โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

เปิดภาพประวัติศาสตร์ 12 ตัวละครจากบุพเพสันนิวาส มีตัวตนจริงในอดีต!

UndubZapp

เผยแพร่ 19 มี.ค. 2561 เวลา 02.00 น. • อันดับแซ่บ
เปิดภาพประวัติศาสตร์ 12 ตัวละครจากบุพเพสันนิวาส มีตัวตนจริงในอดีต!
ดูละครแล้วย้อนดูประวัติศาสตร์ กับภาพ 12 บุคคลจากบุพเพสันนิวาสที่มีตัวตนจริงในอดีตและมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยอย่างคาดไม่ถึง

ฟินเต็มอิ่มกับความรักของคุณพี่เดชและแม่หญิงการะเกดจากละครบุพเพสันนิวาสกันแล้ว ลองมาเปลี่ยนบรรยากาศไปย้อนดูประวัติศาสตร์กันบ้างดีกว่าค่ะ เพราะวันนี้ UndubZapp จะขอพาชาวรัตนโกสินทร์นั่งไทม์แมชชีนกลับไปรู้จักและชมภาพ 13 บุคคลในประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในละคร แม้ว่าในสมัยนั้นจะยังไม่มีกล้องถ่ายรูป แต่ก็มีการบันทึกภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้เอาไว้ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย และเชื่อว่าหลายท่านเป็นคนที่พวกเราต้องรู้จักกันดีแน่นอน จะมีใครกันบ้าง ไปชมกันค่ะ

1.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (รับบทโดยปราปต์ปฎล สุวรรณบาง)

พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของพระองค์ กรุงศรีอยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองมากในหลายด้าน โดยเฉพาะการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นผู้นำคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสถึง 4 ครั้ง และยังรับวัฒนธรรมตะวันตกอีกหลายอย่างเข้ามา รวมทั้งวิทยาการต่างๆ เช่น กล้องดูดาว การสร้างน้ำพุ และการวางระบบประปามาใช้ในกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

© รูปต้นฉบับ: simonla1.blogspot

2.สมเด็จพระเพทราชา (รับบทโดยศรุต วิจิตรานนท์)

ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์หลังสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ปราสาททองเสด็จสวรรคต พระองค์เป็นผู้ขับไล่กองกำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา มีการทำสนธิสัญญาเรื่องการขนย้ายทหารและทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกไป ทรงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ เรียกว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กรุงศรีอยุธยาหลายด้านทีเดียว

© รูปต้นฉบับ: silpa-mag

3.สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (รับบทโดยจิรายุ ตันตระกูล)

บางคนอาจไม่คุ้นกับชื่อนี้ เพราะในละครเป็นเหตุการณ์ในสมัยที่พระองค์ยังดำรงยศเป็นหลวงสรศักดิ์ค่ะ ตามพงศาวดารกล่าวว่าพระองค์เป็นพระโอรสลับๆ ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เติบโตมาในฐานะบุตรชายของสมเด็จพระเพทราชา มีชื่อเดิมว่าเดื่อ ด้วยพระอุปนิสัยดุร้ายและทรงโปรดปรานการล่าสัตว์ ทำให้ประชาชนต่างเรียกพระองค์ว่าพระเจ้าเสือนั่นเอง

4.พระโหราธิบดี (รับบทโดยนิรุตติ์ ศิริจรรยา)

อีกหนึ่งบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เพราะนอกจากจะเป็นครูของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว ท่านยังเป็นผู้ประพันธ์ “จินดามณี” ตำราเรียนเล่มแรกของไทยในปีพ.ศ.2215 ด้วย และยังสามารถทำนายอนาคตได้แม่นยำ ครั้งหนึ่งเคยทำนายจะเกิดไฟไหม้พระราชวังภายใน 3 วัน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงเสด็จไปอยู่นอกวัง หลังจากนั้นก็เกิดฟ้าผ่าลงที่หลังคาพระราชวัง ทำให้ลามเป็นไฟไหม้ขึ้นตามคำทำนายจริงๆ

© รูปต้นฉบับ: areeya9056

5.ศรีปราชญ์ (รับบทโดยณฐณพ ชื่นหิรัญ)

แม้ในละคร ศรีปราชญ์จะไม่ได้มีบทบาทมากนัก แต่ในประวัติศาสตร์เขาคือบุคคลสำคัญแห่งวงการการแต่งหนังสือเลยล่ะค่ะ ศรีปราชญ์เป็นลูกชายของพระโหราธิบดี ด้วยฝีมือการแต่งโคลงกลอนที่เป็นเลิศทำให้เขาขึ้นชื่อว่าเป็นกวีเอกแห่งแผนดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่กลับทำความผิด จึงถูกเนรเทศไปอยู่นครศรีธรรมราช เมื่อไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ถูกใส่ร้ายว่าลักลอบคบชู้กับภรรยาของเจ้าเมืองและถูกประหารชีวิตในที่สุด

