โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เศรษฐีวิ่งวุ่นรับภาษีอลเวง บูมซัพพลาย“อสังหาฯ”

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Business News

เผยแพร่ 17 มี.ค. 2561 เวลา 18.00 น.

ปัญหาจากการรวยกระจุกและจนกระจาย เป็นปมประเทศที่รัฐต้องปลดล็อกด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ นอกจากรัฐจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Mega project) เพื่อกระจายความเจริญ ดันความมั่งคั่งให้กับผู้คนที่ห่างไกลความเจริญแล้ว"การปรับโครงสร้างภาษี"ยังเป็นประเด็นหนึ่งที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปี2562โดยสาระสำคัญของกฎหมายต้องการให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นที่ดินรกร้าง ไม่ไช้ประโยชน์จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและที่ดินเพื่ออยู่อาศัย

โดยที่ดินพื่อเกษตรกรรม จะมีเพดานการจัดเก็บไม่เกิน 0.2% ยกเว้นไม่เกิน 50 ล้านบาท ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย เก็บไม่เกิน 0.5% ยกเว้นไม่เกิน 50 ล้านบาทส่วนที่ดินว่างเปล่า ไม่ใช่ประโยชน์ เก็บไม่เกิน 2% เพิ่ม 0.5% ทุก 3 ปี ไม่เกิน 5%

รวมถึงแนวคิดในการจัดเก็บภาษีลาภลอย หรือพ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. …ซึ่งเป็นภาษีใหม่ที่เพิ่มเข้ามาเป็นภาระของเจ้าของที่ดิน ประเมินว่ากฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้ไล่ๆกับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

โครงสร้างภาษีใหม่ดังกล่าว จึงกลายเป็น"ตัวเร่ง" ให้มหาเศรษฐีตระกูลดัง ผู้ถือครองที่ดินมหาศาล นำที่ดินมา"ปัดฝุ่น"ลงทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง"สุญญากาศ"ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ กันคึกคัก

ยกตัวอย่าง เฉพาะ 3 มหาเศรษฐีที่ติดอันดับรวยที่สุดในไทย อย่าง"ไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น"หรือ ทีซีซี กรุ๊ป ของราชันย์น้ำเมา"เจริญ สิริวัฒนภักดี"ประธานกรรมการ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เศรษฐีที่รวยที่สุดในไทยปี 2561 ตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส ทั้งยังเป็นเจ้าสัวที่ว่ากันว่าครอบครอบที่ดินหลายแสนไร่มากที่สุดในไทย

โดยข่าวก่อนหน้านี้ ระบุว่า เจ้าสัวเจริญ สั่งให้นำที่ดินที่เครือที่มีอยู่กว่า 3 แสนไร่ มาสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในภาคเกษตร อสังหาฯ ค้าปลีก และนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ 5 กลุ่มธุรกิจในเครือ ต้องจัดแผนการลงทุนในระยะยาวกันพัลวัน ขณะที่มีข่าวผุดโครงการในเครือทีซีซี เป็นระยะ

ขณะที่ค่ายซี.พี.แลนด์ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี.) ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ยังเดินหน้ารุกพัฒนาอสังหาฯประเภทที่อยู่อาศัยในหลายโครงการ เน้นตลาดภูธร ไม่เท่านั้นยังส่งลูกสาว ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดีที กรุ๊ป บริษัทแม่ของ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น เข้าไปเทคโอเวอร์ธุรกิจโรงแรม รวมถึงการรุกธุรกิจในหลายโปรเจค

และค่ายสุดท้ายเจ้าของธุรกิจค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในไทย อย่างตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่ผ่านมาก็เข้าไปพัฒนาห้างสรรพสินค้าตามมุมเมืองต่างๆ ล่าสุดยังร่วมทุนกับฮ่องกง แลนด์ บริษัทด้านการบริหารจัดการ และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ ในเครือจาร์ดีน แมธทีสัน โฮลดิ้่งส์ คว้าประมูลที่ดินสถานทูตอังกฤษหัวมุมถนนเพลินจิต-วิทยุ จำนวน 22 ไร่ ในราคา 420 ล้านปอนด์ หรือราว 19,000 ล้านบาท

