โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"วันนี้ที่รอคอย" ของคริสตชนคาทอลิก พระสันตะปาปาเยือนไทยในรอบ 35 ปี

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 22 พ.ย. 2562 เวลา 10.15 น. • เผยแพร่ 05 พ.ย. 2562 เวลา 13.06 น.
Pope Francis Attends His Weekly General Audience
Pope Francis arrives to lead the weekly general audience in Saint Peters Square, Vatican City, 05 June 2019. (Photo by Massimo Valicchia/NurPhoto via Getty Images)

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ปัจจุบันเมืองไทยมีชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจำนวน 388,468 คน มีเขตศาสนปกครอง (มิสซัง) 11 เขต มีพระสงฆ์ นักบวช 848 รูป มีวัด 526 แห่ง ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกกับเมืองไทยมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน นับตั้งแต่ที่ได้เริ่มเข้ามาหว่านเมล็ดในเมืองไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะมีการสถาปนา “มิสซังสยาม” เมื่อปี ค.ศ. 1669 (พ.ศ. 2212)

ปีนี้ครบรอบ 350 ปีการสถาปนามิสซังสยาม และเป็นปีที่ดีมาก ๆ ของคริสตชนคาทอลิกที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสจะเสด็จเยือนประเทศไทย ตามคำเชิญของรัฐบาลไทย และสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายนนี้ โดยการเสด็จครั้งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการ ว่าAPOSTOLIC JOURNEY OF HIS HOLINESS FRANCIS TO THAILAND ซึ่งการเสด็จมาเยือนเมืองไทยครั้งนี้เป็นเหมือนกับการที่ “พ่อเดินทางมาเยี่ยมลูก ๆ”

*500 ปีคาทอลิกในไทย 350 ปี “มิสซังสยาม” *

คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นเวลามากกว่า 500 ปีแล้ว ปรากฏหลักฐานว่ามิสชันนารีคณะโดมินิกันได้เข้าสู่ประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1511 ก่อนที่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกจะหยั่งรากอย่างมั่นคงเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 ทรงสถาปนา “มิสซังสยาม” หรือ Apostolic Vicariate of Siam เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1669 (พ.ศ. 2212) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนจักรคาทอลิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากการเผยแพร่ศาสนาแล้ว มิสชันนารีและคริสตชนคาทอลิกได้นำวิทยาการจากตะวันตกเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศไทยในด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังประกอบกิจเมตตาสาธารณกุศลแก่ประชาชนโดยทั่วไป หากลองสังเกตจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะเห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างการเผยแพร่ศาสนาคริสต์กับความเจริญทางการศึกษา และการแพทย์-สาธารณสุข

จากก้าวแรกของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในสมัยกรุงศรีอยุธยาผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเคยได้รับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปามาแล้ว 1 ครั้ง คือเมื่อครั้งสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) และครั้งที่ 2 ที่คริสตชนคาทอลิกรอคอยจะได้รับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปากำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรอบ 35 ปี

ส่วนประมุขแห่งรัฐไทยเคยเสด็จฯเยือนสันตะสำนักแห่งนครรัฐวาติกันครั้งแรกเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จไปทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินทวีปยุโรปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) ครั้งถัดมารัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) และครั้งล่าสุดรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จไปเข้าเฝ้านักบุญยอห์น ที่ 22 พระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503)

พระสันตะปาปาฟรังซิส ประมุขลำดับที่ 266

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขศาสนจักรโรมันคาทอลิก และพระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน ทรงเป็นพระสันตะปาปาลำดับที่ 266 มีพระนามเดิมว่า ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ ประสูติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

ด้านการศึกษา ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส และประกาศนียบัตรสาขาวิชาปรัชญาจาก Colegio Maximo San Jose ทรงเป็นอาจารย์วิชาวรรณกรรมและจิตวิทยาที่ Colegio de la Inmaculada และ Colegiodel Salvador นอกจากนั้น ทรงศึกษาวิชาเทววิทยา (theology) และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางเทววิทยาที่มหาวิทยาลัย Facultades de Filosofia y Teologiade San Miguel

ด้านศาสนา พระองค์ทรงเข้าศึกษาในสามเณราลัยและได้ปฏิญาณตนเป็นนักบวชคณะแห่งพระเยซูเจ้า (เยสุอิต) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1958 ต่อมาทรงบวชเป็นพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1969 สำหรับตำแหน่งสำคัญทางศาสนา ก่อนได้รับเลือกขึ้นเป็นพระสันตะปาปา พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งจากนักบุญยอห์นปอล ที่ 2 พระสันตะปาปาให้ดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งเขตศาสนปกครองกรุงบัวโนสไอเรส ต่อมาได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระคาร์ดินัลเมื่อปี ค.ศ. 2001

ระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งกรุงบัวโนสไอเรสนั้นพระองค์ทรงดำรงชีวิตแบบสมถะ เช่น มักเดินทางโดยใช้รถประจำทางหรือรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจและเยี่ยมเยียนคนยากจน ทรงประทับอยู่ในห้องชุดเรียบง่าย ทำอาหารด้วยพระองค์เอง ชาวบัวโนสไอเรสโดยทั่วไปรู้จักพระองค์ในนาม “คุณพ่อฮอร์เก้”

ต่อมาหลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงสละสมณศักดิ์เมื่อ ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) พระองค์ทรงได้รับเลือกตั้งจากคณะพระคาร์ดินัลในการประชุม “คอนเคล็ฟ (conclave)” ให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาสืบแทนนักบุญเปโตรหรือเซนต์ปีเตอร์เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 2013

