โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

โมเดลลงทุนใหม่ 15 ตระกูลดัง บุกร.ร.อินเตอร์-โรงพยาบาล

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 18 มี.ค. 2561 เวลา 17.12 น.
p0102190361p1

เปิดเทรนด์หนีที่ดินแพง เศรษฐี 15 ตระกูลดังแห่ลงทุนสร้างโรงเรียนนานาชาติ-โรงพยาบาลพรึ่บ รับตลาดโต โมเดลธุรกิจให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ความเสี่ยงต่ำ และไม่เสียภาษี ชี้ตลาด 6 หมื่นล้านเดือด รายใหม่ดาหน้าชิงแชร์ “วันแบ็งค็อก” จีบมหา”ลัยไต้หวันปักหมุดในไทย “ทองสิมา” เจ้าของ รพ.นครธน – “แสนสิริ” รุกโรงเรียนนานาชาติครั้งแรก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากปัญหาราคาที่ดินแพง ทำให้นักลงทุนรายใหญ่และเศรษฐีเจ้าของที่ดินต่างเร่งปรับตัวและหันไปลงทุนโครงการที่ให้ผลตอบแทนสูงทดแทนการแข่งขันซื้อที่ดินใจกลางเมือง

มูลค่าตลาดมหาศาล

นายรัชภูมิ จงภักดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงเรียนนานาชาติเป็นธุรกิจที่อยู่ในความสนใจของ 10-15 ตระกูลดัง

ล่าสุด มีกลุ่มทุนรายใหม่สนใจลงทุนมากขึ้นเพราะสร้างรายได้สูงและมีค่าใช้จ่ายต่ำข้อมูลสถิติปี 2559 ระบุว่า ตลาดการศึกษามูลค่าตลาดรวม 60,500 ล้านบาท โรงเรียนนานาชาติมีส่วนแบ่งตลาด 18-20% จาก 175 แห่งอยู่ในกรุงเทพฯ 60% รูปแบบ มีทั้งลงทุนโดยผู้ประกอบการไทย และร่วมลงทุนกับต่างชาติ ซึ่งมีท็อปไฟฟ์คือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย รัสเซีย อังกฤษ

หลักสูตรยอดนิยมยังเป็นของอังกฤษ อเมริกา ล่าสุด มีมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันติดต่อกระทรวงศึกษาธิการ ขอจัดตั้งหลักสูตรภาษาจีนโดยเฉพาะ

“การเข้ามาลงทุนของมหาวิทยาลัยไต้หวันได้รับความสนใจจากโครงการวัน แบ็งคอก (กลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี)ภายในโครงการมีพื้นที่ถึง 1.8 ล้านตารางเมตร สามารถสร้างชุมชนใหม่ได้ ขณะที่โรงพยาบาลและโรงเรียนนานาชาติมีความต้องการสูง”

เปิดโมเดลธุรกิจ

นายรัชภูมิกล่าวว่า โรงเรียนนานาชาติมีสเกลการลงทุนเริ่มต้นในที่ดิน 50-70 ไร่ นักเรียน 600-800 คน ค่าเทอม 4-8 แสนบาท/คน/ปี เฉลี่ย 6 แสนบาท/คน/ปี เจ้าของจะมีรายได้ตกปีละ 1,000 ล้านบาท

ขณะที่ค่าใช้จ่ายหลักจะเป็นเรื่องเจ้าของหลักสูตร ซึ่งมีรูปแบบคล้ายแฟรนไชส์หรือเชนโรงแรม โดยเจ้าของโรงเรียนเป็นผู้ก่อสร้าง ให้เจ้าของหลักสูตรดูแลการเรียนการสอนแบบเหมารวม มีค่าใช้จ่าย 30% ของรายได้ อีกส่วนเป็นค่าใช้จ่ายวัสดุอุปกรณ์ 10%

ประเด็นสำคัญคือไม่เสียภาษีเมื่อไม่มีรายจ่ายภาษีนิติบุคคล 20-30%จึงกลายเป็นรายได้สุทธิกลับคืนทำให้โรงเรียนนานาชาติกลายเป็น business line ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มทุนในขณะนี้ โดยมีมูลค่าลงทุนรวมที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉลี่ย 2,800 ล้านบาทในกรุงเทพฯ และ 2,500 ล้านบาทในต่างจังหวัด