นั่นคือ การเตรียมตัวของเจ้าสัวเมืองไทย ในการ"เปิดเกมรุก" ยึดหัวหาดพัฒนาอสังหาฯก่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีผลบังคับใช้

ในงาน"เปิดแนวโน้มการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ไทย"ที่จัดโดยธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อต้องการให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายภาครัฐกับลูกค้าเอ็กซคลูซีฟรู้เท่าทันสถานการณ์ลงทุน ณ เอสซีบี อินเวสเมนท์ เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ล โดยเชิญเลิศมงคล วราเวณุชย์อุปนายกและเลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และบริษัท เลเจนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด มองธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศกำลังกลับมาบูมภายหลังจากไต่ระดับอยู่นาน โดยมีตัวเร่งคือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บีบให้แลนด์ลอร์ดเมืองไทยต้องงัดที่ดินเก่ามาทำธุรกิจ หรือพัฒนาโครงการเสียเอง ดีกว่าจะต้องเสียภาษีอัตราสูง

สัญญาณในการปลุกอสังหาฯให้กลับมาคึกคักรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังมาจากสภาพเศรษฐกิจซึ่งนักพัฒนาอสังหาฯหลายรายมองว่า อสังหาฯจะเติบโตต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆฟื้นตัว โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปีนี้ ที่ 3.6-4.6%

"ทิศทางอสังหาฯยังคงเติบโตขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโซนที่มีการลงทุนภาครัฐ ในกรุงเทพฯและเมืองในกลุ่มจังหวัด EEC (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) เอกชนที่พร้อมเข้าไปลงทุนขนาดใหญ่ตามเมืองที่ภาครับเข้าไปและรายได้ของประชาชนยังมีเสถียรภาพ"

รวมไปถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า 10 สายที่จะเร่งให้เสร็จเร็วกว่าแผนเดิมจากปี 2575 เป็นปี 2568 พลิกประเทศไทยขึ้นไปติดเป็นมหานครที่มีรถไฟฟ้าในเมืองมากที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 9

เลิศมงคล ยังประเมินว่า การลงทุนอสังหาฯที่เกิดขึ้น จะผลัดกันให้ราคาที่ดินในกรุงเทพฯปรับตัวสูงขึ้น 2-3 เท่า อสังหาริมทรัพย์ในเมืองหลวงแห่งนี้จะเป็นที่ต้องการของคนทั้งโลก

"20 ปีที่แล้วเริ่มมีรถไฟฟ้าในกรุงเทพ ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 200%(ปี 2542-2561) จากการมีรถไฟฟ้า 3 สาย แต่กำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 12 สาย ราคาที่ดินต้องมากว่าเดิมหลายเท่าแน่นอน เพราะเวลาเชื่อมโยง(Connectivity) ไม่ใช่แค่บวก แต่เป็นคูณ"

@ปัดฝุ่น 4 ขุมทรัพย์ที่ดิน

โดยที่ดินที่จะถูกนำมาพัฒนาโครงการ ได้แก่ที่ดินกลางเมืองที่เคยเป็นปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร เต๊นท์รถไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เต็มประสิทธิภาพ จะเริ่มเห็นคนเข้าไปถางพง นำที่ดินมาพัฒนาโครงการที่เพิ่มมูลค่า ทำให้สภาพพื้นที่เปลี่ยนไปตามความต้องการตลาด

รวมไปถึงที่ดินทั้งของรัฐและเอกชนที่เคยปล่อยเช่ายาวนอนกินสบายๆ ก่อนปี 2562 อาจจะต้องมาคิดใหม่ เอาไปทำอะไรให้เกิดมูลค่ามากกว่านี้

รวมถึงแปลงที่ดินเหลือจากบริษัทพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ที่ไม่สามารถจำหน่ายได้หมดใน 3 ปี และที่ดินทรัพย์สินที่กรมบังคับคดี และสินทรัพย์พร้อมขายทอดตลาด (NPA)รวมมูลค่าราคาประเมินอยู่ที่ 241,123 ล้านบาท จำนวน 12,331 รายการ

