โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Essential Theory Book หนังสือเชิงทฤษฎีจาก 8 นักคิดร่วมสมัย

The MATTER

เผยแพร่ 19 ก.พ. 2561 เวลา 14.23 น. • Pulse

เสียงหัวเราะของเมดูซ่า ฮีโร่ที่มีพันใบหน้า

ในโลกของนักคิดและหนังสือเชิงทฤษฎี เราอาจรู้สึกว่าเป็นโลกที่น่าจะจืดชืดไม่น่าตื่นเต้น แต่จริงๆ แล้ว นักคิดทั้งหลายก็อาจจะเป็นนักสร้างสรรค์ในตัวเองด้วย ด้านหนึ่งการคิดสิ่งต่างๆ กับโลกใบนี้ในมุมมองใหม่ๆ ก็ถือว่าเป็นความสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง และแน่นอนว่านักทฤษฎีก็ต้องเป็นนักเขียน นักสื่อสาร เพื่อสื่อสารสิ่งที่ตัวเองได้คิดขึ้นมากับโลกใบนี้ - เข้าใจแค่ไหนก็ค่อยว่ากัน

ในงานเขียนเชิงทฤษฎีจึงมักมีความเก๋บางอย่างอยู่ในนั้น ความเก๋ที่เหล่านักคิดมักมีเรื่องราว หรือการใช้กลเม็ดทางภาษา เช่น ความเปรียบ ด้วยการตั้งชื่ออย่างมีสีสันซึ่งเป็นการสื่อสารความคิดอันซับซ้อนออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ The MATTER ชวนไปรู้จักกับตัวบทเชิงทฤษฎีสำคัญๆ ที่มีผลกับความคิดในโลกสมัยใหม่ 8 เล่ม

The Prison Notebooks - Antonio Gramsci

งานเขียนที่เขียนจากในคุก กรัมซีเป็นอีกหนึ่งในนักคิดเชิงวิพากษ์ที่ชีวิตแสนผกผัน เพราะด้วยความเป็นนักคิดจึงถูกจองจำไว้ในคุก แต่กรัมซีผู้ซึ่งเขียนงานเชิงวิพากษ์ระบบและการปกครองที่ควบคุมบงการเราอย่างซับซ้อนก็ไม่ได้ย่อท้อต่อการถูกจำกัดอิสรภาพแต่อย่างใด ในช่วงที่อยู่ในคุก (หรืออาจจะเพราะยิ่งติดคุกยิ่งมีเวลา) พี่แกก็ยังอุตส่าห์เขียนงานกว่า 30 เล่ม มีความยาวกว่า 3,000 หน้า กรัมซีเป็นนักคิดที่คิดต่อเนื่องจากมาร์กซ แนวคิดเรื่อง Cultural Hegemony หรือการครอบงำเชิงวัฒนธรรมที่เสนอว่าในสังคมทุนนิยม เราถูกครอบงำปกครองผ่านมิติทางวัฒนธรรม เพื่อรักษาอำนาจไว้ของชนชั้นครอบงำ ดูเหมือนความพยายามของกรัมซีที่แม้จะถูกจับแต่ยังคงคิดงานต่อไปก็ส่งผล เพราะงานของกรัมซีเป็นหมุดหมายทางความคิดสำคัญที่ส่งผลต่อเนื่อง ทั้งในงานสายมาร์กซไปจนถึงแนวคิดที่กลับมาทบทวนมิติทางวัฒนธรรมที่ครอบงำเรา ตั้งแต่ภาษา วรรณกรรม ตำนาน ศาสนา และวัฒนธรรมป็อบต่างๆ

The Hero with a Thousand Faces - Joseph Campbell

งานของนักคิดแนววรรณกรรม-คติชนวิทยาที่ศึกษาเรื่องเล่าตำนาน โจเซฟ แคมป์เบล เป็นนักคิดในยุคโครงสร้างนิยม ที่เชื่อว่าในภาษาและเรื่องเล่าเรามีโครงสร้างอันเป็นสากลบางประการ ในหนังสือชื่อเท่ 'ฮีโร่ผู้มีหน้านับพัน' เป็นงานที่แกไปรวบรวมนิทานทั่วโลกแล้ววิเคราะห์เพื่อหาโครงสร้างของเรื่องเล่าตำนานทั้งหลาย เคมเบลเสนอว่าในเรื่องเล่าแนววีรบุรุษไม่ว่าจะมีเรื่องเล่าแบบไหน ต่างก็จะมีโครงสร้างการผจญภัยที่เหมือนกัน (monomyth) มีจุดเริ่มต้น มีผู้ช่วยเหลือที่เหนือธรรมชาติ มีความลับ การเผยความลับ การค้นพบพลัง การได้รางวัล เจ้าโครงสร้างตำนานในสายนี้ถือว่าสนุกดี เพราะทุกวันนี้ในเรื่องแนววีรบุรุษนักสู้ สำหรับมนุษย์เราก็ยังเล่าเรื่องราวในโครงสร้างที่แคมป์เบลอธิบายไว้อยู่ - เป็นความสากลที่ยังคงอยู่ในความคิดของเรา

