โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

Future of Money (ตอนที่ 4): ชีวิตในยุค e-wallet ?

Stock2morrow

อัพเดต 19 ก.พ. 2561 เวลา 07.02 น. • เผยแพร่ 19 ก.พ. 2561 เวลา 07.49 น. • Stock2morrow
Future of Money (ตอนที่ 4): ชีวิตในยุค e-wallet ?
Future of Money (ตอนที่ 4): ชีวิตในยุค e-wallet ?

Future of Money (ตอนที่ 4): ชีวิตในยุค e-wallet

 

ในยุคนี้ดูเหมือนคนเราจะมี “กระเป๋าสตางค์” จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่ว่าจะเป็น ทรูมันนี่ วอลเล็ท, Rabbit Line Pay, mPay, WePay, WeChat Pay, PayPal, AirPay, QPay, AliPay, SamsungPay, ApplePay, Android Pay ฯลฯ เรียกได้ว่ามีวอลเล็ทที่ออกมาแข่งขันกัน (และที่ยังไม่ออกมา) จำนวนนับไม่ถ้วน

แต่ถ้าถามจริงๆ ผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องการแค่ไม่กี่วอลเล็ทที่ทำได้ทุกอย่างเท่านั้น!

 

เราไม่ต้องการวอลเล็ทที่มีเงินตกค้างเล็กน้อยเจ็ดแปดวอลเล็ท (ยังไม่รวมบัญชีธนาคารและบัตรเครดิตที่ต้องคอยบริหาร…)  ที่ทำหน้าที่แยกกัน ประมาณว่าอันนี้จ่ายค่าน้ำได้ แต่จ่ายค่าทางด่วนไม่สะดวก  ส่วนอันนี้เอาไว้ตัดบัตรเครดิตเท่านั้น

 

ที่น่าสนใจคือความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าวจะต้องมาพบกับความพยายามของทุกค่ายที่ต้องการให้ลูกค้าใช้งานวอลเล็ทของตนและความต้องการของร้านค้าที่ต้องการวอลเล็ทที่ใช้ง่ายและค่าบริการต่ำ

 

บทความนี้จะไปลองแง้มดู 3 ฟังก์ชั่นล้ำยุคในโลกอนาคตของ e-wallet ว่ามันจะมากระทบชีวิตพวกเรายังไงได้บ้างครับ

 

ติดตามอ่านตอนแรกที่ : https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=1363

ตอนที่สองที่ : https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=1369

และตอนที่สามที่ : https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=1388

 

เมื่อวอลเล็ทของคุณจ่ายดอกเบี้ย (และให้คุณแช็ทด้วย)

 

หากดูจากประสบการณ์ของยักษ์ใหญ่วอลเล็ทในหลายๆ ประเทศแล้ว จะพบว่า วอลเล็ทที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวคือวอลเล็ทที่สามารถเชื่อมเข้ากับแพลตฟอร์มการใช้จ่ายขนาดใหญ่ และเข้ากับ loyalty program ใหญ่ๆ ได้

 

แต่มันจะไม่หยุดที่แค่การอำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายหรือการ enhance ประสบการณ์ช๊อบปิ้งเท่านั้น มันมีความเป็นได้ว่า วอลเล็ทที่ประสบความสำเร็จจริงๆ จะกลายเป็นธนาคารและช่องทางในการสื่อสารด้วย

 

ตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดในความคิดผู้เขียนก็คือ PayTM วอลเล็ทยักษ์ใหญ่ในอินเดียที่อัดแน่นไปด้วยฟีเจอร์ในการใช้จ่าย  ขณะนี้ PayTM เป็นวอลเล็ทที่มีผู้สมัครใช้งานกว่า 230 ล้านคนและมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 8 พันล้านดอลลาร์  แต่เดิม PayTM เป็นเพียงวอลเล็ท แต่เดี่ยวนี้ขยายบริการไปสู่การเป็นธนาคารดิจิทัล ให้บริการบัญชีออมทรัพย์และบัญชี current account สำหรับธุรกิจ และกำลังพยายามผลักดันฟีเจอร์แชทชื่อ PayTM Inbox ให้ผู้ใช้งานคุยกันด้วย

ในขณะที่วอลเล็ทส่วนมากไม่ช่วยให้เงินคุณเติบโตเลย PayTM Payments Bank จะจ่ายให้ 4 เปอร์เซ็นต์ (สูสีกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในอินเดีย) หากคุณไปเปิดบัญชีออมทรัพย์กับเขา  ซึ่งเงินก้อนนี้เปรียบเสมือนว่ามันเป็นเงินในวอลเล็ทเลย customer journey ก็ง่ายเหมือนเดิม เพียงแค่เงินลูกค้าได้ดอกเบี้ยด้วย  

