โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“บิล เกตส์” ทำคลิปยกย่องคนไทย “Heroes in the Field”

PPTV HD 36

อัพเดต 14 ธ.ค. 2560 เวลา 14.13 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2560 เวลา 07.50 น.
“บิล เกตส์” ทำคลิปยกย่องคนไทย “Heroes in the Field”
บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟ ผลิตคลิปวิดีโอตอน “Heroes in the Field” ยกย่อง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรชาวไทย ผู้ซึ่งคิดค้นยาต้านเชื้อเอชไอวี และนำมาขายให้กับผู้ติดเชื้อในประเทศไทย โดยผลงานของเธอทำให้ค่ายาต้านไวรัสถูกลงจาก 40 บาทเหลือ 7 บาทต่อเม็ด ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้ง่ายขึ้นเนื่องจากราคาถูก

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา มีเรื่องราวน่ายินดีสำหรับวงการเภสัชกรไทย และชาวไทยทั่วประเทศ เมื่อ วิลเลียม เฮนรี เกตส์ ที่สาม หรือ บิล เกตส์ นักธุรกิจผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ชาวอเมริกัน ทำคลิปวิดีโอยกย่อง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรชาวไทย ลงบนเฟซบุ๊กแฟนเพจออฟฟิเชี่ยล “Bill Gates” โดยคลิปวิดีโอดังกล่าว ถูกผลิตขึ้นมาในหัวข้อ “Heroes in the Field” พร้อมระบุข้อความว่า “Dr. Krisana Kraisintu, a pharmacist from Thailand, has dedicated her life to making medicines more affordable and accessible. Her efforts have saved and improved countless lives.” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรชาวไทย ผู้ซึ่งทุ่มเทแรงกายของเธอเพื่อผลิตยารักษาโรค ที่ราคาถูกและผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งความพยายามของเธอได้ช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เป็นจำนวนมาก”

การออกมาชื่นชม ดร.กฤษณา ของบิล เกตส์ ครั้งนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจแนวสุขภาพชื่อดังของไทย อย่าง Drama-addict โดยมี นายแพทย์วิทวัส ศิริประชัย เป็นแอดมินเพจ ออกมาระบุว่า “เราไม่ได้เห็นอะไรแบบนี้กันบ่อยๆนะครับ ที่บิล เกตต์ ลงคลิปยกย่องคนไทย และคนที่ บิล เกตต์ ยกย่องคนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก เธอคือวีรสตรีไม่ใช่แค่สำหรับคนไทย แต่สำหรับชาวโลกทั้งปวง เธอชื่อ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ บ้านเดิมเป็นชาวสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เรียนเภสัช และได้ปริญญาเอกที่อังกฤษ”

สำหรับผลงานของ ดร.กฤษณา นายแพทย์วิทวัส ระบุว่า “ย้อนกลับไปตอนช่วงปี 35 เชื้อ เอชไอวี เริ่มระบาดในไทยหนัก แต่ยายังคงมีราคาแพงอยู่มาก จนประชาชนเข้าไม่ถึง ดร.กฤษณา จึงวิจัยเรื่องยาต้านไวรัสมารักษาเอชไอวี จนในที่สุดก็ผลิตยาต้านไวรัส Zidovudine ที่ไทยใช้ถึงปัจจุบัน มาขายในประเทศในราคาถูกมาก ถูกขนาด จากราคายานำเข้า เม็ดละ 40 บาท พอเราผลิตในประเทศได้ เหลือ 7 บาท นอกนั้นยังมียาต้านไวรัสตัวอื่นอีกที่ ดร.กฤษณา ดันราคาลงจาก เม็ดละเกือบ 300 บาท เหลือเพียง 8 บาท จนคนไทยเข้าถึงยาต้านไวรัสกันทั้งประเทศ คุณภาพชีวิตคนไทยที่ติดเชื้อเอชไอวี ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ระหว่างนั้น ดร.กฤษณา ก็โดนบริษัทยาฟ้อง เพราะทำให้บริษัทยาเสียผลประโยชน์ แล้วความเท่ห์คือ พอคนไทยเอาตัวรอดได้ มียาราคาถูกใช้แล้วเธอเดินทางไปแอฟริกาใต้ เพื่อบุกเบิกโรงงานผลิตยาต้านไวรัสที่คองโก ไม่ใช่แค่ยาต้านไวรัสอย่างเดียว ยังรวมถึงยาแผนปัจจุบันอื่นๆอีกหลายตัว จนหลายประเทศในแอฟริกาใต้มียาผลิตในประเทศราคาถูกใช้เหมือนบ้านเรา”

