อยู่บ้านนะ อย่าดื้อ! หลายคนคงเคยเห็นวลีนี้ขึ้นฟีดรัวๆ บนโลกออนไลน์กันมาบ้าง จะว่าไปก็เป็นวลีที่เหมาะเจากับสถานการณ์ตอนนี้ของเมืองไทยมากทีเดียว เพราะหลังจากทางการ "ประกาศเคอร์ฟิว" ไปเมื่อวานนี้ ส่งผลให้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามประชาชนออกนอกบ้านเวลา 22.00-04.00 น. ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุบการระบาดของโรค "โควิด-19"
โดยใจความสำคัญของการ "ประกาศเคอร์ฟิว" ดังกล่าวสามารถอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ประชาชนทั่วไปห้ามออกจากบ้านในเวลาที่กำหนด แต่ยกเว้นให้กลุ่มคนบางอาชีพ และ/หรือ เจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานตามคำสั่งของทางการ โดยต้องมีเอกสารรับรองความจําเป็น หรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้า หรือเอกสารการเดินทางและมีมาตรการป้องกันโรคตามข้อกําหนด (ฉบับที่1) ได้แก่
- ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
- ผู้ปฏิบัติงานการธนาคาร
- ผู้ปฏิบัติงานการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์
- ผู้ปฏิบัติงานการขนส่งน้ํามันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อการนําเข้าหรือส่งออก
- ผู้ปฏิบัติงานด้านการขนย้ายประชาชน ไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ
- กลุ่มอาชีพที่ต้องเข้าออกเวรทํางานผลัดกลางคืนตามปกติ
- การเดินทางออกมาจากท่าอากาศยาน หรือเดินทางไปยังท่าอากาศยาน
- เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกําหนด ประกาศ หรือคําสั่งต่างๆ ของทางราชการ หรือด้วยมีเหตุจําเป็นอื่นๆ โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
- เมื่อ "เคอร์ฟิว" เปลี่ยนวิถีชีวิตของบางคน
เอาเป็นว่าคนทั่วไปที่ไม่เข้าข่ายกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น ก็ต้องอยู่บ้านตามกำหนดเวลาเท่านั้น! เรื่องนี้ถือว่าไม่ยากเลยสำหรับคนที่ชอบกลับบ้านตอนเย็นเป็นปกติ แต่กับบางคนที่ชอบเข้าสังคมหรือชอบกิจกรรมนอกบ้าน พอต้องกลับบ้านเร็วขึ้นและอยู่บ้านนานขึ้นกว่าปกติ ก็อาจจะเกิดความเหงา ความเครียด หรือเกิดอาการเบื่อหน่ายได้ แต่ว่าถึงแม้จะเหงาหรือเครียดยังไงก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งใน "ประกาศเคอร์ฟิว" อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยกันลดการแพร่กระจายโรค "โควิด-19" ในประเทศไทยให้จบเร็วที่สุด
ส่วนการจัดการเรื่องด้านความรู้สึกนั้น เรามีทางออกมาแนะนำให้ แต่ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับอารมณ์ความเหงาหรือความเครียดเหล่านี้กันสักหน่อย จะได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นและนำไปสู่การแก้ไขที่ตรงจุด
รศ.ดร.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ จากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เคยให้แนะนำในบทความวิชาการเอาไว้ว่า "ความเหงา" เกิดจากการไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ (อาจด้วยเหตุปัจจัยบางอย่าง) โดยวิธีแก้ไขง่ายๆ ก็คือ ให้พยายามกลับมาเชื่อมโยงกับตนเองให้มากขึ้น จะช่วยบรรเทาความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวลงได้ ซึ่งการเชื่อมโยงกับตนเองนั้น หมายถึง การกลับมาใส่ใจรับฟังความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตนเองด้วยความเข้าใจ, เข้าใจความสุข ความทุกข์ ที่เกิดขึ้นในจิตใจและในร่างกายของตนเอง, หมั่นดูแลตนเองให้มากขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ
