โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

โต้โซเชียลเก็บภาษี"ชาแนล" กรมศุลฯชี้เป็น "รุ่นใหม่" ไม่ได้ถือไปนอก

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 20 มี.ค. 2561 เวลา 22.50 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง กรมศุลกากร เปิดเผยถึงกรณีที่มีประเด็นในโซเชียลมีเดียระบุว่า เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่สนามบินสุวรรณภูมิ ได้เก็บภาษีกระเป๋าถือยี่ห้อชาแนล (CHANEL) ของ น.ส.ตรีทิพย์นิภา อริยวัฒน หรือ “น้องกวาง” เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ทั้งๆที่ “น้องกวาง” ได้ถือกระเป๋าใบดังกล่าวออกจากประเทศไทยนั้น กรมศุลกากรขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง โดยกรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่เรียกตรวจพบว่า ผู้โดยสารมีกระเป๋า CHANEL รุ่น BOY สภาพใหม่ และสังเกตเห็นว่ามีซีลพลาสติกใสปิดที่โลโก้ จึงขอตรวจสอบ ซึ่งตรวจพบกล่องกระเป๋า CHANEL สภาพใหม่ และเสื้อคลุมยี่ห้อ BURBERRY ในกระเป๋าเดินทาง เจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบกระเป๋าถือและนำเลข HOLOGRAM STICKER และ Authenticity Number (หมายเลขของกระเป๋าที่ประทับบนโลโก้ CHANEL ด้านใน และหมายเลขในการ์ดสีดำขอบทอง) ซึ่งตัวเลขที่ระบุจะบ่งบอกปีที่ผลิต เมื่อเห็นว่าเป็นรุ่นใหม่ โดยผู้โดยสารแจ้งว่า เป็นของขวัญที่ได้รับจากเพื่อนชายต่างประเทศไม่มีใบเสร็จรับเงิน เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงได้แจ้งผู้โดยสารว่าเป็นของที่ต้องเสียภาษีอากร ผู้โดยสารไม่ปฏิเสธและยินดีชำระค่าภาษีอากรตามที่เจ้าหน้าที่ได้แจ้ง เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงร่วมกันพิจารณารับราคาประเมินเจ็ดหมื่นบาท ภาษีอากรรวมสองหมื่นบาท ผู้โดยสารยินยอมชำระอากรปากระวาง ดังนั้น กระเป๋าของผู้โดยสารมิได้เป็นของที่นำไปจากเมืองไทยแล้วนำกลับเข้ามาแต่เป็นของใหม่ที่มีราคาสูงและนำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร จึงเป็นตามหลักเกณฑ์ที่ต้องชำระค่าภาษีอากร

ขณะที่ด้านการคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าในประเทศไทย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวสนับสนุนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขายจากเดิมขอคืนได้ที่สนามบินตามที่กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาดำเนินการ นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจับจ่ายสินค้าในประเทศไทยมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้นักท่องเที่ยวนำเงินที่ได้รับคืนมาต่อยอดซื้อสินค้าอื่นๆ ต่อ โดยหากสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้เงินคืน ณ เวลานั้นเลย ซึ่งคาดว่าการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย จะมีส่วนช่วยทำให้สัดส่วนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวด้านช็อปปิ้ง ปรับสูงขึ้น จาก 20% เป็น 25% ของค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจเริ่มต้นในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวหลักในต่างจังหวัดก่อนที่จะขยายออกไปยังร้านค้าอื่นๆ ต่อไป.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0