เมื่อทรงตอบรับตำแหน่งพระสันตะปาปา พระองค์ทรงเลือกใช้พระนามว่า “Franciscus” ในภาษาละติน หรือ “Francis” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมาจากนามของนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีผู้ก่อตั้งคณะนักบวชฟรังซิสกัน ผู้ถือความสมถะ สนใจและเอาใจใส่ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมสันติภาพ และรักษ์สิ่งแวดล้อม

จาริกเพื่อสันติภาพ-เสวนาระหว่างศาสนา

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนไทยครั้งนี้เป็นการเสด็จเยือนตามคำเชิญของรัฐบาลไทย และสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ซึ่งสำหรับพระองค์แล้วนี่คือการจาริกเพื่อสันติภาพ ดังคำกล่าวในการแถลงประกาศครั้งแรกที่ว่า

“สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงมีความโสมนัสยิ่งที่การเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยครั้งนี้เป็นการจาริกเพื่อสันติภาพ และเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนา พระองค์จะประกอบพิธีมิสซาแบบสาธารณะ 2 ครั้ง คือ สำหรับบรรดาคริสตชนคาทอลิกทั่วประเทศ และอีกครั้งเป็นพิเศษสำหรับบรรดาเยาวชน”

อ.ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย ที่ปรึกษาสมณสภาสื่อสารสังคม สำนักวาติกัน กล่าวถึงการที่สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จเยือนที่ต่าง ๆ ว่า พระองค์ผู้เป็นประมุข ในฐานะบิดา ต้องการจะไปเยี่ยมลูก ๆ ของพระองค์ ถึงแม้พระองค์อายุมาก และสุขภาพไม่สมบูรณ์ แต่พระองค์ปรารถนาจะไปเยี่ยมเยียนคริสตชน และประชากรทั่วโลก เพื่อจะนำสันติ ความรัก ความปรารถนาดีไปมอบให้

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงให้ความสำคัญกับสันติภาพมาก และพระองค์ทรงเน้นย้ำเสมอว่า เราทุกคนควรเสียสละตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่มีการกระทำใดที่เป็นการเสื่อมเสียเกียรติและศักดิ์ศรี หากการทำนั้นสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากความเจ็บปวดได้ ดังที่ อ.ชัยณรงค์ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่พระองค์พยายามสร้างสันติภาพ เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีซูดานใต้เข้าเฝ้าพระองค์ที่วาติกัน พระองค์ทรงก้มลงจูบเท้าของเขา แล้วพูดว่า “โปรดช่วยกันสร้างสันติเถิด”

สำหรับการเสด็จเยือนไทยครั้งนี้มีกำหนดการเดินทางออกจากประเทศอิตาลี ในวันที่ 19 พฤศจิกายน เวลา 19.00 น. เดินทางถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 ดอนเมือง ในวันที่ 20 พฤศจิกายน เวลา 12.30 น. ซึ่งจะมีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ ท่าอากาศยาน จากนั้นเสด็จไปที่สถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่ประทับตลอดการเยือนประเทศไทย

*ศาสนกิจเสด็จเยือนไทย *

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน

09.00 น. ทรงร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ บริเวณลานด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล จากนั้นทรงพบนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล ข้าราชการคณะทูตานุทูต และทรงปราศรัยภายในตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

10.00 น. เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

11.15 น. เสด็จโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เพื่อประทานโอวาทแก่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลคาทอลิก 4
โรงพยาบาล จากนั้นเสด็จอวยพรผู้ป่วยผู้สูงอายุ ภายในอาคารร้อยปีบารมีบุญ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ จากนั้นเสด็จกลับไปเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ สถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย

16.55 น. เสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

18.00 น. เสด็จทำพิธีบูชาขอบพระคุณ หรือพิธีมิสซา โดยสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเทศน์ ณ สนามศุภชลาศัย

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน

10.00 น. ทรงพบกับคณะบาทหลวงนักบวช นักพรต สามเณร ผู้ฝึกหัด ครูคำสอน และทรงปราศรัย ภายในวัดคาทอลิกนักบุญเปโตร อ.สามพราน จ.นครปฐม

11.00 น. ทรงพบบรรดาบิชอปของไทยและบิชอปของสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย (FABC) และทรงปราศรัย ณ สักการสถานบุญราศีนิโคลาสบุญเกิด กฤษบำรุง

11.50 น. ทรงพบคณะนักบวชเยสุอิตในประเทศไทยภายในห้องด้านหลังสักการสถานบุญราศี นิโคลาสบุญเกิด กฤษบำรุง จากนั้นเสด็จกลับไปเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ สถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย

15.20 น. ทรงพบผู้นำคริสตชนนิกายต่าง ๆ ผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ ในประเทศไทย บรรดาผู้นำสถาบันการศึกษา คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา พร้อมทั้งทรงปราศรัย ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

17.00 น. เสด็จทำพิธีบูชาขอบพระคุณสำหรับเยาวชน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเทศน์ ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน

09.15 น. พิธีการอำลาส่งเสด็จ ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 กองบัญชาการกองทัพอากาศ อาคาร 2 ดอนเมือง

09.30 น. เครื่องบินพระที่นั่งออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครมุ่งสู่กรุงโตเกียว

17.40 น. เสด็จถึงท่าอากาศยานกรุงโตเกียว-ฮาเนดะ มีพิธีการต้อนรับ ณ ท่าอากาศยาน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0