นพ.ชัชวาลย์ ย้ำว่า การกลับมาเชื่อมโยงกับตัวเองสามารถช่วยคลายเหงาได้ การยอมรับความเหงาถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าเกลียดมันก็คือเกลียดตัวเอง ไม่เชื่อมโยงกับตัวเอง เมื่อเชื่อมโยงกับตัวเองได้แล้ว ความบีบคั้น ทรุนทุรายก็จะเบาลง จิตใจมั่นคงขึ้น ทั้งหมดนี้ต้องฝึกฝนเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่หลงจมไปกับความเหงา"
ในทำนองเดียวกันกับ รศ.ดร.ภญ.ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาวะความเครียดในบทความวิชาการเอาไว้ว่า "ความเครียด" เป็นภาวะของอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ และทำให้รู้สึกกดดัน ไม่สบายใจ วุ่นวายใจ กลัว วิตกกังวล ตลอดจนถูกบีบคั้น ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่คุกคามจิตใจและอาจส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลได้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม:
ฮาวทูอยู่บ้านกับ ‘พ.ร.ก. ฉุกเฉิน’ เปิด 10 วิธีใช้ชีวิตให้แฮปปี้
เปิดวิธีคลายเหงาเมื่อ Extrovert ต้อง 'อยู่บ้าน' หนีโควิด-19
- 5 วิธีอยู่บ้านช่วง "เคอร์ฟิว" ให้หายเหงาลดเครียด
สำหรับวิธีที่จะช่วยให้เอาชนะความเครียดได้นั้น ภญ.ศรีจันทร์ แนะนำให้เริ่มจากวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด แล้วพิจารณาดูว่าสามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้หรือไม่ หากแก้ไขไม่ได้อาจต้องหาวิธีอื่นๆ ในการจัดการกับความเครียด เช่น ออกกำลังกาย การพักผ่อน การรับประทานอาหารที่ชอบ การอาบน้ำอุ่น สร้างอารมณ์ขัน การดูภาพยนตร์ การฟังเพลง การฝึกทำสมาธิ การใช้เทคนิคความเงียบ เพื่อหยุดความคิดของตัวเองในเรื่องที่ทำให้เครียด เป็นต้น
นอกจากนี้อาจใช้เทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์มาเป็นตัวกลางในการพบปะเพื่อนๆ เพื่อคลายเหงาก็ได้ เรามีวิธีแก้เหงาแก้เครียดแบบต่างๆ มาแนะนำ ดังต่อไปนี้
1. งดปาร์ตี้ที่ร้านนอกบ้าน เปลี่ยนมาปาร์ตี้ออนไลน์
ท่ามกลางสถานการณ์ "ประกาศเคอร์ฟิว" แบบนี้ อยากให้คนไทยช่วยกันปรับตัวและร่วมมือกันให้มากที่สุด โดยการงดออกไปเที่ยวหรือปาร์ตี้นอกบ้าน แล้วลองเปลี่ยนมาเป็น "ปาร์ตี้ออนไลน์" วิธีนี้น่าจะช่วยให้คนที่ชอบเข้าสังคมกลับมาแฮปปี้ได้อีกครั้ง โดยการใช้เทคโนโลยีวิดีโอคอลให้เป็นประโยชน์ นัดเพื่อนๆ ผ่านออนไลน์ได้เลย แล้วจัดเครื่องดื่มของแต่ละคนเตรียมไว้ แล้วเปิดหน้าร่วมดื่มและเมาท์มอยกันได้สนุกสนานไม่แพ้กัน แต่หัวข้อการพูดคุยอาจจะกลายเป็นเรื่องโรคโควิด-19 มากกว่าเรื่องอื่นๆ ที่เคยเม้าท์กันในช่วงปกติ
2. ทำลิสต์ดูหนัง ฟังเพลงที่ชอบ
เมื่อต้องกลับบ้านเร็วขึ้น ก็มีเวลาว่างมากขึ้น และคงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการดูหนังเรื่องโปรดหรือฟังเพลงที่ชอบให้อิ่มเอมใจ แต่อยากเตือนไว้สักนิดว่าอย่าดูหนังติดต่อกันเกิน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เพราะจะเข้าข่ายภาวะเสพติดเทียมหรือ Binge Watching (การดูซีรีส์ติดต่อกันนานหลายชั่วโมง) ซึ่งผลเสียที่จะตามมาก็คือ ความเครียดสะสม ความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า มีพฤติกรรมเสพติดการดูทีวีแทนที่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างจนเข้าสู่สภาวะ "ตัดขาดทางสังคม" ได้ ดังนั้นก็ควรจำกัดชั่วโมงการดูหนังให้พอดีๆ ไม่เกิน 3-4 ชั่วโมงต่อวัน
3. งดกินข้าวนอกบ้าน เปลี่ยนมาทำกินเองบ้างก็ดี