ตลอดจนสาขาขนาดใหญ่เกินความจำเป็นของธนาคารบางสาขาไม่คุ้มค่ากับการลงทุน บวกกับกระแสฟินเทค สาขาธนาคารต้องลดลงเกินกว่าครึ่ง

ในช่วงนี้จึงเห็นเศรษฐีตระกูลดังที่กระโดดลงมาเล่นในตลาดอสังหาฯ อาทิตะกูลภิรมย์ภักดี สิงห์เอสเตทเข้าไปซื้อหลายกิจการ เป็นต้น ยังรวมไปถึง กลุ่มบริษัท รัฐวิสาหกิจบางแห่ง ที่จะกลายเป็นนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ในอนาคต เช่นการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)เข้าพัฒนาที่ดินทรัพย์สินแปลงใหญ่ที่ปล่อยรกร้างมานาน มาทำประโยชน์ ประกอบด้วย ย่านพหลโยธิน จตุจักร เนื้อที่ 2,325 ไร่, ย่านมักกะสัน 571 ไร่ และกม.ที่ 11 ย่านพหลโยธิน 359 ไร่ รวมถึงย่านสถานีแม่น้ำ บริเวณคลองเตย 279 ไร่

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็เป็นหนึ่งในผู้ถือทรัพย์ที่ดินเปล่าแปลงงามใจกลางกรุง มีทรัพย์สินรวมมูลค่า 1,291,729.27 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นที่ดิน 8,835 ไร่ มูลค่า 988,636.50 ล้านบาท ต่างจังหวัดจำนวน 31,270 ไร่ที่ยังประเมินค่าไม่ได้

รวมไปถึงสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นเจ้าของที่ดินแปลงงามใจกลางกรุงอีกหลายแปลงหรือแม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่มีสาขากว่า 9,000แห่งทั่วประเทศ

เช่นเดียวกันกับปตท. เจ้าของสถานีจ่ายน้ำมัน (ปั๊มน้ำมัน) ทั่วประเทศมีกว่า 1,758 แห่งจำเป็นต้องขายที่ดินปั๊มน้ำมันออกไปนอกเมือง

"ต่อไปจะเห็นมูลค่าที่ดินทำปั๊มน้ำมันขายน้ำมันอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่จะต้องนำมาพัฒนาอสังหาฯ เพราะที่ดินทำอะไรได้มากกว่านั้น"

ขณะที่ความเคลื่อนไหวต่อไปของคนถือครองที่ดินที่ไม่เคยคิดจะนำไปจัดการอะไร นอกจากปล่อยให้เป็นที่ทิ้งขยะ หรือปล่อยเช่าราคาถูก ต้องมาปรับทัศนคติกันยกใหญ่แค่มีที่ดินและลงทุนไม่เพียงพอ ต้องคิดเยอะ ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น เพราะซัพพลายในตลาดจะมากขึ้น เช่นเดียวกันกับราคาที่ดินที่สูงขึ้น

โจทย์ใหญ่ของคนรวยที่ดิน หรือถือครองที่ดินเก่าแก่ของตระกูล จึงต้องปรับตัว ไขก็อกแรกของคนที่ไม่มีภูมิทางการพัฒนาที่ดินเลย สิ่งแรกที่ต้องทำคือ "ขายที่ดินในมือ"เพื่อลดการถือครองที่ดินที่เป็นภาระทางภาษี เลือกเฉพาะทำเลที่มีศักยภาพ ทำเลไหนไม่มีศักยภาพ หรือไม่มีโอกาสทำกำไร รวมถึงเจ้าของไม่มีความรู้ และต่อมาเลือกถือครองเฉพาะพื้นที่อสังหาที่มีความคุ้มค่า

