โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

กรณีศึกษา ไอศกรีมไผ่ทอง

ลงทุนแมน

อัพเดต 18 ม.ค. 2561 เวลา 10.07 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2561 เวลา 11.40 น. • ลงทุนแมน

กรณีศึกษา ไอศกรีมไผ่ทอง / โดย เพจลงทุนแมน
ตำนานไอศกรีมมีต้นกำเนิดมายาวนานกว่า 1,000 ปี
แต่เริ่มเข้าสู่ในเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงที่เริ่มผลิตน้ำแข็งได้เอง

ไอศกรีมในช่วงแรกๆของเมืองไทยจะเป็นไอศกรีมแบบตัก
โดยนำน้ำหวานหรือน้ำผลไม้มาราดบนน้ำแข็งโดยตอนนั้นยังไม่มีนมหรือครีมผสม
สาเหตุเพราะว่านมและครีมมีราคาแพง

ต่อมาวิวัฒนาการไอศกรีมแบบไทยก็เกิดขึ้น เมื่อผู้คนได้นำกะทิมาประกอบอาหาร

การผลิตไอศกรีมยุคนั้นได้ใช้กะทิจากมะพร้าวผสมกับน้ำตาลและเสริมด้วยกลิ่นหอมจากดอกนมแมว และแล้วก็จึงเกิดไอศกรีมกะทิขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เวลาผ่านไป…ก็มีผู้ผลิตไอศกรีมมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่…ถ้าจะให้ยกตัวอย่างไอศกรีมกะทิดีๆดังๆ สักเจ้าในเมืองไทย ก็คงต้องพูดถึงเจ้านี้ นั่นก็คือ ไอศกรีมไผ่ทอง

กว่า 6 ทศวรรษ ไอศกรีมไผ่ทองถือได้ว่าเป็นตำนาน และ เป็นรุ่นใหญ่ของวงการไอศกรีม

ที่มาที่ไปของไอศกรีมไผ่ทองเป็นมาอย่างไร? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

เมื่อ 60 ปีที่แล้ว..

จุดเริ่มต้นอยู่ตรงที่ นายกิมเซ็ง แซ่ซี่ ผู้ทำอาชีพขายไอศกรีม

โดยนายกิมเซ็งจะรับไอศกรีมแท่งมาขายจากเถ้าแก่คนหนึ่งในสมัยนั้น (ผู้ผลิตไอศกรีมแท่ง)

ทำแล้วก็ขายดีบ้างขายไม่ดีบ้าง รายได้ไม่เคยคงที่สักที แถมยังโดนลูกค้าต่อว่าอยู่เป็นประจำ แต่ก็ยังคงทำต่อไป

เพราะอะไรนายกิมเซ็ง ถึงโดนลูกค้าต่อว่า?

เนื่องจากไอศกรีมแท่งที่ไปรับมาขาย ทั้งรสชาติและคุณภาพของไอศกรีมในแต่ละวันไม่เคยเหมือนกันสักวัน เพราะการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน

ยิ่งขายไปก็ยิ่งสู้คู่แข่งเจ้าอื่นไม่ได้ ทำให้นายกิมเซ็งทนไม่ไหวและได้ตัดสินใจเดินไปบอกเถ้าแก่ที่นายกิมเซ็งไปรับไอศกรีมมาขายเป็นประจำว่า

“เถ้าแก่ครับ…ไอศกรีมของเราน่าจะปรับปรุงให้ดีกว่านี้นะครับ” เถ้าแก่ก็ไม่สนใจอะไร และก็ยังพูดต่อว่ามาอีก

“ถ้าอยากจะทำให้ดีกว่านี้ ก็ไปทำเองสิ” คำพูดคำนี้เอง ได้กลายเป็นคำพูดที่จุดประกายความคิดให้มาหันมาทำไอศกรีมเป็นของตนเอง นับตั้งแต่บัดนั้น

ไอศกรีมแบรนด์แรกที่ได้คิดขึ้นนั้นมีชื่อว่า “หมีบินเกาะต้นมะพร้าว” หรือผู้คนสมัยนั้นจะรู้จักกันในชื่อสั้นๆว่า ไอศกรีมหมีบิน โดยช่วงแรกเริ่มก็ทำเพียงรสเดียว คือ รสกะทิ ซึ่งนายกิมเซ็งทำด้วยสองมือของตัวเอง

ปรากฎว่าขายดีมาก ลูกค้าหลายคนติดใจ เกิดลูกค้าประจำ จนทำให้นายกิมเซ็งคิดการใหญ่ นำเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นมาใช้ในการผลิตไอศกรีม

ธุรกิจของนายกิมเซ็งเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องตลอดหลายปีภายใต้ไอศกรีมตราหมีบิน

8 ปีผ่านไป ไอศกรีมหมีบินได้มีปรับเปลี่ยนชื่อ เป็นไอศกรีมไผ่ทอง สาเหตุเพราะ ชื่อเดิมนั้นไปคล้ายกับผลิตภัฑณ์นมตราหมี ทำให้ลูกค้าเกิดสับสนในตราสินค้า จึงจำเป็นต้องปรับชื่อเป็นไอศกรีมไผ่ทองที่เรารู้จักมากันจนถึงวันนี้

และที่มาของชื่อไผ่ทองมาจากไหน?

