โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

'เจมาร์ท' หันทำ ICO พัฒนา เจ ฟินเทค ส่วนภาพรวมทั้งกลุ่มหวังเติบโต 30%

Manager Online

อัพเดต 16 ม.ค. 2561 เวลา 05.56 น. • เผยแพร่ 16 ม.ค. 2561 เวลา 05.24 น. • MGR Online

เจมาร์ทสานต่อกลยุทธ์ Synergy ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ปรับองค์กรให้เร็วขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ พร้อมประเดิมตลาดการระดมทุนบน Blockchain ด้วยการเตรียมเปิด ICO มูลค่า 660 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนรวมปีนี้วางไว้ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าธุรกิจเติบโต 30%

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART กล่าวย้อนถึงการลงทุนต่อเนื่องราว 5 - 6 พันล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เจมาร์ทสามารถรักษาอัตราการเติบโตในระดับ 30% ได้ต่อเนื่อง และคาดว่าในปีนี้จะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 30% เช่นเดิม

'ปีนี้เจมาร์ทวางงบการลงทุนทั้งกลุ่มไว้ที่ 19,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นที่การรุกไปในตลาดฟินเทค ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการหนี้ การปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะในธุรกิจประกันภัย ที่จะมาช่วงสร้างการเติบโตให้กับเจมาร์ท'

ขณะเดียวกัน ยังได้นำบริษัท เจ ฟินเทค จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งได้ภายในปี 2561 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2562 ระดมทุนเพื่อขยายพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา สามารถปล่อยสินเชื่อไปกว่า 3,200 ล้านบาท และตั้งเป้าปี 2561 จะปล่อยสินเชื่อเพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท

พร้อมเตรียมใช้เทคโนโลยีฟินเทค และ Blockchain เพื่อรองรับอนาคตทางการเงินของโลก โดยมี บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) บริษัทในเครือ ประกาศเกาะกระแสโลกเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ระดมทุนครั้งแรกด้วยดิจิทัล โทเคน (Initial Coin Offering: ICO)ในชื่อ 'JFin Coin' จำนวน 100 ล้านเหรียญ มูลค่าเหรียญละ 0.20 เหรียญสหรัฐฯ รวมมูลค่าราว 20 ล้านเหรียญ หรือราว 660 ล้านบาท จากจำนวน JFin Coin ทั้งหมด 300 ล้านเหรียญ

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รูปแบบของการทำ ICO ถือเป็นการระดมทุนเพื่อทำธุรกรรม ที่ปัจจุบันกลต. กำลังทำประชาพิจารณ์อยู่ และคาดว่าจะออกกฏมาภายในช่วงปลายไตรมาส 1

"ตอนนี้สิ่งที่เจ ฟินเทค ทำแล้วคือเข้าไปคุยกับทางกลต. ถึงแนวทางที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทางกลต. และทางตลาดหลักทรัพย์ ก็ไม่ได้ติดอะไร และในอนาคตถ้ามีกฏเกณฑ์ที่ถูกกำหนดออกมาทาง เจ ฟินเทค ก็พร้อมที่จะปรับตาม"

โดยมีแผนจะเสนอขาย รอบ Presale ระหว่างวันที่ 14 – 28 กุมภาพันธ์ 2561 และเสนอขายครั้งแรกต่อสาธารณชนทั่วโลก วันที่ 1 – 31 มีนาคม 2561 เพื่อนำเงินทุนมาพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ทางด้านการปล่อยสินเชื่อด้วยเทคโนโลยี Blockchain เพื่อสนับสนุนธุรกิจสินเชื่อของเจ ฟินเทค

***เจมาร์ท โมบาย เน้นขยายสาขา เพิ่มช่องทางขายดิจิทัล

นายดุสิต สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด กล่าวว่า ในสิ้นปีนี้ตลาดรวมมือถือในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 120,000 ล้านบาท จากปี 2560 อยู่ที่กว่า 110,000 ล้านบาท โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา เจมาร์ท โมบาย มีการเติบโตมากกว่าภาพรวมตลาดและสามารถจำหน่ายมือถือได้กว่า 1.2 ล้านเครื่อง