ตระกูลดังแห่ลงทุน

นางสาวเพ็ญศิริ ทองสิมา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ทูดีวัน จำกัด เปิดเผยว่าได้ร่วมทุนกับบริษัท เบซิส อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น โฮลดิ้ง จากอเมริกาวงเงิน 1,500 ล้านบาท สร้างโรงเรียนนานาชาติเบซิส กรุงเทพฯ (BASIS International School Bangkok) พื้นที่ 22 ไร่หลังห้างเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 บริเวณเดียวกับโครงการ Park Village ของครอบครัวที่มีทั้งคอนโดฯ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ รีเทล และโรงพยาบาลนครธน

“เปิดสอนเตรียมอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย รองรับนักเรียนสูงสุด1,400 คน จะเปิดสอนสิงหาคม 2562จะเปิดชั้นเตรียมอนุบาลถึงเกรด 5 ค่าเทอม 5-8 แสนบาท/ปี”

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และประธานกรรมการ ร.ร.นานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ ย่านกรุงเทพกรีฑา กล่าวว่า การก่อสร้างโรงเรียนมี 2 เฟส พื้นที่ 50 ไร่ เฟสแรกสิงหาคม 2561 จะเปิดสอนชั้นอนุบาลถึง year 6 ลงทุน 2,500 ล้านบาทเฟส 2 เปิดถึง year 13 ในปี 2563 รับนักเรียนได้ 1,800 คน มีแผนลงทุนเฟส 3 ในปี 2566 จะสร้างหอพักและสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่ม เพื่อเปิดโรงเรียนประจำ

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ เจ้าของโรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ ลงทุนเพิ่ม 1,800 ล้านบาท ก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติไบรท์ตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ 50 ไร่ ย่านถนนกรุงเทพกรีฑาเช่นเดียวกัน รวมถึงบมจ.แสนสิริ เตรียมลงทุนโรงเรียนนานาชาติบนที่ดินผืนใหญ่ในซอยอ่อนนุช

เล็งรับตลาด EEC

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตระกูล “โสภณพนิช” ทุ่มลงทุน 2,600 ล้านบาท เปิดโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ-ซิตี้ แคมปัส 35 ไร่ หลังโรงพยาบาลปิยะเวท เป็นแคมปัสแห่งที่ 2 ต่อจากริเวอร์ไซด์ แคมปัส และตระกูล “ปาลเดชพงศ์” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า ขยายธุรกิจเปิดโรงเรียนนานาชาติ Denla British School ขนาด 45 ไร่ ย่านถนนราชพฤกษ์ นนทบุรี มูลค่า 2,000 ล้านบาท

ตระกูล “ธรรมวัฒนะ” ลงทุน 1,200 ล้านบาท เปิด Thai International School พื้นที่ 30 ไร่ ถนนรังสิต-ปทุมธานี และตระกูล “กาญจนพาสน์” ร่วมทุนกับ American International School (AIS) จากฮ่องกง สร้างโรงเรียนนานาชาติบนที่ดิน 167 ไร่ ใกล้โครงการธนาซิตี้ บางนา-ตราด ใช้เงินลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท พร้อมเปิดสอนในปี 2563

ขณะที่ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ตระกูล “ทีปสุวรรณ” ร่วมกับ Rugby School จากอังกฤษ เปิด Rugby School Thailand บนที่ดิน 200 ไร่ใกล้มอเตอร์เวย์ ต.เขาไม้แก้วอ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อรองรับเยาวชนใหม่ในภาคตะวันออก

ล่าสุด มีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มสหพัฒน์โฮลดิ้ง ที่จะสร้างโรงเรียนนานาชาติเพื่อรองรับพนักงานญี่ปุ่น-จีนในนิคมอุตสาหกรรมย่านศรีราชา-ชลบุรี

ธุรกิจโรงพยาบาลอู้ฟู่

สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลก็ได้รับความสนใจ อาทิ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ประเมินตลาดรวมธุรกิจนี้มีมูลค่าปีละ 6 แสนล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 8.7% จึงแตกไลน์ลงทุนสร้างโรงพยาบาลวิมุติ ย่านพหลโยธิน มูลค่า 4,500 ล้านบาท เปิดบริการปี 2563

