โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ไฟเขียวเก็บภาษี'ทรัพย์สินดิจิทัล' หนุนลงทุนระยะยาว

เดลินิวส์

อัพเดต 18 มี.ค. 2561 เวลา 07.00 น. • เผยแพร่ 18 มี.ค. 2561 เวลา 06.55 น. • Dailynews
ไฟเขียวเก็บภาษี'ทรัพย์สินดิจิทัล' หนุนลงทุนระยะยาว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยไทยเผย ครม.อนุมัติร่างพ.ร.บ.เก็บภาษีทรัพย์สินดิจิทัล สอดรับมาตรฐานสากล หวังส่งเสริมลงทุนระยะยาวมากกว่าเก็งกำไรช่วงสั้น ยันกระทบเศรษฐกิจไทยจำกัด เหตุตลาดไอซีโอยังเล็ก 

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า กรณีที่ครม.วันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้อนุมัติร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัลครั้งนี้ สร้างความชัดเจนในนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล รวมถึงการเก็บภาษีที่เทียบเคียงได้กับทรัพย์สินประเภทอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับสากล และมุ่งส่งเสริมลงทุนระยะยาว มากกว่าการเก็งกำไรระยะสั้น และหลังจากนี้ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อีกครั้ง เพื่อรอประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

"ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นหนึ่งในกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่ทางการไทยเตรียมทยอยบังคับใช้ ซึ่งสะท้อนความตั้งใจของรัฐบาลในการวางกรอบกติกาที่ชัดเจนให้สำหรับการลงทุนชนิดใหม่นี้ และเป็นการดูแลความเสี่ยงของระบบในภาพรวม ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีกฎหมายเฉพาะเจาะจงสำหรับการจัดการภาระภาษีเนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล"

    

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะนี้ยังจำกัด เพราะตลาด ICO หรือการระดมทุนผ่านเหรียญดิจิทัลยังมีขนาดเล็ก ขณะที่ความชัดเจนจากเกณฑ์ด้านภาษีข้างต้น จะช่วยให้นักลงทุนพิจารณาลงทุนด้วยความรอบคอบ ซึ่งน่าจะดีต่อกิจการในการผลักดันโครงการและเทคโนโลยีที่มีคุณภาพในระยะยาว เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ตลาด bx.in.th ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายเงินสกุลดิจิทัล (Exchange) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าการซื้อขาย 291.2 ล้านบาท หรือเพียง 0.37% ต่อมูลค่าการซื้อขายรายวันของตลาดหลักทรัพย์ไทย (78,221.2 ล้านบาท)

ประสบการณ์ของหลายประเทศสะท้อนว่า หากปล่อยให้ตลาดทรัพย์สินประเภทนี้เติบโตบนจุดประสงค์การลงทุนที่เน้นการเก็งกำไรในระยะสั้นเป็นหลัก ก็อาจสร้างความเสี่ยงทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตได้ นอกจากนี้ การออกกฎหมายระบุอัตราภาษีที่ชัดเจน จึงทำให้นักลงทุนรายย่อยตระหนักถึงภาระด้านภาษีของตน ตลอดจนสามารถคิดคำนึงถึงข้อดีและข้อเสียของการลงทุนในทรัพย์สินดิจิทัลได้อย่างครบถ้วนและชัดเจนมากขึ้นด้วย

"ต้องรอบทสรุปของรายละเอียดท้ายสุดหลังร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ก็ยังย้ำเจตนารมณ์ของทางการไทยในการดูแลทรัพย์สินดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วนี้อย่างเป็นระบบ โดยมุ่งให้เกิดเสถียรภาพของตลาด ขณะเดียวกัน ก็ไม่เป็นการปิดกั้นทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุน และกิจการที่ต้องการระดมทุน โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพและบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในยุค 4.0 เพื่อให้เห็นภาพการกำกับดูแลที่ครบถ้วน จึงยังคงต้องติดตามกฎเกณฑ์ที่กำลังจะออกมาในอนาคตอย่างใกล้ชิดด้วย". 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0