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกินข้าวตามร้านอาหารนอกบ้าน ก็มีส่วนทำให้ "โควิด-19" แพร่ระบาดมากขึ้น เป็นเหตุผลหลักในการ "ประกาศเคอร์ฟิว" ครั้งนี้ โดยเฉพาะร้านอาหารกึ่งบาร์ที่มักจะเปิดช่วงค่ำไปจนถึงดึกก็ต้องปิดร้านเร็วขึ้น ส่วนผู้บริโภคเองก็ต้องกลับบ้านเร็วขึ้นเช่นกัน ถ้ามองเรื่องนี้ในแง่ดีจะพบว่าจริงๆ แล้ว การงดกินข้าวนอกบ้านบ่อยๆ ก็ทำให้ช่วยประหยัดรายจ่ายไปได้เยอะ
อีกอย่างการทำอาหารที่บ้าน (สำหรับคนที่ชอบทำอาหารอยู่แล้ว) ก็ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ช่วยแก้เบื่อและคลายเครียดได้ด้วย แต่สำหรับคนที่ไม่เคยทำอาหารเองเลย ลองหัดทำดูสักครั้งก็ไม่เสียหลายเป็นการเพิ่มเสน่ห์และอัพสกิลให้ตัวเองไปด้วยในตัว ไม่ต้องเป็นเมนูยากระดับมิชลินสตาร์หรอก เอาเมนูง่ายๆ ที่ชอบกินเป็นประจำนี่แหละเหมาะที่สุด
4. ฆ่าเวลาให้เกิดประโยชน์ อัพสกิลด้านภาษา
เวลาว่างที่คุณได้เพิ่มมาจากการ "ประกาศเคอร์ฟิว" นอกจากใช้มันสำหรับผ่อนคลายตัวเองอย่างการดูหนัง ฟังเพลง หรือปาร์ตี้ออนไลน์แล้ว ลองมองอีกมุมก็สามารถใช้เวลาส่วนนั้นมาเพิ่มทักษะด้านภาษาให้ตัวเองโดยการเรียนภาษาผ่านออนไลน์ได้สบายๆ ยิ่งในยุคนี้มีเทรนด์การทำงานแบบที่เรียกว่า GIG Economy หรือการทำงานที่เป็นครั้งๆ ตามความต้องการ (on demand) มากขึ้น เป็นการทำงานแบบชั่วคราว ไม่เต็มเวลา และมีความเป็นอิสระ ซึ่งมีผลสำรวจจาก Temp Job Market Salary Trend 2019 – 2020 พบว่ากลุ่มงานที่ใช้ทักษะด้านภาษา โดยเฉพาะทักษะภาษาจีนและญี่ปุ่น กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดเพราะเป็นทักษะเฉพาะทาง มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 18,000-100,000 บาทเลยทีเดียว
5. ดูแลสุขภาพ เข้านอนเร็วขึ้น ก็ตื่นได้เช้าขึ้น
เมื่อการ "ประกาศเคอร์ฟิว" ทำให้บางคนมีเวลาอยู่บ้านนานขึ้น เพราะต้องรีบกลับบ้านเร็ว ก็ควรลองใช้โอกาสนี้แหละมาปรับสมดุลร่างกายเพื่อสุขภาพที่ดี ด้วยการเข้านอนให้เร็วขึ้น และตื่นให้เช้าขึ้น หลังจากตื่นนอนก็แบ่งเวลามาออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง ปรับการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายได้ดีขึ้น เช่น ระบบขับถ่ายดีขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ระบบการย่อยอาหารดีขึ้น เป็นต้น แล้วยังมีเวลาเหลือเฟือในการะเตรียมตัวไปทำงานแบบชิลๆ ไม่ต้องรีบ พอร่างกายเซ็ตระบบได้ตามนาฬิกาชีวิตแบบนี้ รับรองว่าคุณจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแน่นอน แต่ถ้ายังนอนดึกเป็นกิจวัตรเหมือนเดิมอาจจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและส่งผลกระทบให้อายุสั้นได้ด้วย ถ้าอยากรู้เรื่องนี้ให้มากขึ้นก็เข้ามาอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่: อวสานคนนอนดึก นอนน้อยกว่า 6 ชม. เสี่ยงตายเร็ว!
ความเห็น 19
Monty
ขอเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง..เพราะ4ทุ่มถึงตี4 ยังฝันไม่จบเลย
04 เม.ย. 2563 เวลา 02.14 น.
เซฟจั๊บ
บรรยายมาเนี่ยมึงรู้มั้ย. ไม่มีเงินจะแดก. ให้ทำไงเอาอะไรมาบรรยายไม่รู้
04 เม.ย. 2563 เวลา 02.06 น.
老頑童
นอนสิครับ เวลานอน
04 เม.ย. 2563 เวลา 02.02 น.
อันดับแรกเลยก็ต้องทำใจยอมรับกับความเป็นจริงให้ได้ก่อน แล้วความคิดก็จะตามมาว่าควรที่จะทำอะไรดี.
04 เม.ย. 2563 เวลา 02.01 น.
somsak
เครียดตรงที่รัฐไม่ประกาศไห้นายจ้างหยุดงานก็ต้องไปทำงานตามปกติหากไม่ไปทำงานเขาก็ไล่ออก
ควรทำอย่างไรดี
อยากหยุดจ้า... ไครมีความคิดเห็นอย่างไรช่วยหนอ่ยครับ
04 เม.ย. 2563 เวลา 01.58 น.
ดูทั้งหมด