โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ไทยรั้งเบอร์3ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนอาเซียน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Business News

เผยแพร่ 07 มิ.ย. 2561 เวลา 04.08 น.

การใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธ์ยังคงเป็นปัญหาที่ประเทศไทยไม่สามารถปลดล็อกได้ นอกจากส่งผลกระทบต่อการใช้งาน ยังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติ เปิดช่องให้อาชญากรไซเบอร์เข้ามาโจมตี ล้วงข้อมูล อีกทางสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล

นายดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พันธมิตรซอฟต์แวร์(บีเอสเอ) กล่าวว่า บีเอสเอร่วมกับบริษัทวิจัยไอดีซีทำการสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลก ล่าสุดพบว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ หรือการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ(ไลเซ่นส์) ในประเทศไทย อยู่ที่ 66% ในปี 2560 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 714 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 22,848 ล้านบาท ลดลง 3% จาก 69% ในปี 2558

ทั้งนี้ การลดลงของอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในไทย เป็นผลมาจากการหดตัวของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล(พีซี) ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญกรรมทางเศรษฐกิจ(บก. ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เรื่องภัยจากการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์อย่างต่อเนื่องของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ เหตุการณ์มัลแวร์เรียกค่าไถ่ระดับโลกอย่างวอนนาคราย(Wannacry) ที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน ทำให้องค์กรธุรกิจเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ซอฟต์แวร์แท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ที่ช่วยเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย

นักวิเคราะห์จากไอดีซีให้ความเห็นไว้ว่า การรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปแจ้งเบาะแสการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในองค์กรธุรกิจ ทำให้เกิดความตื่นตัวในการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์มากขึ้น โดยเฉพาะในองค์กรธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น

เขากล่าวว่า ไทยกำลังพัฒนาไปสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทำให้มีความต้องการใช้งานเทคโนโลยี โดยเฉพาะซอฟต์แวร์มากยิ่งขึ้น องค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการการใช้งานซอฟต์แวร์เช่นเดียวกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ขององค์กร เพราะการบริการจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset Management - SAM) ตลอดจนการอัปเดตซอฟต์แวร์และระบบรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัยอยู่เสมอ เป็นหนทางหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบความมั่นคงปลอดภัยองค์กร

นอกจากนี้ การจัดการที่ดีด้านการใช้งานซอฟต์แวร์ ยังช่วยให้องค์กรลดต้นทุนด้านซอฟต์แวร์ และเพิ่มผลกำไรในการประกอบการได้ด้วย ทุกวันนี้การมาของคลาวด์ และโมเดลเช่าใช้ตามจริงช่วยให้ไม่จำเป็นต้องลงทุนจำนวนมหาศาลเช่นเดิม

ที่ผ่านมา ซอฟต์แวร์ที่มักถูกละเมิดมากที่สุด 3 อันดับแรก ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ในเครืออะโดบี, ออโต้แคด และไมโครซอฟท์ ที่น่าสนใจด้วยพฤติกรรมคนไทยที่นิยมใช้ของฟรีส่งผลให้แม้แต่ซอฟต์แวร์ไทยโดยบริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ซึ่งมูลค่าไม่ได้สูงยังถูกละเมิดไปด้วย

"การใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนทำให้องค์กรไม่ได้ซอฟต์แวร์เต็มประสิทธิภาพ เสี่ยงต่อภัยไซเบอร์ กระทบเชิงเศรษฐกิจต้องสูญเสียเม็ดเงินที่จะได้จากการจัดเก็บภาษี ต่อเครื่องหากต้องจัดการกับมัลแวร์ต้องใช้เงินเพื่อกู้สถานการณ์ประมาณหมื่นดอลลาร์ ซึ่งเทียบกันแล้วใช้ผลิตภัณฑ์ถูกกฎหมายจะดีกว่า เรื่องนี้รัฐต้องจริงจังในการแก้ปัญหา เป็นตัวอย่าง ทั้งมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์อย่างเป็นรูปธรรม"

นางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บีเอสเอ เสริมว่า ตัวเลขในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า ในจำนวนคอมพิวเตอร์ 100 เครื่อง มีการติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อน 66 เครื่อง จากที่อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกรวมถึงไทยลดลง เป็นผลจากการหดตัวของพีซี การบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์อย่างเข้มงวด และการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยจากการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์อย่างต่อเนื่อง

"อัตราการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์ในไทย ลดลง 3% ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ที่ 57% แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนยังต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เนื่องจากการแก้ไขปัญหาดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงภัยไซเบอร์ เพราะซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มักจะมีจุดอ่อนด้านความปลอดภัย ทำให้ง่ายต่อการติดมัลแวร์ เทียบในอาเซียนด้วยไทยรั้งอันดับ 3 ที่มีการละเมิดมากที่สุด ส่วนอันดับ 1 อินโดนีเซีย 83% รองลงมาเวียดนาม 74%"

อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ในองค์กรธุรกิจเท่านั้น ภาครัฐถือเป็นผู้ใช้งานซอฟต์แวร์รายใหญ่ หากทุกหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ภาคเอกชนและประชาชนโดยทั่วไป ที่สำคัญการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีไลเซ่นส์ถูกต้อง ถือเป็นวิธีขั้นพื้นฐานในการป้องกันภัยไซเบอร์ เพราะซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ่นส์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดมัลแวร์ และการถูกจู่โจมจากอาชญากรไซเบอร์ นอกจากนั้นหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ควบคุมข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน หน่วยงานภาครัฐจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าใช้ซอฟต์แวร์ที่มีไลเซ่นส์ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการบริหารจัดการสินทรัพย์เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งรวมถึงซอฟต์แวร์ให้ได้มาตรฐาน

สำหรับระดับโลก จากการสำรวจใน 110 ประเทศพบว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิซอฟต์แวร์ หรือการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ อยู่ที่ 37% ในปี 2560 คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 46,302 ล้านดอลล่าร์ หรือ 1.48 ล้านล้านบาท ไม่นับรวมความเสียหายอื่นที่เกี่ยวข้อง ลดลงจาก 39% ในปี 2558 หากพิจารณาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ฯ อยู่ที่ 57% คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 16,439 ล้านดอลล่าร์ หรือ 526,048 ล้านบาท ลดลงจาก 61% ในปี 2558

สรุปผลสำรวจที่สำคัญ การใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิยังมีอยู่มากในวงกว้าง โดย 37% ของซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วโลกไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ตัวเลขดังกล่าวลดลงมาเพียง 2% จากปี 2558 สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความเห็นว่าซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิมีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยไอดีซีประเมินว่าองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบ 359,000 ล้านดอลล่าร์(11.49 ล้านล้านบาท) ต่อปี เพื่อแก้ไขปัญหามัลแวร์ที่มาพร้อมกับการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

ด้านเจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีความเห็นว่า การตรวจสอบให้แน่ใจว่าองค์กรใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิอย่างถูกต้องครบถ้วน เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อลดความเสี่ยงจากมัลแวร์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลขององค์กรถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตลอดจนความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยอื่นๆ ของระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย

บีเอสเอชี้ว่า การบริหารจัดการการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องเหมาะสมคือตัวช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจ โดยนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบความมั่นคงปลอดภัยขององค์กรแล้ว ไอดีซีประเมินไว้ว่าบริษัทที่มีขั้นตอนการปฎิบัติที่ชัดเจนเพื่อบริหารจัดการซอฟต์แวร์จะสามารถเพิ่มผลกำไรได้มากถึง 11%

จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า องค์กรสามารถประหยัดงบประมาณด้านซอฟต์แวร์ในแต่ละปี ได้มากถึง 30% หากมีวิธีการบริหารจัดการซอฟต์แวร์และการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่ดี พบด้วยว่า ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงโดยส่วนใหญ่มีความเห็นว่า หากองค์กรธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์ถูกต้อง มีโอกาสสูงที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระบบคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายขององค์กรมีโอกาสถูกจู่โจมจากผู้ประสงค์ร้าย นำมาซึ่งความเสียหายอื่นๆ เช่น สูญเสียข้อมูลสำคัญขององค์กร

การสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลกของบีเอสเอจัดทำทุก 2 ปี สำหรับปี 2560 ใช้วิธีคำนวณจำนวนและมูลค่าของซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในกว่า 110 ประเทศทั่วโลก และมีการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ใช้ซอฟต์แวร์ พนักงานบริษัท และเจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร จำนวนเกือบ 2.3 หมื่นคน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0