"ที่ดินมีอยู่แล้วที่ดินในประเทศไทยเท่าเดิม แต่จะมีคนนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น และที่ดินราคาแพงสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ดินใจกลางเมือง แต่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ เพราะมีที่ดินราคาหนึ่งพันล้าน แต่ต้องเสียค่าก่อสร้าง 3 พันล้านบาท ก็ต้องกู้แบงก์ ก่อนกู้ก็ต้องศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility)อย่างละเอียด ถึงทำเล เงินลงทุน กฎหมาย และการเงิน"

อย่างไรก็ตาม แทนที่จ่ายภาษีถึงที่ดินว่างเปล่าอัตราสูง เอามาพัฒนาปล่อยให้เช่ากำไร 6-8% สูงกว่าอัตราภาษีที่ต้องจ่าย

หรืออีกทางเลือกสุดท้าย คือการยกระดับที่ดินราคาสูงที่มีศักยภาพให้นักพัฒนาที่ดินมาร่วมทุนโดยที่เจ้าของที่ยังมีกรรมสิทธิ์เป็นผู้ร่วมทุน จากนี้ต่อไปจะเห็นการร่วมทุนโครงการอสังหาฯขนาดใหญ่จากบริษัทไทยและต่างชาติมากขึ้น

"หาดีเวลลอปเปอร์เก่งๆที่เชื่อมือ และเชื่อใจได้ ถ้าหากไม่ได้และเราไม่ไว้ใจ หรือหาคนร่วมทุนไม่ได้ ก็ยอมขายที่ดินไปกอดเงินพันล้าน"

หรือแม้กระทั่งโมเดลหาพันธมิตรคนมีที่ดิน จับคู่กันกับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะมากขึ้น อาทิ เอพี ไทยแลนด์ จับคู่กับมิซิบิชิ เอสเตท ลงทุนคอนโด แอสปาย, ไลฟ์ และริทึ่ม หรือ อนันดา กับมิตซุยฟุโดซัง ลงทุนพัฒนาคอนโดไอดีโอ,แอชตัน, แสนสิริ จับมือกับ บีทีเอสกรุ๊ป พัฒนาคอนโด เดอะไลน์, เดอะเนส, และ คุนบายยู, เพช จับมือกับอพอลโล พัฒนามหานครคอนโดโครงการมิกซ์ยูส หรือแม้กระทั่งเมเจอร์ จับมือกับ มัสท์ จีเอ็มเอ็ม สิงคโปร์ ,จีอาร์จี. โกลบอล ฮ่องกง ทำคอนโด รวมถึงเสนาฯ จับมือกับ ฮันคิว เรียลลี้ ลงทุนคอน พัฒนาคอนโด นิชโมโน สุขุมวิท -แบริ่ง เป็นต้น

สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ภายหลังจากเศรษฐีได้ทยอยนำที่ดินปล่อยเข้าสู่ตลาดในรูปแบบต่างๆ ก็จะเกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องเติบโตไปตามกัน ไล่เรียงตั้งแต่ ธุรกิจนายหน้าและที่ปรึกษาทางด้านอสังหาฯ, นักพัฒนาที่ดินที่มีที่ดินออกมาขายมากมาย ก็จะมีการร่วมทุนกับเจ้าของที่ดินมากขึ้น และธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านวางแผนภาษี รวมถึงเกษตรกรรายเล็กและรายใหญ่ และธนาคารเพื่อการลงทุน(Private Banking) จะเริ่มมีทีมรับบริหารความมั่งคั่งผ่านการบริหารที่ดิน จากเดิมบริการบริหารเงินฝาก หรือ กองทุนการเงินเพียงอย่างเดียวโดยเฉพาะธนาคารหลายแห่งเพิ่มการบริการด้านการวางแผนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

