โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘Cyberbullying’ เมื่อตกเป็น ‘เหยื่อ’ ทางโซเชียลฯ

Johjai Online

อัพเดต 29 มิ.ย. 2562 เวลา 05.03 น. • เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2562 เวลา 17.00 น. • johjaionline.com
‘Cyberbullying’ เมื่อตกเป็น ‘เหยื่อ’ ทางโซเชียลฯ
พูดคุยกับ ดร. ศรีดา ตันทะอธิพานิช เมื่อเรากำลังเป็นศูนย์กลางของดราม่า อะไรคือวิธีการรับมือกับดราม่าทั้งมวล

จากเรื่องราวของ ‘แองจี้’ เนตไอดอลชื่อดังในมินิซีรีส์ ‘Open Mind’ ที่หายตัวไปอย่างปริศนา สู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเชิง Bully ว่า เธอ‘หนีไปทำศัลยกรรมหรือเปล่า’ ‘เธอท้องหรือเปล่า’ และอื่นๆอีกมากมาย เมื่อพิจารณาตัวซีรีส์ก็ไม่ต่างอะไรกับชีวิตจริงในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นกระแสการทะเลาะกันของเนตไอดอล การเหน็บแหนมในไลฟ์สด และสารพัดการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นในโซเชียลซึ่งผุดราวกับดาวเห็ด ดังนั้น Johjai Online จับประเด็นการกลั่นแกล้งมาพูดกับ ‘ดร. ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย’ ว่าหากว่าเรากำลังเป็นศูนย์กลางของดราม่า หรือเป็นผู้โดนกระทำ อะไรควรจะเป็นกรอบ อะไรคือความเกินเลย และอะไรคือวิธีการรับมือกับดราม่าทั้งมวล

 
รูปแบบของภัยออนไลน์
หลักๆเรื่องแรกเป็นเรื่องของการกลั่นแกล้งหรือที่เรียกว่า “Cyber Bullying” ซึ่งจริงๆก็มีปัญหาการกลั่นแกล้งกันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่พอมีช่องทางออนไลน์ มันก็เปิดโอกาสให้มีการโพสต์ข้อความ ตัดต่อหรือโพสต์รูป ที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่กว้างไกลกว่าเดิม อย่างอดีตเด็กล้อกันว่า อ้วนๆๆ แต่ปัจจุบันมีการแอบถ่ายภาพ ตัดต่อให้ดูอ้วนเกินจริง ใส่ข้อความเชิงเหยียดให้ดูตลกขบขันแล้วแชร์กันไปในวงกว้างมากกว่าในห้องเรียน หลายครั้งผู้ถูกกระทำก็ไม่รู้ตัวขณะโดนถ่าย พอมารู้ทีหลังก็อับอาย เกิดบาดแผลในจิตใจมากกว่าเดิม เป็นต้น บางทีเอฟเฟกต์ต่อผู้ถูกกระทำรุนแรงมากถึงขนาดที่ผู้ถูกกระทำต้องพึ่งยาระงับประสาท พึ่งสุราแก้เครียด ซึมเศร้าทำร้ายตัวเอง ไปจนถึงฆ่าตัวตายแบบในข่าวเลยก็มี
ส่วนเรื่องที่สอง คือเรื่องของการละเมิดทางเพศหรือ Online Sexual Harassment ยกตัวอย่างเช่น เด็กๆคุยกับเพื่อนทางออนไลน์ เปิดกล้องคุยกันแล้วโดนโน้มน้าวชักจูงให้ถอดเสื้อผ้า บางครั้งก็ส่งสื่อลามกให้เด็กดูแล้วบอกให้ทำตาม เมื่อไม่นานมานี้มีเด็ก 8 ขวบเล่นแอปฯยอดฮิตอย่าง Tik Tok เขาก็มาเต้น มาแสดงออกน่ารักๆตามสไตล์ แล้วคนที่มาคอมเมนท์ก็ชมเขา อวยเขา แล้วส่งลิงก์คลิปอนาจารให้เขาทำตาม ปรากฎว่าเด็กก็ปลดเปลื้องเสื้อผ้า ทำท่ายั่วยวนตามคลิปดังกล่าวบางครั้งไม่ใช่แค่ละเมิดผ่านกล้องหรือผ่านตัวหนังสือเท่านั้น บางเคสส่งวิดีโอมาให้แล้วมีการนัดเจอหรือมาหาที่บ้าน แล้วเกิดการละเมิดทางเพศในชีวิตจริง จากนั้นถ่ายคลิปวิดีโอ ถ่ายสื่อลามกอนาจาร เอาไปแบล็กเมล์หรือเอาไปขายเป็นสื่อลามกอนาจาร เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

