โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

มะระขี้นก ....ผักและสมุนไพรคุณค่าสูง

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 16 ธ.ค. 2560 เวลา 06.40 น.
20171123 115434

มะระขี้นก เป็นพืชสมุนไพรข้างรั้วที่น่าสนใจ  มะระขี้นก มีชื่อเรียกแต่ละท้องที่ อาทิ ทางเหนือเรียก “มะห่อย” ทางภาคอีสานเรียก “ผักไซ” ทางใต้เรียก “ผักไห่”, “ผักเหย”, “ระร้อยรู” และอีกหลายๆ ชื่อ มะระขี้นกเป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในเขตร้อนชื้น

 

*ทวีปเอเชียกินเป็นผัก ชาวอินเดียปรุงเป็นแกง ชาวศรีลังกาปรุงเป็นผักดอง ชาวอินโดนีเซียกินสด ชาวไทยกินหลายรูปแบบเป็นผักต้มจิ้มน้ำพริก กินได้ทั้งยอดอ่อน ฝักอ่อน ฝักแก่ *

มะระขี้นกเป็นพืชไม้เถา มีมือเกาะลำต้นเลื้อยพาดพันตามต้นไม้หรือตามร้าน มีอายุ 1 ปี ลักษณะใบมีหยักเว้าลึกเป็นแฉกๆ 5-6 หยัก ปลายใบแหลมมีสีเขียวอ่อน มีขนอ่อนนุ่มคลุม ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีเหลืองออกบริเวณง่ามใบ

 

*ผลมะระขี้นกมีรูปร่างคล้ายกระสวย ผิวขรุขระ เส้นผ่าศูนย์กลางมีตั้งแต่ 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 3-5  เซนติเมตร แต่ขนาดผลใหญ่กว่านี้ก็มี ผลอ่อนสีเขียวออกขาว ผลแก่สีเขียวเข้ม ผลสุกเป็นสีส้มหรือแดงอมส้ม เมื่อแก่จัดจะแตกออกเป็นแฉกๆ โชว์เมล็ดในที่มีเนื้อหุ้มเป็นตลับ *

ผลขณะที่แตกสวยมาก ล่อตาล่อใจนกมาจิกกิน แล้วถ่ายมูลออกทิ้งไปทั่ว ที่ไหนได้น้ำดีหน่อยก็จะรอเวลางอกออกมาเป็นต้นใหม่ เลื้อยเถาพันกับกิ่งไม้ต้นไม้พุ่มอื่นๆ ที่สูงระดับหัวคนหรือระดับให้คนเอื้อมมือเด็ดยอดเด็ดผลมากินได้

ถ้าคิดจะปลูกมะระขี้นกเป็นการค้าคือ จะปลูกกันเป็นล่ำเป็นสัน ส่งขายตลาดที่รับซื้อไปกินประจำ หรือขยายผลทำประโยชน์ เช่น ผลิตยาสมุนไพร ชาสมุนไพร หรือส่งตลาดสดที่มีคนนิยมบริโภคมากๆ ในท้องถิ่นต่างๆ ต้องขอบอกว่าให้วิเคราะห์ให้ดี มีความเสี่ยงด้านตลาด และต้องหาพันธุ์ที่ให้ผลตอบแทนคุ้ม

ตอนนี้มีผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มะระขี้นกขายแล้ว แต่ถ้าจะเอาแค่ปลูกเล็กๆ เพื่อตลาดผู้บริโภคในท้องถิ่น ก็ขอแนะนำให้ปลูกเป็นแปลง โดยไถพรวนดินให้ลึกเล็กน้อย ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก ปลูกระยะ 50 คูณ 100 เซนติเมตร

โดยวิธีหยอดเมล็ด จะใช้วิธีเพาะกล้าลงถุงก่อนก็ได้ ควรหาเมล็ดที่มีผลโตพอเหมาะเอามาทำพันธุ์ หยอดหลุมละ 2-3 เมล็ด เมื่องอกโตมาสักหน่อยก็ปักหลักทำค้างสูง 2-2.5 เมตร ปักทำเป็นซุ้ม 4 หลักมัดปลายรวมกัน และวางไม้ไผ่พาดหรือขึงเชือก ตามซุ้มหลักเป็นแนวติดต่อกัน