ไผ่ทอง นั้นก็มาจากคำว่า กิมเต็ก หมายถึง ไม้มงคลของคนจีน

ถึงแม้นายกิมเซ็งจะไม่ได้อยู่นำทัพไอศกรีมไผ่ทองแล้ว แต่นายกิมเซ็งมีบุตรชายที่มากความสามารถ เพื่อสานต่อธุรกิจครอบครัว คือ นายบุญชัย ชัยผาติกุล ผู้เป็นประธานบริษัท ไผ่ทองไอศครีม จำกัด คนปัจจุบัน

คุณบุญชัยได้ต่อยอดธุรกิจอย่างมืออาชีพ โดยมีการปรับสูตรให้เหมาะสมกับยุคสมัยและได้เพิ่มรสชาติขอไอศกรีมถึง 7 รสชาติ ได้แก่ ได้แก่ กะทิ ช็อคโกแลต วานิลลาซิพ สตรอเบอรี่ กาแฟ เผือก และมะนาวเซอร์เบต ทำให้วันนี้ไอศกรีมไผ่ทองติดตลาดและรู้จักในวงกว้าง

แต่รู้ไหมว่าลูกค้าจริงๆของไอศกรีมไผ่ทองไม่ใช่คนทั่วไป

ลูกค้าที่แท้จริงของไอศกรีมไผ่ทอง คือ ใคร?

ลูกค้าของไอศกรีมไผ่ทองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรกคือตัวแทนจำหน่าย ลงทุนเปิดร้าน ซื้อตู้แช่สำหรับสต็อคสินค้า ให้คนมารับไปขายต่อ

และกลุ่มที่สองคือคนขายตรง เข้ามารับไอศกรีมแล้วนำไปขายด้วยตัวเอง (รถเข็น)

ยอดขายไอศกรีมไผ่ทองเป็นอย่างไร?

ไอศกรีมไผ่ทองถือหุ้นใหญ่โดยตระกูลชัยผาติกุล แต่บริหารงานภายใต้สองบริษัทด้วยกัน คือ หจ.ไผ่ทองซีกิมเซ็ง และ บริษัท ไผ่ทองไอศครีม จำกัด

มาดูรายได้ของ หจ.ไผ่ทองซีกิมเซ็ง กันก่อน
ปี 2556 ยอดขาย 45 ล้านบาท
ปี 2557 ยอดขาย 49 ล้านบาท
ปี 2558 ยอดขาย 65 ล้านบาท
ปี 2559 ยอดขาย 66 ล้านบาท

รายได้ของ บริษัท ไผ่ทองไอศครีม จำกัด
ปี 2556 ยอดขาย 20 ล้านบาท
ปี 2557 ยอดขาย 27 ล้านบาท
ปี 2558 ยอดขาย 29 ล้านบาท
ปี 2559 ยอดขาย 38 ล้านบาท

หากมองรายได้ย้อนหลังไป 4 ปี จะเห็นได้ว่าไอศกรีมไผ่ทองมียอดขายเติบโตทุกปี
ในปี 2559 รวมกัน 2 บริษัทมีรายได้มากถึง 104 ล้านบาทเลยทีเดียว

ทั้งๆที่เราก็เห็นว่าไอศกรีมไผ่ทอง ในการทำธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นแบบรถเข็นขาย หรือบางพื้นที่เป็นรถปั่นสามล้อขาย ขายตามข้างทาง ข้างถนน หน้าออฟฟิศ ในหมู่บ้านเป็นต้น

เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ธุรกิจที่มีรูปแบบเหมือนกับว่าดูไม่น่าสร้างรายได้ได้มากนัก แต่กลับทำยอดขายได้อย่างน่าสนใจ เพราะมีช่องทางจำหน่ายที่เข้าถึงทุกคน

ไอศกรีมไผ่ทองไม่ใช่แค่ธุรกิจขายไอศกรีมหรือสร้างรายได้ให้กับตระกูลชัยผาติกุลเพียงเท่านั้น

แต่ยังเป็นธุรกิจที่มีคุณค่า สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้คนได้มากมาย บางคนขายไอศกรีมไผ่ทองมาเป็นเวลา 5 ปี 10 ปี ก็มี

รายได้จากตรงนี้ถูกนำไปเลี้ยงดูครอบครัว ส่งลูกเรียน ส่งให้พ่อให้แม่ บางคนเก็บเงินได้มากพอก็ลงทุนเองและก้าวไปสู่การเป็นตัวแทนจำหน่ายไอศกรีมไผ่ทองได้ที่สุด

ไอศกรีมไผ่ทองเป็นตัวอย่างดีในหลายเรื่อง แต่เรื่องสำคัญที่สุดก็คงเป็นเรื่องของการรักษาคุณภาพ และชื่อเสียงของไอศกรีม มาอย่างยาวนาน

ตามคำที่เราเคยได้ยินมาว่า การเป็นผู้นำนั้นถ้ายากแล้ว แต่การรักษาให้ตัวเองเป็นผู้นำไปตลอดนั้นยากกว่า

การรักษามาตราฐานให้เรามีคุณภาพที่ดีคงเส้นคงวานั้นเป็นปัจจัยหลักในการทำธุรกิจ

ถ้าเรารักษามาตรฐานได้เหมือนที่คุณกิมเซ็งตั้งใจรักษามาตั้งแต่ต้น เมื่อ 60 ปี ก่อน

เราก็คงจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เหมือน ไอศกรีมไผ่ทอง..

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0