โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

แพทย์เลือกได้!? คนไข้ไร้มารยาท หมอไม่ขอรักษา!!

Manager Online

อัพเดต 17 ส.ค. 2560 เวลา 14.03 น. • เผยแพร่ 17 ส.ค. 2560 เวลา 14.03 น. • MGR Online
แพทย์เลือกได้!? คนไข้ไร้มารยาท หมอไม่ขอรักษา!!
แพทย์เลือกได้!? คนไข้ไร้มารยาท หมอไม่ขอรักษา!!
แพทย์เลือกได้!? คนไข้ไร้มารยาท หมอไม่ขอรักษา!!
แพทย์เลือกได้!? คนไข้ไร้มารยาท หมอไม่ขอรักษา!!

คนไข้ถึงกับอึ้ง! เมื่อเจอป้ายโปสเตอร์ของ รพ.เอกชนชื่อดัง แสดงเจตนารมณ์ในการให้บริการคนไข้ ดีมา ดีตอบ ด้านเลขาฯ แพทยสภา อึ้ง! ปฏิเสธคนไข้ เลือกปฏิบัติเยี่ยงนี้ถือว่า “ไม่เหมาะสม” เพราะแพทย์มีหน้าที่ในการรักษาอย่างปฏิเสธไม่ได้

อย่าแร๊งส์ใส่หมอ ไม่งั้นจะเจอดี!

ภาพเหตุการณ์คนไข้ชกหน้าหมอหน้าหงาย โมโหที่ต้องนั่งรอตรวจหลายชั่วโมง หรือจะเป็น การโต้เถียงกันเสียงดังลั่น รพ. ระหว่างพยาบาลกับคนไข้และญาติ ผ่านคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์กันเกลื่อนในโลกโซเชียลฯ มากมายจนกลายเป็นประเด็นดรามาให้เห็นอยู่บ่อยๆ ล่าสุดเพจ Infectionus ง่ายนิดเดียว ซึ่งเป็นเพจวงการแพทย์ได้โพสต์ภาพป้ายในโรงพยาบาลหัวเฉียว ซึ่งสกรีนข้อความสะดุดตาเป็นพิเศษ ในส่วนท้ายๆ ของป้ายความว่า …“ในกรณีที่ท่านปฏิบัติต่อบุคลากรของทางโรงพยาบาลด้วยความไม่สุภาพ ไม่ให้เกียรติ ทางโรงพยาบาลขอสงวนสิทธิ์ในการให้บริการแก่ท่าน”

พร้อมโพสต์ข้อความ นี่สิตัวจริง!!! สุดยอดโรงพยาบาลนำร่องแห่งแรกในประเทศไทย.."รพ.หัวเฉียว” คนไข้ควรให้เกียรติบุคลากรทางการแพทย์ด้วยครับ อย่างที่พวกเราให้เกียรติท่านไม่เลือกชนชั้นเพศและวรรณะ รักษาเต็มที่ตามมาตรฐานหลักวิชาชีพ คน 1 คน ศักดิ์ศรีเท่ากันไม่ว่ายากรวยมีจน หมอ พยาบาล เภสัช คนงาน แม่บ้าน คนเข็นเปล ยามและคนไข้ ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน โลกจะสงบสุข

ทันทีที่ข้อความถูกโพสต์ไปชาวโซเชียลฯ ต่างพากันแชร์ข้อความและเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก บ้างก็เห็นด้วยกับการให้เกียรติซึ่งกันและกันเนื่องจากมีความยุติธรรม ทว่าบางคนกลับมองว่าแพทย์และพยาบาลสามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้ด้วยหรือ?

ปฏิเสธการรักษา ยังไงก็ไม่เหมาะสม

ต่อประเด็นดังกล่าว ผู้สื่อข่าวผู้จัดการ Live ได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ เลขาธิการแพทยสภา เพื่อสอบถามว่า แพทย์ พยาบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ สามารถปฏิเสธที่จะรักษาผู้ป่วยได้หรือไม่ นพ.สุกิจ บอกว่า แม้วิธีการให้เกียรติซึ่งกันและกันเช่นนี้ของแพทย์พยาบาล และทางคนไข้ จะเป็นวิธีการที่แพร่หลายในต่างประเทศ แต่ในมุมของประเทศไทยนั้นผมมองว่ากรณีคนไข้เร่งด่วนนั้นแพทย์ไม่ควรที่จะปฏิเสธคนไข้