 

เมื่อเจริญเติบโตเลื้อยเถาพันไปทั่วเป็นผืนแปลงใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก็จะติดผลคอยเก็บผลทุกๆ 7 วัน ไร่หนึ่งจะได้ผลประมาณ 3,000 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 5 บาท ได้ไร่ละ 15,000 บาท ต้นทุน ค่าแรง ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าปุ๋ย ค่าเตรียมดินไร่ละ 5,000 บาท ก็ได้กำไรเป็นหมื่น ผลตอบแทนพอได้นะ

การปลูกมะระขี้นกจริงอยู่เป็นเรื่องง่ายๆ แต่ถ้าจะปลูกเป็นการค้า ต้องปลูกดูแลตามหลักวิชาการ การเก็บผลมะระขี้นกจะมีเป็นช่วงฤดูตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะมีผลผลิตในฤดูฝน ก็ประจวบกับช่วงที่มะระขี้นกตามหัวไร่ปลายนาข้างทางข้างรั้วออกมาพอดี

ถ้าจะปลูกเพื่อขายผลสดให้ตลาดสดก็จะไม่คุ้ม จริงอยู่ผลผลิตที่ปลูกตามหลักการเกษตรได้ถึง 2-3 ตันนั้นดีแน่ๆ แต่จะเอาไปขายให้ใครกิน ตลาดผู้บริโภคยังแคบอยู่ แต่ถ้าปลูกส่งโรงงานหรือบริษัทที่ผลิตยา หรือเครื่องดื่มสมุนไพร มีข้อตกลงกันดีๆ ก็เข้าท่าน่าสนใจมาก

ผลมะระขี้นก 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 17 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย 12 กรัม แคลเซียม 3 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 5 มิลลิกรัม เหล็ก 0.2 มิลลิกรัม วิตามินเอ 2924 iu วิตามินบีหนึ่ง 0.09 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.05 มิลลิกรัม วิตามินซี 190 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.4 มิลลิกรัม ผลวิเคราะห์พบว่ายอดอ่อนของมะระขี้นกมีวิตามินเอค่อนข้างสูง

*มะระขี้นกมีสรรพคุณทางยาดีหลายด้าน เป็นยามีพลังของความเย็น ช่วยเจริญอาหาร ยาระบาย ขับพิษ ฟอกเลือด บำรุงตับ บำรุงสายตา รากแก้พิษ ริดสีดวงทวาร แก้พิษดับร้อน แก้บิด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปวดฟันที่เกิดจากลมร้อน *

*น้ำคั้นผลมีสรรพคุณแก้ปากเปื่อย ปากเป็นขุย บำรุงระดู เถาแก้โรคข้อเท้าบวม โรคม้าม โรคตับ ใบดับพิษร้อน ขับระดู ขับลม แก้นอนไม่หลับ ปวดหัว แก้ไอเรื้อรัง ฟอกเลือด เมล็ดแก้พิษ เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ บำรุงธาตุ ต้านมะเร็ง *

และที่เด่นที่สุดมะระขี้นก มีสารออกฤทธิ์ *polypeptide-p ช่วยลดน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน จะกินผลสด ลวก นึ่ง ต้ม จิ้มน้ำพริก หรือหั่นผลใบตากแห้งหรือใช้ผลสด ใบสดต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาที่สุดยอดทั้งนั้น *

*ถ้าใช้วิธีหั่นผลมะระขี้นกตากแห้งไว้ชงน้ำดื่ม ควรเติมใบชาลงไปด้วยเพื่อกลบรสขม น้ำต้มมะระขี้นก ลดการเกิดโรคต้อกระจก ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงของโรคเบาหวาน เมล็ดช่วยกระตุ้นเรื่องเพศ ก็แก้อาการข้างเคียงที่สำคัญของโรคเบาหวานได้ดีด้วย ทดลองมาหลายสมุนไพรแล้วมาได้ที่มะระขี้นกนี่แหละที่รับรองผลได้  *

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0