โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ปูดเกมหมื่นล้าน 'เน็ตประชารัฐ'

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 10 ก.ย 2560 เวลา 07.36 น.

แหล่งข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการดีอี ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯเป็นประธานเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา พิจารณาโครงการสื่อสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หรือ "เน็ตชายขอบ" ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) มีหนังสือสั่งให้ทบทวนไปถึง 4 ครั้งอ้างโครงการอาจซ้ำซ้อนกับเน็ตประชารัฐของดีอี และไม่คุ้มค่าควรจะให้บริษัททีโอทีซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจทำ แต่นายกฯรัฐมนตรีสั่งให้ กสทช.เดินหน้าโครงการเน็ตชายขอบต่อไป หลังจากนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ชี้แจงถึงกระบวนจัดประมูลและขั้นตอนดำเนินโครงการ

แฉไอ้โม่งยืมมือ สตง.ป่วนเน็ตชายขอบ

แหล่งข่าว เปิดเผยถึงเบื้องหลัง สตง.ส่งหนังสือให้ทบทวนโครงการเน็ตชายขอบของกสทช.ว่า มีกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องการล้มโครงการเน็ตชายขอบสะดุดและหวังให้กสทช.โอนเงินงบประมาณของโครงการนี้เข้ากองทุนดีอี ซึ่งดีอีจะต้องให้บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co.) ที่ตั้งขึ้นมาใหม่และเพิ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินโครงการ

กสทช.จัดประมูลโครงการเน็ตชายขอบในพื้นที่ 3,920 หมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่ต่างๆรวม 8 สัญญาโดยตั้งราคากลางไว้ราว 20,000 ล้านบาท ปรากฎว่า ผู้เข้าร่วมประมูลซึ่งมีทีโอทีร่วมประมูลด้วย เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางที่ 12,800 ล้านบาททำให้รัฐประหยัดงบฯ 700 ล้านบาท

ในเงื่อนไขของการประมูลเน็ตชายขอบ กสทช.กำหนดว่า ผู้ชนะประมูลต้องคิดค่าบริการให้กับประชาชนในพื้นที่ ในราคาที่ต่ำ กสทช.คำนวณว่า ไม่ควรเกิน 200 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน เนื่องจากกสทช.เป็นผู้ลงทุนเชื่อมโครงข่ายเกือบทั้งหมด ผู้ชนะประมูลเพียงแค่โยงสายจากจุดที่กสทช.ติดตั้งอุปกรณ์ไปยังบ้านเรือนประชาชน เป็นการลงทุนที่ต่ำมาก

"ถ้ากสทช.ยกเลิกเน็ตชายขอบเพราะคำท้วงติงจากสตง. เงินงบประมาณทั้งหมดต้องโยนให้กองทุนดีอีทำต่อ ผู้ที่ได้ประโยชน์เต็มๆก็คือทีโอที เพราะจะไม่มีข้อเปรียบเทียบเรื่องอัตราค่าบริการและจะเป็นผู้คุมเกมการจัดซื้อการติดตั้งโครงการอินเตอร์เนตประชารัฐทั้งหมด" แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าว กล่าวว่าในการส่งมอบเน็ตประชารัฐในเฟสแรกไปแล้วกว่า 12,000 หมู่บ้าน แต่ผ่านมากว่า 5 เดือนกระทรวงดีอี และทีโอทีกลับยังไม่สามารถเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านในโครงการเน็ตประชารัฐได้ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อโครงข่ายเข้าไปยังบ้านเรือนประชาชน นอกจากการให้บริการฟรีไวไฟเฉพาะจุด ภายใต้การดำเนินการของสำนักงานเลขาธิการดีอี เท่านั้น

"เหตุที่ดีอียังไม่สามารถเปิดให้บริการได้นั้นก็เพราะ ยังดีอีไม่สามารถเคาะตัวเลขค่าบริการได้ เนื่องจากทีโอทีที่เป็นผู้ติดตั้งยังไม่สามารถแจกแจงต้นทุนค่าบริการติดตั้งและบริการให้ดีอีได้ ในเบื้องต้นนั้นทีโอทีกำหนดราคาเน็ตประชารัฐเอาไว้สูงถึง 599 บาท ใกล้เคียงและสูงกว่าค่าบริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทเอกชนเสียอีก ทำให้ดีอีไม่กล้าประกาศราคาดังกล่าวออกมาด้วยเกรงว่าสวนทิศทางนโยบายเน็ตประชารัฐของรัฐบาลและนายกฯที่ต้องการให้ประชาชนได้ใช้บริการอินเทอร์เน็นราคาถูกเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ต เข้าถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0"