“หากข้อความที่ถูกโพสต์ทางโซเชียลนั้นเป็นโปสเตอร์ของทาง รพ.หัวเฉียว จริง ส่วนตัวมองว่าข้อความเชิงปฏิเสธคนไข้เช่นนี้ดู “ไม่เหมาะสม” แม้วิธีการให้เกียรติซึ่งกันและกันเช่นนี้จะเป็นวิธีการที่แพร่หลายในต่างประเทศ แต่ในมุมของประเทศไทยนั้นโดยความเห็นส่วนตัวมองว่า “ไม่สมควร” ที่จะมีถ้อยคำปฏิเสธการรักษาคนไข้เช่นนี้ออกมา”

แต่โดยหลักการทั่วๆ แล้ว หากคนไข้ที่มารักษาไม่ว่ายังไงแพทย์ควรที่จะให้คำแนะนำทั้งคนไข้ที่เร่งด่วนและคนไข้ไม่เร่งด่วน โดยเฉพาะกรณีคนไข้เร่งด่วนไม่ว่ายังไงก็ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาไม่ได้อย่างแน่นอน การที่แพทย์จะปฏิเสธคนไข้ได้นั้นมีอยู่แค่กรณีเดียวคือ เกินความสามารถหรือสมรรถภาพของแพทย์ในการรักษา ซึ่งจะเป็นการส่งต่อไปยังแพทย์ท่านอื่นที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า ซึ่งแบบนี้เรียกว่า “การส่งต่อ”

สำหรับถ้อยคำที่เขียนไว้บนป้ายโปสเตอร์ที่ปรากฏนั้นดูเป็นเชิง “ปฏิเสธ” ซึ่งตัวคนไข้เองไม่ว่าใครที่อ่านเจอข้อความเมื่อได้อ่านอาจจะไม่ยอมรับก็ได้

มารยาททางสังคม คนไข้รู้จักมั้ยจ๊ะ

ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ (จิตแพทย์) ผอ.สถาบันราชานุกูล ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า ด้วยความเป็นแพทย์ย่อมไม่มีทางปฏิเสธคนไข้ที่เข้ามารักษาอยู่แล้ว เพราะคนไข้ที่มารักษาคงอยู่ในสภาพที่ไม่มีเรี่ยวแรงมากพอจะลุกขึ้นมาทะเลาะกับแพทย์หรือพยาบาลได้ เท่าที่เห็นส่วนใหญ่ปัญหาของการทะเลาะกันใน รพ. น่าจะมาจากญาติของคนไข้ซะมากกว่า เนื่องจากอยู่ในภาวะเครียด คิดและตัดสินใจไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมสติที่มีอยู่ได้

สำหรับคนไข้ที่ป่วยแล้วมารักษาโรคที่อาการไม่หนักมากอย่างเช่น เป็นไข้ เป็นหวัด ปวดท้อง เป็นต้น คนไข้เหล่านี้ถือเป็นคนไข้ไม่วิกฤติ แล้วมาแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวพูดจาไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่และทีมแพทย์หรือพยาบาลเช่นนี้ มองว่าบุคคลเหล่านี้ควรที่จะมี “มารยาททางสังคมมากกว่า” ด้วยการแคร์และเข้าใจความรู้สึกของกันและกัน มากกว่าการใช้ “อารมณ์” เป็นที่ตั้ง

“เพราะความเครียด ประกอบกับการควบคุมตัวเองไม่ได้ ทำให้ทุกวันนี้จะเห็นการแชร์คลิปวิดีโอคนไข้หรือญาติปะทะคารม บางครั้งมีการลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ขณะมาทำการรักษาตามสถานพยาบาล หรือด้านเจ้าหน้าที่ที่ทำการรักษาเองอาจจะใช้วาจาหรือถ้อยคำไม่สุภาพ อาจจะมีการขึ้นเสียงใส่คนไข้หรือญาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เกิดอาการ “ท้อ” ในการทำงาน เพราะคนในวิชาชีพทางสุขภาพนั้นต้องเสียสละด้านเวลามากพอสมควร เมื่อความสุขในกรทำงานหมดไป จากงานที่รักก็จะแปรเปลี่ยนเป็นงานที่ไม่รัก ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์เตรียมการเพื่อที่จะไปทำอย่างอื่นที่คิดว่าทำแล้วสุขใจกว่า” พญ.อัมพร กล่าว

ใช่ว่าแพทย์และพยาบาลจะคิดและตัดสินใจตามใจชอบด้วยตัวเองได้ เพราะพวกเขาเหล่านี้กว่าที่จะขึ้นชื่อว่าเป็น แพทย์ และ พยาบาล ที่มากฝีมือได้นั้น ต้องผ่านหลัก จริยธรรมแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติพื้นฐานของหลักจริยธรรมว่าแพทย์และพยาบาลควรปฏิบัติต่อคนไข้อย่างไรจึงจะถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งแน่นอนสิ่งแรกต้องเน้นประโยชน์ผู้ป่วยสูงสุด (beneficence) สิ่งที่จะทำต้องเน้นไม่ให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายใดๆ เพิ่มขึ้น (Non-maleficence)

