โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ถ่ายภาพยังไงให้ออกมาดี? 7 วิธีสำหรับมือใหม่

The MATTER

อัพเดต 06 พ.ย. 2560 เวลา 04.30 น. • เผยแพร่ 04 พ.ย. 2560 เวลา 12.40 น. • Rave

อยากถ่ายภาพแต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง มีกล้องแล้วแต่ไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหน การถ่ายภาพให้ดีนอกจากจะกระทำทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์คู่ใจ และฝึกฝนจนเป็นทักษะแล้ว ยังมีเทคนิคอะไรที่ทำให้ภาพถ่ายออกมาดี

ช่างภาพมือใหม่และคนรักการถ่ายภาพเชิญทางนี้ The MATTER ไปสอบถามเหล่าคนถ่ายภาพมาให้ ว่าส่วนตัวแล้วแต่ละคนมีเทคนิคอย่างไรให้ภาพแต่ละใบออกมาดี มีทั้งช่างภาพอาชีพ ช่างภาพสายสตรีท สายท่องเที่ยว ไปจนช่างภาพสายชีวิตสัมพันธ์ มีคน มีต้นไม้ มีสัตว์ป่า เอ้า! จด

Cai LianJie

อาชีพ Production Designer / Art Director

"ถ้าหากในแง่การทำงานเราว่ามันคงเป็นความเข้าใจมั้งครับ เข้าใจตัวเองว่าถ่ายทำไม ถ่ายเพื่ออะไร เข้าใจซับเจกต์ที่จะถ่าย บริบท สถานที่ บรรยากาศแวดล้อมตรงนั้น คิดว่าถ้าเข้าใจก็จะรู้ว่าเราควรทำอะไรทั้งในแง่ของวิธีการถ่ายภาพรวมถึงการวางตัวของผู้ถ่ายด้วย อย่างงานส่วนใหญ่เราถ่ายภาพเบื้องหลัง ซึ่งแต่ละกองถ่ายก็มีวิธีการทำงานแตกต่างกันไป เราต้องเข้าใจว่าการที่เขาเลือกเรามาถ่ายภาพเบื้องหลัง เขาต้องการอะไรจากเรา แต่ละกองมีวิธีการทำงานยังไง แล้วเราก็จะรู้ว่า เราควรใช้กล้องอะไร เลนส์ระยะไหน ฟิล์มตัวไหน ตอนไปอยู่ในกองเราควรทำตัวยังไง

"ก่อนที่เราจะบันทึกอะไรเราควรเข้าใจโลกที่มันไม่ได้อยู่ในเฟรมด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าหากเป็นภาพถ่ายส่วนตัวก็คงต้องรู้สึกแหละครับถึงจะถ่ายออกมาได้ เราว่าเราไม่เก่งพอที่จะถ่ายภาพที่เราไม่รู้สึกอินกับมันให้สวยได้เลย"

พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

อาชีพ : Leica Ambassador (Thailand) /ช่างภาพประจำตัวเลขาธิการรัฐสภาอาเซียน (The AIPA Secretariat)

Instagram :  @addcandid

"หาอะไรรองท้องก่อนเดินทางถ่ายภาพ (แต่อย่าให้อิ่มท้องจนเกินไป) หมายรวมถึงการเสพภาพก่อนออกไปถ่ายเช่นกันครับ เตรียมอุปกรณ์ที่ถนัดติดตัวอยู่เสมอ กล้องที่ชอบ ระยะเลนส์ที่ถนัด ออกเดินทางไปยังสถานที่ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดซีน หรือสถานที่ที่เราชอบ และอยากไป หาซับเจกต์จากสิ่งแวดล้อมนั้นๆ พร้อมกับตั้งค่ารูรับแสง ความไวแสง สปีดชัตเตอร์ให้ตรงกับสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในภาพครับ บางครั้งอาจจะได้ภาพที่ยังไม่ดีที่สุด แต่เป็นภาพในแบบที่เราชอบให้เก็บภาพนั้นไว้เพื่อเป็นกรณีศึกษาไปพัฒนาภาพถ่ายของตัวเองในรูปแบบซีรีส์ ฯลฯ ครับ