 

Heroes in the Field: Krisana Kraisintu

Dr. Krisana Kraisintu, a pharmacist from Thailand, has dedicated her life to making medicines more affordable and accessible. Her efforts have saved and improved countless lives.

Posted by Bill Gates on Saturday, 2 December 2017

 

สำหรับประวัติของ ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ คอลัมน์รอยเท้ารุ่นพี่ ของเว็บไซต์ “Tobepharmacist.com” ระบุข้อมูลว่า ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ปัจจุบันอายุ 65 ปี เธอเป็นคนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ คุณพ่อของอาจารย์เป็นคุณหมอ ส่วนคุณแม่เป็นพยาบาล เธอจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนราชินี จากนั้นศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้นเธอได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตรัชคไลด์ และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ เธอเคยอยากเปลี่ยนสายไปเรียนด้าน ชีวเคมี แต่เห็นว่า คณะที่เรียนอยู่ ในเมืองไทย ตอนนั้นมีคนเรียนแค่ 5 คน จึงตัดสินใจก้มหน้าก้มตาเรียนต่อไป

หลังเธอเรียนจบที่อังกฤษ มีบริษัทยา รวมถึงเพื่อนๆที่ทำงานในบริษัทยาที่อังกฤษหลายแห่ง ติดต่อให้เธอไปทำงานด้วย แต่เธออยากทำงานที่บ้านเกิดจึงกลับไปเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งในตอนนั้นศาสตร์ด้านเภสัชเคมียังไม่เป็นที่สนใจสำหรับประชาชนเท่าไรนัก เธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี ในปี พ.ศ.2524 อย่างไรก็ตาม เธอเห็นว่าหากทำงานด้านวิจัยยา จะสามารถช่วยผู้คนได้มากกว่านี้ เธอจึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ แล้วสมัครเข้ามาทำงานที่องค์การเภสัชกรรม

ทั้งนี้ ศ.ภญ.ดร.กฤษณา คือผู้บุกเบิกแผนกวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม ในตอนแรกนั้นทั้งแผนกมีเธอทำอยู่คนเดียว กระทั่งปี พ.ศ. 2535 จำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เธอสนใจศึกษาวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์ ในช่วงแรกๆเธอทำคนเดียว เพราะสารเคมีที่ใช้ในการศึกษาและวิจัยสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ จึงไม่มีใครเอาด้วย หลังจากความพยายาม 3 ปี  ในปี พ.ศ. 2538 เธอก็ประสบความสำเร็จในผลิตยาสามัญที่เป็นยาต้านไวรัสเอดส์ได้เป็นครั้งแรกของโลก โดยยาตัวนั้นคือ “ZIDOVUDINE” (AZT) หลังจากนั้นเธอได้วิจัยต่อยอดยาอีกหลายชนิด แต่ที่ประสบความสำเร็จและดังมากที่สุดคือ “GPO-VIR” ซึ่งเป็นการรวมตัวยารักษาโรคเอดส์ 3 ชนิดในเม็ดเดียวเป็นครั้งแรกของโลก จากผลงานครั้งนี้ของเธอ ทำให้ยาเอดส์ราคาลดลงอย่างมาก จากแคปซูลละ 40 บาท เหลือ 7-8 บาท ส่วนอีกตัวจากเดิม ขาย แคปซูลละ 284 บาท เหลือ 8 บาท ลดการทานยาของผู้ป่วย จากวันละ 6 เม็ด เหลือวันละ 2 เม็ด ช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ จาก 1,000 คน เพิ่มเป็น 10,000 คน และลดค่ายา จากคนละ 20,000 บาท เหลือเพียง 1,200 บาท