ผู้ป่วยมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะรู้สาเหตุและอาการป่วยของตัวเองและเลือกวิธีรักษาตามความเหมาะสม (Autonomy) การรักษาต้องอาศัยความบริสุทธิ์ยุติธรรมไปตามสมมติฐานโรคของผู้ป่วยแต่ละคนอย่างแท้จริง (Justice) ทั้งผู้รักษาหรือผู้ดูแลพยาบาลและคนไข้ต่างมีเกียรติและสมควรได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติ (dignity) แพทย์และพยาบาลต้องไม่ปิดอาการป่วยต่อผู้ป่วย และควรให้ผู้ป่วยรับรู้ความหนักเบาของอาการป่วยตามความจริง แต่ทั้งนี้ ต้องดูความเหมาะสมอย่างอื่นประกอบ เช่น สภาพจิตผู้ป่วยด้วย (Truthfulness and Honesty)

อีกทั้ง ข้อบังคับของแพทยสภา ยังมีการเขียนข้อกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าด้วย การรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 4 การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อ 28. ว่าด้วย ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ปฏิเสธการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในระยะอันตรายจากการเจ็บป่วยเมื่อได้รับคำขอร้อง และตนอยู่ในฐานะที่จะช่วยได้ เว้นแต่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาวะฉุกเฉินอันจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิตโดยต้องให้คำแนะนำที่เหมาะสม

โซเชียลฯ ลุกฮือ! ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

ด้านโลกโซเชียลฯ เมื่อได้เห็นโพสต์ดังกล่าวที่ถูกแชร์ต่อๆ กันเป็นจำนวนมาก ก็มีทั้งเสียงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กับการที่ รพ.หัวเฉียว คิดนำร่องเพื่อให้แพทย์และพยาบาลมีสิทธิ์ที่จะไม่ให้บริการกับคนไข้และญาติที่พูดจาและมารยาทไม่สุภาพ ดังเช่น

“ การรักษาเป็นพื้นฐานการปฐมพยาบาล ซึ่งเป็นหน้าที่และการรับผิดชอบของโรงพยาบาล ไม่ควรใช้คำว่าขอสงวนสิทธิ์ในการให้บริการ เพราะเป็นหน่วยพยาบาล ซึ่งผิดกับจรรยาบรรณของแพทย์ ผมไม่เห็นด้วยที่จะใช้คำนี้”

“ที่สิงคโปร์เกือบทุกร้าน มีป้ายแบบนี้ค่ะ ถือเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เค้าให้เกียรติทุกคนเท่าเทียมกัน ส่วนตัวเราคิดว่าที่ไทยควรทำและพัฒนาเรื่องนี้ให้มากขึ้น”

“ทำไมคนส่วนใหญ่ต้องคิดว่าอาชีพที่ดูแลคน หรือผู้ที่ดูแลคน จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ด้อยกว่า เธอมารับใช้ฉัน อะไรแบบนี้ ส่วนตัวคิดว่า หากไม่มีคนเหล่านี้พวกเราต้องเดือดร้อน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เราต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ขอบคุณเขา นั่นเป็นสิ่งที่ดี และเป็นกำลังใจให้เขาทำงานต่อไป ถึงดูเป็นเรื่องเล็กแต่สำคัญค่ะ”

“เห็นด้วยนะ คนไข้ควรให้เกียรติบุคลากรทางการแพทย์ และ บุคลากรทางการแพทย์ ของ รพ. รัฐ ก็ควรให้เกียรติคนไข้ด้วย คนไข้แยกออกนะว่าดุด่าเพราะห่วง กับด่าจริงๆ แบบระบายอารมณ์มันไม่เหมือนกัน”

“คิดว่าจะมีคนไข้อ่านมั้ย ขนาดป้ายชื่อห้องยังไม่อ่านกันเลย”

“ตาต่อตา ฟันต่อฟัน คนไหนไร้มารยาทเชิญรักษาที่อื่น แต่ถ้า จนท.รพ. ไร้มารยาทคงได้ออกโซเชียลฯ เช่นกัน”

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์กับทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวเฉียว ต่อประเด็นที่เกิดขึ้น แต่ได้รับคำตอบมาว่า ตอนนี้ทางผู้อำนวยการยังไม่สะดวกให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวในตอนนี้.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0