"ป.ล.หาช่างภาพในดวงใจ หรือภาพถ่ายในดวงใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกมาในรูปแบบของตัวเอง ศิลปะไม่มีผิดไม่มีถูกครับ ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพครับ"

มาริษา รุ่งโรจน์

อาชีพ : ครีเอทีฟ / บล็อกเกอร์ ABOVE THE MARS

Instagram : @evemarisa

"ปกติแล้วไม่ค่อยมีเทคนิกทางด้านอุปกรณ์เลย แต่อาศัยการพาตัวเองไปยังที่ที่มีเรื่องราวต่างๆ มากกว่า กับบางภาพก็รอเวลาจนกว่าจะเจอช็อตที่ชอบ แล้วค่อยกดถ่าย ยังเชื่อว่าถ้าในภาพมีเรื่องราว คนที่ดูก็จะสัมผัสมันได้"

ธนพล แก้วแดง

อาชีพ :  Director of Photography at Salmon House

"หลักๆ ผมจะคิดว่า เราอยากให้ final image มันออกมาประมาณไหน ทั้ง compose และทั้งแสงสี อีกอย่างผมว่า ลำพังรูปเปล่าๆ จะจำเจ ถึงสวยแต่ไม่ค่อยน่าจดจำ เดี๋ยวนี้ต้องมีกราฟิก หรือการวางเลย์เอาต์มาช่วย ช่างภาพจึงควรรู้เรื่องกราฟิกไว้ด้วย"

จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต

อาชีพ :  อะไรก็ได้ที่ได้เงิน

Instagram : @poupayphoto

"คิดว่าเรากำลังจะเล่าเรื่องอะไร และจะสื่อสารออกมาแบบไหนให้ตรงตามสิ่งที่เราอยากเล่ามากที่สุด เช่น ถ้าเห็นหมายืนบนหลังคาบ้าน สมมติว่าเราถ่ายแค่หมาแต่ไม่เอาหลังคาบ้าน มันก็จะเป็นภาพหมาน่ารัก แต่ถ้าถ่ายทั้งหมดและหลังคาบ้าน มันก็จะได้ภาพที่ดูสนุกและแปลกตาอีกภาพหนึ่ง"

ยิ่งบุญ จงสมชัย

อาชีพ : อิสระ

Instagram : @im_bearinmind

"1. ในส่วนของการถ่ายภาพธรรมชาติหรือสัตว์ป่านั้น ก่อนจะมองไปถึงว่าใช้เทคนิคอะไรที่จะทำให้ภาพออกมาดี ข้อแรกเลย ขอให้คิดถึงเทคนิคที่สำคัญเบื้องต้นที่หลายคนละเลย มองข้ามหรือไม่ได้ตระหนักกันเท่าที่ควร นั่นก็คือเทคนิคที่เรียกว่า 'ทัศนคติและจิตสำนึกรักษ์ที่ดีต่อธรรมชาติและสัตว์ป่า' ซึ่งเทคนิคนี้มีกฎง่ายๆ คือต้องไม่รบกวนธรรมชาติ การหากิน หรือการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ยกตัวอย่างเช่น หากอยากได้ภาพสวยๆ ต้องไม่ใช้หนอนหรือเมล็ดพืชล่อนกให้ออกมาใกล้ๆ เพื่อถ่ายภาพ หากใช้อาหารล่อ คุณอาจได้ภาพสัตว์ป่าหรือนกสวยๆ ดีๆ หลายใบ แต่ผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว อาจทำให้พฤติกรรมการหากินของนกหรือสัตว์ป่าเปลี่ยนไป หรืออาจถึงขั้นได้รับเชื้อโรคจากหนอนหรือเมล็ดพืชที่เอามาล่อ อาจเกิดเป็นโรคติดต่อ แล้วแพร่กระจายสู่กลุ่มประชากรนกด้วยกันเองและตายในที่สุด