อย่างที่สามเป็นเรื่องของการเสพติดอินเทอร์เน็ต หรือเสพติดเกมโดยเฉพาะในช่วงของเด็กเล็ก บางครั้งเขาเรียนแบบพฤติกรรมรุนแรงในเกม เลียนแบบท่าเตะท่าชกต่อย บางทีกระโดดลงมาจากที่สูงแล้วตีลังกา เพราะเขาจินตนาการว่าสามารถทำได้เหมือนในเกม แต่กลายเป็นว่าแข้งขาหักก็มี บางเกมก็มีเซ็กส์ซีนอยู่ ซึ่งฉากพฤติกรรมทางเพศก็ไม่ใช่แค่โป๊วับๆแวมๆ แต่สามารถเลือกได้ว่าคุณจะมีเซ็กส์หรือไม่มีเซ็กส์กับตัวละครนี้ ซึ่งอาจทำให้เยาวชนแยกแยะ ณ จุดนี้ ไม่ได้ อันนี้เราก็ต้องช่วยการสอดส่องดูแลพฤติกรรมของบุตรหลานให้ดี
ส่วนเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของการแชร์ข่าวปลอม อันนี้ไม่ใช่เด็กแล้ว หลายครั้งเหยื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับข่าวสารเราก็แชร์ทันทีโดยที่ไม่ได้เช็คด้วยซ้ำไปว่าใครส่งมาหรือขาดการพิจารณาว่าข่าวนั้นจริงหรือเป็นเท็จ ข่าวปลอมหลายครั้งมันสร้างผลกระทบ ยกตัวอย่างเช่น มะนาวทารักษามะเร็ง ก็มีคนเฒ่าคนแก่หยุดการรักษามะเร็งกับหมอแต่ไปกินยาหม้อ ยาต้ม ยาขวด อะไรที่โฆษณาทางอินเทอร์เน็ตว่าดี นอกจากไม่หายแล้วทำให้โรคหนักขึ้นกว่าเดิม หรืออย่างเร็วๆนี้ก็เรื่องของบัตรพลังงาน เป็นต้น

 
ความ ‘นิรนาม’ เป็นสาเหตุการขยายวงกว้างของ ‘การกลั่นแกล้ง’
ในโลกออนไลน์ เราไม่ต้องเผชิญหน้ากันโดยตรง และการไม่ได้เผชิญหน้ามันทำให้เกิดความกล้าติ กล้าพูด กล้าวิจารณ์ แต่ถ้าในโลกออฟไลน์ถ้าคนไม่รู้จักกัน น้อยๆมากๆที่จะเดินมาตอกหน้าหรือพูดจากันแรงๆ ไม่กล้าที่จะชี้หน้าวิจารณ์หรือรูปลักษณ์ เรื่องหุ่น เรื่องฐานะ แต่ในโลกออนไลน์มันเอื้อให้ทำอย่างนั้นได้ แต่พอถึงจุดๆหนึ่งคนเราก็จะเริ่มรุกล้ำเกินเลย กลายเป็นไปละเมิดคนอื่น เพราะเกิดจากความ ‘Anonymous’ หรือ ‘ความนิรนาม’ นั่นเอง
หมายความว่า วันนี้เราสามารถเปิดแอคเคาต์โดยไม่ใช่ชื่อหรือหน้าตัวเองก็ได้ ซึ่งการกระทำที่เกิดขึ้นส่งผลตามจับไม่ได้หรือตามจับยากขึ้น หลายคนพอมีอะไรมากระทบกระทั่งจิตใจ หรือนึกสนุก ก็อาศัยช่องทางความเป็นนิรนามปกปิดตัวตนทำบางสิ่งบางอย่างซึ่งไม่สามารถทำได้ในสังคมปกติ หมั่นไส้ใคร หรืออิจฉาใคร ก็เลือกโจมตีได้โดยง่าย แล้วสามารถขยายผลไปเป็นวงกว้าง และต้องยอมรับว่ากฎหมายจริยธรรมปัจจุบันที่ควบคุมตรงนี้ยังอ่อนมากทีเดียว
 