ทั้งนี้ ปี 2561 เจมาร์ท โมบาย วางงบลงทุนรวมไว้จำนวน 130 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายกำไรสุทธิเติบโต 30% จากกลยุทธ์ผลักดันการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม รวมทั้ง การขยายสาขาใหม่ในปีนี้รวม 75 สาขา จากปัจจุบันให้บริการอยู่ 225 สาขา นอกจากนี้ ยังได้เตรียมเปิด Jaymart Digital Store ร้านแรกในประเทศ โดยตั้งเป้าการขายผ่านออนไลน์ปีนี้เริ่มต้นที่ 500 ล้านบาท

***เจเอ็มที เน้นบริหารหนี้ พร้อมเข้าถือหุ้นบริษัทประกัน

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจบริหารหนี้ปีนี้มีแนวโน้มการเติบโตโดดเด่น เนื่องจากในสิ้นปี 2560 JMT ซื้อหนี้เข้ามาบริหารในพอร์ตทะลุ 120,000 ล้านบาท และในปี 2561 ตั้งเป้างบลงทุน 4,500 ล้านบาท เพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารอย่างต่อเนื่องอีก 52,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน และหนี้ที่มีหลักประกัน สนับสนุนพอร์ตบริหารหนี้สิ้นปี 2561 แตะเป้า 170,000 ล้านบาท

'ถ้า JMT ยังรักษางบลงทุนเพื่อซื้อหนี้เข้ามาบริหารอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า จะมีพอร์ตในการบริหารหนี้สินกว่า 240,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ในระยะยาวให้แก่ JMT ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการนำแอปพลิเคชันอย่าง Jaii Dee มาช่วยในการติดตามหนี้ด้วย'

ขณะที่บริษัทในเครือ เจเอ็มที กัมพูชา ปัจจุบันเริ่มติดตามหนี้แล้ว และมีแผนรุกไปยังประเทศเวียดนามในช่วงปลายปี 2561 และรุกเข้าสู่ธุรกิจประกันทั้งบริษัท เจ อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ จำกัด ที่ประกอบธุรกิจนายหน้า ประกันวินาศภัยต่างๆ ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยทรัพย์สิน อุบัติเหตุส่วนบุคคลและการทำดีลเข้าถือหุ้นในธุรกิจประกันภัย

***JAS Asset เปิด 'IT Junction' เพิ่มอีก 8 สาขา

นายสุพจน์ วรรณา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโต 30% จากปีก่อน และวางงบลงทุนไว้จำนวน 720 ล้านบาท จากแผนพัฒนาธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าศูนย์โทรศัพท์มือถือ ภายใต้ชื่อ 'IT JUNCTION' โดยสิ้นปี 2560 มีจำนวน 52 สาขา และตั้งเป้าในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 8 สาขา

รวมถึงธุรกิจศูนย์การค้าชุมชนภายใต้ชื่อ The Jas ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ The Jas วังหิน, The Jas รามอินทรา ที่มีการรีโนเวทใหม่ในปีที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ และ Jas Urban ศรีนครินทร์ เป็นสาขาล่าสุดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ส่วนธุรกิจกาแฟแบรนด์ คาซ่า ลาแปง ที่เข้าไปลงทุนในปีที่ผ่านมา พร้อมมีผู้ให้สินเชื่อสำหรับประกอบธุรกิจทั้ง เจ ฟินเทค และเอสจี แคปปิตอล มีแผนตั้ง Barista Academy ผลิตบาริสต้าเข้าสู่ร้านกาแฟในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 นี้ โดยมีแผนขยายสาขาทั้ง คาซ่า ลาแปง และ Rabb Coffee รวม 250 สาขาภายใน 3 ปีนี้

***Singer ลุยขยายสาขาย่อยเข้าถึงลูกค้า

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ระบุว่า ปีนี้ตั้งเป้ารายได้รวมเติบโต 35% จากงบลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท โดยเน้นการขายสินค้าเพื่อการพาณิชย์ที่เจาะกลุ่มลูกค้าประเภทธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่ว่าจะเป็น ตู้แช่ เครื่องทำน้ำแข็ง ตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ และตู้เติมเงินรูปแบบใหม่ ผ่านตัวแทนจำหน่ายของบริษัท

ขณะเดียวกันจะมีการเร่งยอดธุรกิจสินเชื่อรถทำเงิน บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ รวมถึง สินเชื่อไมโคร และนาโนไฟแนนซ์ ทั้งนี้ Singer มีแผนขยายสาขาและช่องทางการจัดจำหน่าย ตั้งเป้าขยายสาขาเป็น 350 สาขาหลัก และ 1,000 สาขาย่อย ภายในปี 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0