เจอเน็ตชายขอบทุบจน "ไปไม่เป็น"

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อ กสทช.ยืนยันว่าในส่วนของเน็ตชายขอบได้กำหนดค่าบริการเอาไว้เพียงไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน ทั้งที่การดำเนินโครงการเน็ตชายของของ กสทช.นั้นเป็นการดำเนินการในโซน C+ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้มีต้นทุนการดำเนินการที่สูงกว่าเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีมอบหมายให้ทีโอทีดำเนินการ ซึ่งอยู่ในโซน C และเป็นชุมชนที่มีความเจริญกว่า มีต้นทุนติดตั้งและให้บริการต่ำกว่า แต่กลับปรากฏว่าสนนราคาค่าบริการเน็ตประชารัฐที่ทีโอทีกำหนดราคามาแต่แรกนั้นสูงถึง 599 บาท

"เป็นไปได้อย่างไรที่เน็ตประชารัฐที่ติดตั้งในหมู่บ้านและชุมชนที่เจริญกว่า มีต้นติดตั้งต่ำกว่า แต่กลับตั้งราคาสูงกว่าเน็ตชายขอบเป็นเท่าตัว ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะมีขบวนการตั้งราคาเพื่อหวังเงินทอนจากโครงการเน็ตประชารัฐในทางใดทางหนึ่ง"

อย่างไรก็ตามเมื่อดีอีและทีโอทีเห็นว่า กสทช.ยืนยันอัตราค่าบริการเน็ตชายขอบจะมีราคาไม่เกิน 200 บาทโดย บริษัททีโอทีที่เข้าประมูลด้วยก็ยืนยันว่าทำได้จึงทำให้ ทั้งดีอีและทีโอทีต้องกลับมาทบทวนค่าบริการเน็ตประชารัฐของตนเองใหม่ ก่อนจะโค้ตราคาออกมาล่าสุดที่ 399-599 บาท

แต่กระนั้นก็ยังสูงกว่าค่าบริการเน็ตชายขอบที่ กสทช.ดำเนินการ ทำให้นายกฯและบอร์ดดีอีสั่งการให้ ดีอี ทีโอทีและกสทช.ไปร่วมกันหาทางออกเพื่อกำหนดราคาเน็ตประชารัฐให้เป็นอัตราเดียวกัน

"ทีโอทีนั้นรู้อยู่เต็มอก หากดำเนินการเน็ตชายขอบไปตามเงื่อนไขทีโออาร์ที่กสทช.วางเอาไว้คือ 200 บาท/เดือนบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้แน่ เพราะต้นทุนที่แท้จริงนั้นสูงกว่า จึงพยายามยื้อโครงการนี้และหวังจะอาศัยการยืมมือรัฐและสตง.บีบให้โอนโครงการทั้งหมดมาอยู่ในมือของกลุ่ม"แหล่งข่าวชี้

จี้ดีอี-สตง.สอบเชิงลึกเน็ตประชารัฐ

แหล่งข่าว ยังเผยด้วยว่า สิ่งที่กระทรวงดีอีและรัฐบาล รวมทั้งหน่วยงานตรวจสอบอย่าง สตง.ควรจะต้องเร่งหาความกระจ่างในโครงการเน็ตประชารัฐก็คือ การตรวจสอบการใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าว เพราะระยะเวลาร่วมปีที่ทีโอทีดำเนินโครงการไปนั้น ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการใช้เงินและความคืบหน้าในการดำเนินการแต่อย่างใด แม้แต่โครงข่ายเน็ตประชารัฐเฟสแรกที่ทีโอที ที่อ้างว่าติดตั้งและส่งมอบมาให้ดีอีแล้ว 12,000 หมู่บ้าน และเฟส 2 อีกราว 5,000 หมู่บ้านนั้น จนถึงขณะนี้ กระทรวงดีอีที่ก็ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจรับใด ๆ เพราะข้าราชการทีเกี่ยวข้องต่างไม่มีใครยอมเป็นกรรมการตรวจรับ

"จะให้ดีอีเปิดให้บริการเน็ตประชารัฐและประกาศอัตราค่าบริการออกไปได้อย่างไร ทั้งที่ไม่มีการตรวจสอบพัสดุ ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ เหตุใด สตง.ไม่ระแคะระคายหรือไม่คิดจะลงไปตรวจสอบ อย่าลืมว่าเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการนี้ล้วนมาจากภาษีประชาชน และเป็นหน้าที่ของสตง.จะต้องลงไปตรวจสอบการใช้จ่ายภาษีประชาชนที่ว่าคุ้มค่า โปร่งใสหรือไม่"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0