"สิ่งมีชีวิตในธรรมชาตินั้นดำรงชีพอยู่ด้วยหน้าที่ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกัน หากสูญเสียผู้ที่ทำหน้าที่อย่างหนึ่งจะส่งกระทบต่อสิ่งมีชิวิตอื่นๆ อีกหลายชนิด ท้ายที่สุดผลกระทบดังกล่าวอาจย้อนกลับมาหาสิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่ามนุษย์ก็ได้

"2. ข้อที่สองคือเทคนิคที่เรียกว่า 'ทักษะ' นอกเหนือจากทักษะด้านการถ่ายภาพแล้ว สิ่งที่ผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพธรรมชาติทุกคนจำเป็นต้องมีคือทักษะความรู้เกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติในแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์  อย่างสภาพลมฟ้าอากาศในแต่ละฤดูกาล หรือพฤติกรรมสัตว์ป่าก็สำคัญ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงทักษะการดำรงชีพในป่า ความเป็นคนช่างสังเกต มีความอดทน ก็มีความจำเป็นและสำคัญต่อการถ่ายภาพธรรมชาติอยู่ไม่น้อย

"3. ในเรื่องของอุปกรณ์นั้น หากถามว่าการใช้อุปกรณ์ที่มีราคาสูงนับว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ความเห็นส่วนตัวถือว่าตัวอุปกรณ์ที่ดีนั้นมีความจำเป็นและถือเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง ยิ่งอุปกรณ์ราคาสูงมักมาพร้อมฟังก์ชั่นมากมาย ใช้ง่าย สะดวก และตอบโจทย์ต่อการทำงานในสถานการณ์ที่จำเป็นหลายๆ อย่างที่จะทำให้เราได้ภาพที่ต้องการ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องของอุปกรณ์นั้น ไม่มีอุปกรณ์ใดดีที่สุด มีเพียงอุปกรณ์ที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้นการเลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมกับงานจึงเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

"สรุปว่า อุปกรณ์ในการถ่ายภาพที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงเสมอไป หากแต่เป็นอุปกรณ์ที่มีความเหมาะสมและพร้อมใช้งานที่มีอยู่ในมือขณะนั้น ภาพที่ดีอาจไม่ได้เริ่มต้นจากการใช้เทคนิคการถ่ายภาพเสมอไป แต่ทุกๆ ภาพที่ดีมักเริ่มต้นจากแนวคิด จิตสำนึก และทัศนคติที่ดีก่อนเสมอๆ"

สุพัตรา หมั่นแสวง

อาชีพ : Photographer /  Maneemejai Photographer

"การถ่ายภาพมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว เวลาเรามองสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ผ่านกล้องถ่ายภาพ หน้าที่ของเราคือ 'หยุด' โมเมนต์ ณ ขณะนั้น ออกมาเป็น 'ภาพถ่าย' ให้ดีที่สุด เมื่อกดชัตเตอร์ การทำงานแบบรวดเร็วนั้นมันถูกจำกัดอยู่ในส่วนของอดีต และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการรู้สึกไปกับมันจริงๆ ซื่อสัตย์กับความรู้สึกและอารมณ์จริง อย่างเช่น ถ้าเขายิ้ม แล้วเรารู้สึก เรายิ้มตาม เรามีความสุขจริง ถ้าเค้ารู้สึกเศร้า เราได้รับความรู้สึกนั้นไหมภาพถ่ายมันถึงจะมีชีวิต

"เราเคยทำการทดลองกับอาชีพช่างภาพของเราเรื่องความรู้สึกและอารมณ์ เราตั้งคำถามว่า ภายใต้สภาวะการแสดงออกทางความรู้สึกที่ออกมาเป็น 'น้ำตา' ถ้าช่างภาพไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกตัวเองออกมาได้ และมีน้ำตาเหมือนกัน ภาพมันจะออกมาเป็นยังไง เราได้คำตอบออกมาเป็นภาพถ่ายเซ็ตนึง ที่เราดูกี่ครั้งก็รู้สึกเศร้า"

Illustration by Namsai Supavong

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0