Mythologies - Roland Barthes

ความคิด ความเชื่อ และคุณค่าในโลกสมัยใหม่ สิ่งนี้ดี ไม่ดี ความหมายต่างๆ ที่เราต่างมอบให้ลงไปในสัญญะต่างๆ จริงๆ ก็เหมือนกับความเชื่อในโลกโบราณ คือเรายึดมั่นว่ามันจริง ทั้งๆ ที่อาจจะไม่มีจริงก็ได้ โรลองค์ บาร์ตส จึงเรียกงานที่วิเคราะห์การให้ความหมายของสังคมทุนนิยม - ค่านิยมของชนชั้นกลาง - ด้วยคำที่ล้อกับปรณัมตำนาน เป็นคุณค่าความคิดในโลกสมัยใหม่ที่เรายึดมั่นถือมั่นไม่ต่างอะไรกับเรื่องทวยเทพและเรื่องเหนือจริง ‘มายาคติ’ ถือเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับโลกของความคิดสมัยใหม่ บาร์ตสพาเราไปสำรวจการให้คุณค่าความหมายกับสิ่งต่างๆ ท้าทายความคิดและความเชื่อของเรา ว่าจริงๆ แล้วถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร บาร์ตสพาเราไปดูตั้งแต่กิจกรรมการเล่นมวยปล้ำ ภาพของสมอง ไปจนถึงของเล่น ปกนิตยสาร ผงซักฟอก ซึ่งสุดท้ายความหมายที่เราเคยเชื่ออาจไม่ได้มีความหมายอะไรที่แท้จริงเลย

Simulacra and Simulation - Jean Baudrillard

ชื่อฟังดูเป็นเดอะ เมทริกซ์ แนวคิดของโบลิยาร์ก็ถือเป็นแนวคิดที่ส่งอิทธิพลกับจินตนาการแบบเมทริกซ์ๆ Simulacra and Simulation – เป็นหนังสือและแนวคิดที่เข้าใจยากนิดนึง หลักๆ เสนอว่าเราอยู่ในโลกที่ความเป็นจริง (reality) ถูกบดบังด้วยระบบสัญญะและสัญลักษณ์ต่างๆ เช่นพวกสื่อ หนัง หรือละคร เราต่างถูกภาพจำลองที่โลกสมัยใหม่สร้างขึ้นมานำความคิดและความเชื่อ เราเลยเหมือนอยู่ในโลกจำลอง (simulation) กันอยู่ตลอดเวลา ยอมรับว่าแนวคิดของโบลิยาร์เรื่องนี้ค่อนข้างยากและซับซ้อน แต่ก็ส่งผลต่อแนวคิดเรื่องสื่อ เรื่องปรัชญาระหว่างการรู้ความจริงและความจริง

The Second Sex - Simone de Beauvoir

เพศที่ 2’ แค่ชื่อก็จี้เข้าไปในประเด็นว่าผู้หญิงเป็นเพศ ‘ลำดับที่สอง’ เป็นเพศที่มีสถานะรองจากผู้ชาย The Second Sex เป็นงานระดับขึ้นหิ้ง หมุดหมายเล่มสำคัญของแนวคิดสายเฟมินิสต์ เป็นจุดเริ่มต้นของสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง ซิมอน เดอ โบวัวร์ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงถูกวาดให้เป็นอื่นสำหรับผู้ชาย และถูกนิยามจากการตกเป็นรองจากลักษณะทางกายภาพต่างๆ แต่โบวัวร์บอกว่าเราจะดูแค่ลักษณะทางชีวภาพอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูมุมอื่นๆ ที่ซับซ้อนกว่านั้น งานเขียนชิ้นนี้เป็นตัวบทสำคัญที่ใครๆ ก็ต้องอ่าน ไม่ว่าจะเป็นสายสตรีนิยมหรือไม่

The Laugh of the Medusa - Hélène Cixous

อีกหนึ่งเล่มของสายสตรีนิยม ‘เสียงหัวเราะแห่งเมดูซ่า’ เป็นงานที่ Hélène Cixous ไปวิเคราะห์สังคมและวรรณคดี ว่างานเขียนและสังคมมีนัยความไม่เสมอภาคทางเพศอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น งานของ Cixous ยังชวนให้ผู้หญิงกลับมาใช้พลังของตัวเองผ่านงานเขียน ดังนั้น ชื่อเสียงหัวเราะของเมดูซ่าจึงเป็นการเน้นถึงพลังอำนาจของผู้หญิงที่ถูกวาดให้น่ากลัว

Gender Trouble - Judith Butler

อีกหนึ่งตัวแม่ของทฤษฎีสายเควียร์ ชื่อหนังสือก็ว่าด้วยปัญหาของเพศสถานะ (gender) จูดิธ บัตเลอร์ เป็นเจ้าแม่ที่ทบทวนว่าอะไรคือผู้หญิง อะไรคือความเป็นผู้หญิง ตัวตนอันซับซ้อนที่เรายึดถือจริงๆ แล้วมีปัญหา มีความซับซ้อนอย่างไร ทฤษฎีสำคัญของบัตเลอร์คือ Performativity เพศสถานะที่รู้สึกว่าผู้ชายต้องเป็นแบบนี้แบบนั้น จริงๆ แล้วกลับมีความลื่นไหล และมีมิติของการ perform

Black Skin, White Masks - Frantz Fanon

'ผิวดำ - หน้ากากขาว' งานเขียนของ Fanon เป็นงานเขียนแนวหลังอาณานิคม พูดเรื่องประวัติศาสตร์และผลกระทบของการเหยียดสีผิวและการลดทอนความเป็นมนุษย์ผ่านการสร้าง 'ความเป็นผิวดำ' (blackness) ขึ้น งานเขียนนี้ค่อนข้างซับซ้อนเพราะ Fanon ใช้กรอบคิดเชิงจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ ผลกระทบของการล่าอาณานิคมในที่สุดจึงเป็นการส่งผ่านความคิดที่ฝังลงไประดับตัวตนคนผิวดำ เหมือนเป็นคนดำที่ใส่หน้ากากสีขาว

Illustration by Yanin Jomwong

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0