โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แมวป่าหัวแบน…สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์

Petcitiz

เผยแพร่ 22 ก.ย 2560 เวลา 01.59 น. • petcitiz.info
แมวป่าหัวแบน…สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์
แมวป่าหัวแบน เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นแมวชนิดที่หายากที่สุดในของโลก

แมว เป็นสัตว์น่ารักที่มีนิสัยขี้อ้อน มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับเสือ และเป็นเพื่อนคลายเหงาที่ดี จึงได้รับความนิยมในกลุ่มคนชอบเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก และสำหรับแมวอีกหนึ่งชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่รู้จักนั่นก็คือ “แมวป่าหัวแบน” จัดว่าเป็นแมวแปลกที่มีหน้าผากแบนราบสมชื่อจริงๆ แมวชนิดนี้มีความน่าสนใจอย่างไร วันนี้ Petcitiz มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ

ประวัติแมวป่าหัวแบน

แมวป่าหัวแบน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Prionailurus planiceps) ในประเทศไทย แมวป่าหัวแบน ถือเป็นแมวหายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ด้วยเหตุที่มีประชากรน้อย และเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ จึงจัดอยู่ในสถานภาพสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยถิ่นที่อยู่อาศัยจะพบได้บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย บริเวณจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส ผ่านแหลมมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว นอกจากนี้ยังอาศัยอยู่ในป่าลึก ที่ราบต่ำ ชอบใช้ชีวิตบริเวณที่มีลำธารอุดมสมบูรณ์ หรือในพื้นทื่ที่เป็นหนองน้ำ

อุปนิสัยของเจ้าแมวป่าหัวแบน ชอบเล่นหรือแช่น้ำนานๆ มันสามารถมุดหัวลงไปคาบจับปลาใต้น้ำลึก 5 นิ้วได้ สำหรับอาหารของมัน ได้แก่ หนู กุ้ง ปลาน้ำจืด หรือบางมื้ออาจเป็น นก ไก่ ซึ่งจะมีพฤติกรรมคล้ายกับแรคคูน ที่ชอบใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง รักสันโดษ ประกาศอาณาเขตโดยการปล่อยปัสสาวะเช่นเดียวกับแมวทั่วไป เสียงร้องของแมวป่าหัวแบน จะคล้ายเสียงของลูกแมวบ้านทั่วไป

ลักษณะรูปร่างทั่วไป จะมีขนาดใกล้เคียงกับแมวบ้าน ตัวโตเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 5.5-8.0 กิโลกรัม ลำตัวยาว มีขนาดลำตัวถึงหางยาว 53-75 เซนติเมตร โดยที่หางยาวประมาณ 13-17 เซนติเมตร หรือประมาณร้อยละ 25-35 ของความยาวหัวถึงลำตัว ขนตามลำตัวยาว แน่น และอ่อนนุ่ม มีสีน้ำตาลคล้ำ และลายจุดละเอียดทั่วตัว ใต้ลำตัวมีสีขาวเป็นจุด มีสีน้ำตาลกระจายอยู่ใต้ลำตัว

สาเหตุที่ทำให้แมวป่าหัวแบนสูญพันธุ์

ด้วยเหตุที่แมวป่าหัวแบนอาศัยและหากินอยู่ริมน้ำ มันจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมลภาวะทางน้ำ โดยเฉพาะการปนเปื้อนของน้ำมันคลอรีน โลหะหนักจากการทำเกษตรเคมี และการทำไม้ โดยสารพิษเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางอาหารของมัน นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพของแหล่งน้ำที่หากินของแมวป่าหัวแบนนั้น เกิดการขยายที่ดินทำกินของคนเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุทำให้แมวป่าหัวแบนมีจำนวนลดลง

การอนุรักษ์สัตว์ป่า

สำหรับแนวทางการอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงมนุษย์ด้วย ไม่ว่าจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ดังนั้น เราจึงต้องช่วยกันป้องกันและแก้ไข ไม่ให้สัตว์ป่าลดจำนวนหรือสูญพันธุ์ไป

1.กำหนดกฎหมายและวิธีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ป่าเป็นแหล่งอาหารที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ ให้มีมากเพียงพอ

2.การรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างจริงจัง

3.การไม่ล่าสัตว์ป่า ไม่ควรมีการล่าสัตว์ป่าทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง เพราะปัจจุบันสัตว์ป่าทุกชนิดได้ลดจำนวนลงอย่างมาก ทำให้ขาดความสมดุลทางธรรมชาติ

4.การป้องกันไฟป่า นอกจากไฟป่าจะทำให้ป่าไม้ถูกทำลายแล้ว ยังเป็นการทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าด้วย

5.ปลูกฝังการให้ความรัก และเมตตาต่อสัตว์อย่างถูกวิธี สัตว์ป่าทุกชนิดมีความรักชีวิตเหมือนกับมนุษย์ การฆ่าสัตว์ป่า การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงไว้ในบ้าน ถือเป็นการทรมานสัตว์ ซึ่งมักไม่มีชีวิตรอด

6.การเพาะพันธุ์เพิ่มสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ หรือมีจำนวนน้อยลง ควรมีการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการทดแทนและเร่งให้มีจำนวนสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น

และทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวดีๆ ของแมวป่าหัวแบนที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ แม้ว่าแมวป่าในประเทศของเราจะลดน้อยลงแล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามาถทำได้คือ การช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่าไว้เพื่อรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านได้ไม่น้อย

เรื่องต้นฉบับ:petcitiz.info

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0