6.ขุนศรีวิสารวาจา (รับบทโดยธนวรรธน์ วรรธนะภูติ)

ตัวละครที่มีบทบาทที่สุดในละครเรื่องนี้ แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏว่าขุนศรีวิสารวาจาเป็นบุตรของพระโหราธิบดีตามที่ละครเล่าแต่อย่างใด เขาเป็นหนึ่งในคณะทูตที่นำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสในปีพ.ศ. 2229 โดยขุนศรีวิสารวาจาเดินทางไปในตำแหน่งตรีทูตค่ะ

7.เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) (รับบทโดยชาติชาย งามสรรพ์)

ในละครเรียกว่าออกญาโกษาธิบดีนั่นเองค่ะ ส่วนปานเป็นชื่อจริงของท่าน ท่านเป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต (บัว) ซึ่งเป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นคนเฉลียวฉลาด ไหวพริบหลักแหลม ช่างสังเกต และพูดจาคมคาย ท่านมีผลงานด้านการทูตโดดเด่นหลายครั้งโดยเฉพาะครั้งที่ท่านรับตำแหน่งหัวหน้าคณะราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส จนทำให้ไทยรอดพ้นจากการคุกคามของฮอลันดา และท่านยังเป็นต้นตระกูลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักกรีอีกด้วย

8.เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) (รับบทโดยสุรศักดิ์ ชัยอรรถ)

พี่ชายของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นพระสหายของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาตั้งแต่วัยเยาว์และเป็นขุนศึกที่ออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่พระองค์จนได้สมญานามว่า “ขุนเหล็ก” ดำรงตำแหน่งพระคลังระหว่างปีพ.ศ.2200 - 2226 ส่วนสาเหตุการถึงแก่อสัญกรรมของท่านถูกกล่าวไว้ 2 แบบคือถึงแก่อสัญกรรมเพราะอาการป่วย และถูกใส่ร้ายว่ารับสินบน ทำให้ถูกเฆี่ยนจนถึงแก่อสัญกรรม

9.คอนสแตนติน ฟอลคอน (รับบทโดยหลุยส์ สก็อตต์)

นักผจญภัยชาวกรีก เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาในฐานะพ่อค้า สามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้ในเวลาไม่นานนัก เป็นคนมีความสามารถหลายด้านจนกลายเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ได้เข้ารับราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาและได้รับตำแหน่งสมุหเสนาในเวลาไม่นาน ภายหลังได้รับการอวยยศเป็นถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์ แต่ด้วยความที่เป็นคนโปรดและสนิทสนมกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดผลเสียตามมาภายหลังถึงขึ้นโดนสั่งประหารชีวิต

© รูปต้นฉบับ: silpa-mag

10.มารี กีมาร์ หรือท้าวทองกีบม้า (รับบทโดยสุษิรา แอนจิลีน่า)

ภรรยาของคอนสแตนติน ฟอลคอน ชื่อเต็มว่ามารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา เธอมีเชื้อสายโปรตุเกส เบงกอล และญี่ปุ่น ซึ่งมีบทบาทต่อวงการขนมไทยมาก เพราะเธอคือราชินีแห่งขนมไทย ผู้นำขนมโปรตุเกสมาดัดแปลงให้เป็นขนมไทยหลายชนิด เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และขนมชั้น ส่วนชื่อท้าวทองกีบม้านั้นก็เพี้ยนมาจากชื่อมารี กีมาร์ของเธอนั่นเอง

11.พระปีย์ (รับบทโดยธชย ประทุมวรรณ)

พระราชโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับความไว้วางใจจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างมากถึงขั้นได้ปรนนิบัติรับใช้พระองค์อย่างใกล้ชิด โดยจะทรงเรียกพระปีย์ว่า “อ้ายเตี้ย” ตามรูปลักษณ์ เป็นคนพูดจาไพเราะ โวหารดี ต่อมาถูกสมเด็จพระเพทราชาสำเร็จโทษในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วยเหตุผลทางการเมือง

© รูปต้นฉบับ: silpa-mag

12.สมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาทิพ (รับบทโดยเจนจิรา จันทรศร)

บางแห่งออกพระนามพระองค์ว่าพระราชกัลยาณี เป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระสิริโฉมงดงามมาก นอกจากนี้พระองค์ยังมีบทบาทอยู่มากในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา เพราะได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายขวา แต่หลังพระเจ้าเสือขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็เสด็จออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ใกล้กับวัดพุทไธศวรรย์ และเสด็จสวรรคตที่พระตำหนักแห่งนั้นเอง

---

อัปเรื่องแซ่บ ฟีดเรื่องมันส์ เม้าท์ทันเพื่อน
Facebook: @UndubZapp
Instagram: @UndubZapp

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0