตรียมพร้อมรับมือด้วย

สำหรับพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา กรม ชลประทานจะยังควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนในเกณฑ์ไม่เกิน 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ และใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทั้งสองฝั่งรับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งต่างๆ รวม 12 ทุ่ง เพื่อช่วยลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมากกว่า 1,183 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำรวมกันได้อีกกว่า 310 ล้าน ลบ.ม.

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า พายุไต้ฝุ่น “ขนุน” (Khanun) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน หรือด้านตะวันออกของเกาะไหหลำ มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และอ่าวตังเกี๋ย ในช่วงวันที่ 16-17 ต.ค. และจะอ่อนกำลังลง พายุโซนร้อน พายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ จะส่งผลทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น เริ่มจากด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนในวันที่ 16 ต.ค. ในช่วงวันที่ 17-19 ต.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระวังน้ำท่วมขังและลมกระโชกแรง

รายงานแบบจำลองภูมิอากาศ (วาฟ) สถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ระบุว่า พายุไต้ฝุ่นขนุน อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน จากนั้นก็จะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว แล้วหายไปเลยตั้งแต่ยังไม่ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม ไม่มีผลกับประเทศไทยโดยตรง อย่างไรก็ตาม ทำให้ร่องมรสุมจากเดิมที่จะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ก็จะเปลี่ยนไปพาดผ่านทางภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. มรสุมจะเลื่อนกลับลงมาบริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออกอีกครั้ง ส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณเขตดุสิต ดินแดง จตุจักร บางพลัด หลักสี่ วังทองหลาง และปริมณฑล รวมทั้งภาคตะวันตกบางพื้นที่ คือ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี มีฝนตกหนักถึงหนักมาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0