โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ไขข้อสงสัย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แท้จริงเกิดจากสาเหตุอะไร?

MThai.com - Health

เผยแพร่ 20 ก.พ. 2561 เวลา 02.09 น.
ไขข้อสงสัย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แท้จริงเกิดจากสาเหตุอะไร?
ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เป็นอีกหนึ่งอาการยอดฮิต ที่หลายๆ คนต้องเจอ แต่เคยสงสัยไหมว่า แท้จริงแล้วมันเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่?

ถ้าคุณกำลังมีอาการปวดท้องส่วนบน ท้องอืด แน่นท้อง รู้สึกเหมือนมีลมในท้อง ต้องเรอบ่อยๆ ในบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็ว หรืออาจจะแน่นท้อง ทั้งๆ ที่กินอาการไปเพียงเล็กน้อย รวมถึงแสบบริเวณหน้าอก ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า คุณกำลัง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ซะแล้วล่ะ!

สาเหตุของอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย

อาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่…

1. โรคในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร พยาธิในทางเดินอาหาร เป็นต้น

2. โรคที่เกิดจากสิ่งภายนอก ได้แก่ ยาต่างๆ ที่เรารับประทาน ยาหลายชนิดจะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่ ยาแก้ปวดข้อทั้งหลาย ยาบางชนิด จะทำให้กระเพาะและลำไส้บีบตัวน้อยลง เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาปฏิชีวนะบางอย่าง เครื่องดื่ม ที่มีแอลกอฮอลเป็นส่วนผสม เช่น เหล้า เบียร์ จะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ บุหรี่ อาหารที่ย่อยยากหลายอย่าง รวมทั้งอาหารที่มีกากมากๆ อาหารรสจัด

3. โรคของทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี

  1.  โรคของตับอ่อน

  2.  โรคทางร่างกายอย่างอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์พฤติกรรมในการรับประทานอาหาร มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาหารท้องอืด

พฤติกรรมการกินมีส่วนทำให้ท้องอืดไหม?

มีส่วนอย่างแน่นอน เช่น การรับประทานอาหารรสจัด จะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ การกินอาหารรีบร้อน เคี้ยวไม่ละเอียด กินครั้งละมากๆ รวมทั้งกินอาหารย่อยยาก กินอาหารมัน อาหารประเภทผักจะมีเส้นใยปริมาณมาก ร่างกายเราจะไม่มีน้ำย่อยที่จะทำการย่อยเส้นใยเหล่านั้น แบคทีเรียในลำไส้จะเป็นตัวช่วยย่อย ทำให้มีกรดบางที่อาจทำให้ท้องอืดได้ ถ้ากินมากไป แต่อาหารที่มีเส้นใยมากก็จะมีประโยชน์ ในเรื่องของการขับถ่าย จะทำให้ขับถ่ายสะดวก อาหารประเภทนม ในคนแถบเอเชียจะไม่มีน้ำย่อยที่ย่อยนม หรือมีปริมาณน้อย เมื่อกินเข้าไป จะทำให้ท้องอืด หรือท้องเสียได้ถ้ากินมากๆ

คนที่ท้องอืดบ่อย จะมีปัญหาอะไรบ้าง?

ปัญหาที่พบได้บ่อยในคนที่ท้องอืด ได้แก่ โรคกระเพาะ อาจจะเป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ นอกจากนี้อาจจะเป็นโรคของทางเดินน้ำดี เช่น เป็นนิ่วในถุงน้ำดี หรืออาจเกิดจากอาหารที่เรากินเข้าไป

วิธีแก้ไขเบื้องต้น เมื่อท้องอืด

วิธีแก้ไขเบื้องต้น อาจจะใช้ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาขับลม หรือ ยาธาตุน้ำแดง ลองกินดูก่อน นอกจากนี้ต้องปรับพฤติกรรมการกิน ให้กินอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย กินแต่พอควร ไม่ให้มาก ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์

หากกินยาช่วยย่อยที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไปเป็นประจำ จะมีผลอย่างไรต่อร่างกาย

การรับประทานยาช่วยย่อย อาจจะช่วยอาการท้องอืดได้บ้าง แต่ถ้าต้องรับประทานทุกวัน คงจะไม่ถูกต้อง เพราะเราไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการท้องอืด และไม่ได้รับการแก้ไขสาเหตุที่แท้จริง อาจจะนำให้โรคเป็นมากขึ้นได้

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์?

1. ในคนสูงอายุ เช่น อายุเกิน 40 ปี เพิ่งจะเริ่มมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจาก พบว่ามะเร็งของกระเพาะอาหาร หรือตับมักจะพบในคนอายุเกินกว่า 40 ปี

2. ในคนที่มีอาการท้องอืดร่วมกับมีน้ำหนักลด

3. มีอาการซีด ถ่ายอุจจาระดำ

4. มีอาเจียนติดต่อกัน หรือกลืนอาหารไม่ได้

5. ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีก้อนในท้อง

6. ปวดท้องมาก

7. ท้องอืดแน่นท้องมาก

8. การขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป

ที่มา :  ศ.พญ.ศศิประภา บุญญพิสิฏฎ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0