โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ช็อกโกแลต” เกือบทุกยี่ห้อ พบ “ตะกั่ว-แคดเมียม”

new18

เผยแพร่ 04 ต.ค. 2560 เวลา 05.15 น. • new18
“ช็อกโกแลต” เกือบทุกยี่ห้อ พบ “ตะกั่ว-แคดเมียม”
“สารี”แถลงผลตรวจ“ช็อกโกแลต” เกือบทุกยี่ห้อ พบ “ตะกั่ว-แคดเมียม” โดยปริมาณตะกั่วไม่เกินมาตรฐาน เรียกร้อง อย. ทำมาตรฐานแคดเมียม เตือนหากบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมช็อกโกแลตบ่อยครั้ง มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ

“สารี”แถลงผลตรวจ“ช็อกโกแลต” เกือบทุกยี่ห้อ พบ “ตะกั่ว-แคดเมียม” โดยปริมาณตะกั่วไม่เกินมาตรฐาน เรียกร้อง อย. ทำมาตรฐานแคดเมียม เตือนหากบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมช็อกโกแลตบ่อยครั้ง มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารฉลาดซื้อ แถลงข่าวผลทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก 2 ชนิด ได้แก่ แคดเมียม และ ตะกั่ว ในช็อกโกแลต 19 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดทั้งผลิตในประเทศและนำเข้า โดยสุ่มเก็บตัวอย่างในเดือน ส.ค. – ก.ย. 2560 แบ่งเป็น ดาร์กช็อกโกแลต 10 ตัวอย่าง ตัวอย่างและช็อกโกแลตประเภทอื่น ๆ 9 ตัวอย่าง

ผลการทดสอบมีเพียงตัวอย่างเดียว ที่ไม่พบตะกั่วและแคดเมียมเลย คือ ลินด์ สวิส คลาสสิค ไวท์ ช็อกโกแลต (Lindt Swiss Classic White Chocolate) ขณะที่อีก 18 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของตะกั่ว หรือ แคดเมียม โดยเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานตะกั่ว ทั้งในและต่างประเทศ พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง แต่ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนสารแคดเมียม

น.ส.สารี กล่าวต่อว่า พบการปนเปื้อนทั้งแคดเมียมและตะกั่ว 8 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. ลินด์ เอ็กเซลเลนท์ ดาร์ก 85% โกโก้ (Lindt Excellence Dark 85% Cocoa), 2. ทอปเบอโรน (Toblerone) ดาร์ก ช็อกโกแลต ผสมน้ำผึ้งและอัลมอนด์ นูกัต, 3.เบอรีล 80% คาเคา ดาร์กช็อกโกแลต (Beryle’s 80% CACAO dark Chocolate coklat hitam), 4.กีเลียน เบลเจี้ยน ช็อกโกแลต ดาร์ก 72% (GuyLian Belgian Chocolate Dark 72%) , 5.ริตเตอร์ สปอร์ต 50% โกโก้ ดาร์ก ช็อกโกแลต (Ritter Sport 50% Cocoa Dark chocolate with fine cocoa from papua new Guinee), 6.ล็อกเกอร์ ดาร์ก-นอร์ ((Loacker Dark-Noir) (Dark Chocolate with cocoa cream filling and crispy wafer)), 7.เฮอร์ชี่ ดาร์ก ช็อกโกแลต (Hershey’s Dark chocolate) และ 8.คินเดอร์ บูเอโน่ ดาร์ก ลิมิเต็ด อีดิทชั่น (kinder Bueno Dark limited Edition)

พบการปนเปื้อนเฉพาะแคดเมียม 10 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ลอตเต้ กานา แบล็ค ช็อกโกแลต เอ็กตร้า โกโก้ (Lotte Ghana Black Chocolate Extra cocoa), 2.เบอรีล อัลมอนด์ (Beryl’s Almond), 3.ยูไนเต็ด อัลมอนด์ ไวท์ แอนด์ ดาร์ก ช็อกโกแลต (UNITED Almond White Chocolate & Dark Chocolate), 4.ล็อตเต้ กานา เอ็กตร้า คาเคา แบล็ค (LoTTE Ghana Extra Cacao Black), 5.มอรินากะ ดาร์ส ดาร์ก ช็อกโกแลต (morinaga DARS dark chocolate), 6.เนสท์เล่ คิทแคท (nestle KitKat) ช็อกโกแลตนมสอดไส้เวเฟอร์, 7.โนเบิลไทม์ (NOBLE TIME), 8.เฟอเรโร รอชเชอ (Ferrero Rocher) ช็อกโกแลตนมผสมเกล็ดเฮเซลนัทสอดไส้ครีมและเฮเซลนัท, 9.ทวินช็อกฮาร์ท (TWIN-CHOCK HEART), และ 10.เฮอร์ เว่ย แดรี่ มิลค์ (HER WEI Dairy Milk)

น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศ ผลการทดสอบขององค์กร As You Sow ที่ทดสอบพบช็อกโกแลต 18 ยี่ห้อดัง มีตะกั่วหรือแคดเมียมในระดับอันตราย ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับคนที่ชอบกินช็อกโกแลตเป็นอย่างมาก ยิ่งช็อกโกแลตมีปริมาณโกโก้แมสมาก ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะพบโลหะหนักทั้งสองชนิดดังกล่าวมากขึ้น ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มทดสอบช็อกโกแลตยี่ห้อดังในตลาด เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคว่าช็อกโกแลตยี่ห้อไหนมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมากน้อยเพียงใด เพราะปัจจุบันสินค้าเหล่านี้วางขายทั่วไปแม่แต่ร้านสะดวกซื้อซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

“แม้ว่าจะไม่มีตัวอย่างใดพบการตกค้างตะกั่วจนเกินค่ามาตรฐาน แต่จากการอ่านฉลากพบว่า มี 2 ตัวอย่างที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทย และไม่มีการแสดงเลขสารบบอาหาร ได้แก่ เบอรีล อัลมอนด์ (Beryl’s Almond) และ เฮอร์ เว่ย แดรี่ มิลค์ (HER WEI Dairy Milk) ซึ่งทั้งสองตัวอย่างผลิตในประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ การไม่แสดงฉลากภาษาไทยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 6 (10) และมีโทษตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 คือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท ส่วนการไม่แสดงเลขสารบบอาหาร มีความเป็นไปได้ว่านำเข้าอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 15) ซึ่งมีบทลงโทษคือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 53)
น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การปนเปื้อนของโลหะหนักในผลิตภัณฑ์อาหารไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) ซึ่งได้กำหนดให้ปริมาณสารตะกั่วที่ตรวจพบในช็อกโกแลตต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) แต่หากเป็นช็อกโกแลตชนิดไม่หวาน ตรวจพบได้ไม่เกิน 2 มก./กก. แต่สำหรับแคดเมียมในช็อกโกแลตนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์เอาไว้
“แม้ว่าผลทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก 2 ชนิด ในช็อกโกแลตดังกล่าวจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่สารโลหะหนักเหล่านี้สามารถสะสมในร่างกายได้ ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องระมัดระวังการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลต ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพหากรับประทานในปริมาณมากหรือบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเด็กที่อ่อนไหวเป็นพิเศษต่อสารปนเปื้อนโลหะหนักเรื่องของปริมาณโกโก้ในช็อกโกแลต”น.ส.มลฤดี กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0