เราใช้ ‘คหสต.’ กันพร่ำเพรื่อ
ในแง่ของของเครื่องมือในอินเทอร์เน็ต พวก Facebook หรือกระดานข่าวพื้นที่ในสังคมออนไลน์มันเปิดให้คนเขียนวิจารณ์ หรือให้ความเห็นกันสารพัด แต่ถามว่ามีการตรวจตรา มีการห้ามการละเมิดไหม…มันมี แต่คำถามคือ เข้มงวดพอและสามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ทันท่วงทีไหม อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญขั้นพื้นฐาน ระบุเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการคอมเมนต์หรือวิจารณ์อะไรย่อมทำได้ แต่คนมักจะจำมาแค่นี้ จริงๆแล้วมันมีต่อว่าสิ่งที่คุณแสดงมันต้องไม่ไปละเมิดคนอื่น อย่างในซีรีส์ที่ยกตัวอย่างถ้าเกิดมีเนตไอดอลหายตัวไป แล้วคนมาพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ท้องแล้วหนีไปคลอดหรือเปล่า’ ‘หนีไปทำหน้ามาหรือเปล่า’ หรือแม้แต่ในชีวิตจริงจะมาพูดลอยๆว่า ‘เหมือนคนติดยาเลย’ หรือ‘ท้องแล้วลูกเป็นเป็นของพ่อคนไหน’ อะไรแบบนี้มันสนุกปากก็จริง แต่ผู้เสียหายสามารถลุกขึ้นมาฟ้องกลับได้ว่า คุณทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังได้รับความเสียหาย ดังนั้นคนที่ 1 กับคนที่ 100 หรือคนที่ 10,000 ที่มาร่วมกันคอมเม้นต์ละเมิดก็โดนข้อหาเดียวกันน คือหมิ่นประมาทในที่สาธารณะ หรือดูหมิ่นทำให้ถูกเกลียดชังลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วถ้าคุณบอกว่ามีข้อมูลยืดยาวมีสตอรี่ เป็นชาวเนตขุดนู่นนี้มาโพส แต่มันเป็นความเท็จ คุณก็จะโดนข้อหานำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้นมันมีกฎหมายหลายฉบับที่ดูแลเรื่องพวกนี้
ในโซเชียลฯทุกวันนี้ เราจะเห็นว่าเราละเมิดกันด้วยวาจาเยอะมาก ซึ่งวิเคราะห์ดูจะเห็นว่า ประเด็นที่หนึ่ง ต่างคนต่างทำไปเพราะคิดว่าคงไม่ผิดอะไร มักเปิดวงเล็บว่า ‘คหสต’ หรือ ‘ความเห็นส่วนตัวเท่านั้นนะคะ’ อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องราวเล็กๆ แต่ถ้ามีคนให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันเป็น 10 เป็น 1000 เป็นล้านและสิ่งที่โพสต์ดันเป็นความเท็จยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่วนประเด็นที่สองคือ คิดว่าสามารถที่จะลบได้ แก้ไขได้ ขอโทษสังคมที่คะนองปาก ไม่น่าจะเป็นความผิดหรืออะไร แล้วเรื่องก็จบลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือประชาชนควรมีความรู้ด้านกฎหมาย และหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายควรจะต้องจับ เพื่อให้เกิดเคสนี้เป็นกรณีตัวอย่างเพื่อลดการละเมิดให้สังคมอินเทอร์เน็ต เพื่อก่อให้เกิดการใช้งานที่สร้างสรรค์โดยไม่ทำร้ายคนอื่น
 

 
การสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อเราตกเป็นเหยื่อ
ถ้าคุณตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying อย่างแรกเลยคุณต้องเข้มแข็ง เรื่องจริงไม่จริงอย่าไปสนใจ โดยเฉพาะเรื่องไม่จริงยิ่งต้องไม่ให้ราคา แล้วให้เข้าสู่กระบวณการณ์ตามกฎหมายให้ระบบกฎหมายลงโทษ โดยคุณต้องรวบรวมหลักฐาน ข้อความละเมิด หรือรูปที่โดนตัดต่อ ว่าคนทำชื่อ Account อะไร อีเมลอะไร รวบรวมแล้วส่งไฟล์ให้กับตำรวจ ตำรวจสามารถสืบค้นให้ได้ตาม Digital Footprint ที่ User ทิ้งหลักฐานไว้ในออนไลน์ แล้วก็มีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเรา ณ จุดนี้ อย่างหน่วยตำรวจไซเบอร์ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือแจ้งสายด่วน 1212 ถ้าเจอเนื้อหาที่ละเมิดก็สามารถที่จะคลิก copy link URL มาแปะแล้วก็แจ้งได้
           