ปี พ.ศ.2542 องค์การอนามัยโลกเชิญ ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไปที่ทวีปแอฟริกาเพื่อช่วยเหลือด้านเภสัชกรรม ประเทศไทยประกาศในที่ประชุมขององค์การอนามัยโลกว่าจะไปช่วยแอฟริกาผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ทุกคนปรบมือเสียงดังกึกก้องทั้งห้องประชุม ต่อมาปี พ.ศ. 2545 ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เพื่อจะไปช่วยเหลือทางแอฟริกาใต้อย่างเต็มตัว เดินทางไปคองโกเพียงลำพัง เพื่อตั้งโรงงานเภสัชกรรมแห่งแรกที่นั่น เรียกได้ว่าต้องบุกเบิกใหม่หมดตั้งแต่วาดแปลนโรงงาน เธอใช้เวลา 3 ปี ในการก่อตั้งโรงงานจนถึงการถ่ายเทคโนโลยีการผลิต จนสามารถผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ชื่อ AFRIVIR ได้สำเร็จ หลังจากช่วยคองโกสำเร็จแล้ว เธอเดินทางไปช่วยเหลือด้านเภสัชกรรมที่ประเทศแทนซาเนีย จนสามารถวิจัยและผลิตยารักษาโรคมาลาเรียชื่อ “Thai-Tanzunate” ได้สำเร็จ และในเวลาต่อมา ยานี้ได้กลายเป็นยาที่ขายดีที่สุดในประเทศ จากนั้นเธอก็เดินทางไปช่วยเหลืออีกหลายประเทศ ได้แก่ อิริคเทอร์เรีย ประเทศเบนิน ประเทศไลบีเรีย มาลี และอื่นๆ

การทำงานทุ่มเทอย่างหนักเพื่อประชาชนชาวไทยและชาวโลกของ ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไม่สูญเปล่า เพราะนอกจากเธอจะได้ช่วยเหลือประชาชนตามที่เธอหวังแล้ว เธอยังได้รับรางวัลและเกียรติยศ อีกจำนวนมาก ทั้งการถูกนำเรื่องราวของเธอไปสร้างเป็นภาพยนต์เรื่อง A Right to Live-AIDS medication for Millions (2006) ซึ่งได้รับรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์กว่า 3 รางวัล และถูกนำไปสร้างเป็นละครบรอดเวย์สหรัฐอเมริกาชื่อ Cocktail

รางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (Global Scientist Award) ประจำปี พ.ศ.2547 จาก Letten Foundation ประเทศนอร์เวย์ และเธอยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์ จาก Mauny Holly Oke College, USA ,รางวัลบุคคลแห่งปีของเอเชีย จากนิตยสารรีดเดอร์ ไดเจส ประจำปี พ.ศ.2551 ,รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะประจำปี พ.ศ.2552

ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในประเทศไทย ข้อมูลจากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย พบว่า ช่วงปลายปี 2559 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี กว่า 420,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,200 กว่าคน เฉลี่ยวันละ 17 คน และตลอดทั้งปีมีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตกว่า 15,000 คน โดยกลุ่มที่ติดเชื้อมากที่สุดคือกลุ่มชายรักชาย มีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ป้องกัน สำหรับปี 2560 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประมาณ 440,000 และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 5,000 คน เมื่อเทียบสถานการณ์ 2 ปี จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อค่อนข้างคงที่ เนื่องจากการพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีดีขึ้นและการเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ง่ายของผู้ติดเชื้อ

ขอขอบคุณข้อมูล Drama-addict และ คอลัมน์รอยเท้ารุ่นพี่ เว็บไซต์“Tobepharmacist.com”
ขอขอบคุณภาพ AFP ,Bill Gates และ
มูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ Krisana Kraisintu Foundation

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0