นายรัชภูมิกล่าวว่า โมเดลธุรกิจโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายหลักคือค่าตัวหมอ คีย์ซักเซสจึงต้องพึ่งผู้ร่วมทุนจากกลุ่มหมอ กรณีโรงพยาบาลขนาดกลางมีค่าลงทุนเฉลี่ย 3,000 ล้านบาท ไม่รวมค่าอุปกรณ์การแพทย์ซึ่งมีราคาแพง

ล่าสุด นอกจากกลุ่มฮ่องกงแลนด์กับเซ็นทรัลกรุ๊ปที่สนใจลงทุนแล้ว โรงพยาบาลกรุงเทพในซอยศูนย์วิจัย ได้ซื้อที่ดิน 2 ไร่ ตารางวาละ 8 แสน-1 ล้านบาทเพื่อขยายธุรกิจ เช่นเดียวกับโรงพยาบาล BNH ที่ลงทุนขยายธุรกิจเพิ่มโรงพยาบาลเดชาจะร่วมทุนกับกลุ่มแพทย์จากสิงคโปร์ โดยสร้างใหม่ระดับ 5 ดาว อีกแปลงเป็นตึกร้างย่านพหลโยธิน อยู่ระหว่างบีทีเอสสถานีสะพานควาย-อนุสาวรีย์ และกลุ่มนักลงทุนจีนสนใจจะสร้างโรงพยาบาลเช่นกัน อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้

ธุรกิจ รพ.เนื้อหอม

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายธุรกิจได้กระโดดเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก อาทิ กลุ่มตระกูลณรงค์เดชและศรีไกรวิน มาในชื่อบริษัท เคพีเอ็น เฮลท์แคร์ จำกัด (มหาชน) ขนาด 152 เตียง ผ่าน EIA แล้ว อยู่ถนนรัชดาฯ-รามอินทรา ต.นวลจันทร์ บึงกุ่ม กรุงเทพฯ ขนาดพื้นที่ 8 ไร่

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตเจ้าของโรงพยาบาลพญาไท ประกาศลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า1.4 หมื่นล้านบาท สร้างโครงการอาร์เอสยูอินเตอร์เนชั่นแนล ฮอสพิทอล ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในนามบริษัท อิควิตี้ เรสซิเดนเชียล (อโศก) จำกัด ขนาด 304 เตียง พื้นที่กว่า 6 ไร่

เช่นเดียวกับ บมจ.โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป ที่แตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาล โดยซื้อหุ้นบริษัท โมเดอร์นฟอร์มเฮลท์แคร์ จำกัด และเข้าไปลงทุนในบริษัท ยูไอซีซี จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อธุรกิจสุขภาพ โรงพยาบาล และเวชภัณฑ์

ส่วนกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายเดิม เช่น บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง มีแผนขยายสาขาในต่างจังหวัดทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ส่วนโรงพยาบาลธัญญเวช อ.ลำลูกกา ปทุมธานี ขยายเป็นโรงพยาบาล 211 เตียงโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์บริเวณรอบ ๆ ย่านสุขุมวิท ขยายบริการและขึ้นอาคารใหม่

ล่าสุด ได้เปิด “บำรุงราษฎร์ เพชรบุรี แคมปัส” ทำเลเพชรบุรีตัดใหม่ สร้างเป็นโรงพยาบาลขนาด 202 เตียง พื้นที่ 5 ไร่ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชัย (สมุทรสาคร) ของ บมจ.เอกชัยการแพทย์ ได้ลงทุนเพิ่มอีก 160 เตียง

ขณะที่บริษัท การแพทย์ตะวันออกจำกัด เจ้าของโรงพยาบาลพัทยาเมมโมเรียล จังหวัดชลบุรี ยังได้ขยายการลงทุนไปที่จังหวัดภูเก็ต ชื่อโครงการ โรงพยาบาลพัทยาเมมโมเรียล ภูเก็ต เป็นโรงพยาบาลขนาด 45 เตียง บนพื้นที่ 8 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนทางหลวงชนบทสายป่าตอง-กะทู้ ต.กะทู้ อ.กะทู้

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0