+++++++++++

ทุนยักษ์ปั้นโครงการ

รายเล็กจับจังหวะขาย

พนม กาญจนเทียมเท่ากรรมการผู้จัดการบริษัทไนท์แฟรงค์ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่าอสังหาฯกำลังกลับเข้ามาบูมในช่วง3-5ปีข้างหน้า เป็นผลมาจกโครงการลงทุนภาครัฐ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการลงทุนอสังหาฯเพิ่มขึ้น เปิดพื้นที่พัฒนาใหม่ๆ ส่งผลทำให้กลุ่มธุรกิจอสังหาฯขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ต่างก็เตรียมพัฒนาโครงการจำนวนมาก ทุกรายต่างก็พัฒนาโครงการใหม่ ไม่น้อยกว่า-2-3โครงการส่งผลให้ทั้งราคาที่ดิน การพัฒนาโครงการ และการก่อสร้างเติบโตกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การขายที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังคงทรงตัวในขณะนี้ แต่มองว่าจะกระเตื้องขึ้นในระยะถัดไป

"หากมองในภาพรวมของจำนวนยูนิตยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่หากมองในด้านของมูลค่าอสังหาฯถือว่าปรับตัวสูงขึ้น เพราะอสังหาฯไทยยังเป็นที่ต้องการ ซึ่งเริ่มมีกลุ่มลูกค้าต่างชาติรายใหม่ให้ความสนใจซื้อตลาดอสังหาฯในไทย อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน และไต้หวัน ทั้งเพื่ออยู่อาศัยและนักลงทุน เนื่องจากมองว่าราคายังต่ำ และที่สำคัญยังมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นชัดเจน"

สำหรับผู้พัฒนาโครงการของมือใหม่ ผู้ถือครองที่ดิน ขนาดกลางและขนาดเล็ก ต้องยอมรับว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในทุกเซคเมนท์ จากผู้เล่นในตลาดที่มากขึ้น สิ่งที่ธุรกิจเล็กและกลางจะต้องพัฒนาตัวเอง คือการมองรายกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Segmentation)หาจุดขาย (Selling point)ที่มีความพิเศษ โดดเด่นและแตกต่าง (Unique)รวมถึงการหาจุดแข็งและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านตางๆ ให้กับผู้ซื้อหรือนักลงทุน รวมไปถึงให้ตรงตามไลฟ์สไตล์พฤติกรรมลูกค้าในยุคปัจจุบัน"

"นักพัฒนาต้องมองถึงพิจารณาเลือกซื้อที่ดินเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ต้องดูทำเลที่ตั้งเป็นหลัก และหาจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อพัฒนาสินค้าได้ตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้า โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปแข่งตลาดที่มีขนาดใหญ่ ส่วนสิ่งที่เสียเปรียบรายใหญ่น่าจะเป็นเรื่องต้นทุนในการใช้สินเชื่อจากธนาคาร"

ขณะสุรเชษฐ กองชีพนักวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ บอกว่า ภาพของธุรกิจอสังหาฯยังคงเปิดตัวโครงการต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ตลาดเริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่เห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจน

โดยเห็นว่า นักพัฒนาอสังหาฯที่ไม่ต้องการเสี่ยงสูง สิ่งที่ต้องติดตาม คือการประมูลโครงการ ที่มาพร้อมกันกับอนุมัติการก่อสร้างอาทิ โครงการลงทุนมักะสัน แม้จะเป็นโครงการใหญ่ เริ่มต้นจากการอนุมัติก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ก็ต้องมองถึงการเปิดประมูล และเซ็นสัญญาก่อสร้าง ก่อนจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนโครงการอสังหาฯรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

"นักพัฒนาอสังหาฯรายใหญ่ๆ ที่เห็นโอกาสและได้ยินข่าว ก็ไปซื้อที่ดินบริเวณ EEC แต่ในความจริง โซนเหล่านี้จะชัดเจนและเริ่มลงทุนได้ รวมถึงมีความต้องการจริงต้องมีอีกหลายปัจจัยประกอบ รายเล็กและกลางที่ไม่ต้องการเสี่ยง ควรต้องรอดูเงินการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่จะส่งผลทำให้ตลาดอสังหาฯเติบโตและมีความต้องการเกิดขึ้นจริง"

สำหรับโครงการที่จะมีการพัฒนาเกิดขึ้นจริง ยังคงเน้นโครงการในกรุงเทพฯ เป็นโซนไฟฟ้าที่ก่อสร้างไปแล้ว จะมีศักยภาพ และพัฒนาโครงการได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0