นอกจากจะเป็นการเพิ่มความน่าดึงดูดในการเอาเงินไปทิ้งไว้กับ PayTM เมื่อเทียบกับวอลเล็ทอื่นๆ ที่เงินเราถูกเงินเฟ้อกัดกินไปทุกวันแล้ว ยังเป็นการช่วยชาติโดย PayTM ไปในตัวด้วย เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินมากติดอันดับต้นๆ ของโลก

 

เท่ากับว่าสุดยอดแอปพลิเคชั่นการเงินในอนาคตคงจะต้องเป็นทั้ง gateway ของการช้อปปิ้ง เป็นทั้งธนาคาร และเป็นทั้งตัวกลางในการสื่อสารบนโลกโซเชียลพร้อมๆ กัน

 

เมื่อทุกบัตรสมาชิกอยู่ใน e-wallet เดียว

 

อีกหนึ่งอย่างที่ผู้บริโภคไม่ต้องการคือการมีบัตรสมาชิก บัตรสะสมคะแนน 108 บัตรในกระเป๋าสตางค์ ไม่ว่าจะเป็นบัตรสมาชิก loyalty program ของร้านค้า หรือบัตรสะสมแต้มชานมไข่มุกแบรนด์ข้างล่างออฟฟิต แบรนด์แถวข้างๆ บ้าน และแบรนด์ที่สถานี MRT  

 

ดังนั้น ก้าวถัดไปของการเป็นวอลเล็ทที่ตอบ painpoint ของลูกค้าได้คือการช่วยรวบรวม และ digitize loyalty program ทั้งหลายในระบบเศรษฐกิจเข้าไปไว้ในที่เดียวกัน เพื่อที่ลูกค้าจะได้ไม่ต้องพกบัตรสมาชิกหรือแม้กระทั่งเอ่ยเบอร์โทรศัพท์ทุกครั้งที่ต้องการสะสมหรือใช้คะแนน

 

แม้ว่าไอเดียนี้จะดูยุ่งยาก แต่ขณะนี้เริ่มมีฟินเทคที่เข้ามาเจาะตลาดนี้บ้างแล้ว เช่น Stocard และ Key Ring ที่ขอเพียงให้ผู้ใช้งานแสกนหรือพิมพ์รายละเอียดบัตรสมาชิกร้านค้าเข้าไป แล้วหลังจากนั้นก็สามารถใช้มันได้เลยโดยไม่ต้องพกบัตรสมาชิกเหล่านั้นอีกต่อไป

 

ไม่ต้องลำบากใจเวลาแบ่งจ่ายบิลกับเพื่อนอีกต่อไป

 

ครั้งถัดไปที่คุณไปเมืองจีน ให้ลองสังเกตดูว่าคนสมัยนี้เขาแบ่งจ่ายค่าอาหารกันอย่างไร  

ในประเทศจีน แอปพลิเคชันวอลเล็ทยอดฮิตอย่าง Alipay กับ WeChat นั้นมีฟีเจอร์การแบ่งจ่ายบิลที่ทำให้วัฒนธรรมการแบ่งจ่ายเวลาไปทานอาหารกับเพื่อนเปลี่ยนไปตามฟีเจอร์ของวอลเล็ทอย่างเห็นได้ชัด

 

แทนที่เราจะลำบากใจว่ามื้อนี้ใครจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ ใครควรจะเสนอว่าจะจ่ายเท่าไหร่ คนไหนมีแต่แบงก์ใหญ่ คนไหนเอาเงินสดมาไม่พอ จะให้ร้านรูดบัตรเครดิตสิบใบก็ยังไงอยู่  การมีฟีเจอร์แบ่งจ่ายแบบง่ายๆ ทันสมัยนั้นจึงทำให้การนัดทานข้าวมื้อนี้ผ่านไปได้อย่างราบรื่นขึ้น

 

เพียงแค่ทำการพิมพ์ยอดบิล เสร็จแล้วระบบจะส่งบิลเล็กๆ ไปเรียกเก็บกับเพื่อนที่มาร่วมโต๊ะอาหารให้ในห้องแชทที่เราคุม ซึ่งเราสามารถเช็คได้เรื่อยๆ ว่าใครยังไม่ได้จ่ายคืน  คนที่ลืมเอาเงินมาก็ไม่มีข้ออ้าง คนที่จ่ายไปก่อนก็สบายใจ กลายเป็นว่าทุกคนแฮปปี้แบบแฟร์ๆ

 

ในตอนหน้า เราจะมาดูกันว่าเราจะประหยัดได้อย่างชาญฉลาดขึ้นอย่างไรบ้าง ในโลกแห่งการเงินในอนาคตครับ

ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทรจบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก ขณะนี้กำลังทำปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0