เรากำลังเชื่อคนใน ‘มิติเสมือนจริง’
หลายครั้งคนเราเลือกแสดงออกในด้านบวกของโซเชียลฯ ซึ่งก็เป็นเรื่องความเป็นจริงของมนุษย์ ที่เราจะใช้ หน้าตา ฐานะทางสังคม หน้าที่การงาน มาเป็นตัวดึงดูดเพื่อสร้างการยอมรับ ฉะนั้นการเสพโซเชียลฯก็จะทำให้เรารู้จักตัวตนของเขาเพียงด้านเดียว ไม่รู้ว่าบุคลิกในด้านอื่นๆชองเขาเป็นอย่างไร ภายนอกอาจจะดูสวยหล่อ แต่อุปนิสัยใจคอ ประวัติอื่นๆ ที่เขาไม่บอกเรา เราก็ก็ไม่รู้…แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอะไรยืนยันเลย มันเป็นเรื่องของ Digital Identity
รูปร่างหน้าตาอาจหลอกกันได้ แต่สิ่งที่คุณโพสต์ ที่คุณไลก์ ที่คุณแชร์มันหมายถึงตัวตน พฤติกรรมการแสดงออกว่า คุณเป็นคนหูเบา คุณเป็นคนสุภาพ หรือคุณเป็นคนที่มีเหตุมีผล หรือว่า คุณเป็นคนที่มีสติในการใช้สื่อ ฯลฯ อย่างเช่นพอมีคลิปหลุดดารา คนหนึ่งบอก ขอดูด้วยๆๆๆ กับอีกคนบอก อย่าเลยสงสารเหยื่อ มันก็แสดงออกว่าคุณเป็นคนยังไง ดังนั้นหากเราคำนึงถึงภาพลักษณ์ทางสังคมก็ขอให้ระมัดระวังภาพลักษณ์ในทางดิจิทัลด้วย ตัวตนต้องดี พฤติกรรมต้องดี คุณต้องรู้จักกฎหมาย รู้จักรักษาความปลอดภัยและต้องมีความเห็นใจเหยื่อที่ถูกกระทำทางออนไลน์

เลือกที่จะเสพสื่อ ป้องกันภาวะซึมเศร้าทางออนไลน์
ด้วยลักษณะของโลกออนไลน์ที่เอื้อให้ทุกคนสามารถโพสอะไรก็ได้ ทั้ง Fact ทั้งความคิดเห็น บางครั้งใส่ความเกลียด ใส่ข้อความละเมิด ใส่รูปเปลือย สารพัดจะทำ และที่สำคัญทุกคนสามารถแชร์ต่อๆกันไปเป็นวงกว้าง ถ้าวันนี้มีแต่ข่าวทารุณ ข่มขืน ฆาตรกรรม เราอ่านมากๆแล้วมันดาร์ก รู้สึกหดหู่ มันซึมเศร้าไม่อยากอยู่ ออกไปไหนก็กลัว เราไม่อยากให้ลูกเราอยู่ในสังคมแบบนี้ อันนี้คือเราเริ่มจมไปกับสื่อออนไลน์แล้ว เพราฉะนั้นสิ่งที่อยากจะบอกประชาชนคนใช้อินเทอร์เน็ต ก็คือ อ่านได้แต่ไม่ต้องเอาทุกอย่างมาคิด อะไรที่เครียดก็เลิกอ่าน เลิกแชร์มันซะ เราเลือกเฉพาะสิ่งที่สนใจ สิ่งที่ดี และตรวจสอบก่อนว่ามันจริงไหม ถ้ามันตรวจสอบได้ว่าเป็นเรื่องจริง นี่มาจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ นี่มาจากโรงพยาบาล นี่มาจากคุณหมอ นี่คือหลักการเช็กข่าวเบื้องต้น ถ้ามันจริงมันดีเราเอามาใช้ปฏิบัติแล้วเกิดผลดี อยากแชร์ต่อ อันนี้ก็ย่อมได้ แต่ต้องดูนะว่ามันไปแล้วมันละเมิดใคร ไปทำร้ายใครไหม หรือมันเป็นประโยชน์กับสังคมไหม ไม่จำเป็นต้องแสดงออกว่าเราเป็นเบอร์หนึ่งที่รู้เร็ว

ข้อมูลจาก : ดร. ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0